น้องมีปัญหาหรือมีความสามารถครับ?


คำถามนี้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นักกิจกรรมบำบัดมหิดลท่านหนึ่งเรียนรู้และประเมินคุณภาพของการให้สื่อการรักษาทางกิจกรรมบำบัด ที่สำคัญน้องออทิสติกมีความสามารถเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากพบนักกิจกรรมบำบัด

ผมตั้งใจที่จะเข้าไปสังเกตคุณภาพของการใช้ความรู้และความรอบรู้ทางกิจกรรมบำบัด ในการปฏิบัติงานของน้องๆ นักกิจกรรมบำบัด ม. มหิดล

เหตุผล คือ อยากทราบว่าทำไมน้องๆ ไม่มีเวลาบันทึกความก้าวหน้าของการรักษาทางกิจกรรมบำบัด และทำไมน้องๆ ไม่สามารถอธิบายความก้าวหน้าของการรักษาได้อย่างมีหลักการหรือมีเหตุผลทางคลินิก

สมมติฐานของผม คือ น้องๆ แบ่งเวลาในการให้บริการนานเกินพอดี จริงๆ แล้วก็มีระเบียบว่า ควรใช้เวลารักษาไม่เกิน ๔๕ นาที จากนั้นมารวบรวมความคิดและบันทึกความก้าวหน้าอีกไม่เกิน ๑๕ นาที

เมื่อพูดคุยและสังเกตการณ์ ก็พบว่า น้องๆ มีปัญญาเรื่อง time management & decision making via clinical reasoning skills

ผมจึงแนะนำระบบการบันทึกอีกครั้ง โดยเน้นการประเมินปัญหาทางกิจกรรมบำบัดที่แท้จริงของน้องออทิสติก (กรณีที่สังเกตการณ์วันนี้) อย่าตรวจประเมินแล้วสร้างปัญหาย่อยๆ ด้านระบบประสาทกล้ามเนื้อหรือระบบอื่นๆ มากจนเกินไป และสร้างถึงวิเคราะห์กิจกรรมที่มากมายแต่ไม่มีเหตุผลรับรองอย่างชัดเจนตามลำดับของการตั้งเป้าหมายการรักษา พูดง่ายๆขึ้น คือ กิจกรรมหลากหลายจนไม่รู้ว่าจะบรรลุเป้าหมายของการรักษาหรือไม่

สำหรับกรณีของวันนี้ น้องออทิสติก มีปัญหาการสื่อสารอย่างซ้ำๆ จนทำให้มีความสามารถในการเรียนไม่ดีนัก ผมพยายามเน้นให้นักกิจกรรมบำบัดตั้งเป้าหมายการรักษาที่ชัดเจนร่วมกับผู้ปกครอง ได้แก่ การเพิ่มความสามารถทางการเรียน เช่น ความสนใจและสมาธิในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ ความสามารถในการทำตามคำสั่งและสื่อสารอย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนรู้ 

จากนั้นแนะนำนักกิจกรรมบำบัดให้เลือกเทคนิคและสื่อการรักษาที่ใช้ให้ชัดเจน ลองจัดกิจกรรมการรักษาที่อธิบายได้มาไม่เกิน ๓-๕ รายการต่อการบรรลุเป้าหมาย ๑ ข้อ

จากนั้นลองวิเคราะห์เพิ่มว่า กิจกรรมการรักษานั้นจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ในแง่การให้เหตุผลทางคลินิกกิจกรรมบำบัด ถ้าไม่มีประสิทธิภาพ จะเปลี่ยนหรือปรับกิจกรรมการรักษาดังกล่าว เช่น

การใช้ teaching & learning process ในการให้คำสั่ง "ร้อยลูกปัดให้ครบจำนวน ๒๐ เม็ด" ให้สังเกตว่าน้องออทิสติกสนใจและเข้าใจทำตามคำสั่งหรือไม่อย่างไร คำสั่งดูยากไปหรือไม่ มีวิธีการเรียนรู้อื่นๆ ในการบรรลุเป้าหมายของการรักษาหรือไม่ เช่น ไม่ต้องออกคำสั่งแต่ค่อยๆเล่นร้อยลูกปัดแข่งกัน โดยไม่ต้องระบุจำนวนจากคำพูด แต่จัดไว้ให้ไว้ตามจำนวนโดยที่เด็กไม่ต้องทำความเข้าใจกับตัวเลข และเน้นความตั้งใจร้อยลูกปัดจนเสร็จ เป็นต้น

การใช้ therapeutic use of self จากตัวผู้บำบัด ด้วย การเป็นต้นแบบของการทำกิจกรรม ใช้การสร้างสัมพันธภาพเป็นกันเอง ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า การใช้บุคลิกของผู้บำบัดที่สีหน้าเครียดและเสียงแข็งๆดุๆ

ที่ผมต้องเน้นนักกิจกรรมบำบัดท่านนี้ คือ "การสร้างเงื่อนไขกับน้องออทิสติกแบบการใช้คำสั่งเข้มๆ และดูเหมือน ครูไหวใจร้าย" อาจไม่ใช่วิธีที่ได้ผลในทุกๆสถานการณ์ ให้ลองเพิ่มการสังเกตทักษะการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กว่าเหมาะสมตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นหรือไม่ พูดง่ายๆ คือ เด็กทำตามคำสั่งแบบกลัวๆเกร็งๆ และไม่มีความสุข ใช่หรือไม่

สุดท้าย ผมเสริมอีกว่า เท่าที่พูดคุยมา ผู้บำบัดคอยประเมินและหาวิธีการรักษาแต่ตัวปัญหาของเด็กออทิสติก แต่โดยหลักการสากลทางกิจกรรมบำบัด ผู้บำบัดต้องสังเกตและดึงศักยภาพของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิของเด็กออทิสติกให้ได้มากที่สุด อย่ามัวแต่ปัญหา...แต่มองความสามารถของเด็ก...ที่นักกิจกรรมบำบัดควรส่งเสริม

สำหรับกรณีนี้ ผมเห็นเด็กมีความสามารถในการรับรู้สี จดจำข้อมูลด้วยบทพูดและการเล่น และร้องเพลงสั้นๆ ได้อย่างมีความสุข จากนั้นหากเรานำศักยภาพของเด็กมาสร้างกิจกรรมการรักษาตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราอาจเพิ่มความสามารถทางการเรียนรู้ของเด็กผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้เช่น การเล่นรับรู้สีกับผู้บำบัด  การเล่นเกมส์ความจำภาพตามบทพูด หรือ การร้องเพลงสั้นๆ ตามเสียงดนตรีหรือเนื้อร้อง (ภาพ) ที่มีความหมาย เป็นต้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 117623เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
มีดร.ป๊อปที่ตั้งใจและมีความละเอียดอ่อน เข้าใจน้องออทิสติค และทีมงานที่พร้อมที่จะเรียนรู้ปรับปรุงวิธีการให้ดีขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ "ให้น้องออทิสติคได้เรียนรู้ มีพัฒนาการอย่างมีความสุข" อ่านแล้วมีความสุขค่ะ

ขอบคุณครับอาจารย์ยุวนุช

อ่านคำชื่นชมของคุณนานดอกเตอร์แล้ว ก็มีความสุขที่จะช่วยน้องออทิสติคต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท