เตรียมเวทีตำบลละแสน


บางทีชาวบ้านก็ทำอะไรได้ไม่ถูกใจเรา (นักวิจัย) แต่เราก็ต้องทำใจ เหมือนกับคนที่มีลูก ถ้าหากอยากสอนลูกก็ต้องตีลูกบ้าง ดุด่าบ้าง ไม่ใช่ปกป้องกันตลอดเวลา

     วันนี้ยุ่งตั้งแต่เช้า (อีกตามเคย)  เพราะ  เป็นวันจัดเวทีตำบลละแสน (หรือเปล่า  ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจ)  ความโกลาหลที่เกิดขึ้นหากมองแง่หนึ่งมันคือความผิดพลาดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย  แต่ถ้าหากมองอีกแง่หนึ่ง  ผู้วิจัยขอใช้คำพูดของพี่ต๋อมที่เคยพูดไว้เมื่อครั้นพวกเราไปอบรมนักวิจัยด้วยกันในวันที่ 24-25 ธันวาคม  2548  ที่ผ่านมาก็แล้วกันนะคะ  พี่ต๋อมบอกว่า "บางทีชาวบ้านก็ทำอะไรได้ไม่ถูกใจเรา (นักวิจัย)  แต่เราก็ต้องทำใจ  เหมือนกับคนที่มีลูก  ถ้าหากอยากสอนลูกก็ต้องตีลูกบ้าง  ดุด่าบ้าง  ไม่ใช่ปกป้องกันตลอดเวลา"  คงจะเหมือนความไม่พร้อมของงานในวันนี้ที่ผู้วิจัยก็ยอมรับตามตรงว่ารู้สึกเจ็บปวด  ไม่สบายใจ  แต่เราก็ต้องยอม  ต้องให้ชาวบ้านเรียนรู้ความผิดพลาดบ้าง  จะได้เป็นบทเรียนให้แก่เขา  ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่รู้ว่าตัวเองผิดพลาด  ถ้าเราอุ้มชู     ปกป้องเขาตลอดเวลา  สำหรับเนื้อหาสาระต่างๆในการประชุมนั้นขอยกยอดไปเล่าให้ฟังในคราวต่อๆไปนะคะ  เนื่องจากถ้าหากเล่าวันนี้ผู้วิจัยคงขาดตกบกพร่องไปหลายประเด็น  เพราะ  เดินเข้าเดินออกห้องประชุมบ่อย  แถมยังต้องทำหน้าที่เป็นมือกล้องจำเป็นด้วย  เอาไว้ถ้าถอดเทปเสร็จจะนำมาเสนอก็แล้วกันค่ะ

    ถ้าหากจะเล่าเรื่องงานในวันนี้  คงจะขาดเนื้อหาที่สำคัญในส่วนของการเตรียมงานไม่ได้       ดังนั้น  ในวันนี้จะขอเล่าเรื่องการเตรียมงานอย่างคร่าวๆให้ฟังนะคะ

    พวกเราประชุมเตรียมงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 มกราคม  2549  ที่ผ่านมา  โดยในวันนั้นช่วงเช้าเราเดินทางไปที่กลุ่มบ้านต้าฯ (ที่สำหรับจัดประชุม)  เมื่อไปถึงยังไม่มีการประชุมกัน  เพราะ  คณะกรรมการเครือข่ายฯได้ใช้เวลาไปกับการตรวจบัญชีของกลุ่มบ้านต้าฯกับกลุ่มแม่พริก  อยู่นานพอสมควร  ผู้วิจัยก็ช่วยอะไรไม่ได้มากก็เลยเดินถ่ายรูปเก็บบรรยากาศไปเรื่อยๆ (เสียดายจังค่ะที่พยายามเอารูปลงมาใน Blog แล้วแต่เอาลงไม่ได้  ยังไงขอก็ยกยอดไปครั้งต่อๆไปนะคะ) พอตอนเที่ยงพวกเราก็พักรับประทานอาหารกลางวันที่ทางกลุ่มเตรียมไว้ต้อนรับ  มีทั้งข้าวเหนียว  ส้มตำ  ไก่ย่าง  ลาบ  แถมยังมีส้มเป็นผลไม้ปิดรายการด้วย  ทุกคนทานด้วยความเอร็ดอร่อย  (อร่อยจริงๆค่ะ ฟันธง!)

    พอเข้าช่วงบ่าย  คณะกรรมการเครือข่ายฯก็ตรวจบัญชีต่ออีกสักพักหนึ่งค่ะจึงจะเสร็จ  หลังจากนั้นคุณสามารถก็เรียกรวมพลเพื่อประชุมหารืออย่างเป็นทางการ  คุณสามารถเปิดประเด็นโดยการรายงานให้ที่ประชุมทราบว่าคณะกรรมการเครือข่ายฯ  ได้เริ่มลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลการเงินของแต่ละกลุ่มตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม  2548  ที่ผ่านมา  วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการเก็บข้อมูล  โดยเมื่อประชุมเสร็จจะเดินทางไปที่กลุ่มบ้านหลุกเป็นที่สุดท้าย  นอกจากนี้แล้วในขณะนี้ทาง       เครือข่ายฯยังมีสมาชิกใหม่อีก 1 กลุ่ม  คือ  กลุ่มบ้านศรีบุญเรือง  แต่มีสมาชิกไม่ถึง 100 คน 

    คุณสามารถกล่าวต่อไปว่าสำหรับการประชุมวันนี้นั้นสืบเนื่องมาจากว่าในวันที่ 11 มกราคม  2549  กระทรวงการคลังจะมาจัดเวทีประชาคม  เราต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อให้กระทรวงนำไปเป็นต้นแบบฯ  ในการเตรียมการในเรื่องนี้นั้นเราได้นำเข้าที่ประชุมเครือข่ายฯประจำเดือนธันวาคมเป็นครั้งแรก  ต่อจากนั้นก็นำทีมเลขาฯ + รองประธานฯ ไปลงเก็บข้อมูลของแต่ละกลุ่ม

    สำหรับลำดับรายการในวันที่ 11 นั้น  คุณสามารถจะเป็นผู้กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน  ส่วนข้อมูลต่างๆนั้นรองประธานฯ+เลขาฯ จะเป็นผู้รายงานข้อมูล  เช่น  อ.สมพิศ  ดูแลกองทุนเพื่อการศึกษาและกองทุนชราภาพ  จะต้องกล่าวรายงานว่ามีจำนวนเงินเท่าใด  ลุงคมสัน  ต้องทำหน้าที่รายงานกองทุนกลางว่ามีเงินอยู่เท่าใด  กองทุนกลางมีหน้าที่อะไร  คุณอุทัยดูแลกองทุนสวัสดิการคนทำงาน  ก็ต้องรายงานในส่วนนี้  ขณะที่อ.ชุติกานต์  ต้องรายงานกองทุนร่วมและกองทุนทดแทน   ส่วนเวลาในการจัดเวทีนั้นเริ่มตั้งแต่ 09.00-12.00น.  มีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน  ประกอบด้วย ตัวแทนจากจังหวัดและส่วนราชการ  อปท.  ผู้แทนกระทรวงการคลัง  ผู้แทนสกว.  นักวิจัย  และตัวแทนของแต่ละกลุ่มๆละ 2 คน

    ในส่วนของประเด็นในเวทีนั้น  คุณสามารถบอกว่าเป็นการฟังความคิดเห็นของจังหวัด  ส่วนราชการ  อปท.  ว่าเมื่อชาวบ้านทำกองทุนสวัสดิการขึ้นมาแล้ว  ทางพอช.ก็เข้ามาหนุนเสริม  แล้วทางราชการ  อปท.จะทำอย่างไร  มีความคิดเห็นอย่างไร

    นอกจากนี้แล้วเวทีในวันที่ 11 ยังเป็นการเตรียมแผนสำหรับจังหวัดลำปางในการเป็นพื้นที่     ต้นแบบ 1 ใน 800 พื้นที่ทั่วประเทศในการที่ทาง สปสช.จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมงบประมาณหัวละ 170 บาท  ดังนั้น  จึงต้องมีการหารือว่าจะเตรียมความพร้อมกันอย่างไร

   เมื่อพูดถึงตรงนี้คุณปิยชัย  ซึ่งเป็นประธานกลุ่มบ้านต้นธงชัย  ได้ถามขึ้นมาว่า  ควรมีการพูดคุยกันก่อนว่าเงินตำบลละแสนที่ (จะ) ได้มานั้นจะเอามาทำอะไร

    สำหรับคำถามนี้คุณสามารถตอบว่ามีเงื่อนไขเดียว  คือ  ต้องเอาเงินนี้มาสมทบกองทุนสวัสดิการ  

    หลังจากนั้นอ.ธวัช  ซึ่งเป็นประธานฯกลุ่มแม่พริกได้เสนอว่าควรมีการแจกข้อมูลให้ทุกคนได้รับทราบ  ซึ่งทุกคนเห็นด้วย  นอกจากนี้แล้วคุณปิยชัย  ยังได้เสริมว่า  ในเรื่องของการจ่ายสวัสดิการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตาย  ควรจะมีการแจ้งยอดให้ทราบว่าในแต่ละเดือนมียอดเท่าใด  เพราะ  ถือว่าเป็นจุดขายของเรา  ซึ่งทุกคนในที่ประชุมก็เห็นด้วยอีกเช่นกัน  ดังนั้น  คุณสามารถจึงมอบหมายให้อ.ชุติกานต์  ซึ่งเป็นรองประธานฯดูแลกองทุนจัดการในเรื่องนี้  ซึ่งอ.ชุติกานต์บอกว่าจะพยายามทำให้ได้   นอกจากนี้แล้วคุณสามารถได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนขึ้นประเด็นต่อไปว่า  ตั้งแต่เดือนมกราคม  เป็นต้นไป  ทุกกลุ่มจะต้องเคลียร์เงินให้เรียบร้อย  ถ้ากลุ่มไหนไม่เคลียร์ทางเครือข่ายฯจะไม่รับผิดชอบ

    ประเด็นต่อไปก็คือ  หลังจากวันนี้ (วันที่7) เหลือเวลาอีกประมาณ 3 วันพวกเราต้องมาหารือว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลในแต่ละกองทุนให้เสร็จ  ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าให้มาช่วยกันทำข้อมูลในวันที่ 9-10 มกราคม  2549  ที่บ้านคุณสามารถ  ในประเด็นนี้คุณสามารถได้หันมาพูดฝากกับผู้วิจัยว่าอยากให้ผู้วิจัยมาช่วยในเรื่องเอกสารเหล่านี้  ซึ่งผู้วิจัยรับปากว่าจะช่วย  แต่เนื่องจากมีภารกิจการสอนจึงไม่สามารถช่วยได้ทั้งวัน  ดังนั้น  จึงขอให้เครือข่ายฯ  จัดทำข้อมูลของตนเองไว้ 1 ชุด  รวมทั้งข้อมูลในแต่ละตำบลด้วย  ส่วนผู้วิจัยมีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของ    เครือข่ายฯ  และการจ่ายสวัสดิการอยู่แล้วจะนำส่วนนี้มาสมทบ  หลังจากนั้นจะเป็นผู้ทำหน้าที่เรียบเรียง  จัดลำดับ  และทำเป็นเล่มให้เอง  (การที่รับอาสาอย่างนี้  ไม่ใช่ว่าไม่อยากฝึกให้เครือข่ายฯทำงานนะคะ  แต่ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ออกมาแล้วว่าจุดอ่อนของเครือข่ายฯ  รวมทั้งองค์กรภาคประชาชนทั้งหลายจุดหนึ่งก็คือ  ความอ่อนในเรื่องการจัดทำเอกสาร  แต่เนื่องจากการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมที่เป็นทางการ  เชิญหน่วยงานมามากมาย  เอกสารก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ  หากทำไม่เรียบร้อย  หรือไม่ชัดเจน  อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่หน่วยงานเหล่านั้นจะมีต่อเครือข่ายฯได้  ดังนั้น  ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์จึงต้องรับอาสาทำหน้าที่นี้ไปก่อนจนกว่าเราจะฝึกทีมของเครือข่ายฯขึ้นมาได้)

     นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งหน้าที่ย่อยๆกันอีก  ได้แก่  ฝ่ายลงทะเบียน  มอบหมายให้พี่สุภัตรา  อ.สมพิศ  และพี่สวรส  โดยให้ประสานงานกับนักวิจัยในการจัดทำเอกสารลงทะเบียน  ส่วนเรื่องอาหาร  อ.ชวนพิศ  เป็นผู้เสนอว่าจะรับผิดชอบเอง  โดยคุณสามารถให้งบประมาณหัวละ 80 บาท (รวมค่าอาหารและค่าอาหารว่าง)

    ตั้งใจจะเล่าให้จบแต่ว่าถึงเวลานัดทานข้าวกับอาจารย์ตุ้ม  คุณภีมแล้ว  ขอยกยอดเล่าต่อในวันต่อๆไปนะคะ

 

 

 

   

  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11945เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2006 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท