การให้อภัย: สิ่งที่ทุกคนทำได้โดยไม่เสียอะไร


การให้อภัยเป็นเรื่องของใจครับ ไม่ต้องใช้เหตุผล ไม่ต้องหาเหตุผลมารองรับการให้ (อภัย) ให้ก็คือให้ ไม่ต้องใช้ความคิดเหมือนที่ผมทำ

      เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยากนะครับ! ไม่ต้องอะไรหรอกครับเพียงแค่ขับรถออกมาจากบ้านได้ไม่นาน ก็มักจะพบพานกับการขับรถแบบที่แย่ๆ ของคนหลายคนบนท้องถนน มีแต่ผู้ที่รีบเร่งต้องการจะไปเร็วๆ ไม่ยอมหยุดรอ ไม่ยอมให้ทาง ขับรถอย่างไม่มีมารยาท ขับรถอย่างประมาท ฯลฯ  . . . แล้วอย่างนี้สมควรจะ ให้อภัย ได้อย่างไร?

 

ไบรอั้น เทรซี่ (Brian Tracy) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “Change Your Thinking, Change Your Life” (หน้า 31)  ว่าการที่เราไม่ให้อภัยใคร ก็เหมือนกับเราเอาเขามาจองจำไว้ในคุก (ไว้ในใจเรา) ทำเหมือนกับเขาเป็นนักโทษ (ต้องได้รับการลงโทษ) ไบรอั้นถามต่อไปว่า . . .ในคุกนอกจากจะมีนักโทษแล้วยังต้องมีใครอีก? คำตอบก็คือ ผู้คุม ในกรณีที่เราไม่ให้อภัยใคร ใจเราก็จะไม่มีทางว่าง ไม่สามารถปล่อยวางได้ เพราะเรามัวแต่คอยเป็นผู้คุมอยู่ร่ำไป

 

นักเขียนอีกท่าน (จำชื่อไม่ได้) พูดเปรียบเปรยไว้ค่อนข้างโดนใจเช่นกัน ท่านเปรียบว่าการที่เราโกรธใคร แค้นเคืองใคร อาฆาตพยาบาทใคร และไม่ยอมให้อภัยนั้น มันเป็นการกระทำคล้ายๆ กับที่เรากำลังกินยาพิษและหวังให้อีกคนหนึ่งตาย เพราะจริงๆ แล้วคู่กรณีของเราเขาไม่เป็นอะไรเลย เราเองต่างหากที่เป็นฝ่ายทุรนทุรายเป็นฝ่ายที่ขมขื่น

 

แต่ก่อนผมเป็นประเภทที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) จนเกินไป (คนอื่นเขาพูดว่าอย่างนั้น) เวลามีอะไรผิดพลาด แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไป หลายครั้งไม่ยอมให้อภัย ใครเรียกชื่อ เรียกนามสกุลผมผิด ก็จำติดใจตีตราว่าคนๆ นั้นเป็นคนไม่เอาไหน ไม่ละเอียด แค่ชื่อนามสกุลคนก็พูดผิดพูดถูก ไม่เป็นมืออาชีพ . . .

 

มาถึงวันนี้หลังจากที่ได้มีโอกาสทดลองฝึก ให้อภัย พบว่าชีวิตเบาสบายขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ต้องทนทรมานจากการ ดื่มยาพิษ ไม่ต้องเสียเวลาคอยเฝ้า นักโทษ เวลาใครทำอะไรให้ไม่พอใจ ก็รู้สึกว่ากำลังได้รับโอกาสให้ฝึกฝนการให้อภัย ประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าการให้อภัยคนที่ไกลตัวนั้นง่ายกว่าการให้อภัยคนที่ใกล้ชิด ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อาจจะเป็นเพราะเรามี ความคาดหวัง กับคนที่ใกล้ตัวมากเกินไปก็ได้

 

วันก่อนภรรยาผมทำบางอย่างที่ทำให้ผมไม่พอใจ จำได้ว่าผมทำสีหน้าหรือพูดอะไรไม่ดีกลับไปเหมือนกัน แต่แล้วก็เริ่มรู้สึกตัว จึงถอยกลับมาตั้งหลักใหม่และคิดเตือนตัวเองว่าถึงเวลาต้องให้อภัยภรรยาแล้วล่ะ แต่สงสัยผมจะตั้งใจเกินไปจึงหลุดปากพูดออกไปว่า ฉันให้อภัยเธอ ภรรยาตอบกลับมาว่า ชั้นไม่ได้ทำอะไรผิด เธอไม่ต้องมาให้อภัยชั้น ชั้นน่ะแหละที่ต้องเป็นฝ่ายให้อภัยเธอ ภรรยากล่าวสำทับ ผมถึงกับยืนงง ตกลงไม่รู้ว่าใครต้องให้อภัยใครกันแน่ สรุปว่าการให้อภัยคนอื่นถึงจะไม่ง่าย แต่การให้อภัยภรรยานี่ยากกว่าหลายเท่า เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเธอจะมาไม้ไหน !!

         สรุปสุดท้ายว่าการให้อภัยเป็นเรื่องของใจครับ ไม่ต้องใช้เหตุผล ไม่ต้องหาเหตุผลมารองรับการให้ (อภัย) ให้ก็คือให้ ไม่ต้องใช้ความคิดเหมือนที่ผมทำ ไม่ต้องมีคำว่า พยายาม ทำก็คือทำ เป็นการทำที่มาจากใจครับ 
หมายเลขบันทึก: 116251เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2007 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • สวัสดีครับ อ.ประพนธ์ 
  • อ่านหนังสือเรื่องการสร้างบุญบารมีของท่านสมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านว่าอภัยทานเป็นทานที่สูงสุดของทานบารมี ขออนุโมธนาด้วยครับ
  • ทราบจากบันทึกก่อนว่าอาจารย์ศึกษาวิธีการดูจิตมาระยะหนึ่งแล้ว อาจารย์นั่งสมาธิบ่อยไม้ครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ครับ

ตอบ Aj Kae ... ไม่ค่อยได้นั่งสมาธิ แต่พยายามจะรำมวย "เต้าเต๋อ" ทุกวัน ถือเป็นการฝึกสติไปพร้อมๆ กับที่เคลื่อนไหวกาย (ใจ) ครับ ...มีอะไรดีๆ แนะนำด้วยนะครับ

  • บางทีการใช้เหตุผล ก็หาใช่วิธีการที่ถูกต้องหรือควรใช้เสมอไป  เพราะอีกฝั่งหนึ่งเขาก็น่าจะมีเหตุปัจจัยเหมือนกัน
  • ทุกครั้งหากเกิดเหตุการณ์ที่จะทำให้เราอาจไม่พอใจ  ไม่ตรงใจ(กับที่เราคาดหวัง)  ผมจะพยายามเข้าใจ  ไม่คิดถึงเหตุผลของตนเอง แต่จะพยายามเข้าใจว่าคนอื่นเขาก็คงมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาไม่ทำตามเหตุผลของเรา
  • คือจะไม่พยายามยึดติดกับดักคู่ตรงข้าม ถูก-ไม่ถูก
  • คงแลกเปลี่ยนได้นิดหน่อยแค่นี้นะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

พออาจารย์พูดว่าเรามักให้อภัยคนไกลตัวได้ง่ายกว่าคนใกล้ตัว ก็เลยนึกถึงอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ ที่ ดิฉันมักจะพูดกับคนใกล้ตัวเสมอว่า

สังเกตไหม เวลาเราพูดหรือแสดงท่าทางกับคนอื่น เรามักจะทำดีกว่าที่เราทำกับคนใกล้ตัว ทั้งที่เราบอกว่าเขาเป็นคนสำคัญสำหรับเรา เช่น พ่อ แม่ สามี ภรรยา ถ้าเรารู้จักระงับความโกรธ ความไม่พอใจกับคนอื่นได้ เราก็น่าจะทำให้เหมือนกับที่เราทำกับคนใกล้ตัว สิ่งดีๆ ในชีวิตเราคงมีโอกาสเกิดขึ้น

ไม่ทราบเหมือนกันว่าคนอื่นๆ จะเป็นแบบนี้ไหมคะ

`อาจาร์ย เขียนได้ชัดเจน เห้นภาพมากเลยครับ

ใช่ครับ
    ในโลกนี้ มีการขอโทษ  มีการอภัยกัน ด้วยวาจาบ่อยมาก เป็นวัฒนธรรมว่าต้องทำถึงจะดูดี มีมารยาท  แต่จะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ ในใจของผู้กล่าวคำทั้งสองคำนั้น  คิดนึก และรู้สึกจริงๆ ตามคำกล่าว
    อันนี้ผมไม่สรุปนะครับ แต่อยากให้ลองใช้ใจที่เป็นกลางตรวจสอบดูกันได้  ไม่ต้องไปที่ไหนไกล  เริ่มจากดูตัวเองนี่แหละ .. แต่อย่าเกรงใจ เที่ยวหาเหตุผลมาอ้างจนความจริงถูกบิดเบือนไปก็แล้วกันครับ

สามีจะมีความประพฤติต่างกับดิฉันเช่นการขับรถ   ดิฉันจะให้คนที่อยากแซง แซงไปถึงแม้จะไม่ถูกกฎจราจรเพราะรู้สึกว่าอยากไปก็ไป   ถึงอย่างไรก็ไม่เร็วกว่ากันเท่าไหร่ทำให้ไม่มีความทุกข์ในการขับรถ

สามีจะบ่นเวลาคนที่ขับรถไม่ถูกกฎ

ดิฉันเคยรำคาญสามีว่าทำไมเธอไม่เมตตาเลยนะ  เค้าอยากไปก็ช่างเขา   เธอน่าจะมีเมตตาต่อผู้อื่น

หลังจากฝึกสติทำให้เลิกบ่นเพราะทำให้เรารู้ว่าเราอย่าไปกำหนดให้ใครคิดและเป็นเหมือนเราเลยค่ะ

   อยากบ่นก็บ่น   อยากไปก็ไป   การตามดูจิตจะทำให้เกิดการให้อภัยเองเพราะเราจะเห็นสิ่งที่เป็นกิเลศของเราว่าทำไมมากจังค่ะ  

 ตัวเองยังคุมความประพฤติไม่ค่อยได้    แล้วจะไปบังคับคนอื่นได้อย่างไร

เขียนยาวเพราะชอบรำคาญคนที่อยู่ใกล้ๆตัวเหมือนกันค่ะ    

เป็นแค่ประสบการณ์ในการดูจิตในระดับอนุบาลค่ะ    ขอบคุณที่เอาเรื่องใกล้ตัวมาให้เรียนรู้ค่ะและติดตามความรู้ที่อาจารย์ถ่ายทอดให้เสมอค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ครับ

 ชอบที่อาจารย์ Handy P .พูดว่า....จะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ในใจของผู้กล่าวคำทั้งสองคำนั้น  คิดนึก และรู้สึกจริงๆ ตามคำกล่าว
...ผมรู้สึกว่าการกล่าวคำว่า "ขอโทษ" อย่างจริงใจสำหรับคนไทยนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจริงๆ ประเด็นคงกลับมาอยู่ตรงเรื่องกลัวว่าจะ "เสียหน้า" นั่นแหละครับ ทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมไทยเป็น "โรคความดัน" กันทั่วหน้า โรคความดันที่ว่านี้ คือ "โรคดันทุรัง" ครับ

   

ขอบคุณนะคะที่เขียนข้อความดีดีให้หนูได้อ่านเพราะหนูกำลัง..คิดว่าให้อภัยคนที่ตัวเองรักแต่ยังทำไม่ได้

แค่ความผิดครั้งเดียว..ยังเก็บมาใส่ใจตลอด..กินยาพิษอยู่ทุกวัน..ข้อความนี้คงเป็น.. antidose ได้บ้าง

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยกับ Dr. อัจฉรา เชาวะวณิช  ค่ะ

การให้อภัยคนอื่น เกี่ยวข้องมากๆกับคุณธรรม ความเมตตาค่ะ

การฝึกสติ การทำสมาธิ จะช่วยได้ เพราะทำให้เรามีจิตใจที่ละเอียดและอ่อนโยนขึ้นค่ะ

เรื่องที่ดิฉันเขียนบันทึกเรื่องโรคอัลไซเมอร์ สามีพี่ปริมที่กำลังเป็นโรคนี้ คุณหมอหลายคนคิดว่า อาจเกิดจากความเครียดสะสมมานาน และเป็นทุกวัน เช่น ใครขับรถแซงก็ไม่ได้ ใครทำผิดกฏจราจรนิดๆหน่อยๆ ก็เป็นเรื่องไปหมด

การที่เรามีจิตใจดี อ่อนโยน ทำให้สุขภาพดีด้วยนะคะ

 ขอบคุณ คุณพี่ P sasinanda มากครับ ...ผมเข้าไปอ่านบันทึกเรื่อง โรคอัลไซเมอร์ ที่พี่เขียนไว้แล้ว เป็นการจัดการความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ที่ดีมากๆ เลยครับ

  • เคยได้ยินท่านผู้รู้ ให้คาถาของความสำเสร็จไว้ดังนี้
  • ขอบคุณ (ค่ะ ..ครับ )
  • ขอโทษ (ค่ะ..ครับ)
  • ขอแสดงความยินดี........
  • ขอแสดงความเสียใจ........
  • ใช้ให้เป็น ใช้ทุกวัน ท่านก็จะพบความสำเร็จ

ขอบคุณครับ สำหรับ "คาถา" บทนี้

ผมชอบมากเลยครับ คำพูดที่ว่า

 

"บางครั้งการตั้งความหวังที่ดีที่สุด คือการไม่ตั้งความหวังอะไรเลย..." 

 

ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท