ชีวิตที่พอเพียง : 324. ตุลาการภิวัตน์


          สมัยเด็กๆ ผมคิดว่าผู้พิพากษาตัดสินคดีถูกต้องเสมอ     ท่านมีความรู้มากและแม่นยำ ย่อมไม่ตัดสินผิด     ผมคิดว่าผู้พิพากษาคงจะฟังความอย่างดีแล้วจึงตัดสิน     คงจะไม่เหมือนแม่ผมที่บางครั้งไม่ได้ฟังความก็ตัดสินลงโทษจำเลยคือผมเสียแล้ว     เพราะแม่เชื่อว่าผมซน และคงจะทำอะไรแผลงๆ อีกแล้ว

         ต่อมาเราได้ยินว่าเวลามีคดี มีการเอาเงินไปวิ่งเต้นที่อัยการ      หรือที่ผู้พิพากษา ทำให้หลุดคดีได้     เท็จจริงไม่ทราบ เพราะได้ยินตอนเป็นเด็ก     ไม่มีหลักฐานยืนยัน     แต่ก็ทำให้เราเชื่อตามสุภาษิตว่า  "อันว่าเหล็กแข็งกระด้าง  เอาเงินง้างอ่อนตามความประสงค์"     ที่ผมท่องได้ตั้งแต่สมัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมฯ   

          เมื่อสิบปีเศษมาแล้ว  ศ. นพ. ประเวศ วะสี พูดบ่อยๆ ว่าองค์กรที่มีอำนาจ มักไม่เรียนรู้      ศาลมีอำนาจมาก จึงมีจุดอ่อนตรงที่ไม่เรียนรู้     ทำให้ศาลไทยล้าหลัง  เปลี่ยนแปลงไม่ทันความเปลี่ยนแปลงในสังคม

          ในช่วงการเมืองสกปรกในเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา     นักการเมืองมักอ้างว่า สิ่งที่ตนทำลงไปไม่ผิดกฎหมาย      ไม่มีกฎหมายใดๆ ห้ามไว้     เป็นการหลบเลี่ยงทำสิ่งที่ตนได้ประโยชน์ ส่วนรวมเสียประโยชน์     โดยอ้างว่าทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย

         เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คุณยุวดี คาดการณ์ไกล แห่ง มสช. ฝากหนังสือ "ตุลาการภิวัตน์" คันฉ่องส่องตุลาการไทย  ฉบับ ตุลาการตีความข้ามตัวบท & ตุลาการวางนโยบายสาธารณะ     เขียนโดย พิเชษฐ เมาลานนท์, นิลุบล ชัยอิทธิพรวงศ์, และ พรทิพย์ อภิสิทธิวาสนา      ซึ่งเป็นหนังสือเชิงเสนอนโยบายสาธารณะในสังคมไทย     ในด้านการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ     ว่าจะทำหน้าที่โดยยึดตัวบทหรืออนุรักษ์นิยมเป็นสำคัญ    หรือจะยึดการตีความข้ามตัวบท ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาสังคม เป็นตุลาการก้าวหน้า     จะปฏิบัติหน้าที่โดยมีจุดพอดีระหว่างสุดโต่งสองด้านอย่างไร

          ทำให้ผมเห็นประเด็น "องค์กรเรียนรู้ - Learning Organization" สำหรับวงการตุลาการ

         ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา วงการตุลาการออกมาทำหน้าที่ เริ่มต้นการกวาดล้างความโสโครกในวงการเมือง ที่หมักหมมมา ๕ ปี     เกิดผลดียิ่งต่อบ้านเมือง      ทำให้เห็นความหวังว่า เราจะมีโอกาสเริ่มต้นระบบการเมืองที่เน้นคุณธรรม     ที่ประชาชนควบคุมนักการเมือง  ให้ต้องมีคุณธรรม      ผมจึงรู้สึกว่าเรายังพอมีความหวัง     หากอำนาจตุลาการลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นสติ และ ปัญญา ให้แก่สังคม     ในลักษณะของการทำงานแบบตีความข้ามตัวบท

         ที่จริงองค์ประกอบหลักในด้านความรับ ผิด-ชอบ ดี-ชั่ว      น่าจะเป็นกิจของวงการศาสนา      แต่เวลานี้วงการศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาหลักซวนเซไปมาก     เห็นได้จากพฤติกรรมในการเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญกำหนดพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ     ทำให้คนเสื่อมศรัทธาพระในพุทธศาสนาลงไป  

         ชีวิตที่พอเพียง ต้องเป็นชีวิตที่เรียนรู้     รู้จักแก่น รู้จักกระพี้     ไม่หลงกระพี้ ไม่เข้าใจแก่น    ก็จะไม่ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา      อย่างที่วงการต่างๆ จมปลักอยู่อย่างที่เห็น     

         หนังสือ ตุลาการภิวัตน์ ราคา ๑๒๐ บาท     ซื้อได้ที่ มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) โทรศัพท์ 0 2511 5855 

วิจารณ์ พานิช
๒ ก.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 113655เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีคนมีความเห็นไม่ตรงกับอาจารย์เยอะนะครับ ในเรื่องการใช้อำนาจตุลาการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

โดยเฉพาะประเด็นของ "ระบบการเมืองที่เน้นคุณธรรม ที่ประชาชนควบคุมนักการเมือง ให้ต้องมีคุณธรรม" นั้น ถ้าอาจารย์หมายถึง "ประชาชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอำนาจ" ก็คงถูกต้อง แต่ถ้าอาจารย์หมายถึงประชาชนโดยทั่วไปผมคิดว่าคงไม่ใช่ครับ

จากการตีความของผม ผมคิดว่าบันทึกนี้ของอาจารย์สื่อความตรงกันข้ามกับ "ประชาธิปไตยในฐานะเครื่องมือของการเรียนรู้ของชาวบ้าน" ครับ

ผมชอบมุมมองของอาจารย์ในบันทึกหลังมากครับ แต่ผมหวั่นใจในมุมมองที่ตรงข้ามของอาจารย์ในบันทึกนี้ครับ

ความถูกต้องของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอำนาจ ไม่ใช่ความถูกต้องที่ประชาชนต้องก้มหน้ายอมรับครับ

ขอบคุณ อ. ธวัชชัยครับ     เราอยากได้มุมมองที่ต่างเช่นนี้แหละครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท