ครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้าน : รัฐสวัสดิการ สวัสดิดารชุมชน ที่เข้าไม่ถึง


ถ้าถามว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะลงประชามตินี้ เพิ่มสิทธิหรือ เปิดโอกาสให้คนยากไร้ ด้อยโอกาส ในสังคมไทยได้มีที่ยืนจริง ๆ หรือไม่ คงต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินแรง ๆ ว่า ก็คงทำได้เพียงแค่ตัวอักษรในกระดาษ เพราะจิตสำนึกและทัศนคติที่คนทั่วไปมีต่อคนไร้ที่อยู่อาศัย หรือคนเร่ร่อนไร้บ้าน เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นจากภายในจิตใจ รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถจะบังคับให้ใคร ไม่ว่าจะราษฎร์ หรือรัฐเห็นความสำคัญได้อย่างแท้จริง เพราะต่อให้ระบุใจความอย่างที่มีในร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะให้ประชาชนลงประชามตินี้ แต่หากได้รัฐบาลหรือคณะผู้บริหารประเทศที่ไม่เห็นหัวคนเร่ร่อนไร้บ้านแล้ว ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้าน : รัฐสวัสดิการ สวัสดิการชุมชน ที่เข้าไม่ถึง  

     แม้ว่าตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในมาตรา  55 ที่ระบุถึงความรับผิดชอบของรัฐที่จะต้องให้ความช่วยเหมาะที่เหมาะสมแก่คนยากไร้ ไร้ที่อยู่ แต่ถ้าจะพิจารณากันตามสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วจะพบว่า ครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงรับสวัสดิการ หรือสวัสดิการชุมชน ตามที่ระบุไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ อย่างแท้จริง 

     การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้าน เพื่อนำไปสู่การนำเข้ารับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ถูกต้องและเหมาะสมนั้น ต้องเกิดจากทัศคติที่ไม่มองคนด้วยการแบ่งคนออกเป็นชั้น ๆ ส่วน ๆ หรือ ใช้ระบบวรรณะทางความรู้สึกเข้ามาจับ ด้วยเหตุดังกล่าวจะพบเห็นได้ไม่ยากที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนบางคน มีท่าทีต่อคนด้อยโอกาส โดยเฉพาะครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านด้วยท่าทีรังเกียจ ที่แสดงออกให้เห็นได้อย่างเด่นชัด  

     การมีทัศนคติเชิงลบกับครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านว่าเป็นคนขี้เกียจ เอาเปรียบสังคม และมือเท้าดี แต่ ไม่ยอมทำมาหากิน เอาแต่แบมือรอรับการช่วยเหลือจากคนอื่น ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยสนับสนุนที่จะสกัดกั้นไม่ให้คนเหล่านี้เข้าถึงรัฐสวัสดิการ สวัสดิการชุมชน ได้อย่างแท้จริง เพราะการที่มีทัศนคติที่ฝังรากมาจากประสบการณ์เดิม ๆ ที่ได้รับการสั่งสอนสั่งสมมาจากครอบครัวในอดีต จะทำให้มีภาพเดิม ๆ ที่เกิดจากความเชื่อเดิม ๆ ซึ่งจะทำให้คน ๆ นั้น ไม่เปิดใจรับการเรียนรู้ใหม่ว่า แท้ที่จริงแล้ว รากของปัญหาของครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่หลาย ๆ คนเข้าใจ 

     ครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านส่วนใหญ่จะเริ่มต้นมาจากครอบครัวปกติทั่ว ๆ ไปที่มีชีวิตและความเป็นอยู่ไม่แตกต่างจากครอบครัวอื่น ๆ ในสังคม หากแต่ เขา ต้องเผชิญและประสบกับวิกฤตการณ์ทางครอบครัวและสังคมที่อยู่ภายใต้ปัจจัย ณ ขณะนั้นที่เขาไม่สามารถฟันฝ่าให้รอดพ้นไปได้ จนทำให้หลายครอบครัวหมดอาลัยตายอยากและล้มลงในที่สุด ปลายทางของการใช้ชีวิตให้อยู่รอดไปวัน ๆ ก็ ไม่พ้นท้องถนน หรือ พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง หากโชคร้ายหน่อย อาจถึงขั้นเสียสติ กลาเป็นคนสติไม่สมประกอบมีพฤติกรรมแปลก ๆ เป็นที่หวาดกลัวและรังเกียจของผู้คนมากยิ่งขึ้นไปอีก 

     ภาระหนักอีกประการหนึ่งของครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านเห็นจะไม่พ้นในกรณีที่ครอบครัวนั้น มีลูกเล็กที่อยู่ในช่วงวัยที่กำลังจะมีพัฒนาการที่ดี แต่ ครอบครัวไม่มีกำลังที่จะส่งเสริมพัฒนาการแก่ลูกของตนเอง เด็กก็จะต้องเผชิญกับเรื่องราวที่ค่อนข้างหนักกว่าเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน บางคนมีแนวโน้มถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ โดนทำร้ายร่างกายทั้งจากคนในครอบครัวและคนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เหล่านี้เป็นภาพปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ในมุมมืดของเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ไม่มียกเว้นแม้แต่ สนามหลวง พื้นที่ที่ได้ชื่อว่า เป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร 

    

     ถ้าถามว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะลงประชามตินี้ เพิ่มสิทธิหรือ เปิดโอกาสให้คนยากไร้ ด้อยโอกาส ในสังคมไทยได้มีที่ยืนจริง ๆ หรือไม่ คงต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินแรง ๆ ว่า ก็คงทำได้เพียงแค่ตัวอักษรในกระดาษ เพราะจิตสำนึกและทัศนคติที่คนทั่วไปมีต่อคนไร้ที่อยู่อาศัย หรือคนเร่ร่อนไร้บ้าน เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นจากภายในจิตใจ รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถจะบังคับให้ใคร ไม่ว่าจะราษฎร์ หรือรัฐเห็นความสำคัญได้อย่างแท้จริง เพราะต่อให้ระบุใจความอย่างที่มีในร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะให้ประชาชนลงประชามตินี้ แต่หากได้รัฐบาลหรือคณะผู้บริหารประเทศที่ไม่เห็นหัวคนเร่ร่อนไร้บ้านแล้ว ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

     จากการทำงานเก็บข้อมูลภาคสนามของสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน(องค์กรสาธารณประโยชน์)ตั้งแต่ ปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 60 ของครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านยังไม่ได้รับการรับรองสถานภาพความเป็นพลเมืองจากรัฐ และเขาเหล่านี้ ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐไปพร้อมกันด้วย ในขณะที่ร้อยละ 90 ของคนเร่ร่อนจะเป็นคนไร้การศึกษา หรือมีการศึกษาต่ำ ในขณะที่ร้อยละ 80 ของคนเร่ร่อนมีความต้องการเปลี่ยนตัวเองและพัฒนาอาชีพ  

     แต่ทั้งหมดก็เหมือนวังวน เมื่อย้อนมาดูเงื่อนไขและกฎระเบียบของหน่วยราชการหรือกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็จะเป็นเสมือนเครื่องมือสกัดกั้นการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐมีอยู่ เริ่มตั้งแต่ การจะขอรับบริการจากสวัสดิการต่าง ๆ จำต้องมีหลักฐานแสดงตัวตนความเป็นพลเมืองของประเทศเสียก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้อง หากแต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเมื่อคนเร่ร่อนไร้บ้านที่เคยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรแต่ ต้องสูญหาย หรือ โดนนายทุนที่เห็นแก่ตัวยึดบัตรประชาชนไว้เมื่อครั้งมาทำงานในเมืองใหญ่ หรือในกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ ไม่มีหลักฐานรับรอง และเมื่อไปติดต่อขอทำบัตรประชาชนใบใหม่ ก็ ไม่ได้รับการตอบรับหนำซ้ำในบางครั้งกลับโดนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นคนต่างด้าวไปเลย หรืออย่างดีหน่อย ก็ จะพบกับการแสดงอาการรังเกียจการแต่งกายและเนื้อตัวรวมไปถึงกลิ่นที่ค่อนข้างแปลกแตกต่างไปจากคนอื่น แม้ว่าตามระเบียบการทำบัตรประชาชนใบใหม่ต้องมีบุคคลในท้องที่มารับรอง หรือ ต้องมีข้าราชการอย่าน้อยระดับ 6 ขึ้นไปเป็นผู้รับรอง ซึ่งนี่เองถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการได้มาซึ่งหลักฐานการรับรองสถานภาพความเป็นพลเมืองไทยของคนเร่ร่อนไร้บ้าน ?? 

     เมื่อไม่มีหลักฐานใดใดที่จะมารับรองได้ว่าเขาเหล่านี้เป็นพลเมืองไทย การเข้าถึงรัฐสวัสดิการ หรือสวัสดิการชุมชน ที่ภาครัฐกำลังประชาสัมพันธ์ว่าจะเป็นแนวทางที่กระจายโอกาสและสวัสดิการให้ครอบคลุมทั่วถึงคนทุกกลุ่มของประเทศก็ดูจะเป็นไปได้ยาก ก็อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นส่วนใหญ่ของสังคมด้วย ยังมีทัศนคติเชิงลบกับคนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นอย่างมาก สวัสดิการที่จะได้รับการกระจายออกไป ก็จะไปกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภายใต้ทัศนคติของชุมชนว่า ใครคือคนที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่ควรจะได้รับความเกื้อกูลจากโอกาสที่กำลังจะเข้าไปสู่องค์กรท้องถิ่นด้วยซ้ำไป 

     ดังนั้นยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน หนึ่งสามยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลกำลังจะพยายามประชาสัมพันธ์เพื่อกลบกระแส ยุทธศาสตร์เอื้ออาทร ที่อดีตรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ดำเนินมาก่อนหน้านี้นั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ล้มเหลวภายใต้เงื่อนไขของกลุ่มองค์กรภาคสังคม หรือองค์กรประชาสังคมที่ติดท้ายใครบางคนเข้ามาจนทำให้ละเลยกลุ่มคนด้อยโอกาสเดิมที่เคยได้รับการช่วยเหลืออยู่ และ ไปมุ่งเน้นการจัดสวัสดิการสังคม สวัสดิการชุมชน มากจนเกินไป จนลืมไปว่า คนที่อยู่นอกชุมชน คนที่อยู่ชายขอบของสังคมที่ยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมากยังรอคอยการช่วยเหลืออยู่เช่นกัน หากรัฐยังไม่สามารถมีมาตรการรองรับสถานภาพของคนไทยให้มีความเป็นพลเมืองได้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว เราก็ยังจะมีประชากรที่ต้องรอรับการช่วยเหลือที่ตกสำรวจตกขอบอยู่เช่นนี้ต่อไปไม่มีวันหมด

  

หมายเลขบันทึก: 116760เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2007 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท