ความหมายของทันตสาธารณสุข ความคิดจากห้องเรียนของ John Spencer


ทุกวันนี้ เรากินบุญเก่าของสารมหัศจรรย์ที่เรียกว่าฟลูออไรด์ เพียงอย่างเดียว

มีโอกาสได้เข้าห้องเรียน lecture วิชา Dental Public Health กับนักเรียนปริญญาโทของ University of Adelaide เป็นชั้นเรียนเล็กๆ ครับ นักเรียนสี่ห้าคน อาจารย์ผู้สอนทั้งหมดก็สี่ห้าคน แล้วอาจารย์ผู้สอนทุกคนก็มานั่งเรียนด้วยกันกับนักเรียนในทุกชั่วโมงสอน วิชานี้มีอาจารย์ผู้ควบคุมรายวิชาคือ ศาสตราจารย์ เอ จอห์น สเปนเซอร์ ซึ่งควบตำแหน่งหัวหน้าหน่วยวิจัยสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ของออสเตรเลียด้วย จะหาอ่านงานของเขาลองพิมพ์ Spencer AJ [au] ค้นใน Pubmed ดูนะครับ

คาบแรกของการเรียนการสอนจอห์นก็รวบรวมแนวคิดทั้งหมดเกี่ยวกับหน้าที่ของทันตสาธารณสุขว่าตามตำราเขียนไว้อย่างไร แต่ละอย่างสำคัญอย่างไรกับสังคมบ้าง

ว่าโดยย่อแล้วงานทันตสาธารณสุขมีขอบเขตเลยล้ำไปจากงานการรักษาพยาบาลในคลินิกมาก มันคืองานการขับเคลื่อนสังคมประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้และทักษะที่หลากหลายด้านการประมวลและประเมินข้อมูลสุขภาพ การพัฒนานโยบายเชิงสังคม และการสร้างความมั่นคง ความเชื่อมั่นในการบริการสุขภาพช่องปาก

คนที่ทำงานทันตสาธารณสุข ควรจะมีความสามารถที่หลากหลายตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา การชี้นำสังคม การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ การสร้างระบบการประเมินผลโครงการ การบริหารทรัพยากรเงิน และบุคคล ฯลฯ

เนื้อหาลองเข้าไปดูที่นี่ครับ

http://www.aacdp.com/Docs/Framework.pdf

แต่ครูจอห์น ชวนนักเรียนวิเคราะห์ต่อให้กลับมาในโลกแห่งความจริง

จอห์นถามนักเรียนให้ลองยกตัวอย่างกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่เป็นงานของบุคลากรทันตสาธารณสุขจริงๆ ที่มันสามารถช่วยให้โรคในช่องปากลดลงได้ มีหลักฐานยืนยัน

นักเรียนก็อึ้งใบ้กันหมด เพราะมันไม่มีอะไรเลย นอกจากฟลูออไรด์ ที่เป็นผลงานของเราจริงๆ

เรื่องโภชนาการเราก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง เรื่องบุหรี่ก็มีหน่วยงานเฉพาะของเขาที่ทำกันอยู่ เรื่องการจัดบริการทันตกรรม การประกันสุขภาพ เราก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ ยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง เรายิ่งใบ้สนิท

สรุปแล้ว ทุกวันนี้ เรากินบุญเก่าของสารมหัศจรรย์ที่เรียกว่าฟลูออไรด์ เพียงอย่างเดียว

ถามต่อว่า พวกเราทำอะไรเป็นบ้าง นอกจาก สอนแปรงฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน ประชุมครู ให้ทันตสุขศึกษา

นักเรียนก็อึ้งไปอีกรอบ จอห์นก็เลยชี้ให้เห็นว่า ในโลกแห่งอุดมคติ กับโลกแห่งความจริงนั้น มันมีช่องว่างอยู่เสมอ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเข้าใจมัน บางทีนักวิชาการก็ลอยตัวอยู่เหนือความเป็นจริง สรุปแล้วตำราสอนว่าเราควรจะเป็นอย่างไร แต่มันไม่ได้ทำให้เราเป็นอย่างนั้น

จบชั้นเรียนผมเลยมาค้นดูว่า ตามหลักสูตรแล้ว โรงเรียนทันตแพทย์อยากให้เราทำอะไรเป็นบ้าง

ลองคลิกไปดูที่ competencies for the new dentists

http://www.jdentaled.org/cgi/reprint/68/7/742.pdf

ก็จะพบว่า หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต ไม่ได้คาดหวังว่าจะสร้างความสามารถให้เราเป็นผู้ทำงานทันตสาธารณสุขได้เลย

กลายเป็นว่า (ฝรั่ง) ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้กับทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตในการทำงานทันตสาธารณสุข

ต้องรอให้มาเรียนในระดับหลังปริญญาเสียก่อน

ค้นลึกๆ ลงไปในหลักสูตรหลังปริญญา เราก็เน้นเป็นอย่างมากในด้านการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา มากกว่า เราผลิตนักสำรวจสุขภาพช่องปาก กับนักวิเคราะห์ข้อมูลระบาดวิทยา ซึ่งศักยภาพนี้เป็นเพียงหนึ่งในสามของนักทันตสาธารณสุขเท่านั้น

ค้นต่อว่า แล้วมันมีข้อแนะนำตรงไหนไหมหนอ ที่เราจะสามารถเอาเป็น แนวทางในการทำงานทันตสาธารณสุขได้

ก็ไปเจออันนี้

http://gotoknow.org/file/siam_ohp/CommunityGuide.pdf

ซึ่งอ่านแล้วก็มึน และสลดสังเวช ว่าวงการของเราคงย่ำกินบุญฟลูออไรด์ไปตลอด เพราะคำแนะนำในเอกสารนี้ ช่างเพ้อฝันเลื่อนลอย และใช้มุมมองของทันตแพทย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลในการเขียนอย่างไม่น่าเชื่อ หากทำตามนั้นจริงๆ คงพากันลงเหวไปหมด

อย่างไรก็ดี ผมโชคดีได้มีโอกาสสัมผัสพี่ๆ หลายคน ที่ฝึกวิทยายุทธเองในชุมชน และให้คำจำกัดความของการเป็นนักทันตสาธารณสุข ตามบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างงดงามและลงตัว ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่า ทักษะด้านทันตสาธารณสุขนี้ สอนกันในตำราไม่ได้มากนัก ทางที่ดีที่สุดต้องออกไปสัมผัสเอาเอง

องค์ความรู้ว่าควรจะทำอะไร เรามีเยอะครับ เรามีความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ มากมายที่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก เรารู้ว่า ต้องกินน้ำตาลมากน้อยแค่ไหนฟันถึงจะไม่ผุ เรารู้ว่าการสูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคในช่องปากมากแค่ไหน ฯลฯ แต่คำตอบต่อคำถามว่า ควรจะทำ "อย่างไร" นั้นเราแทบจะไม่รู้เลยครับมันก็เลยมาเหมารวมกันอยู่ที่ สอนแปรงฟัน ให้ทันตสุขศึกษา อยู่หมดปีหมดชาติ

จริงๆแล้วคำตอบ อยู่ในท้องถิ่น อยู่ในชุมชน อยู่ในหมู่บ้าน รอให้เราไปเรียนรู้ครับ

ให้กำลังใจศิษย์ธรรมศาสตร์ทั้งหลายอีกครั้งครับว่า

หลักสูตรที่เราจัดให้ท่านออกไปชุมชนบ่อยๆ นั้น เป็นความพยายามของเราบนฐานความเชื่อที่ว่า เรื่องพวกนี้มันสอนกันในชั้นเรียนได้ไม่ดีเท่ากับออกไปเรียนรู้เอง

อย่าท้อถอย หรือเหนื่อยหน่ายกับการที่ต้องออกไปต่างจังหวัดบ่อยๆ เลย คิดว่ามันคือประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้อีก

หมายเลขบันทึก: 117863เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 07:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ใช้มุมมองของทันตแพทย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลในการเขียนอย่างไม่น่าเชื่อ"

นี่แหละน่ากลัวที่สุด 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท