ประวัติและผลงาน นายศุภมน เสาหฤทธิ์วงศ์ อดีต ผอ.โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช


           นายศุภมน  เสาหฤทวงศ์ เดิมชื่อ ห้วน  กิมภู่  เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ..2475 ที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเชียรใหญ่  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นบุตรคนที่สองของนายเห้ง และ นางจิ้ว  กิมภู่ ซึ่งมีอาชีพทำนาและขายของชำ มีพี่ 1 คน คือ นางห้วย ไกลถิ่น  (ถึงแก่กรรม) และ น้อง 2 คน คือ เด็กหญิงผ้วน กิมภู่ (ถึงแก่กรรม)  และ นางฉ้วน กาบเกิด           
     
นายศุภมนเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดสระโพธิ์ อำเภอเชียรใหญ่  พ่อแม่อยากให้ศึกษาต่อจึงนำไปฝากให้ไปอยู่กับพระครูถาวรบุญรัติที่วัดปากเชียร เพื่อเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึง มัธยมปีที่ 4 ที่โรงเรียนนิคมอุดมวิทย์ในอำเภอเชียรใหญ่ จบชั้นมัธยมปีที่ 4 พระครูถาวรบุญรัติ ได้นำไปฝากกับพระธรรมนาถมุนี ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ เพื่อให้เรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 5 ถึง มัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนศิริศิลป์ ในอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช  จบชั้นมัธยมปีที่ 6  ก็สามารถสอบเข้าเรียนต่อชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งก็ยังอาศัยอยู่ที่วัดหน้าพระบรมธาตุเหมือนเดิม
         
       
ระหว่างที่เรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ให้โรงเรียนเบญจมราชูทิศเปิดสอนหลักสูตรเร่งรัดเพื่อการผลิตครูผู้ที่สอบได้ชั้นเตรียมอุดมศึกษาและได้วิชาครู ก็จะได้ประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา (..) ไปด้วย ซึ่ง นายศุภมนก็สามารถสอบได้ทั้งสองหลักสูตร และในปลายปีเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ทุนแก่ผู้ที่ต้องการเป็นครูและเรียนสูงขึ้น ให้ไปสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมเตรียมอุดมศึกษา (คือวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวันในเวลาต่อมา) ซึ่งนายศุภมนก็สามารถสอบได้และได้รับทุนเข้าเรียน จนสำเร็จได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมศึกษา (..) โดยระหว่างที่เรียน พระธรรมนาถมุนี ได้นำไปฝากให้อาศัยอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร  ดังนั้นการเรียนหนังสือที่ต้องอาศัยอยู่ที่วัดถึง 3 แห่ง ได้ช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาจิตใจนายศุภมน ให้เป็นคนละเอียดอ่อนและซึมซับด้านคุณธรรมจริยธรรมไปด้วย  หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และได้รับพระราชทานปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ..) จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ( มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรในปัจจุบัน)
      
นายศุภมนบรรจุเข้ารับราชการครูครั้งแรกในพ..2502 ในตำแหน่งครูตรีโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นครูโท และ เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ จนถึง พ.. 2518 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนปากพนัง พ.. 2519 ย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งสง พ.. 2522 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งสง  ..2535 ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศ และดำรงตำแหน่งนี้จนเกษียณอายุราชการใน พ..2536
       ตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ นายศุภมนได้ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับ
ผู้บริหาร  ครูอาจารย์  นักเรียน  ครอบครัว  ตลอดจนชุมชนที่เกี่ยวข้องเสมอมาดังที่นายทวีป     ปรีชา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 ได้เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายศุภมน  ความตอนหนึ่งว่า   “…บุคคลหนึ่งซึ่งเปี่ยมล้นด้วยคุณธรรม  มีการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามในทุกด้าน  ทั้งด้านการครองตน การครองคนและการครองงาน  จนอาจกล่าวได้ว่าสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติตามได้ในทุกมิติ   โดยเฉพาะด้านความรับผิดชอบ  การตรงต่อเวลา  ความมีระเบียบวินัย  ความซื่อสัตย์สุจริต  ความกตัญญูกตเวที  ความมีน้ำใจ  ความโอบอ้อมอารี  ความเสียสละเพื่อส่วนรวม ฯลฯ บุคคลดังกล่าวก็คือ ท่านอาจารย์ศุภมน  เลาหฤทวงศ์  ซึ่งผมมีความเคารพรักและศรัทธาอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย…”           
      
นายศุภมนมีผลงานดีเด่นระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการหลายอย่าง เช่น  ขณะเป็นครูโรงเรียนเบญจมราชูทิศได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนด้วยความเอาใจใส่  จะดูแลกวดขันเรื่องการเรียนของนักเรียนทั้งในเวลาเรียนปกติ  และช่วยสอนพิเศษให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยจนทำให้นักเรียนสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากเป็นเวลา 10 ปี ติดต่อกัน
           
       
เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งเป็นนักเรียนเบญจมราชูทิศ นายศุภมน เคยเป็นนักกีฬาของโรงเรียนเคยได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันจนได้รับเหรียญทองกีฬาแบดมินตันระดับเขตการศึกษามาแล้ว  และเมื่อมาเป็นครูก็เป็นนักกีฬาฟุตบอลและนักแบดมินตันของโรงเรียน โดยเฉพาะกีฬาแบดมินตันเคยเป็นแชมป์ในระดับจังหวัดด้วย  จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ฝึกสอนทีมแบดมินตันของโรงเรียน และดูแลทีมกรีฑานักเรียนรุ่นใหญ่ส่งเข้าแข่งขันได้รับรางวัลชนะเลิศเกือบทุกปี  รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการแข่งขันฟุตบอลสามัคคีระหว่างโรงเรียนเบญจมราชูทิศกับโรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี
           
         
เมื่อเป็นผู้บริหารโรงเรียนปากพนัง  แม้จะมีเวลาบริหารเพียง 9 เดือน ก็ได้ริเริ่มขอเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน พ.. 2519 ได้สำเร็จ และร่วมกับกรรมการโรงเรียน  ศิษย์เก่า หาเงินสร้างอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง  เมื่อย้ายเป็นผู้บริหารโรงเรียนทุ่งสง ซึ่งมีเวลาบริหารงานถึง 15 ปี ได้ริเริ่มสร้างสรรค์ความเจริญด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย เช่น จัดตั้งสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนทุ่งสง  จัดตั้งมูลนิธิการศึกษาโรงเรียนทุ่งสง  สร้างศาลาพระพิฆเนศวร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน  ร่วมกับสมาคมผู้ปกครองและครูสร้างถนนคอนกรีตภายในโรงเรียน  ขยายพื้นที่ของโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก 20 ไร่รวมกับเนื้อที่เดิมเป็น 50 ไร่  สร้างอาคารกิจกรรมและลูกเสือ  สร้างเรือนพยาบาล  เรือนประชาสัมพันธ์  ต่อเติมโรงอาหารของโรงเรียน  และสร้างอัฒจันทน์ 4 อัฒจันทน์    ด้านวิชาการได้ขอเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  จัดให้มีการนิเทศภายในเป็นประจำทุกเดือน  จัดกิจกรรมพัฒนาครู  พัฒนานักเรียนหลายกิจกรรม  ทั้งกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรม  และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้านต่าง ๆ  ในการพัฒนาครูนั้นได้ส่งเสริมความก้าวหน้าของครูอาจารย์  ทำให้ครูอาจารย์ได้รับรางวัลครูดีเด่นระดับกระทรวงศึกษาธิการ 2 คน ได้สนับสนุนให้จัดทำคู่มือครูและแบบประเมินครู ซึ่งเอกสารดังกล่าวกรมสามัญศึกษาได้นำไปเป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนอื่นนำไปใช้ และในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนนั้นได้ตั้งกรรมการออกไปเยี่ยมบ้านผู้ปกครองนักเรียนจนครบทุกหมู่บ้าน รวมทั้งการคัดเลือกผู้ปกครองดีเด่น
 
        ระหว่างบริหารที่โรงเรียนทุ่งสงนั้นโรงเรียนได้รับรางวัลที่สำคัญในระดับเขตการศึกษาและระดับกระทรวงศึกษาธิการได้แก่ 
พ.
.2524 ได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่นขนาดใหญ่ของเขตการศึกษา 3  ..2527 ได้รับรางวัลโรงเรียนผู้ใช้หลักสูตรดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ และ พ..2530 ได้รับรางวัลสถานศึกษาจัดกิจกรรมจริยธรรมดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการและตอนเป็นผู้บริหารโรงเรียนทุ่งสง  .. 2529  ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ ประธานกรรมการกลุ่มโรงเรียนมัธยมกรมสามัญศึกษา  และประธานกรรมการสามัญศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย  ได้เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมพัฒนาการศึกษาของจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง          
        
ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนเบญจมราชูทิศ แม้เป็นเวลาเพียงประมาณ
2 ปี แต่ก็สามารถบริหารและสร้างผลงานดีเด่นให้ปรากฏหลายอย่าง  เช่น  ผลงานการก่อสร้างถาวรวัตถุ  ได้แก่  สร้างศาลาหกเหลี่ยม 3  แห่ง   สร้างศาลาประกอบพิธีเปิดและปิดกีฬาภายใน สร้างรั้วคอนกรีต ปรับปรุงสนามกรีฑา  สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5  สร้างห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ   ทำป้ายชื่อโรงเรียน  สร้างประตูโรงเรียน ทำเขื่อนรอบสระน้ำหน้าสำนักงาน  ดำเนินการของบประมาณมาสร้างศูนย์กีฬาโรงเรียนและอาคารเรียน 318/30พิเศษ          นอกจากนั้นยังได้ริเริ่มจัดกิจกรรมต่างๆขึ้นในโรงเรียนที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การจัดงานวันสถาปนาโรงเรียน  จัดปฐมนิเทศครูและนักเรียน  จัดเข้าค่ายจริยธรรมครูและนักเรียน  จัดกิจกรรมวันแม่และวันพ่อในโรงเรียน  ร่วมกับสมาคมผู้ปกครองและครู  สมาคมศิษย์เก่า  เชิดชูเกียรติผู้ปกครองดีเด่น  ศิษย์เก่าดีเด่น  ทางด้านกีฬาได้ส่งเสริมนักเรียน ที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬาและกรีฑา ให้มีความเป็นเลิศทางกีฬาและกรีฑา จนได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของจังหวัด และเขตการศึกษา เข้าแข่งขัน  ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศหลายประเภทมาทุกปีผลงาน
       จากการบริหารโรงเรียนเบญจมราชูทิศทำให้นักเรียนได้รับรางวัลเรื่องต่างๆ  เช่น  ได้รับโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ในการแข่งขันกลอนสด           มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์    รางวัลชนะเลิศโต้คารมมัธยมศึกษา  รางวัลเหรียญเงินในการแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการ   ได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อในต่างประเทศ  เป็นต้น
            และใน พ.ศ. 2535 ขณะที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ยังได้รับแต่งตั้งให้รักษาการผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช  รวมทั้งทำหน้าที่ผู้ตรวจราชการกรมสามัญศึกษา ประจำเขตการศึกษา 3   จึงทำให้นายศุภมนต้องรับผิดชอบเป็นผู้นำในการพัฒนาและดูแลการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียน  ระดับจังหวัด และระดับเขตการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกด้วย
           
          
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน คือ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย  ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญจักรพรรดิมาลา
           
         
นายศุภมน  สมรสกับนางสาวอรุณ  จิตต์โอภาส  ใน พ
..2507  มีบุตร  4  คน  คือ  นายสาธิต นายกิตติพงศ์  นางสมฤดี  อดิเทพวรพันธ์  และนางสาวกวิดา  เลาหฤทวงศ์            หลังเกษียณอายุราชการ  นายศุภมน  ได้ดำรงตนให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง  ต่อผู้อื่น และต่อส่วนรวม  ด้วยการทำสวน  ปลูกพืช ผัก ผลไม้หลายชนิด  ออกกำลังกาย  ดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ   ไปท่องเที่ยวต่างประเทศรวม  8  ครั้ง   เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแผนกเยาวชนและครอบครัว  เป็นสมาชิกชมรมแสวงบุญและชมรมผู้สูงวัย  เป็นกรรมการมูลนิธิ  6  มูลนิธิ  คือ มูลนิธิพระครูพินิจวิหารคุณ  วัดสระโพธิ์  มูลนิธิพระธรรมนาถมุนี  วัดหน้าพระบรมธาตุ  มูลนิธิพระศรีธรรมราชมุนี  วัดหน้าพระบรมธาตุ  มูลนิธิการะเกด วัดสระเรียง  มูลนิธิวัดพระบรมธาตุ  และมูลนิธิการศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช  นอกจากนั้นยังเป็นประธานกรรมการศูนย์เครือข่ายองค์กรดำเนินงานผู้สูงอายุจังหวัดนครศรีธรรมราช  และเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศด้วย             
         
เมื่อวันที่ 
21  พฤษภาคม  ..2546  นายศุภมน ได้ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลสงขลา
นครินทร์  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  พบว่ามีจุดคล้ายเนื้อร้ายที่ปอด  จากนั้นได้ไปทำการตรวจอีกหลายครั้งเป็นระยะ ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์และพบว่าเนื้อร้ายมีการขยายตัว ขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ  จึงเข้ารับการรักษาและปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด  แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  และถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอด ในวันที่  17  มีนาคม  .. 2550  รวมสิริอายุได้  74  ปี  3 เดือน  8 วัน            
      
นายภักดี    ชูหวาน  ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศ  ศิษย์คนหนึ่งของนายศุภมน  ได้เขียนถึงนายศุภมนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันด้วยข้อความสั้น ๆ ว่า

             อาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกศิษย์ชั่วนิจนิรันดร์"

                                           ข้อมูลอ้างอิง    
      1.
หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายศุภมน  เลาหฤทวงศ์ 
..    ฌาปนสถานวัดหน้าพระบรมธาตุ  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  วันเสาร์ที่  24  มีนาคม  ..2550      
      2.
เอกสารประวัติและผลงานอาจารย์ศุภมน  เลาหฤทวงศ์  สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 
..2550

หมายเลขบันทึก: 117870เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 07:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
นายวีระพจน์ รัตนรัตน์

วันนี้ผมได้นั่งสืบค้นข้อมูลของ พระครูพินิจวิหารคุณ  วัดสระโพธิ์   แล้วมาเจอเว็บนี้ภูมิใจจังเลยที่มีรุ่นพี่ (รุ่นคุณพ่อผมนะครับ) โรงเรียนวัดสระโพธิ์ เป็นคุณครูดีมีคุณธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีในแวดวงการศึกษาไทย  เสียดายมารู้จักประวัติท่านเมื่อท่านอนิจกรรม คิดถึงพี่น้องศิษย์พี่ศิษย์น้องชาวสระโพธิ์ทุกคนครับ รู้จักผมเพิ่มเติมที่ www.krupus.com

ขอแสดงความยินดีกับสถาบันด้วยนะครับที่มีศิษย์เก่าที่เก่งและมากความสามารถและขอเสนอแนะน่าจะมีประวัติศิษย์เก่าหลายๆด้านมาให้ได้รับรู้เช่น ด้านกีฬาเพราะเบญจมเรื่องกีฬาก็เก่งเหมือนกันครับนอกเหนือจากเรียนเก่งโดยเฉพาะนักกีฬาเก่งๆมีแยอะทุกระดับ

... ตาห้วน เป็นบุคคลที่ปฎิบัติตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดีตลอด

ผม (ในฐานะหลานคนหนึ่ง)ขอเอาท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตตลอดไป

สวัสดีครับ"คุณธเนศ ขำเกิด"

ดีใจจังที่ได้พบเว้บเพจนี้

เพราะผมเองก็ได้รับการอบรมสั่งสอนจาก รร.วัดสระโพธิ์

จะพูดไป ก็คือรุ่น "โบราณ"มากๆ ก่อน"กาแฟโบราณ"อีก

คือเรียนจบชั้น ป.4 ตอนปี พศ.2496

โชคดีที่คุณพ่อคุณแม่ท่านมองเห็นการณ์ไกล

จึงส่งลูกๆเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง จนเรียนจบชั้นอุดมศึกษา

แล้วก็ทำมาหาเลี้ยงชีพ ตัวเองและลูกหลาน........ จนวันนี้

สิ่งที่พากพูมใจที่สุดคือการได้เกิด และมีวิญญานของคนสระโพธิ์และคนบ้านเราติดตัวมาถึงวันนี้

และตลอดชีวิต ก็พยายาม ทำความดี หลีกหนีความชั่ว ไม่คบคนพาล...แค่นี้ชีวิตก็เป็นสุข

และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ต้องรู้จักกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ....

ท่านผอ.ศุภมน เป็นบุคคลที่ควรเป็นแบบอย่างควรที่นักเรียน และครูเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชได้รู้จักและกล่าวถึงคุณงามความดีของท่าน ซึ่งผมจะขออนุญาตนำบทความนี้ไปเผยแพร่ ขออนุญาตนะครับ

เราควรช่วยกันเผยแพร่ความดีงามของบุคคลที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของความเป็นครูและผู้บริหาร ให้คนรุ่นหลังได้ซึมซับ สืบสานความดีงามให้กว้างขวางต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท