เด็กรุ่นนี้ไม่เอาไหน? แล้วเราจะสอนอะไร? ตอนหนึ่ง


ถ้ายังมองว่าการนั่งหลังขดหลังแข็งท่องหนังสือคือเก่ง (ในแบบที่เราเคยเชื่อ) ผมก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก

สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย ระบบ SOTUS (seniority, order, tradition, unity and spirit) ยังไม่ถูกนำมาตีแผ่วิจารณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์เหมือนรุ่นหลังครับ คณะผมก็นับเป็นคณะที่ใช้ระบบนี้อย่างกว้างขวาง เมื่อผ่านปีหนึ่งไป ผมและเพื่อนๆ ก็มีโอกาสเป็นผู้ใช้ระบบ SOTUS บ้าง ซึ่งข้อที่หลายๆ คนชอบใช้ที่สุดคือ Seniority ครับ รุ่นน้องเจอรุ่นพี่ต้องไหว้ รุ่นน้องบางคนไม่ไหว้ หรือทักรุ่นพี่แต่ไม่ไหว้ ก็มักจะถูกเขม่นเอา

เพื่อนๆ หลายคนบ่นว่าเด็กรุ่นนี้ไม่เหมือนรุ่นก่อน เป็นการบ่นที่น่าคิดนะครับ เพราะคำว่ารุ่นในที่นี้คือรุ่นในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ผมเชื่อว่าในความหมายของเพื่อนส่วนหนึ่งหมายถึงเด็กที่มีอายุน้อยกว่า ซึ่งถ้านับตามรุ่นแบบ Generation แล้ว ก็ต้องถือว่ารุ่นผมกับรุ่นพี่รุ่นน้องที่ห่างกับห้าหกปีนั้นเป็นรุ่นเดียวกันแท้ๆ ซึ่งนับว่าเป็น Generation X เหมือนอย่างที่ฝรั่งเขานับกันนั่นล่ะครับ

รุ่นแบบ Generation นี้ต่างหากครับที่เป็นเรื่องที่ผมอยากพูดถึง เพราะตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาผมได้ยินผู้ใหญ่หรือรุ่นผมเปรียบเทียบรุ่นตัวเองกับรุ่นอื่นมาตลอด ผู้ใหญ่มักบอกว่าเพลงสมัยนี้ไม่เพราะ ไม่มีสัมผัส เด็กรุ่นนี้ไม่อดทน ไม่รักษาวัฒนธรรม แต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่กล้าเผชิญโลก รุ่นผมเองก็มีพูดถึงรุ่นเด็กสมัยนี้ว่าเที่ยวเก่ง จับจด รู้อะไรไม่ลึก ไม่ได้เรียนยากลำบากเหมือนสมัยที่เราเรียนกันมา รู้และทำเรื่องที่ไม่ควรก่อนถึงวัยอันควร

ช่วงชีวิตที่วิกฤตของคนเราก็ช่วงวัยรุ่นนี่ละครับ หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเพราะวัยรุ่นเองที่มีความอยากรู้อยากลอง ทำให้มันกลายเป็นปัญหา แต่ผมคิดว่าผู้ใหญ่ (รุ่นก่อน) เองก็มีส่วน (ทั้งเพิ่มและลดปัญหา) อยู่มาก หลายๆ ครั้งรุ่นก่อนหน้ามักมองไม่เห็นว่ารุ่นหลังจะเอาตัวรอดอย่างไรในสังคม เพราะดูแล้วไม่เข้าท่าเอาเสียเลย แต่ทุกรุ่นก็ฝ่าวิกฤตของช่วงวัยรุ่นมาได้และก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อที่จะมองกลับไปยังรุ่นที่กำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤต แล้วก็จะมีความรู้สึกคล้ายๆ แบบนั้นอีกนั่นละครับ ว่ามันจะเอาตัวรอดกันได้ยังไง

ผมมองว่าวงจรนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในสามรุ่นที่ผมสัมผัส คือรุ่นพ่อแม่ผม (Baby Boomer) รุ่นผมและรุ่นถัดมา (Gen -x, Gen-y) คนรุ่นผมที่เข้าสู่วงการศึกษาก็มักมองหาวิธีสอนแบบที่ตัวเคยได้รับมา เสียงบ่นจึงยังมีไม่ขาดครับ ผมยังเชื่ออีกว่าการเรียนในห้องแบบบรรยายนั้นน่าเบื่อที่สุด บางครั้งหาสาระไม่ได้เลยด้วยซ้ำ พูดแบบนี้ผมไม่ได้หมายความว่าตัวเนื้อหาวิชานั้นไร้สาระ เพียงแต่รู้สึกว่ามันไม่ได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมสนใจ ความรู้ที่ผมมีอยู่ หรือมองไม่เห็นว่ามันจะเกิดประโยชน์อะไรกับชีวิตที่ต้องเรียน อีกประการหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นช่องว่าระหว่างรุ่นมากคือเรื่องของเทคโนโลยีครับ การพยายามสอนด้วยวิธีเก่าๆ นั้นท่าจะไม่ดีเสียแล้วครับ ความรู้อยู่ในทีวี อยู่ในอินเตอร์เน็ตมากมาย เด็กจะหาเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเรามัวแต่สอนให้เด็กท่องในสิ่งที่เด็กเข้าถึงได้ในเสี้ยววินาที และเข้าถึงได้ทุกเวลา เขาคงจะสงสัย ว่าแล้วจะท่องไปทำไม? ถ้ายังมองว่าการนั่งหลังขดหลังแข็งท่องหนังสือคือเก่ง (ในแบบที่เราเคยเชื่อ) ผมก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก ถ้าบอกว่าการฝึกฝนนี่ผมเห็นด้วยครับ แต่มีข้อแม้ว่าฝึกในสิ่งที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์นะครับ

ผมไม่เชื่อว่าเด็กรุ่นนี้ไม่ใฝ่รู้ครับ เขาเพียงแต่หาความรู้จากที่อื่นๆ ซึ่งมีความรู้หลากหลายให้ศึกษา ผมขอยกตัวอย่างสุดโต่งสักเรื่องนะครับ ถ้าถามเรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเกมออนไลน์ Lineage? เด็กหลายคนรู้หมดเลยครับว่าถ้าจะเข้าสู่โลก Lineage มีกี่อาชีพ มีอาวุธแบบไหนที่เหมาะกับอาชีพไหน มีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็น เรื่องพวกนี้ (เราไม่เชื่อว่า)เป็นชุดความรู้ (เราไม่ยอม) เทียบกับความรู้ในตำราภาษาไทย หรือสังคม เด็กเรียนอย่างไร หาความรู้อย่างไร เรื่องนี้ต้องพูดกันยาวครับ ผมมั่นใจว่าไม่เหมือนที่เราพยายามป้อน (ยัด?) ให้ในห้องเรียนแน่ๆ

ถามว่าพูดแบบนี้ ผมสนับสนุนให้เด็กเล่นแต่เกมเหรอ? ไม่เลยครับ ผมมองว่าถ้าเราเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้เรียนรู้กันอย่างไร เราน่าจะนำเอาวิธีเดียวกันนี้มาใช้ในห้องเรียนได้มากกว่า

ท่าจะยาวแล้วก็เริ่มจะแตกประเด็นเกินเลยไปแล้วครับ ผมขอจบไว้แค่นี้ แล้วจะมาต่อทีหลัง

แต่ก่อนจะจบ ผมขอฝากเรื่องขำขันไว้เรื่องหนึ่งครับ (ถ้าผมจำไม่ผิด ผมอ่านเจอในหนังสือรุ่นสมัยมัธยม ซึ่งนำมาเล่าต่อก็อาจจะผิดเพี้ยนไปบ้างนะครับ)

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
พ่อ:
แกรู้ไหม ว่าตอนประธานาธิบดีลินคอนอายุเท่าแก เขาเริ่มอาชีพการเมืองแล้ว
ลูก: แล้วพ่อรู้ไหมว่าตอนประธานาธิบดีลินคอน อายุเท่าพ่อ เขาเป็นประธานาธิบดีแล้ว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อ้างอิง: Gee, J. P. (2003). What video games have to teach us about learning and literacy. New York: Palgrave Macmillan.
 

หมายเลขบันทึก: 118846เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2007 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ในอีกมุม ทัศนะต่อกระบวนการเรียนรู้ในสังคม  ยังคงสภาพ  เดินตามหลังผู้ใหญ่  หมาไม่กัด  จึงทำให้ผู้ออกแบบการเรียนรู้เป็นผู้ใหญ่ออกแบบให้เด็ก   ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง   แต่ต้องคิดบนฐานของความเป็นจริง  
  • กรณีที่ชัดเจน เช่น  การเรียนรู้ เรื่องเพศศึกษา   ผู้ใหญ่ออกแบบให้เด็กเรียนรู้ อย่างไรทั้งจากอดีตและในปัจจุบัน    เด็กๆจึงมีพฤติกรรมเรื่องเพศ  เช่นปัจจุบัน 

สวัสดีค่ะ

   มีเรื่องปรึกษาคุณแว้บค่ะ

 ดิฉันเอง โตมาจากครอบครัว ที่มีระเบียบวินัย แต่อบอุ่น พ่อแม่พร้อมหน้าลูก และคุณแม่เป็นครูสอนพิเศษให้ลูกทุกคืน โดยเฉพาะคำนวณ เพราะท่านเก่งเลข

  พอมีลูกของตัวเอง เป็นกันเองกับลูกมาก รัก ตามใจ แต่มีวินัย ไม่ขัดใจในสิ่งที่เขาอยากทำ เขาอยากได้คอม Mac ก็ซื้อให้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ พอเรียนเตรียมอุดม อยู่ห้องดีๆ แม่อยากให้เป็นหมอ เขาไม่ชอบ ไปสอบเข้าวิศว ที่เดียว ตัดสินใจเอง แม่ไม่รู้เลย ยังตกใจ ว่าทำไมไม่สมัครสัก 2 ที่ สรุปว่า ได้

พออยู่ปี 3 เล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีเงินใช้สบาย ซื้อรถสปอร์ตขับด้วยเงินตัวเอง   พอจบ ยังอ้อยอิ่ง เลยไล่ให้ไปเรียนต่อ จบ MBA

    กำลังคิดค่ะ ว่า รุ่นgerationของลูกเรา ยังเป็น ตัวของตัวเองแบบนี้ รุ่นหลานเราจะขนาดไหน ไม่รู้ว่าจะเอาอยู่ไหม  ไม่ทราบว่าเด็กรุ่นใหม่จะสอนอย่างไรดีคะ ตอนนี้ ยังงงๆอยู่ ตอนนี้ เขาอายุ 1 ขวบเศษ

     ตอนนี้ ใครๆให้ไปสมัครเข้าโรงเรียนอินเตอร์ เพราะการสอน อาจไม่ต้องท่องมาก

      ลูกดิฉัน ไม่ชอบท่องหนังสือเลย ขอเรียนวิศว จะได้มีคำนวณเยอะๆ หลานสงสัยจะเหมือนกัน

อาจารย์ศักดิ์พงศ์ครับ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เรื่องการออกแบบการเรียนรู้บนฐานความเป็นจริง ในที่นี้ผมเข้าใจว่าอาจารย์หมายถึงการยืนอยู่บนความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละสังคมใช่ไหมครับ? เรื่องเพศศึกษาบ้านเราลักลั่นมานานครับ จนถึงยุคที่เด็กหาความรู้ได้จากอินเตอร์เน็ต เราก็คุมไม่อยู่ สอนกันไม่ถูกซะแล้ว ลำบากนะครับ 

  • จาก "เด็กรุ่นนี้ ไม่เอาไหน"

ไม่เห็นมีใครจะพูดเท่าไรเลยว่า "ผู้ใหญ่สมัยนี้ ไม่เอาอ่าว"

  • ผมว่าทั้งสองประโยคนั้นพอกัน คือล้วนแต่มองจากมุมมองตัวเอง เป็น egoism นะครับ และเป็นมุมมองที่มีมายาคติ
  • การพูดประโยคอย่างนี้ ไม่ช่วยให้คนจูบปากกันด้วยความรักเลยนะครับ แต่อาจจะต่อยปากกันเพราะความโกรธก็เป็นได้
  • สังคมไทย (ทั่วไป)ไม่อนุญาตให้เด็กปีนเกลียว แต่ถนัดนักเรื่องการสั่ง ขู่ บังคับ และลงโทษ
  • พอเจอนักวิชาการ วิจารณ์จี้กล่องดวงใจเข้าหน่อยก็ "งอนตุ๊บป่อง"
  • เป็นนักวิชาการอยู่เมืองไทย จะวิจารณ์ผู้ใหญ่นี่ลำบากแต๊ๆ
  • อนึ่ง ผมบันทึกเรื่องเพศศึกษาไว้ไม่นานมานี้ สนใจตามไปศึกษาเรื่องเพศในมิตินักวิชาการตกขอบ (คือไม่มีขอบจะให้เกาะ) ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/dek3moktoday/116103นะครับ

แก้ไขที่อยู่บันทึกเรื่องเพศศึกษาใหม่ เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูได้นะครับที่ http://gotoknow.org/blog/dek3moktoday/116103

สวัสดีครับพี่วิสุทธิ์

เรื่องโทษคนอื่นและไม่รับฟังความคิดเห็นนี่ลำบากนะครับ มันฝังรากลึก ไม่รู้แต่ปางไหน  แม้แต่สมัยนี้ก็ยังไม่หาย ผมสงสัยว่าจะเริ่มในโรงเรียนหรือเปล่าครับ แล้วก็มาต่อที่ทำงาน ไปไหนก็มีแต่ผู้ใหญ่ที่ไม่ฟังเด็ก ผู้ใหญ่คิดแทนเด็ก

กลัวอย่างเดียว ไม่อยากให้เรื่องนี้เริ่มที่บ้านนะสิครับ

เดี๋ยวจะตามไปหาขอบในบันทึกเพศศึกษานะครับ 

ขอตอบคำถามคุณ Sasinanda แบบนี้แล้วกันนะครับ

ผมส่งคำถามนี้ต่อให้หญิงสาวในปัจจุบันของผม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันสำหรับอนาคตที่เราเริ่มวางแผนร่วมกัน เราทั้งสองคนเชื่อว่าการพูดคุยกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสายสัมพันธ์
ด้วยความที่เรามีพื้นฐานครอบครัวคล้ายๆ กันคือเติบโตในครอบครัวชั้นกลาง ผู้ปกครองดูแลให้การศึกษาตามสมควร และเริ่มเข้าสู่ตลาดงานตามวัยอันควร ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราเป็นตัวแทนของ Gen X ในระดับชนชั้นกลางได้ดีพอควรนะครับ

ข้อความต่อไปนี้ผมสรุปความคิดของเราสองคนนะครับ

-------------------------

*ความเก่งกับความชอบ*

เรื่องแรกที่เราทั้งสองคนสะกิดใจคือความต้องการที่สวนทางของผู้ปกครองกับลูกหลาน

เธอไม่เห็นด้วยว่าเด็กเก่งต้องเรียนหมอหรือวิศวกร ความเก่งนั้นความหมายเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคมนะครับ เก่งสมัยก่อนอาจจะไม่เก่งสมัยนี้ ในขณะที่ความชอบนั้นขึ้นกับบุคคล ความชอบนี่เองครับที่จะอยู่กับเราได้นาน

*การเอาตัวรอด กับเป้าหมาย*

เธอใช้คำว่าเอาตัวรอดในประเด็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนะครับ คำว่าเอาตัวรอดนี้ผมคิดว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับ EQ เราทั้งสองคนเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาล เรียนจบปริญญาตรี และโท ได้นั้น นับว่าเราเอาตัวรอดกันได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเรารู้ว่าเราอยากจะเป็นอะไร อยากจะทำอะไรกับชีวิต วัยรุ่นถึงเป็นวัยที่ต้องค้นหา ต้องออกไปท่องเที่ยว ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอก ภายในคือการศึกษา (ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรดีกว่าหนังสือครับ) ภายนอกคือการออกไปรับรู้วัฒธรรมใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเอง เธอตั้งข้อสังเกตว่าพ่อแม่มีส่วนในการให้ข้อมูล และถ่ายทอดประสบการณ์กับบุตรหลาน เธอบอกว่า "มีเด็กๆหลายคนค่ะ ที่โตมามีเพียงเป้าหมายเดียว คือเรียนให้ได้ดี เป็นที่ภูมิใจของพ่อแม่ (บางคนอาจจะเรียนๆไป เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่ดุ ไม่ว่า) แต่ ณ เวลาที่เขาจบป.ตรี นั่น หมายความว่า เขาไม่มีอะไรให้เรียนแล้ว ก็เริ่มเคว้งค่ะ เพราะไม่ได้คิดมาก่อนว่า ตัวเองอยากทำงานเป็นอะไร อาชีพอะไรดี " เชื่อไหมครับว่านี่คือสิ่งที่ผมทำสมัยเด็กๆ เธอยังบอกต่อว่าพ่อแม่ควรตั้งคำถามเกี่ยวกับความต้องการกับลูก และถามอย่างต่อเนื่อง (แต่ต้องระวังอย่าให้ถี่จนลูกรำคาญนะคะ) สนใจรับฟังและสนับสนุนในความฝันของเขาและเธอ เรื่องนี้นอกจากจะช่วยให้ลูกค่อยๆ ปรับมุมมอง และค้นหาสิ่งที่ตัวชอบแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างวัยด้วย เพราะเมื่อพ่อแม่รู้ความต้องการของลูก ก็จะเข้าใจและสื่อสารกันได้ดีขึ้น เข้าใจว่าเขาทำอะไรไปเพื่ออะไร

*ตัวตน*

เรื่องนี้เราคุยกันถึงประเด็น somebody กับ nobody ในยุคนี้ เพราะเด็กยุคใหม่แสวงหาความแตกต่าง ไม่เหมือนรุ่นเราที่มักจะตามๆ กันไป เด็กสมัยนี้ตัวตนสูงจริงไหม? เราคิดว่ามันเป็นไปตามยุคสมัยนะครับ สภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนไป ทำให้วิธีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปแน่นอนครับ การออกเดินนอกทางที่ผู้ใหญ่หวังไว้นั้น อาจเป็นเรื่องปกติสำหรับวัยรุ่น แต่ผมก็เชื่อว่ามีหลายคนที่สุดท้ายแล้วกลับมาในทางที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ

*รุ่นถัดไป*

ผมพูดตามตรงว่ารุ่น Gen Y นี้ ต่างกับรุ่น Boomer มากๆ แม้แต่พวกผมเองก็ยังรู้สึกแปลกแยกอยู่

เธอบอกว่า ถ้าให้เด็กได้คุ้นเคยกับหนังสือ เพลง เป็นสิ่งช่วยหล่อหลอมจิตใจและทำให้เด็กมีความใฝ่รู้  เธอบอกว่า "สรุปง่ายก็คือ เลี้ยงให้เป็นเจ้าหนู จำไม นั่นแหละค่ะ จะช่วยให้เขาเคยชินกับการเรียนรู้และค้นคว้าด้วยตัวเองจนโตเลยค่ะ" และเธอยังบอกว่า ประเด็นนี้หมายถึงการหยอดความรู้เข้าไปนิดๆหน่อยๆ พอให้เค้าอยากรู้ พอเค้าถามต่อ เราก็ต้องพยามหาคำตอบ ไม่ก็หาแหล่งที่มาให้เค้าได้”

ถึงตรงนี้ เธอเห็นว่าการศึกษาในหลักสูตรนานาชาติจะสนับสนุนวิธีการนี้ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เป็นหลักสูตรต่างประเทศ และเด็กอยู่กับวัฒนธรรมนานาชาติ ทำให้ขาดทั้งความเข้าใจในความเป็นไทย และอาจจะทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตในสังคมไทย และในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศ แน่นอนครับ ถ้าจะให้เด็กเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็กจนจบปริญญาเอกเลยก็ได้ ถ้ามีทุนทรัพย์เพียงพอ และก็ไม่ต้องห่วงเรื่องสังคมไทยเพราะเด็กก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตทำงานที่เมืองนอกเลย สิ่งที่ต้องแลกคือต้องห่างบ้าน ต้องเข้าสู่วัฒนธรรมที่ต่างจากผู้ปกครอง ตรงนี้คงต้องช่างน้ำหนักดูนะครับ

-------------------------

อีกเรื่องที่ผมรู้สึกว่าคนไทยเราคิดกัน มองเหมือนกันคือเรามองว่าการศึกษาเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิต คำนี้มีนัยว่า เมื่อเราอยู่ในวัยศึกษา (โดยเฉพาะในโรงเรียน) เราไม่มีชีวิตเหรอครับ? ถ้าเปลี่ยนความคิด และมองว่าการศึกษานั้นเป็นการใช้ชีวิต และเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่อง จะหยุดเมื่อไรก็ได้ จะต่อเมื่อไรก็ได้ ทั้งยังมีการศึกษาตามอัธยาศัยอีกมากมายให้เลือกเรียนรู้กันตลอดเวลา จริงๆ แล้วเด็กใช้เวลาในโรงเรียน (อย่างเป็นทางการ) ไม่นานเลยครับถ้าเทียบกับช่วงชีวิตทั้งหมด แต่ถ้าคิดว่าเอาเวลาตรงนั้นไปนั่งฟัง นั่งเบื่อ เรียนอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์ ก็น่าเสียดาย

สุดท้ายนี้ต้องขอออกตัวไว้ก่อนนะครับ ว่าความคิดเห็นเหล่านี้เป็นมุมมองของสองคนที่ยังทำความเข้าใจกับชีวิตอยู่ และเพิ่งเดินทางกันมายังไม่ถึงครึ่งชีวิต (ขอไม่บอกอายุรวมนะครับ แหะๆ) ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลง ปรับมุมมองกันได้ในอนาคต

อยากฟังความคิดของทั้งรุ่นเดียวกัน รุ่นเด็กและรุ่นใหญ่เหมือนกันครับ

สวัสดีค่ะ

         ขอบคุณมากจริงๆสำหรับความเห็นของทั้งสองท่าน

ดิฉันได้อะไรไปคิดให้รอบคอบและต่อยอดมากขึ้นค่ะ 

จริงๆ เป็นความวิตกจริตของตัวเอง ที่วิตก ก่อนเหตุการณ์จะเกิด เพราะ เห็นตัวอย่างจากลูกตัวเองแล้วหนาว  เพราะเขามีความเป็นตัวของตัวเองมาก  ใครๆที่รู้จักสนิท จะบอกว่า ก็เลี้ยงมาอย่างนี้เองนี่...  ก็เป็นกระจกเงาของตัวเองไง

ที่คุณแว้บ เคยบอกว่า คนเรา มีความเป็นตัวตนของตัวเอง นี่ ใช่ๆๆๆค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็น   แล้วจะตามอ่านอีกนะคะ

อ้อ คุณแว้บคะ ดิฉันก็ไป เป็นสมาชิก facebook เหมือนกัน   อยากรู้ว่ามีไม่ดีตรงไหนไหมคะ   ยังไม่เจอ แต่อ่านบางเรื่องที่เกี่ยวกับชาวเขาภาคเหนือ ก็ดีค่ะ  ตรงๆดี

เคยอ่านที่G2Kนี่ ใครไม่ทราบ บันทึกว่า เด็กไทย เวลาไปแข่งอะไรหลายๆอย่าง เก่งๆ  แต่พอโตๆขึ้น ทำไมสู้ฝรั่งไม่ได้

อย่างเช่น คนก่อตั้ง facebook ก็นักศึกษามาก่อนเลยนะ  อยากฟังคุณแว้บ วิเคราะห์ให้ฟังค่ะ

สวัสดีครับคุณพี่Sasinanda

เรื่อง Facebook นี่ต้องคุยกันยาวเลยครับ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ผมไม่แน่ใจว่าจะข้ามวัฒนธรรมจากอเมริกา มาเอเชียได้ไหม แต่ก็มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่องครับ (ขอเวลาหาข้อมูลสักพักนะครับ)

ส่วนเรื่องที่เด็กไทย เวลาไปแข่งแล้วชนะ แต่พอโตขึ้นแล้วสู้ฝรั่งไม่ได้นี่ คงต้องมาคุยกันหลายๆ คนครับ ผมว่าทั้งจริงและไม่จริงนะครับ ช่วงนี้เปิดเทอมแล้ว คงจะเข้ามาร่วมสนทนาได้น้อยหน่อย แต่จะพยายามนะครับ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบนี้สนุกดีครับ 

สวัสดีค่ะ

รอคุณแว้บตั้งนาน มาตอบแล้ว เปลี่ยนสรรพนามให้คุ้นเคยกันยิ่งขึ้นด้วย ยินดีมากค่ะ

รอข้อมูลต่อค่ะ

เรื่องบล็อกนี่ คุณแว้บทราบไหมว่า ที่เมืองไทยเราก็ก้าวหน้ามาก หลานดิฉันจายเงินไปหลายหมื่น ให้เขาเขียนpromoteสินค้าให้นะคะ

เข้าใจว่าได้ผลค่ะ แสดงว่า ถ้าทำwebsiteที่มีweb board fy'q

ขอโทษค่ะ มือไปกดโดน

ถ้ามีสมาชิกหรือคนอ่านมากๆ ก็ทำให้มีรายได้นะคะ

คุณแว้บก็ทราบใช่ไหมคะ ไม่ใช่การโฆษณาตรงๆนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท