เพลงอีแซว ลานวัฒนธรรม ตลาด 100 ปีสามชุก (ครั้งสุดท้าย)


ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว ที่สามารถเปิดเวทีเพลงอีแซวได้อีก

เพลงอีแซว

“แวะไปเยี่ยมเวทีลานวัฒนธรรม"

 ตลาดเก่า 100 ปีสามชุก

ครั้งสุดท้ายที่ได้ไปชมเพลงอีแซว 

          วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2550 เป็นการแสดงเพลงอีแซว ครั้งที่ 8 เป็นครั้งสุดท้ายที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้จัดโครงการลานวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนและครอบครัวขึ้นที่ตลาดเก่า 100 ปี สามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเริ่มตั้งแต่  วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2550  มาถึงวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2550  รวม 8 ครั้ง   โดยมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งให้ครอบครัวในสังคมไทยมีความอบอุ่น มีโอกาส ได้ใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุด ได้อยู่ร่วมกันดูแลกัน ทำให้เกิดความใกล้ชิดผูกพันซึ่งกันและกันเป็นครอบครัวที่อบอุ่น รวมทั้งสามารถปรับตัวและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม และเพื่อสนองนโยบายการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในวิถีชีวิตของคนในสังคม โดยผ่านทางกิจกรรมทางวัฒนธรรม การแสดงเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว  

        

        

         การแสดงเพลงอีแซว ครั้งที่ 8 วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2550 (11.25 น.)

          ผมมีโอกาสได้ไปนั่งชม  4 ครั้ง นอกนั้นผมมีภารกิจการแสดงต้องนำเด็ก ๆ ไปเผยแพร่ผลงานในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ อ่างทอง ชลบุรี อุทัยธานี ทำให้ขาดตอนไปเสีย 4 ครั้งแต่ก็ได้สอบถามข่าวคราวจาก เจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัดโดยตลอด โดยเฉพาะครั้งที่ คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่จาก สวช. มาชมและติดตามโครงการ ในวันนั้นผมมีภารกิจไกลถึง สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่วนวงที่ไปทำการแสดงเป็นของ โรงเรียนหนองหญ้าไซวิทยา

          เท่าที่ผมติดตามชมการแสดง 4 ครั้งและสอบถามผู้ที่อยู่ใกล้ชิดถึงความสามารถ บทบาทในการแสดง การขึ้นไปทำหน้าที่ในฐานะสื่อพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรีผมมองตามเป้าหมายที่โครงการกำหนดหรือคาดหวังเอาไว้ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับ ความคาดหวังที่คุณครูนำนักเรียนไปแสดง เพราะผมคงไม่อาจที่จะเดาใจพวกเราได้ว่า ท่านนำอะไรไปเสนอ  แต่ผมศึกษาจากตัวโครงการ มองไปที่จุดเน้นของผู้จัดและดำเนินโครงการ พบว่า

           1.   โอกาสที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุดได้อยู่ร่วมกันดูแลกันโดยใช้ลานวัฒนธรรมเป็นที่รวมของครอบครัวเป็นไปได้พอสมควร ยังไม่มาก (วัดที่จำนวนคนดู)

         2.   ในเรื่องของความสามารถปรับตัวและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันของเยาวชน ส่วนที่จะได้รับจากสื่อพื้นบ้านบนเวที ยังไม่ชัดเจน (เนื้อหาสาระที่นำเสนอ)

         3.   เพื่อสนองนโยบายการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในวิถีชีวิตของคนในสังคม สื่อพื้นบ้านที่นำเสนอ โดยเพลงอีแซว ยังไม่ลงลึกในจุดเน้นข้อนี้ (บางคณะมีแต่บางคณะยังไม่มีการนำเสนอ)

         โดยเฉพาะรูปแบบของการแสดง ผมมองว่า เพลงอีแซวที่นำเสนอความรู้บนเวที ลานวัฒนธรรมที่ตลาดสามชุก (บริเวณลานโพธิ์) ยังสับสนในเรื่องเนื้อหา ทั้งนี้เพราะโครงการต้องการให้นำเสนอเพลงอีแซว แต่บางคณะการแสดงขาดเอกลักษณ์ในการนำเสนอ เป็นการนำเอาบทเพลงหลาย ๆ ชนิด มาต่อ ๆ กัน หรือบางคณะนำเอาเพลงลูกทุ่ง นำเอาศิลปะการแสดงของภาคอื่น ๆ มาผสมปนเปกันไป โดยไม่ได้ยึดตามเอกสารโครงการฉบับที่สำนักงานวัฒนธรรมส่งไปให้ หรืออาจจะมีเหตุผลอย่างอื่นซึ่งผมก็ไม่อาจที่จะพูดแทนท่านได้ ในบางคณะเล่นได้เพียง 30 นาที หมดเนื้อหา เล่นต่อไปไม่ได้ (เวลาแสดงให้ไว้ 2 ชั่วโมง) ซึ่งตรงจุดนี้ คิดแล้วน่าเสียดายเวลาที่โครงการจัดมาให้

          การแสดงที่จะนำเสนอเนื้อหานั้น มันอาจจะต้องลดความสนุกสนานลงไปบ้าง แต่ผู้ชมจะได้รับความอบอุ่น อิ่มใจในคุณธรรม ได้ความรู้ ทำให้เกิดความใกล้ชิดผูกพันซึ่งกันและกันในครอบครัว  กิจกรรมทางวัฒนธรรม การแสดงเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว ของจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น จะต้องถือว่า เราทำในนามของจังหวัด ชื่อเสียงเกียรติยศ จะตกอยู่กับตนเอง สถาบัน และถิ่นกำเนิดอย่างชัดเจน ดังนั้นความถูกต้อง เหมาะสม จึงต้องนำเอามาจับทุกจุด ทุกตอนของการแสดงให้สมกับการนำเสนอในฐานะ ต้นแบบจริง ๆ  

                ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางเพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ โดยเฉพาะท่านที่ผ่านการอบรมมาจากโครงการต่าง ๆ ในเวลา 3 วัน 5 วันนั้น เป็นจุดเริ้มต้นที่ดี แต่การที่จะรักษามรดกเมืองสุพรรณฯ ชิ้นนี้เอาไว้ให้ได้อย่างแท้จริง จะต้องตามหาบนเวทีการแสดงอีกยาวนาน นับ 10 ปี และเมื่อถึงวันนั้น เพลงพื้นบ้านจะเข้าไปฝังอยู่ในหัวใจ ในสมอง สองมือ และทุกส่วนของร่างกายจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริงไปเอง ครับ

           -       ผมมิใช่ผู้ที่จะเนรมิตงบประมาณให้คุณครูได้

           -       ผมมิใช่ผู้ที่จะหาเวทีแสดงให้เด็ก ๆ ของคุณครูได้

           -       ผมมิใช่ผู้ที่จะบอกท่านได้ว่าอะไรถูกอะไรผิดในการจัดการแสดง

           -       ผมมิได้อยู่ในฐานะที่จะทำประโยชน์ให้ท่านได้อย่างเต็มที่

           -       แต่ผมมีประสบการณ์ในการแสดงเพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซวมานานกว่า 30 ปี 

                 ผมพอที่จะมองเห็นช่องทางในการสร้างสรรค์ผลงาน ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน โดย เฉพาะการที่จะทำให้มีทายาททางเพลงมารับช่วงอย่างต่อเนื่อง และเป็นการแสดงที่รับงานได้อย่างมืออาชีพจริง ๆ  (เล่นแล้วมีคนดู ส่วนจะมาก หรือน้อยไม่สำคัญแต่ต้องมีคนดูบ้าง) มิใช่มีแต่ผู้แสดง เด็ก ๆ เขาต้องเล่นตามที่ครูมอบบทบาทให้เขา เด็กเขาต้องทำตามครู  แต่จะมีใครบ้างที่คิดถึงหัวใจของผู้ชม ที่เขาจะมารอชมเพลงอีแซว การแสดงที่ดี จะต้องทำให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมและอยู่ในกรอบของงานที่เราได้รับเชิญไป  คือจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงาน  ผู้ชมที่มาให้กำลังใจเราก็ได้รับประโยชน์ แน่นอนครับว่า ผู้ชมเพลงอีแซวมีไม่มากหรอก งานหนึ่ง ๆ มีคนดูสัก 50-100 คนก็เก่งแล้วแล้วยิ่งเล่นไปจนถึงเวลา 23.00 น.หรือ 5 ทุ่มเหลือผู้ชมสัก 10-20 คนก็นับว่าดีแล้ว 

          

        การแสดงเพลงอีแซว ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2550 (11.45 น.)   

                

       การแสดงเพลงอีแซว ครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2550 (11.15 น.)  

       

       การแสดงเพลงอีแซว ครั้งที่ 3 วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2550 (11.20 น.)

        เรามามองกันที่จุดเริ่มต้นก่อน จะทำอย่างไรให้เพลงอีแซวที่ขึ้นไปนำเสนอบนเวทีถูกใจผู้ชม เมื่อได้ยินเสียงเด็ก ๆ ร้อง  มีคนเดินเข้ามาให้กำลังใจ มานั่งชมและมีความสุขไปด้วย  ทั้งหมดนี้ ผมขอฝากไว้กับคุณครูทุกท่านที่กำลังทำหน้าที่เช่นเดียวกับผม และขอแสดงความชื่นชมเด็ก ๆ ทุกคณะ ทุกวง ทุกโรงเรียนที่แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่

                ถึงแม้ว่า ในวันนี้ ท่านอาจจะมีครูดี มีครูเพลงที่เก่งกาจ มีความสามารถสูงยิ่งอยู่แล้วก็ตาม ลองกลับไปนึกทบทวนด้วยว่า ครูเพลงท่านนั้น มีที่มาจากเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านจริง ๆ หรือมาจากการเป็นครูสอนเพลงพื้นบ้าน เนื้อหาที่นำมาเสนอ สำเนียงเสียงร้อง ทำนองเพลงอีแซว ตลอดจนคำเอื้อนลงเพลง และคำร้องรับได้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากหรือไม่ ควรที่จะเปรียบเทียบกับต้นฉบับที่เป็นบุคคลชั้นครู ได้แก่ พี่เกลียว เสร็จกิจ พี่สุจินต์ ชาวบางงาม คุณจำนง เสร็จกิจ ซึ่งผมถือว่า 3 ท่านนี้ เป็นเสาหลักของเพลงอีแซวสุพรรณฯตัวจริง ครับ จะได้ไม่เสียเอกลักษณ์ของเพลง และยังมีคนเพลง รุ่นบรมครู อายุ 75-85 ปี ในท้องถิ่นของเราอีกเป็นจำนวนมากที่ผมรู้จักและคุ้นเคย บุคคลเหล่านั้น มีมุขเด็จ ๆ มีจุดขายที่เขาจะไม่ยอมบอกใคร แต่ลองไปตีสนิทให้ดี ท่านจะได้รับความรู้มากมาย เหมือนอย่างที่ผมเคยได้รับมาจาก ป้าอ้น จันทร์สว่าง ได้มาจาก ป้าทรัพย์ อุบล ลุงหนุน ลุงบท น้าปาน น้าถุง ฯลฯ 

                 เท่าที่ผมมีประสบการณ์มา 30 ปี ฝึกหัดเพลงอีแซวมา 20 ปี เพลงอีแซวจะมีขั้นตอนของการแสดงอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนเริ่มต้นและมีตอนจบที่น่าติดตาม ได้แก่

          ตอนไหว้ครู               แสดงความเคารพ ความเชื่อและศรัทธา

          ตอนออกตัว              เป็นการขอความเมตตาจากผู้ชม ยกย่องผู้ชม

          ตอนที่เป็นประโยชน์    เป็นการเล่นเป็นเรื่อง มีคติสอนใจให้ได้แง่คิด

          ตอนเล่นเพลงประ       เป็นช่วงเวลาที่เล่นสนุก ตอบโต้กันอย่างให้ถึงพริกถึงขิง

          ตอนเพลงลา             มีมนต์เสน่ห์ ที่จะต้องฝังลึกในอารมณ์ผู้ดูให้ได้ 

          วันนี้เวทีการแสดงเพลงอีแซวที่ลานโพธิ์ ตลาดเก่า 100 ปี สามชุกปิดฉากลงแล้ว เสียงตะโพน ฉิ่ง กรับ ที่เคยคละเคล้ากับเสียงร้องของเยาวชนกำลังจางหายไปจากตลาดสามชุก ผมไม่แน่ใจว่า ม่านเวทีเพลงอีแซวจะมีโอกาสเปิดขึ้นมาอีกครั้ง ได้หรือไม่ อย่างไร แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมอยากจะให้มีงานแบบนี้อีก อย่างน้อยเด็ก ๆ จะได้มีรายได้ มีเงินทุนไปสร้างสรรค์ผลงานให้กับวงการเพลงอีแซวต่อไปได้อีก และที่สำคัญคือ มีเวทีให้เด็ก ๆ ได้แสดงความสามารถ โดยการสัญจรไปแสดงในสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี เช่น ที่บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ  ที่หมู่บ้านอนุรักษ์บ้านควายไทย  ที่วัดไผ่โรงวัว  ที่วัดป่าเลไลยก์ (จัดให้ตรงกับงานประจำปี) ที่ดอนเจดีย์ (จัดให้ตรงกับงานรัฐพิธี)  และที่เขื่อนกระเสียว ด่านช้าง  ฯลฯ สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นที่รวมคน น่าที่จะนำเอาศิลปะการแสดงของท้องถิ่นไปเผยแพร่มากที่สุด

(ชำเลือง มณีวงษ์/ผู้มีผลงานดีเด่นราชมงคลสรรเสริญ/พ่อเพลงอีแซวอำเภอดอนเจดีย์)

 

หมายเลขบันทึก: 117190เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2007 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท