แนวคิดทฤษฎีภาวะผู้นำ 2/3


5. ทฤษฎีภาวะผู้นำ
5.1 ผู้นำตามทฤษฎีพฤติกรรม
การแบ่งประเภทของผู้นำตามแนวคิดทฤษฎีพฤติกรรมผู้นำได้แบ่งประเภทผู้นำได้หลายวิธี แบ่งแยกตามลักษณะที่เป็นเชิงพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ ดังนี้
5.1.1 การแบ่งประเภทของผู้นำตามลักษณะของการปฏิบัติงาน มีดังนี้
ผู้นำตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้นำที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย หรือระเบียบที่กำหนด เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ฯลฯ โดยกฎหมายกำหนดคุณสมบัติของแต่ละ ตำแหน่งเอาไว้
ผู้นำที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติพิเศษมีบุคลิกลักษณะหรือ
ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งเป็นได้ทั้งในทางที่ดีหรือเลว เช่น หัวหน้านักเลง หัวหน้าทีมกีฬา เป็นต้น
ผู้นำในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น พระมหากษัตริย์เป็นผู้นำของพระราชวงศ์หรือของประเทศชาติที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำ
5.1.2 การแบ่งประเภทของผู้นำตามลักษณะพฤติกรรม
จอห์น ฟลานาแกน (John C. Flanagan) ได้ศึกษาลักษณะพฤติกรรมของหัวหน้า และได้แบ่งผู้นำออกเป็น 3 ประเภท คือ
ผู้นำที่มุ่งแต่งานเป็นสำคัญ มีลักษณะพฤติกรรมแสดงออกเป็นเผด็จการ
ผู้นำที่ตระหนักถึงผลงานและความพอใจของทุกฝ่าย เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมแบบ ประชาธิปไตย
ผู้นำที่ถือว่าประสิทธิภาพของการทำงานสูงได้เนื่องจากน้ำใจ ผู้นำประเภทนี้ถือว่าน้ำใจหรือสิ่งตอบแทน เป็นสิ่งสำคัญที่กระตุ้นให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูง
5.1.3 การแบ่งประเภทผู้นำตามลักษณะการบริหารงาน
ลิปปิทท์ (Lippitt) แบ่งประเภทของผู้นำตามลักษณะของการบริหารงานเป็น 3 ประเภทได้แก่
ผู้นำแบบเผด็จการ (The Autocratic Style) เป็นผู้กำหนดและวางนโยบาย ตลอดจนวัตถุประสงค์ของการทำงานโครงการต่าง ๆ แล้วมอบงานให้บุคลากรที่จะรับงานไปปฏิบัติมาสอบถามความสมัครใจหรือหารือขอความคิดเห็น ผู้นำแบบเผด็จการจะชมหรือวิจารณ์หรือตำหนิใครก็ตาม จะชมหรือวิจารณ์หรือตำหนิโดยตัวบุคคล มิใช่โดยตำแหน่งและจะแยกตนเองออกห่างจากบุคลากรอื่น ๆ ทุกคนในหน่วยงานจะวางตนเป็นเอกเทศยากที่บุคลากรผู้ใดจะเข้าพบหาได้โดยสะดวกบรรดาการตัดสินใจสั่งการทุกชนิดจะทำไปโดยลำพัง เกือบจะหาการตัดสินใจสั่งการเพราะบุคลากรอื่นสนับสนุนให้ทำหรือเป็นความต้องการเช่นนั้นของบุคลากรอื่นไม่ได้เลย ผู้นำแบบเผด็จการเป็นผู้บัญชางาน บุคลากรอื่นทำได้อย่างเดียวคือปฏิบัติการตามบัญชา และไม่มีทางเลือกหรือทางออกใด ๆ ทั้งสิ้น
ผู้นำแบบประชาธิปไตย (The Democratic Leader) เป็นผู้ออกคำสั่ง ประกาศ นโยบายและวัตถุประสงค์ของโครงสร้างต่างๆ ก็จริง แต่บรรดาคำสั่ง นโยบาย และวัตถุประสงค์ ที่ผู้นำแบบประชาธิปไตยสั่งไปนั้นล้วนแล้วแต่กำหนดขึ้นจากบุคลากรทุกคนร่วมกันทุกคนจนเป็นที่พอใจ ผู้นำแบบประชาธิปไตยจึงสั่งการตามนั้นบุคลากรมีสิทธิแม้กระทั่งจะเลือกงานอย่างใดที่เห็นว่าเหมาะสมกับความถนัดและ ความสามารถของตน หรือแม้เลือกบุคลากรอื่นที่ควรคิดว่าน่าจะร่วมกันทำงานได้ดีในคณะเดียวกันก็ได้ รวมความว่าบุคลากรทุกคนมีส่วนวินิจฉัยในการแบ่งและมอบหมายงาน ผู้นำแบบนี้เวลาจะดำรงตำแหน่งผู้นำมิใช่ทำไปตามอำเภอใจหรือตามความพอใจส่วนตัวของตนเองและเมื่อมีงานใดผู้นำประเภทนี้จะเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ และร่วมรับผิดชอบด้วยเสมอ
ผู้นำแบบตามสบายหรือแบบเสรี (The Laissez-faire or Anarchic Leader) มอบอำนาจเต็มและเสรีภาพอย่างกว้างขวางในการวินิจฉัยสั่งการ กำหนดนโยบาย กำหนด วัตถุประสงค์ ตลอดจนแบ่งงานและกำหนดคนทำงานให้แก่บุคลากรอื่นทั้งหมด โดย ตนเองไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลย ผู้นำประเภทนี้เพียงแต่สนับสนุนโดยการจัดหาวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงานเท่านั้นส่วนตนเองจะนั่งอยู่ห่าง ๆ จะเข้ามาร่วมก็ต่อเมื่อบุคลากรเรียกหาหรือเชิญให้มาเท่านั้น น้อยครั้งที่ผู้นำแบบตามสบายจะแสดงความคิดเห็นใด ๆ ออกมา ไม่ชอบตำหนิ ไม่ชอบชม การปฏิบัติงานใด ๆ ของผู้ใดทั้งสิ้นและจะไม่ขัดขวางหากมีใครเสนออะไรมา มักยอมอนุมัติเรื่อยไปโดยไม่ค่อยพิจารณาเหตุผลใด ๆ
5.1.4 แบ่งตามลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกและพฤติกรรมการทำงาน
เก้ตเซลล์กับกูบา (Getzels กับ Guba) แบ่งผู้นำออกเป็น 3 ชนิด ตามลักษณะของพฤติกรรมที่ผู้นำแสดงออก (Role Behavior) ในการบริหารหน่วยงาน ผู้นำดังกล่าวทั้ง 3 ชนิด คือ
ผู้นำที่ยึดสถาบันเป็นหลัก (The Nomothetic Leader) คือผู้นำที่ถือเอาวัตถุประสงค์ ระเบียบกฎเกณฑ์และผลประโยชน์ของสถาบันหรือหน่วยงานเป็นสำคัญ แม้จะต้อง ทำลายน้ำใจคนหรือทำให้ผู้ใดเดือดร้อนก็ไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญ สถาบันหรือหน่วยงานก่อนเสมอ
ผู้นำที่ยึดบุคคลเป็นหลัก (The Idiographic Leader) คือผู้นำที่อาศัยความคิดเห็นและการตัดสินใจของตนเองเป็นแนวทางสั่งการ โดยพิจารณาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นรายๆไป ไม่ว่าจะทำการใดคำนึงถึงความเหมาะสม ความต้องการ ความจำเป็น ความสุข ความเดือดร้อนของบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อนสิ่งใด หากมีอะไรขัดต่อระเบียบอยู่บ้างก็ไม่สนใจ หากพิจารณาว่าเหมาะสมกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ก็จะสั่งการทันที คือถือว่าการคบหาส่วนตัวสำคัญกว่าตำแหน่ง
ผู้นำที่ประสานประโยชน์ (The Transactional Leader) คือผู้นำที่พิจารณาทั้งประโยชน์ของสถาบันหรือหน่วยงานและประโยชน์ของบุคคล ทั้ง 2 อย่างพร้อม ๆ กันแล้วอะลุ้มอล่วยไม่ให้ฝ่ายใดต้องเสียหายมากเกินไป เป็นผู้นำที่รู้จักประนีประนอมในเรื่องทุกเรื่องประโยชน์ของหน่วยงานก็ได้ ประโยชน์ของบุคคลก็ได้ พร้อม ๆ กันไป
5.1.5 การแบ่งประเภทผู้นำตามทฤษฎี 3 มิติ ของเร็ดดิน
วิลเลี่ยม เร็ดดิน (William J. Reddin) กล่าวว่า โดยธรรมชาติมนุษย์มีลักษณะผู้นำพื้นฐานอยู่ในตัวเอง 4 แบบคือ แบบเอาเกณฑ์ แบบเอางาน แบบสัมพันธ์ แบบประสาน
แบบเอาเกณฑ์ (Separated) เป็นแบบของนักอนุรักษ์นิยม ชอบของเก่า ยึดตัวเองเป็นที่ตั้งจึงไม่เอาใคร อดทน เก็บตัว เจ้าระเบียบ จึงเป็นคนยึดถือและต้องทำอะไรตามกฎเกณฑ์ มีความระมัดระวังในการทำงานมากเนื่องจากกลัวผิด ไม่อยากทำงานร่วมกับผู้อื่นเพราะกลัวว่าถ้าคนอื่นทำผิดตัวเองจะต้องผิดด้วย เพื่อไม่ให้มีความผิดก็เลยไม่ทำงานหรือทำงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และยังเป็นคนที่ไม่เอาเพื่อนเอาฝูงหรือจัดว่าเป็นคนที่ ไม่เอาไหน เพราะไม่เอาทั้งงานและคนนับเป็น ลักษณะผู้นำที่ต่ำที่สุด
แบบเอางาน (Dedicated) เป็นแบบของคนที่เอาการเอางาน ยึดถืองานเป็นหลักใหญ่ ในใจมุ่งมั่นในงานมาก ขยัน มั่นใจ กล้าทำ มีความคิดริเริ่ม ชอบกำหนดงานให้ผู้อื่น ไม่คิดถึงจิตใจของผู้อื่นจึงไม่เอาใคร ไม่มีเพื่อน สรุปว่าเป็นคนเอาการเอางานแต่ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ นั่นก็คือ เน้นที่งานมากกว่าคน
แบบสัมพันธ์ (Related) เป็นลักษณะคนที่เน้นมนุษย์สัมพันธ์เป็นหลักในการทำงาน เอาใจคนทุกระดับไม่ต้องการให้ใครเกลียด จึงมีนิสัยเป็นกันเองและเป็นมิตรกับคนทุกคนยอมรับผู้อื่นเห็นใจคนอื่นไม่อวดตัวทำอะไรไม่อยากให้กระทบกระเทือนใจใครให้ความสำคัญเรื่องสัมพันธภาพกับบุคคลมากกว่าเรื่องการงานนั่นก็คือบุคคลประเภทที่เน้นที่คนมากกว่างานถ้าจะต้องเลือกระหว่างคนกับงาน ผู้นำประเภทนี้จะเลือกเอาคนไว้ก่อนงานมาทีหลัง
แบบประสาน (Integrated) เป็นลักษณะของคนที่ให้ความสำคัญแก่งานและคนไปพร้อม ๆ กัน เท่า ๆ กัน โดยถือว่าคนเรามีมิตรสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันทำงานก็จะได้ผลงานที่ดี มีประสิทธิภาพสูง ผู้นำประเภทนี้จะมีศิลปะการจูงใจสูงพยายามให้ทุกคนมีส่วนร่วมในงาน ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชารักและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จัดเป็น ผู้นำแบบอุดมคติ
ลักษณะผู้นำพื้นฐานทั้ง 4 แบบนี้จะอยู่ในตัวบุคคลทั้งที่ยังเป็นมนุษย์ดิบ หรือเป็นมนุษย์ดิบ ๆ สุก ๆ ที่ไม่มีสิ่งห่อหุ้มเลยลักษณะผู้นำพื้นฐานของแต่ละคนอาจจะเปลี่ยนไปเองจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือขยายไปใช้อีกแบบหนึ่งพร้อม ๆ กัน หรืออาจจะหดกลับมาเป็นแบบเดิมของตนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอบรมบ่มนิสัยสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งห่อหุ้มร่างกายทั้ง 2 ชั้น ที่กล่าวมาแล้ว และที่สำคัญที่สุดคือความตั้งใจของผู้นั้นที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงลักษณะผู้นำของตนเองมีมากน้อยแค่ไหน
          5.1.6 ผู้นำแบบมีประสิทธิผลสูงประสิทธิผลต่ำ
ลักษณะผู้นำแบบต่าง ๆ นอกจากแบบพื้นฐานที่กล่าวในข้อ 5.1.5 แล้วยังแบ่งแยกออกตามประสิทธิผลได้ดังนี้
5.1.6.1 ลักษณะผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง มี 4 แบบ คือ
ผู้ทำงานตามสั่ง (Bureaucrat) เป็นลักษณะผู้นำที่เปลี่ยนแบบดีขึ้นจากแบบเอาเกณฑ์ เป็นคนเข้มงวด ถือว่าเป็นความสำคัญที่จะต้องทำงานตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอย่างเคร่งครัด ถูกต้อง ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความคิดเห็นใหม่ ๆจึงไม่กระตุ้นให้เกิดผลผลิตใหม่ ๆ พยายามดำเนินงานตามแบบเก่าที่เคยปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น สนใจในการทำงานแต่ไม่สนใจความสำเร็จของงานและสัมพันธภาพกับผู้ร่วมงานจึงไม่มีการวางแผนงานระยะยาว คนลักษณะนี้ถ้าเป็นทหารหรือข้าราชการจะประสบความสำเร็จ เขามักจะมีคติประจำใจว่า
- จงทำตามกฎข้อบังคับ แล้วจะไม่ทำอะไรผิดเลย
- จงมาดูกันเถอะว่า ครั้งก่อนเราทำอย่างไร
- องค์กรที่ดี คือ องค์กรทีมีระเบียบปฏิบัติทุกอย่างพร้อมมูล
นักพัฒนา (Developer) เป็นนักบริหารที่เปลี่ยนแปลงมาจากแบบสัมพันธ์ซึ่งมุ่งที่ตัวคนเป็นหลัก เขาจึงมุ่งพัฒนาคนรู้วิธียั่วยุจูงใจและพัฒนาบุคคล วิธีสอนคนธรรมดาให้เป็นหัวหน้าบางครั้งผู้ที่ถูกเขาพัฒนาก็ไม่รู้ตัว เข้าทำนอง ปิดทองหลังพระ แต่พอเขาย้ายไปแล้วทุกคนจะรู้สึกเสียดายเขา หัวหน้าประเภทนี้บางคนถือว่าการทำงานเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกับการเล่นหรือพักผ่อน มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับผู้ใต้บังคับบัญชา และมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับผิดชอบงานใหม่ ๆ กระตุ้นให้เขาเป็นตัวของตัวเอง ควบคุมตัวเอง รู้จักรับผิดชอบ ขยัน และมีความคิดสร้างสรรค์ ฉะนั้นลูกน้องมักจะรักและได้ผลงานดีตลอดมา
ผู้เผด็จการที่มีศิลป์ (Benevolent Autocrat)เปลี่ยนมาจากแบบเอางาน มีความมั่นใจในตัวเองมาก มีความชำนาญในด้านการสั่งงานอย่างมศิลป์ ผู้รับคำสั่งปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อขุ่นใจ ทำให้ผลงานดีมีประสิทธิภาพ เป็นลักษณะของผู้เผด็จการแต่นุ่มนวลมีศิลปะ มักเป็นผู้ทะเยอทะยาน พยายามจะไต่เต้าขึ้นมาจนถึงเป็นนักบริหารระดับสูง เพราะเป็นคนที่พยายามปรับปรุงตัวเองโดยอาศัยความรู้ พยายามฝึกฝนหาความชำนาญให้แก่ตัวเองอยู่เสมอ เป็นคนที่รู้กฎระเบียบข้อบังคับและงานในหน้าที่เป็นอย่างดี จึงทำงานสำเร็จเป็นส่วนมาก บุคลประเภทนี้มักพบมากในวงการอุตสาหกรรม
นักบริหาร (Executive) เปลี่ยนมาจากแบบประสาน เป็นลักษณะของหัวหน้างานที่มีประสิทธิภาพ ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีทำงานโดยคำนึงถึงความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง รู้จักใช้ความสามารถของลูกน้องให้เป็นประโยชน์มากที่สุด มีความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชาดีมาก ไม่ใช้อำนาจกดขี่บังคับ พยายามให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผนงาน ปรับปรุงงานให้ดีขึ้น มีความคิดริเริ่มและความร่วมมืออยู่เสมอ ปูนบำเหน็จรางวัล ยกย่องและให้เกียรติลูกน้องไม่แย่งเอาผลงานหรือความดีความชอบของลูกน้องมาเป็นของตนตรงกันข้ามจะต้องแสดงให้ผู้บังคับบัญชาและผู้อื่นทราบด้วยว่า ผลงานทีดีชิ้นนั้นเป็นของใคร นอกจากการให้คุณแล้ว การให้โทษลูกน้องก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อทำผิดก็ต้องลงโทษ จะต้องลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้อารมณ์และจะต้องยุติธรรมถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ทุกคนจะมีขวัญกับกำลังใจในการทำงาน รักหน่วยงานและผู้บังคับบัญชา มีความสามัคคีและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของงานร่วมกัน
5.1.6.2ลักษณะผู้นำที่มีประสิทธิผลต่ำ เปลี่ยนแบบมาจากลักษณะผู้นำพื้นฐานในทิศทางต่ำลง มี 4 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ
ผู้หนีงาน (Deserter) เป็นลักษณะผู้นำที่เปลี่ยนมาจากแบบเอาเกณฑ์ในทางเลวลง บริหารงานแบบขาดความสนใจ ไม่เน้นทั้งด้านงานและคนมักหนีงาน บางทีขัดขวางการทำงานของคนอื่นหัวหน้างานชนิดนี้มีอยู่มาก มักคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ก็เลยละเลยงานในหน้าที่ให้มากที่สุดหรือไม่ทำอะไรเลย ทำให้เสียงานมักทำให้ทุกสิ่งยุ่งยาก เลยฉุดให้ผู้อื่นชะงักงาน จะทำงานให้ได้ผลเพียงเท่าที่ป้องกันไม่ให้คนอื่นมารบกวนเท่านั้น และจะไม่เกี่ยวข้องกับงานอื่นทั้งสิ้น ไม่ช่วยใคร พยายามนำตัวไปพัวพันกับเรื่องของคนอื่นให้น้อยที่สุด เขามักจะมีความคิดว่า
      • เมื่อทำครั้งแรกไม่สำเร็จ ก็จงเลิกทำมันเสียเลย
      • ผมชอบตำแหน่งนี้ แต่ไม่ชอบการทำงาน
      • มันเป็นนโยบายขององค์การ ผมไม่มีความเห็น
      • จงคิดดูซิ มันจะต้องมีวิธีการทำงานที่ยากกว่านี้
      • ผมชอบทำงานจริงๆ แต่ชอบนั่งดูมากกว่า
      • ถ้าหนีงานไม่ได้ก็ทนทำมันไป
โดยธรรมชาติไม่มีหัวหน้างานคนใดจะเป็นคนเช่นนี้มาก่อนมักเกิดขึ้นเพราะองค์การหรือหัวหน้าชั้นเหนือเป็นเหตุแต่เมื่อหัวหน้าคนใดเกิดลักษณะนี้ขึ้นก็มักจะแก้ได้ยาก เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นหัวหน้าชั้นสูง ต้องหาทางป้องกันไม่ให้หัวหน้างานชนิดนี้เกิดขึ้นในหน่วยงานของเราได้
นักบุญ (Missionary) เปลี่ยนมาจากแบบสัมพันธ์ เป็นลักษณะหัวหน้างานที่ใจบุญ นึกถึงคนมากกว่างาน ถือว่าความสัมพันธ์อันดีต่อกันในระหว่างผู้ร่วมงานสำคัญกว่าผลผลิตของงานเขาปรารถนาเป็น "คนดี" โดยไม่โต้แย้งหรือคัดค้านการกระทำผิดใดๆ เรียกว่าเป็นคนประเภท "ขอรับกระผม" คือถือว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วไม่สมควรจะโต้เถียงกับใคร และถือว่าการโต้เถียงและข้อขัดแย้งไม่อาจแก้ปัญหาได้ การบริหารแบบนี้จะเป็นเหตุทำให้ผลผลิตตกต่ำเพราะไม่เคยแก้ปัญหาเรื่องคน แต่ถ้าเกิดปัญหาเกี่ยวกับคนเขาก็จะหาทางย้ายคนๆ นั้นไปเสีย เขาถือว่าการทำงานที่ดีที่สุดคือการดำรงความสงบเรียบร้อยเอาไว้
ผู้เผด็จการ (Autocrat) เป็นลักษณะของผู้บริหารที่เปลี่ยนแบบมาจากแบบเอางาน หัวหน้างานแบบนี้มุงแต่งานอย่างเดียว ไม่คิดถึงสัมพันธภาพกับใคร ไว้ใจคนอื่นน้อยมาก ผู้ร่วมงานไม่รัก มีแต่กลัว และจะทำงานให้ตามคำสั่งเท่านั้น หัวหน้างานชนิดนี้มักคิดว่าคนอื่นไม่ชอบทำงาน คอยเลี่ยงงานเสมอ ไม่รับผิดชอบ มีความทะเยอทะยานน้อย จึงต้องคอยควบคุมบังคับบัญชาและลงโทษอยู่เสมอ เขามักจะมองผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือนเครื่องจักร ต้องทำงานตามคำสั่งของเขาแต่อย่างเดียวโดยไม่ต้องคิด เขาเป็นสมอง คนอื่นเป็นแต่มือหรือเท้าไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็น เขาต้องวางแผนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคนไหนไม่เห็นด้วยกับเขาแสดงว่าผู้นั้นพยายามโต้แย้งหรือต้องการจะท้าทายเขา เขาจะไม่ยกโทษให้ใครง่ายๆ หัวหน้างานแบบนี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ผู้ร่วมงานอย่างรุนแรงเกิดกลุ่มต่อต้าน ทำให้เกิดผู้หนีงานมาก ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กลัวหรือไม่มีโอกาสต่อต้านจะแสดงอการนบนอบต่อหน้าแต่จะด่าลับหลัง ผู้นำประเภทนี้มักจะแสดงพฤติกรรมดังนี้
      • จงทำตามที่ผมสั่ง
      • อย่าทำอะไรที่เหมือนผม
      • คุณต้องหยุดพูดและฟัง ถ้าผมพูด
      • จงทำตนเป็นคนมีเหตุผล โดยทำตามที่ผมบอก
      • ถ้าคุณจะให้ผมทำตามข้อเสนอของคุณก็ได้แต่คุณจะต้องออกจากงาน คุณจะเอาไหม
      • ผมชอบคนที่เห็นด้วยตลอดกาล บอกกี่ครั้งแล้วว่าผมไม่ชอบคำว่า "ไม่"
ผู้ประนีประนอม (Compromiser) เป็นลักษณะผู้นำที่เปลี่ยนมาจากแบบประสาน หัวหน้างานแบบนี้ทราบว่าการมุ่งทำงานให้สำเร็จและการสร้างสัมพันธ์ภาพกับผู้ร่วมงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่เขาไม่มีความสามารถพอที่จะตัดสินใจลงไปได้ว่าจะทำอย่างไรหรือ ไม่ก็อาจจะผสานความคิดทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน มีลักษณะเป็นคนโลเล และชอบการประนีประนอมความกดดันบางอย่างจะมีอิทธิพลทำให้เขาต้องตัดสินใจยินดีที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้น้อยลงมากกว่าที่จะมุ่งผลผลิตในระยะยาว ไม่หวังผลเลิศจากการงานเพียงต้องการให้งานดำเนินไปเรื่อยๆ เช่นว่าผลงานที่ดีที่สุดเป็นเพียงความฝันเท่านั้น เขาจะเป็นผู้เสนอแนะแต่ไม่เคยทำอะไรจริงจัง ซึ่งเรามักจะเรียกว่า ผู้ทำงานด้วยปาก เขาคิดว่าการวางแผนงานจะต้องใช้วิธีประนีประนอม เขาสนใจเฉพาะสิ่งที่จะทำให้งานเดิน เขาไม่ยุ่งกับใครและใครก็ไม่ยุ่งกับเขา เขามักจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีการตัดสินใจไม่ดีและเป็นคนที่ยอมให้แรงกดดันจากภายนอกมาบีบตนเองมากเกินไป เขามักจะถือคติว่า
- ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้พูด เขาจะได้คิดว่าเขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยเหมือนกัน
- ถ้าหลอกเขาได้บางครั้งก็นับว่าดีแล้ว
5.1.7 ผู้นำตามทฤษฎีตาข่ายการจัดการ
โรเบิร์ต เบลค และ เจมส์ เมาตัน (Robert Elake & James Mouton) ได้สร้างทฤษฎีตาข่ายการจัดการ เพื่ออธิบายลักษณะผู้นำแบบต่างๆ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คล้ายกันที่ได้อธิบายไว้แล้วในเรื่องการเปลี่ยนแปลงลักษณะผู้นำพื้นฐาน

 

 1.9              
9.9
                 
                 
                 
                 
       
5.5
       
                 
                 
                 
1.1               
9.1
ตามภาพนี้ ลักษณะผู้นำแบ่งกว้างๆ ได้ 2 ประเภท คือ ประเภทมุ่งผลงาน อยู่ในแนวนอนของตาข่ายมี ดีกรีจากน้อยไปหามาก ตั้งแต่ 0 ถึง 9 กับ ประเภทมุ่งความสัมพันธ์ อยู่ในแนวตั้งของตาข่าย มีดีกรีจากน้อยไปหามากจาก 0 ถึง 9 เช่นเดียวกัน ลักษณะผู้นำแบบต่ำสุด (1.1) คือ ผู้หนีงาน เป็นเภทไม่เอาไหน ผู้นำแบบมุ่งความสัมพันธ์มากที่สุด (1.9) คือ นักบุญผู้นำที่มุ่งผลงานมากที่สุด (9.1) เป็นแบบ ผู้เผด็จการผู้นำที่ดีสุดคือ ผู้ที่มุ่งทั้งความสัมพันธ์และผลงานสูงสุด (9.9) คือแบบ นักบริหาร ผู้นำที่มุ่งทั้ง 2 ทางและอยู่เกณฑ์ปานกลาง (5.5) ตามทฤษฎีนี้เรียกว่า ผู้ประนีประนอม ถ้าเรารู้ตัวเองว่าเป็นคนมีลักษณะผู้นำแบบไม่ใครดี อยากจะเปลี่ยนแบบให้ดีขึ้นก็สามารถกระทำได้เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแบบลักษณะผู้นำพื้นฐานดังที่อธิบายมาแล้ว สมมุติว่าเราวิเคราะห์ตัวเราเองได้ว่าเป็นประเภท ผู้หนีงาน ถ้าเราปรับตัวให้มีมนุษย์สัมพันธ์ดีขึ้น หมายความว่าเราขยับตัวขึ้นไปตามแนวตั้งของตารางขึ้นได้สูงมากน้อยแค่ไหนแล้วแต่ตัวเรา ถ้าเราคิดปรับตัวเองเฉพาะเกี่ยวกับมนุษย์สัมพันธ์โดยไม่ปรับปรุงตัวเองด้านกรทำงาน เราก็จะเปลี่ยนลักษณะไปเป็นแบบ นักบุญ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราปรับปรุงตัวเองได้โดยมุ่งเอาแต่การงานไม่มองดูผู้ร่วมงานหรือคิดถึงมนุษย์สัมพันธ์ เราก็จะกลายเป็นผู้เผด็จการ แต่ถ้าเราเข้าใจดีว่า การกระทำงานให้ผลดีเราต้องคิดถึงทั้งผลงานและผู้ร่วมงาน เราก็จำเป็นต้องปรับปรุงตัวเองให้ขึ้นไปได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนของตาราง เราก็จะกลายไปเป็น ผู้ประนีประนอม หรือถ้าดีเลิศเราก็จะเป็นแบบนักบริหาร
นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีที่แบ่งประเภทผู้นำตามพฤติกรรมออกได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามลักษณะอำนาจที่ได้รับ แบ่งตามพฤติกรรมการทำงาน แบ่งตามบทบาทที่แสดงออกเป็นต้น
ที่มา : ต้นฉบับหนังสือ เพชรแท้แห่งไม้เรียง จัดทำโดยมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จากกิจกรรมอบรมผู้นำ ณ สำนักพุทธัมผาซ่อนแก้ว จ.เพชรบูรณ์ 2549
ตอนที่ 1/3
อ้อม สคส.
หมายเลขบันทึก: 117624เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาขนความรู้ไปใช้งานครับ  ขอบคุณครับ

นายปรัชญา ยอดดำรงค์
ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูล  ผมเอาไปทำรายงาน ขอมูลของพี่พี่เป็นประโยชน์มากเลยครับ  ขอบคุณมากมากครับผม 

ผมอยากได้ วิจัย เรื่อง ภาวะผู้นำขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ครับ

เริ่มเรียนภาวะผู้นำค่ะ อยากได้ข้อมูล ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบเดิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท