มหันตภัยอินเทอร์เน็ต เด็ก - เยาวชน เป้าความเสี่ยง


 

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่พุ่งทะยานเพิ่มขึ้นมหาศาลในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นทั่วโลก หรือเฉพาะประเทศไทย จากความสามารถในการซึ่งเชื่อมโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน ที่ทำให้ทั้งข่าวสาร วัฒนธรรม รวมถึงพฤติกรรมการลอกเลียนแบบกระทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด และง่ายดายเพียงชั่วพริบตา เป็นเหตุให้ผู้ใหญ่-ผู้ปกครองทวีความห่วงใยต่อมหันตภัยร้ายที่แฝงตัวมากับระบบออนไลน์ ไซเทค มีรายงานสถานการณ์เด็กกับภัยอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมาฝาก


ผลสำรวจของ นัว อินเทอร์เน็ต เซอร์เวย์ส คาดว่า ปี 2548 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกจะเพิ่มปริมาณเป็น 1,000 ล้านคน จากเดือนกุมภาพันธ์ 2545 มีผู้ใช้ 544.2 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ก็ ปี 2550 แล้ว ยอดคงฟุ่งปี๊ดไปไหนต่อไหนแล้ว และปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตของไทยก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ปริมาณผู้ใช้ หรือการเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจไม่น่าตกใจอะไร หากผลสำรวจในต่างประเทศจะไม่ระบุว่า 1 ใน 5 ของเด็ก ที่เล่นแชทรูม เคยถูกชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ 9 ใน 10 ของเด็กอายุ 9 ถึง 16 ปี เคยดูสื่อลามกในอินเทอร์เน็ต 25% ของเด็กที่เคยถูกชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์กล้าบอกพ่อแม่ และชื่อที่น่าจะปลอดภัยแต่เมื่อค้นหาในเสิร์ช เอ็นจิ้น กลับนำไปสู่เวบไซต์ลามก เช่น Disney, Action Man, Barbie, Pokemon, Alice, My Little Pony

ภัยที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตซึ่งมีผลโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน อยู่ที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางในการติดต่อซื้อขายเด็ก เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลการกระทำต่อเด็ก การซื้อขายแลกเปลี่ยนสื่อลามกเด็ก เป็นช่องทางติดต่อกับเด็ก รวมทั้งการที่เด็กได้รับเนื้อหาไม่เหมาะสม

ผลการสำรวจในไทยนั้น แหล่งใหญ่ๆ ที่เด็กๆ จะใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ใน...

โรงเรียน 41% บ้าน 31% อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ 24% โดยพ่อแม่ส่วนใหญ่ 40%

ควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กอย่างไม่ค่อยใกล้ชิด ที่ใกล้ชิดมากมี 24% และพ่อแม่ถึง 68% ไม่ได้ติดตั้งโปรแกรมกลั่นกรองเนื้อหาไม่เหมาะสมในคอมพิวเตอร์ของลูก มีเพียง 15% เท่านั้นที่ติดตั้งโปรแกรม และอีก 17% ไม่รู้เรื่องเลย รวมทั้งสถานที่ซึ่งน่าไว้วางใจอย่างโรงเรียน พ่อแม่ก็ไม่ทราบว่า ติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวหรือไม่ถึง 71%

โดยพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต 58% ของเด็ก และ 90% ของเยาวชนใช้สม่ำเสมอ หรือทุกวัน 85% ของเด็ก และ 87% ของเยาวชน ไม่เคยได้รับการอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตมาก่อน 39% ของเด็ก และ 80% ของเยาวชน มักใช้อินเทอร์เน็ตตามลำพัง

สำหรับสิ่งที่พวกเขาได้พบในอินเทอร์เน็ตนั้น 18% ได้รู้จักเพื่อนใหม่ 12.41% ถูกนัดพบ หรือถูกขอนัดให้พบเพื่อนบนอินเทอร์เน็ต 19.31% พบรูปภาพหรือข้อความลามก 11.04% ตั้งใจเข้าเวบไซต์ลามก อีก 20% พบเวบไซต์ลามกโดยไม่ได้ตั้งใจ 11.72% ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตนเอง และ 3.45% ถูกทำให้ไม่สบายใจโดยคนที่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต

ส่วนการเล่นแชทรูมนั้น เด็กจำนวนมากสุดถึง 74% ใช้หาเพื่อนใหม่ 44.5% ใช้หาข้อมูล 10.7% ใช้หาแฟน 44.8% เคยพบคนรู้จักทางอินเทอร์เน็ตแล้ว และ 70% ต้องการไปพบคนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต

ข้อมูลระบุว่า มีเด็ก 50% และเยาวชน 91% มีคนรู้จักบนอินเทอร์เน็ต เด็ก 39% และเยาวชน 75% มีเพื่อนบนอินเทอร์เน็ต เด็ก 27% และเยาวชน 55% คุยเรื่องต้องห้าม หรือความลับบนเน็ต เด็ก 21% และเยาวชน 52% ให้ข้อมูลส่วนตัวแก่เพื่อนบนอินเทอร์เน็ต เด็ก 8% และเยาวชน 16% พบว่า ข้อมูลส่วนตัวเคยถูกนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนมากเกิดผลกระทบด้านลบตามมา

เด็ก 30% และเยาวชน 52% ไม่เห็นว่า การซื้อขายภาพลามกดาราบนอินเทอร์เน็ตเป็นปัญหา เยาวชน 71% เคยดูเวบลามกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง 45% เข้าไปดูซ้ำเป็นประจำ และ 73% ของกลุ่มนี้รู้สึกผิดที่ทำเช่นนั้น เด็กและเยาวชน 92% ที่เล่นแชทรูมเคยถูกชวนให้คุยเรื่องเซ็กซ์ แต่เด็กส่วนมากจะเปลี่ยนเรื่องคุย หาก 17% ของเด็กก็คุยด้วย เพราะไม่คิดว่ามีอันตราย หากเด็ก 8% เลิกเล่นแชทรูมไปเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบประสบการณ์เลวร้ายบนอินเทอร์เน็ต มีเด็กประมาณ 25% ที่คุยกับพ่อแม่ แต่ประมาณ 25% เช่นกันที่คุยกับเพื่อน หรือเก็บเป็นความลับ และไม่มีเด็กคนไหนนำเรื่องเหล่านี้ไปเล่าให้ครูฟัง

จากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เห็นได้ว่า เด็กและเยาวชนของเรา มีโอกาสเสี่ยงต่อมหันตภัยออนไลน์ตลอดเวลา ยิ่งในกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้เอาใจใส่ใกล้ชิด พูดคุยกับบุตรหลาน หรือปล่อยปละละเลยให้เด็กๆ เล่นอินเทอร์เน็ตตามลำพัง โดยไม่มีตัวกรอง หรือการอบรมสั่งสอน ให้เด็กรู้จักระวังภัย ทั้งในโลกแห่งความจริง และโลกออนไลน์ก็ตาม

ผู้ปกครองควรใกล้ชิดกับลูก

นายภาณุพงศ์ พงศะบุตร คุณพ่อลูกสาม ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เล่าว่า ตัวเขาเองเป็นผู้นำคอมพิวเตอร์เข้ามาในบ้านและเริ่มใช้งานมาตั้งแต่สมัยยังเป็นจอเขียว เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และชีวิตยุคปัจจุบันจะหนีสิ่งนี้ไปไม่พ้น ทั้งน่าจะมีประโยชน์ต่อชีวิต รวมถึงธุรกิจ แม้หน้าที่การงานของเขาจะไม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลยก็ตาม
นอกจากการใช้งานแล้ว เขายังให้ลูกๆ ใช้คอมพิวเตอร์ร่วมด้วยตั้งแต่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งปัจจุบันลูกๆ ใช้ได้เก่งกว่า และเมื่อลูกใช้ตัวเขาก็ต้อง "รู้อะไรไปด้วยกัน"
โดยลูกคนโตอายุ 16 ปี กำลังเรียนชั้น ม.5 มีประสบการณ์เล่นคอมพิวเตอร์ ใช้อินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ซึ่งการให้ลูกใช้คอมพิวเตอร์นี้ ตัวเขาก็เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูกๆ พบว่า เริ่มแยกตัว ไม่เล่นกีฬากับเพื่อนบ้าน
บ้านนี้จึงมีกฎกติกาออกมา วันธรรมดาเล่นได้ 1 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 3 ทุ่มครึ่ง ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ลูกๆ ขอเล่นเพิ่มขึ้น ก็อนุญาต ขณะเดียวกัน ตัวเขาก็หาทางออกโดยพยายามหางานมาให้ลูกทำ และให้คะแนน สร้างแรงจูงใจแก่เด็กๆ แทนการหมกหมุ่นกับเกม หรืออินเทอร์เน็ต

"ผู้ปกครองต้องใกล้ชิดกับลูก เช่น ตอนลูกเล็กๆ คอยเล่านิทานธรรมะให้ลูกฟัง วันละ 1-2 เรื่อง นิทานศาสนา หรือสัตว์ พอโตขึ้นก็ต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า พ่อแม่ผู้ปกครองคือ คนธรรมดา ที่ต้องทำมาหากิน ส่วนเด็กๆ นั้นก็อาจถูกชักจูงจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ แต่ถ้ามีสติ จะเริ่มเรียนรู้ทักษะต่างๆ ให้ตั้งตนได้" คุณพ่อลูกสาม แนะนำ

พร้อมทั้งให้ความเห็นต่อไปว่า ถ้าลูกใช้อินเทอร์เน็ต ก็ต้องคอยตรวจสอบว่า ลูกใช้อะไร ท่องเวบโป๊หรือไม่ ถ้าใช่ผู้ปกครองไม่ต้องตกใจ เพราะนี่คือ สัญลักษณ์แสดงให้รู้ว่า ลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ถึงเวลาแล้วที่ต้องคุยเรื่องเพศกันแล้ว! ซึ่งเมื่อถึงเวลานี้ ความใกล้ชิดของพ่อแม่ที่เริ่มมาตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ จะมีประโยชน์ เพราะทำให้ลูกๆ กล้าพูดคุยด้วย

"ความรัก ความเมตตา ของพ่อแม่ จะทำให้ลูกอยู่ใกล้เรามากกว่าเพื่อน" คุณพ่อ ย้ำ

นอกจากนี้ ยังแนะด้วยว่า การไปเที่ยว และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เป็นสิ่งที่จะสร้างความใกล้ชิดระหว่างกันได้ดี

แนะเทคนิคเล่นเน็ตอย่างปลอดภัย

คุณพ่อคนเดิม ยังแสดงความเห็นต่อไปว่า แม้ความแข็งแรงของสังคมไม่เท่าสมัยก่อน จากการเป็นสังคมเดี่ยว ไม่ใช่สังคมขยายเช่นอดีต แต่ก็สามารถนำของดีจากอดีตมาปรับใช้ได้ โดยคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า ลูกคือ ทรัพยากรอันมีค่าที่สุดของบ้าน ฉะนั้น หากพ่อแม่สามารถเลือกที่ทำงานใกล้บ้านได้ แม้เงินเดือนจะน้อยลงก็ควรทำ หรือปัจจุบันทางเลือกใหม่คือ การประกอบอาชีพเอสเอ็มอีก็น่าสนใจ
ทั้งนี้ การหัดให้ครอบครัวอยู่อย่างพอมีพอกิน เพื่อจะมีเวลาให้กันและกันมากขึ้น เรียนรู้กันมากขึ้นเป็นสิ่งที่ควรทำ หรือไม่เช่นนั้น ต้องหากิจกรรมชุมชนทำด้วยกัน เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนมาเล่นด้วยกัน จะได้ห่างจากสิ่งยั่วยุออนไลน์

"หากเราต้องการสังคมที่ดี ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกันสร้าง" คุณพ่อผู้ใส่ใจในทุกข์สุขของครอบครัว กล่าว

สร้างภูมิคุ้มกันวัยเยาว์

นายชยธร พรสวัสดิ์ เวบมาสเตอร์ ไทยแลนด์คิดดอทคอม (www.thailandkid.com) เห็นว่า เด็กๆ มักชอบเลียนแบบ และมีบ่อยครั้งนำไปสู่การใช้อินเทอร์เน็ตไม่ถูกวิธี เช่น การเข้าเวบไซต์ลามก หรือรุนแรง ฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่เล็กๆ จึงควรกระทำ

"หากแยกออก อินเทอร์เน็ต คือ สื่อประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับวิทยุ โทรทัศน์ หรือโปสเตอร์ มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งถ้าเด็กสามารถวิพากษ์วิจารณ์สื่อได้เพียงใด ก็จะนำมากลั่นกรองข้อมูลที่รับรู้ได้เท่านั้น" เวบมาสเตอร์ ชี้ประเด็น

ทั้งนี้ ด้วยเป็นการ "ยากมาก" ที่จะปิดกั้น หรือป้องกันเวบไซต์อโคจร ซึ่งในช่วง 1-2 ปีมานี้ ผลสำรวจเวบอโคจรมีทั้งเวบโป๊ รุนแรง บทความทางเพศ สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ทางเพศ แม้หลายๆ เวบไซต์จะเข้าไม่ได้แล้ว เพราะติดตัวกรอง แต่ผู้พัฒนาก็มีช่องทางใหม่ๆ เปิดให้เข้าไปในเวบประเภทเหล่านี้

ปกป้องน้องน้อยจากภัยออนไลน์

น.ส.จิตราภรณ์ วนัสพงศ์ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน เอคแพท อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งทำงานด้านการต่อต้านการค้าประเวณีเด็ก การค้าเด็ก และสื่อลามกเด็ก กล่าวว่า เอคแพท ริเริ่มโครงการปกป้องน้องน้อยจากภัยออนไลน์ เพื่อรณรงค์ให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และสถานศึกษาด้านการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2545
ปัจจุบัน ได้ผลิตซีดีรอม ชุดอีเบบี้กับเมาส์แมน ที่แปลเป็นไทยจากต้นฉบับภาษาจีน ซึ่งผลิตโดยเอคแพท ไต้หวัน เพื่อให้ความรู้ด้านการท่องอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยขึ้น โดยจะแจกให้แก่โรงเรียนต่างๆ หน่วยราชการ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ เพื่อช่วยกันเผยแพร่สร้างความปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน จากก่อนหน้านี้ เอคแพท เคยจัดทำหนังสือคู่มือปกป้องน้องน้อยจากภัยออนไลน์เผยแพร่มาครั้งหนึ่งแล้ว

ส่วนเนื้อหาของอีเบบี้ นอกจากจะเป็นการ์ตูนแนะนำการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแล้ว ยังมีสกรีน เซฟเวอร์ ที่จะขึ้นข้อความเตือนสิ่งที่พึงปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้เน็ต โปรแกรมกรองเวบไซต์ และตอบคำถาม เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยให้เด็กๆ ได้ศึกษากันในเบื้องต้นด้วย



ข้อมูล-หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

                                                                                           C...

หมายเลขบันทึก: 119055เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2007 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท