เพลงอีแซว "ได้อะไรจากการชม"


ได้รับความสนุกสานความบันเทิง ประโยชน์ข้อคิดและศรัทธา

 

เพลงอีแซว

ได้อะไรจากการชม  

               มหรสพ (การเล่นรื่นเริง) ทุกอย่างให้ความรู้ และความบันเทิงแก่ผู้ชมได้มากน้อยแตกต่างกันตามรูปแบบและลักษณะของการแสดงชนิดหรือประเภทนั้น ๆ ด้วยข้อจำกัดของศิลปะการแสดง  ลีลา ท่าทาง การร้อง รำ บทบาทที่สื่อออกมา 

        ศิลปะการแสดง ประเภทระบำ รำ ฟ้อน ให้ความอ่อนหวาน นุ่มนวล ชวนให้หลงไหล

        ศิลปะการแสดงประเภทวงดนตรีไทย มีร้อง รับ ให้ความไพเราะ นุ่มนวล ลึกซึ้ง

        ศิลปะการแสดงดนตรีสากล (คอนเสิร์ต) ให้ความสนุกสนาน เร้าใจ ได้มีส่วนร่วม

        ศิลปะการแสดงประเภท นาฏดนตรี นำเสนอความรู้ เล่าเป็นเรื่อง น่าติดตามได้อารมณ์

          ศิลปะการแสดงประเภทเพลงพื้นบ้าน เป็นความสนุกสนาน รื่นเริงของชาวบ้านร่วมกันยังมีการแสดงอื่น ๆ อีกหลายประเภท

          สำหรับศิลปะ ประเภทการแสดงของภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่ต้องลงทุนในการก่อตั้งวงหรือคณะด้วยเงินเป็นจำนวนมาก หรือ การแสดงที่ลงทุนน้อย ไม่ต้องพิถีพิถันในเรื่องของการแสดง การแต่งตัว เวที และสถานที่ โดยเป้าหมายของการแสดง หรือ มหรสพทั้งหลายก็จะอยู่ที่ ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมเป็นหลัก แต่สิ่งที่ผู้ชมจะได้รับติดตามมา หรือที่คณะผู้แสดงทำการสอดแทรกเข้ามาให้ถึงยังผู้ชมก็คือ คุณค่าแห่งความเป็นไทย ความรักและหวงแหนแผ่นดินเกิด รวมทั้งการมองย้อนไปในอดีตเพื่อที่จะได้มองเห็นภาพชีวิตของบรรพบุรุษเก่า ๆ ว่า ท่านเหล่านั้นได้เป็นผู้ให้กำเนิดหรือก่อตั้งสิ่งที่มีคุณค่าเอาไว้ จนทำให้พวกเราคนรุ่นหลังได้รับรู้ ได้สัมผัสในยุคปัจจุบัน

        

          เพลงอีแซว เป็นศิลปการแสดงของชาวบ้านที่มีมานานนับ 100 ปี ถึงแม้ว่าเพลงอีแซวจะถือกำเนิดมาทีหลังเพลงอื่น ๆ แต่ก็ยังอยู่ยืนยง ทั้งที่เพลงพื้นบ้านบางชนิดได้หายไปจากเวทีการแสดงและสถานที่ที่เคยเล่นไปแล้วก็ตาม  แต่เพลงอีแซวยังมีให้เห็น  ทั้งนี้ก็เพราะมีบุคคลสำคัญที่ทำให้เพลงพื้นบ้านประเภทนี้เป็นที่รู้จักคือแม่บัวผัน จันทร์ศรี  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง-เพลงอีแซว  ปี 3533  และพี่ขวัญจิต ศรีประจันต์  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง-เพลงอีแซว ปี 3539 

          ถ้าไม่มีบุคคลทั้ง 2 นี้ เพลงอีแซวคงซบเซา หรืออาจจะหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นเราหรือรุ่นลูกศิษย์ไปแล้ว การที่จะยกระดับเพลงพื้นบ้านชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมา ให้ผู้คนทั้งหลายเห็นคุณค่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ แต่ชาวสุพรรณฯ ยังโชคดีที่มีครูเพลง เป็นผู้เสียสละ ทำงานเพื่อสังคมโดยแท้จนปรากฏผลแห่งความดีเด่นชัด จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ แม่บัวผัน จันทร์ศรี ถ่ายทอดความรู้เพลงพื้นบ้าน 80 อย่าง ให้กับทุกคนจนวาระสุดท้ายของชีวิต พี่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ท่านคือผู้ให้ พี่เขาแยกออกว่า งานใดทำเพื่อสังคมและเพื่อท้องถิ่นส่วนรวม งานใดเป็นงานส่วนตัว ทั้งที่บางงานเขาต้องขาดทุนในรายได้อย่างมากมาย พี่เขาก็อุทิศให้ได้ 

          จะมีศิลปินสักกี่คนที่อุทิศตนเพื่อเป็นผู้ให้ ให้ความคิด มันสมอง อาชีพ ความรู้ ความสุข สนุกสนาน บันเทิง เมื่อยามที่พี่เขายืนเด่นอยู่บนเวที เป็นต้นแบบที่สวยงาม น่าชื่นชมและติดตามตลอดเวลา  เมื่อพี่เขาลงจากเวทีมีแต่ความเป็นมิตร ถ่อมตัวเสมอเหมือนคนธรรมดาตลอดมา  ผมมีความใกล้ชิดกับแม่เพลงคนดังทั้ง 2 ท่านมานาน สำหรับพี่ขวัญจิต ศรีประจันต์ เริ่มต้นรู้จักทัก ทายกันตั้งแต่ ปี พ.ศ.2525 วันที่ผมไปประกวดเพลงอีแซวของจังหวัด ส่วนแม่บัวผัน จันทร์ศรี ผมไปขอฝึกหัดเพลงกับท่านเมื่อปี พ.ศ. 2539 (วันนี้แม่บัวผัน จากพวกเราไปเสียแล้ว) 

                   

ได้อะไร จากการชมเพลงอีแซว 

              1.    การแสดงเพลงอีแซวในสมัยก่อน (ปี พ.ศ. 2502) ผมเข้าเรียนชั้น ป.1 ผมติดตามดูเพลงอีแซว เพลงทรงเครื่องคณะไสว วงษ์งาม ตามงานแก้บนที่ศาลเจ้าพ่อ และงานบวชพระตามบ้าน รวมถึงงานวัด โดยไปกับน้าชาย น้าสาว ดูจนเลิกทุกครั้ง ภาพที่จำได้ คือ ตอนไหว้ครู นักแสดงเขาจะนั่งร้อง (ฝ่ายชายบางคนนั่งยอง ๆ) มือถือพานกำนล การเล่นเป็นการร้องถ่อมตัว มีร้องว่ากัน ด่ากันหยาบคายเป็นคำแดง (ด่าชัด ๆ ) และมีบทร้องสอนใจชาย หญิงในตอนท้าย และจบลงด้วยบทร้องลา เคยฟังแม่บัวผันร้อง ฟังหลาย ๆ ครั้งจนผมจำมาร้องได้ และเมื่อการแสดงจบลง ผู้แสดงก็จะเข้ามา ยกมือกราบขอสมาครูเพลงที่อาวุโส

         2.   การแสดงเพลงอีแซวในยุคที่นักร้องเพลงลูกทุ่งอย่างขวัญจิต-ขวัญใจ ศรีประจันต์  และสุจินต์ ศรีประจันต์  มาทำวงเพลงต่อจากพ่อไสว วงษ์งาม ในปี พ.ศ. 2517 ใช้ชื่อคณะไสว วงษ์งาม ต่อมาหลังจากปี พ.ศ. 2529 (ซึ่งผมอาจจะจำคลาดเคลื่อนไปบ้าง) ชื่อคณะเพลงอีแซวที่ดังที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชื่อคณะขวัญจิต-ขวัญใจ ศรีประจันต์ มาจนถึงยุคที่มีงานเข้ามามาก ศิลปินเพลงคนดังจึงต้องแยกวงกัน แบ่งแยกคณะเป็นส่วนตัว แต่ในการนำเสนอผลงานหน้าเวทีผมยังชื่นชมวงพี่ขวัญจิต ศรีประจันต์ เพราะพี่เขาจะออกมาบอกเรื่องราว ให้ประโยชน์ต่อสังคมก่อนที่จะเข้าเรื่องในการแสดง โดยที่ถ้าท่านติดตามไปดูหลาย ๆ งานเรื่องราวที่พี่เขาร้องจะไม่ซ้ำแบบกัน พลิกพลิ้วไปตามสถานการณ์ ปัญหาสังคมในปัจจุบัน เสมือนว่า เรากำลังรับรู้ข่าวสารที่ดีอยู่ที่หน้าเวที ส่วนในเรื่องของความสนุกสนาน ก็ยังคงเดิม หัวเราะกันจนท้องแข็ง คณะขวัญใจ ศรีประจันต์ จะคล้าย ๆ กับคณะพี่ขวัญจิต คือ หัวหน้าคณะออกมาขอบคุณผู้ชมและกล่าวถึงงานก่อนแล้วจึงแสดงเข้าเรื่อง  ส่วนวงพี่สุจินต์ ศรีประจันต์ จุดเด่นของการแสดงอยู่ที่พี่เขาด้นกลอนสดทั้งหมด ผู้แสดงรอง ๆ จะเล่นอะไรก็ว่ากันไป แต่หัวหน้าวงคอยมาแทรกเป็นจุดเด่นให้ได้ฮาทุกระยะ และในตอนสุดท้ายจะเป็นแหล่ด้นสด ๆ อวยพรเจ้าภาพ

        

         3.  การแสดงเพลงอีแซว ของ คณะเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 สพท. สพ.เขต 2  อำเภอดอนเจดีย์ ผมยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิม ๆ ของการแสดงในอดีต ทั้งการร้อง การรำ ทำท่าทาง ไม่เคลื่อนไหวมากนัก รำประกอบอยู่กับที่ แต่ก็มีเล่นมุขตลก สนุกสนาน แทรกเข้ามาเพื่อผสมผสานบ้าง  บทร้องจะคลุกเคล้าความเป็นไทย บอกเรื่องราวของวิถีชีวิตในอดีต เปรียบเทียบกับในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ชมได้คิด วิเคราะห์ตาม  บทเจรจาเน้นชวนหัว และคิดได้หลายทางตามแต่ใจจะคิด ไม่หยาบคาย แต่พลิกผันได้ในคำเจรจา ผมเตรียมการที่จะจัดคิวการแสดงเอาไว้ทุกงาน แต่จะให้โอกาสผู้แสดงในวงเขาได้วางแผนกันก่อน แล้วฝึกซ้อมไปตามที่หัวหน้าคณะและสมาชิกในวงเขาคิดกัน แล้วเราก็ค่อย ๆ ขอปรับในส่วนที่อ่อน หรือยังต่ำกว่ามาตรฐานของวงบ้าง เพื่อรักษาคุณภาพเอาไว้ให้คงเดิม  สิ่งที่ผมจัดเตรียมนำเอามาให้ผู้ดู (ผู้ชม) มีหลากหลาย ได้แก่

             3.1     มีน้ำเสียงที่สดใสไพเราะของผู้แสดงนำ (2-4 คน) บนเวทีการแสดง

             3.2     บทพูด เจรจาที่อ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อขอฝากตัวเอาไว้ของนักเพลง

             3.3            ผู้แสดงประกอบ รำ ทำท่าทางที่สวยงาม สนุกสนาน ผ่านการฝึกอย่างต่อเนื่อง

                3.4            เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ประยุกต์ใช้กลองไฟฟ้า ให้เสียงไพเราะสดใส

                3.5            เนื้อเรื่องที่นำเอามาแสดงเหมาะสมกับงานที่ได้รับเชิญไปเฉพาะเป้าหมายนั้น ๆ

                3.6            บทร้องทุกตับจะแทรกคติสอนใจ ให้ประโยชน์ ให้ความรู้แก่ผู้ชม

                3.7            ผู้แสดงจะดึงเอาผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงด้วย

                3.8            ครูผู้ฝึกสอน เป็นผู้เขียนบทและดำเนินการฝึกหัดนักเรียนด้วยตนเอง

                3.9            ครูผู้ฝึกสอนทำการแสดงบนเวทีกับนักเรียนโดยใช้กลอนสด (ด้นสด) ทุกงาน 

                 บนเวทีของการแสดงตลอดเวลา 30 นาที จนถึง 4 ชั่วโมง มีผู้แสดง 12-19 คน ทำหน้าที่ตามบทบาทที่พวกเขาได้รับนำเอาสื่อพื้นบ้านที่ชื่อเพลงอีแซวไปส่งความสุขสนุกสาน ความบันเทิง ความรู้ ความสวยงาม ประโยชน์ ข้อคิด ความรัก ความศรัทธา มาให้ผู้ชมด้วยบทร้องที่มีคุณค่าแห่งภูมิปัญญา ได้ถูกคิดรังสรรค์ประดิษฐ์จนเกิดผลงานปรากฏที่ตัวนักเรียน

         น่าเสียดายที่นักแต่งคำร้องหรือบทร้องเพลงอีแซว รวมทั้งเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น ๆ บางท่าน ที่แต่งบทร้องเน้นแต่ความไพเราะของอักขระวิธีเพียงอย่างเดียว หรือบางท่านเน้นแต่ความสนุกสนานเพียงด้านเดียว และยังมีบางท่านเขียนบทเพลงไม่ตรงแนวเดิม ทั้งคำร้อง คำลง และลูกรับ ประเด็นนี้จึงทำให้ผู้แสดงและผู้ชมได้รับสิ่งที่ไม่ถูกต้องติดตัวไปด้วย

         แนวทางในการแก้ไข อยากจะให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องตรงนี้ ได้หันหลังไปมองที่ตัวเองว่า เราเริ่มต้นตรงไหน จากใคร มองจุดยืนของเราแล้วเปลี่ยนทางเดินกลับไปยังต้นตำนานที่เขายังมีลมหายใจอยู่ เพื่อไปขอรับสิ่งที่ถูกต้อง แล้วนำเอามาถ่ายทอดให้เยาวชนที่ท่านดูแลได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ครับ

(ชำเลือง มณีวงษ์ / ครูผู้มีผลงานดีเด่นเพลงพื้นบ้าน ราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547)

         โทรศัพท์ติดต่อ โทร. 035-591012 (โรงเรียน)  โทร. 084-976-3799 (ครูชำเลือง) และโทร 035-591271 (บ้านพัก)  โทรสาร 035-590240 (โรงเรียน)  

          Email : [email protected] <p> </p>

หมายเลขบันทึก: 112583เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2007 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พวกคุณทำงานกันดีจังเลยขอให้มีต่อๆไปเรื่อยๆนะค่ะ ขอคุรค่ะ

คุณ YOKNOY ที่สุพรรณบุรี มีคุณครูอีกหลายคน ที่ช่วยกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซว พวกเราจะทำงานนี้ต่อไป ตลอดไป ขอบคุณที่เข้ามาให้กำลังใจ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท