ธัญกร 31


วันที่ 28
   

    วันนี้เข้างานเวลา 8.20 น.ค่ะ พอมาถึงวันนี้ก็มานั่งคุยกับพี่ป๋วยเรื่องของการออกแบบกราฟิก ก็พูดไปพูดมาพี่เค้าก็บอกว่าเดี๋ยววันนี้พี่ป๋วยจะบอกให้รู้เล็กๆน้อยๆ(เป็นความรู้)

      พอสัก 9.05 น.ก็ขึ้นไปที่ห้องตัดต่อ พี่ป๋วยก็ขึ้นตามมา วันนี้เราก็มาคุยกันเรื่องของงานออกแบบกราฟิก ว่าออกแบบกราฟิกแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นงานที่ดี และแบบไหนเป็นงานออกแบบที่ไม่ดี

      พี่ป๋วยบอกว่า เกณฑ์การตัดสินไม่ได้มีไว้สำหรับให้คะแนนงานในการประกวดหรือสรุปว่างานนั้นดีไม่ดีเท่านั้น แต่เกณฑ์การตัดสินนั้น คือส่วนที่จะฝังลึกในระบบความคิดของนักออกแบบ ให้รับรู้อยู่เสมอว่างานแบบไหนดี แบบไหนไม่ดี ซึ่งการฝังลึกนี่แหละที่เปรียบเสมือนแสงสว่างส่องให้นักออกแบบเดินได้ถูกทางในหนทางของนักออกแบบ

มาเริ่มเรื่องของบรรทัดฐานในงานออกแบบกันเลยละกัน ก็มีหลักอยู่ 3 ข้อ ได้แก่

       1. การตอบสนองประโยชน์ใช้สอย

เป็นข้อที่สำคัญมากในการออกแบบทั้งหมด ในงานออกแบบกราฟิกนั้นประโยชน์ใช้สอยมีอิทธิพลต่องานออกแบบ เช่น งานออกแบบหนังสือต้องให้อ่านง่าย ตัวหนังสือชัดเจน ไม่วางเกะกะกันไปซะหมด หรือว่าจะเป็นงานออกแบบเว็บไซด์ ถึงจะสวยยังไง แต่ถ้าโหลดช้า ทำให้ผู้ใช้งานต้องรอนาน ก็จะไม่ถือว่าเป็นงานออกแบบเว็บไซด์ที่ดี หรืองานออกแบบซีดีรอม ถ้าปุ่มที่มีไว้สำหรับกดไปยังส่วนต่างๆของเนื้อหานั้น วางเรียงกันแบบกระจัดกระจาย ทุกครั้งที่ผู้ใช้งานจะต้องใช้ก็ต้องกวาดตามองหาอยู่ตลอด อย่างนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นงานออกแบบที่ไม่ต้องสนองต่อประโยชน์การใช้สอย เป็นงานออกแบบที่ไม่ดี

        ดังนั้นนักออกแบบจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับแรกในงานออกแบบ

       2. ความสวยงาม

ในงานที่ประโยชน์ใช้สอยดีพอๆกัน ความสวยจะเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของงาน โดยเฉพาะงานออกแบบกราฟิก ซึ่งถือว่าเป็นงานออกแบบที่มีประโยชน์ใช้สอยน้อยกว่างานออกแบบด้านอื่นๆอย่างงานออกแบบผลิตภัณฑ์ งานออกแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ความสวยงามจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีอิทธิพลในงานออกแบบกราฟริกอย่างมาก    

       3. การสื่อความหมาย

งานศิลปะนั้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันสื่อความหมายออกมาได้ งานกราฟิกก็คืองานศิลปะเช่นกัน การสื่อความหมายจึงเป็นสิ่งที่นักออกแบบขาดไม่ได้ในการออกแบบ ต่อให้งานที่ได้สวยงามยังไงแต่ไม่สามารถตอบโจทย์ของงานออกแบบ หรือสื่อสิ่งที่ผู้ออกแบบคิดเอาไว้ได้งานกราฟิกนั้นก็จะมีคุณค่าลดน้อยลงไป

           ดังนั้น เมื่อเราต้องการออกแบบกราฟิก จะต้องคำนึงถึงเกณฑ์ 3 ข้อนี้ไว้ ให้จำขึ้นใจเลยก็ว่าได้

1. ต้องเวิร์ก

2. ต้องสวย

3. ต้องสื่อ

       ส่วนในการประกวดแบบ ซึ่งต้องอาศัยตัวเลขมาตัดสินนั้น ก็อาจจะต้องมาแบ่งให้น้ำหนักในแต่ละข้อกัน ซึ่งใครจะให้เกณฑ์คะแนนหรือน้ำหนักในข้อไหนเป็นสัดส่วนเท่าไหร่นั้น ก็ต้องแล้วแต่งาน แล้วแต่คนแหละค่ะ ส่วนตัวพี่ป๋วยเองให้คะแนนงานออกแบบกราฟิกดังนี้ คือ

       ประโยชน์ใช้สอย 30%

       ความสวยงาม       40%

       สื่อความหมาย      30%

       เพราะพี่ป๋วยเค้าจะชอบความสวยงามเป็นพิเศษ ซึ่งพี่โตบอกว่ามันเป็นจุดเด่นในงานการฟิก ส่วนพี่จักรกับพี่อิสบอกว่าจะเน้นที่การใช้งานหรือมีประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักให้ 50% แล้วแต่ และพี่โตบอกว่า ถ้างานออกแบบของเรามี 3 ข้อนี้ก็มั่นใจได้เลยว่างานออกแบบของเราจะเป็นงานออกแบบที่ดี และมีคนชอบงานของเราแน่นอน

คราวนี้มาพูดถึงขบวนการทำงานออกแบบกราฟิก

       เรื่องนี้สำคัญค่ะ....ขบวนการออกแบบนั้นครอบคลุมตั้งแต่มีโจทย์ มีปัญหาเข้ามาได้รับรู้ ให้เราได้แก้ไข จนไปสิ้นสุดตอนไปส่งงาน ส่วนระหว่างทางนั้นมันจะมีอะไรบ้าง เรามาดูกัน

       1. วิเคราะห์โจทย์ที่มีมาให้แก้ไข

       2. สร้างแนวคิดหลักในการออกแบบให้ได้

       3. ศึกษางานหรือกรณีตัวอย่างที่มีอยู่แล้ว

       4. ออกแบบร่าง

       5. ออกแบบจริง

1. วิเคราะห์โจทย์ที่มีมาให้แก้ไข

       จุดเริ่มของงานออกแบบ ก็คือ ปัญหา.......มีปัญหา มีโจทย์ จึงมีการออกแบบแก้ไข โจทย์ที่ว่านั้นมีความยากง่ายต่างกันแล้วแต่ชนิดของงาน แต่โจทย์ไม่มีทางออกแบบออกมาได้ ถ้าปราศจากการแก้ไขที่ถูกต้อง การวิเคาระห์หลักๆสำหรับงานกราฟิกมักจะเป็นดังนี้

       What เราจะทำงานอะไร? กำหนดเป้าหมายของงานที่จะทำซึ่งเป็นเรื่องเบื้องต้นในการออกแบบที่เราจะต้องรู้ก่อนว่า จะกำหนดให้งานของเราบอกอะไร เช่น เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ บอกทฤษฎีหรือหลักการเพื่อความบันเทิง เป็นต้น

       Where งานของเราจะนำไปใช้ที่ไหน? เช่น งานออกแบบงานผนังร้านหนังสือที่สยามสแควร์ที่เต็มไปด้วยร้านค้าแหล่งวัยรุ่น คงต้องมีสีสันฉุดฉาดสะดุดตามากกว่า ร้านแถวสีลม เพราะเป็นเขตในที่คนทำงานอยู่กันเยอะ ซึ่งจะมีอายุมากขึ้นกว่าหน่อย

       Who ใครคือคนที่มาใช้งาน? หรือกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการวิเคราะห์โจทย์เพื่อการออกแบบ เพราะผู้ใช้งานเป้าหมายอาจเป็นตัวกำหนดแนวความคิดและรูปลักษณ์ของงานออกแบบได้  เช่น  งานออกแบบโปสเตอร์สำหรับผู้ใหญ่  เราต้องออกแบบโดยใช้สีจำนวนไม่มาก  ไม่ฉูดฉาด  และต้องใช้ตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่  รวมถึงจัดวางอย่างเรียบง่ายมากกว่าผู้ใช้ในวัยอื่นๆ
    How แล้วจะทำงานนี้อย่างไร?  การคิดวิเคราะห์ในขั้นสุดท้ายนี้อาจจะยากสักหน่อย  แต่เป็นการคิดที่รวบรวมการวิเคราะห์ที่มีมาทั้งหมดกลั่นออกมาเป็นแนวทาง
2. สร้างแนวความคิดหลักในการออกแบบให้ได้  
       งานที่ดีต้องมีแนวความคิด ( Concept ) แต่ไม่ได้หมายความว่างานที่ไม่มีแนวความคิดจะเป็นงานที่ไม่ดีเสมอไป  งานบางงานไม่ได้มีแนวความคิด  แต่เป็นงานออกแบบที่ตอบสนองต่อกฎเกณฑ์การออกแบบ ที่มีอยู่ก็เป็นงานที่ดีได้เช่นกัน  เพียงแต่ถ้าเราลองเอางานที่ดีมาวางเทียบกัน 2 ชิ้น  เราอาจจะไม่รู้สึกถึงความต่างอะไรมากมายนักในตอนแรก  แต่เมื่อเรารู้ว่างานชิ้นนึงมีแนวความคิดที่ดี ในขณะที่อีกชิ้นนึงไม่มี  งานชิ้นที่มีแนวความคิดจะดูมีคุณค่าสูงขึ้นจนเราเกิดความรู้สึกแตกต่าง
       งานออกแบบกราฟิกดูจะมีกฎเกณฑ์  และบรรทัดฐานที่น้อยกว่างานออกแบบด้านอื่นๆ ( อย่างเช่น  ไม่มีปัจจัยทางด้านวัสดุกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนเหมือนงานออกแบบผลิตภัณฑ์  หรืองานด้านสถาปัตยกรรม ) ดังนั้นแนวความคิดจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดคุณค่าของตัวชิ้นงานที่เรากำลังออกแบบอย่างมาก
3. ศึกษางานหรือกรณีตัวอย่างที่มีอยู่แล้ว
       พี่ป๋วยบอกว่าการศึกษากรณีตัวอย่างเป็นการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของงานที่มีอยู่แล้ว  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ออกแบบในงานของเรา  สำหรับพี่โตแล้วการทำกรณีศึกษาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียวในงานออกแบบ  เพราะมันก็เหมือนตัวชี้แนะหนทางในการออกแบบหรือว่าการแก้ไขปัญหาของเราได้  แต่ให้ระวังว่าอย่าไปยึดติดกับรูปแบบที่ชื่นชอบมากเกินไป  เพราะอาจจะทำให้เราติดกับกรอบความคิด  ติดกับภาพที่เห็นจนบางครั้งไม่สามารถคิดงานสร้างสรรค์ใหม่ๆออกมาได้  ซึ่งการติดรูปแบบหรือภาพมากเกินไปนี้แหละ  มันจะซึมซับมาสู่งานเรา  จนกลายเป็นการตบแบบหรือลอกแบบชาวบ้านมานั่นเอง
        พี่ป๋วยบอกว่าจริงๆแล้วเรื่องของการตบแบบ  เป็นเรื่องธรรมดาในการออกแบบ  เพราะขบวนการออกแบบคือการกลั่นความคิดที่อยู่ลึกๆในใจของเราอยู่แล้ว  ไอ้ที่ลึกในใจน่ะก็แน่นอนว่ามันจะต้องมีแบบที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ  ถึงเราไม่ได้กางภาพที่เราชอบไว้ข้างจอ  แต่ก็ซึมซับอยู่ในสมอง  อยู่ในใจของเราอยู่แล้ว  และถ่ายทอดออกมาตอนที่เราทำงานโดยที่ไม่รู้สึกตัว  ดังนั้นการออกแบบจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า  เป็นการตบแบบที่มีมาอยู่ก่อน  แล้วเอามาดัดแปลง  ประยุกต์ให้เข้ากับโจทย์งานของเรา  ส่วนการตบแบบชาวบ้านแล้วลอกมาโดยแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงให้เข้ากับโจทย์ที่เรามีอยู่เลย  อย่างนี้เรียกว่า  ลอกแบบชาวบ้าน  อย่างนี้น่ารังเกียจค่ะ  โดยเฉพาะประเภทเหมือนเปี๊ยบเนี่ยนะ โอ้ว... 

4. ออกแบบร่าง

       การออกแบบร่างเป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆคนมักมองข้าม  การออกแบบร่างคือ  การเอาแนวความคิดที่เรามีออกมาตีความเป็นแบบ  ซึ่งส่วนใหญ่เวลาทำงานเราก็มักจะต้องสเก็ตงานด้วยมือออกมาเป็นแบบร่างก่อน ( สเก็ตมือก็ไม่ได้สวยอะไรมาก  ให้เราเข้าใจคนเดียว  หรือเพื่อนที่ร่วมทำงานกับเราเข้าใจก็พอ )  สิ่งที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม  ความคิดออกมาจากสมองกลายเป็นสิ่งที่เห็นได้  จับต้องได้บนกระดาษ  แล้วจับไอ้ที่เราสเก็ต  หรือแบบร่างนั่นแหละไปทำต่อ  โดยนำไปออกแบบในโปรแกรมที่เราถนัด  ไม่ว่าจะเป็น  Photoshop   Illustrator  หรือ  Freehand  ฯลฯ ซึ่งก็แล้วแต่คนออกแบบแต่ละคน
5. ออกแบบจริง
       การออกแบบจริงจากร่างที่มีอยู่  จากแบบร่างทั้งหมดที่เราคัดเลือกแล้ว  คราวนี้แหละที่เราต้องเลือกเอามาออกแบบในโปรแกรมที่เราถนัด  ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายค่ะ พี่ป๋วยบอกไว้ค่อยศึกษากันต่อ
       วันนี้ก็ได้รู้เรื่องของการออกแบบกราฟิกมามากอยู่พอสมควรค่ะ ก็ช่วงเวลาที่เหลือพี่โตก็ให้ลองศึกษาต่อจากงานที่ได้จดไว้แล้ว และถ้าไม่เข้าใจตรงไหนก็มาถาม หรืออยากจะได้อะไรเพิ่มเติมก็บอก(ถ้าพี่โตสามารถบอกได้)ก็เลยนั่งจดจ่อกับใบสคลิปที่จดไว้เนี่ยแหละค่ะต้องทำความเข้าใจกับมันก่อน ซัก 4.20 น.ก็ได้เวลาต้องลงมาเซ็นต์ชื่อกลับบ้านได้แล้วค่ะ 
 
 
 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11944เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2006 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท