Health


ความดันสูง

เริ่มการเข้าบล็อกครั้งแรกขอแสดงความห่วงใยกันก่อนด้วยเรื่องของสุขภาพ  ที่เราคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่มันเป็นเรื่องใหญ่นะ ความดันโลหิตสูงไง มีพี่ เพื่อน และคนรู้จักเป็นกันแล้วต้องระวังตัวตลอดเวลา จึงได้ไปศึกษาจากเอกสารของทางโรงพยาบาลก็เลยนำมาเล่าสู่กัน

อาการแสดงของโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ มักตรวจพบโดยความบังเอิญขณะไปให้แพทย์ตรวจสุขภาพประจำปีหรือรับการตรวจรักษาด้วยปัญหาอื่น ส่วนน้อยอาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ วิงเวียน มักจะเป็นตอนตื่นนอนใหม่ๆ พบตอนสายจะทุเลาไปเอง ในรายที่เป็นมานานๆ หรือมีความดันโลหิตสูงขึ้นมาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล

ภาวะแทรกซ้อนและอันตรายจากความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่เรื้อรัง รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ จะทำให้หลอดเลือดแดงตีบแข็ง การไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายกับอวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่

สมอง
เมื่อความดันโลหิตสูงมาก อาจจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบตัน หรือแตกได้ง่าย จึงมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้ง่ายกว่าคนปกติ บางรายถ้าความดันโลหิตสูงเรื้อรัง อาจกลายเป็นโรคความจำเสื่อม สมาธิลดลง ในรายที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรงแบบฉับพลัน อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึม เพ้อ ชัก หรือหมดสติได้

หัวใจ
ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น เป็นผลให้หัวใจห้องล่างซ้ายโต ถ้าเป็นมากอาจทำให้หัวใจวายได้ และอาจมีโอกาสเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ได้มากกว่าคนที่มีความดันโลหิตปกติ

ไต
ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงการทำหน้าที่ของไตจะค่อยๆ เสื่อมลง ส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง

ตา
ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้าๆ โดยในระยะแรกหลอดเลือดแดงจะตีบตัน ต่อมาหลอดเลือดแดงอาจแตกมีเลือดออกที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆ จนอาจทำให้ตาบอดได้


การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่เรื้อรัง รักษาไม่หายขาด การรักษาความดันโลหิตสูงจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ลดอัตราการตายหรือความพิการที่จะเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยการควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ โดยเป้าหมายของระดับความดันโลหิตที่ต้องควบคุมให้ได้ของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันตามโรคหรือภาวะอื่นที่ผู้ป่วยเป็น


การรักษาโดยการใช้ยา
เมื่อแพทย์พบว่า ท่านมีความดันโลหิตสูง และไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แพทย์จะสั่งจ่ายยาลดความดันโลหิตให้แก่ท่าน ซึ่งยานี้จะควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป แต่ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ดังนั้นเพื่อให้สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตของท่านให้ปกติ จึงควรใช้ยาต่อเนื่องกันทุกวันตามคำแนะนำของแพทย์ค่ะ

เห็นไหมคะเมื่อเป็นแล้วต้องรับการรักษาตลอดเวลา ดังนั้นเราควรมาป้องกันกันดีกว่าโดยดูจากสาเหตุแล้วคอยระวังค่ะ สาเหตุ

ปัจจัยทางพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวของกับการเกิดโรคนี้ได้(แก้ยาก) นอกจากนี้ อายุที่มากขึ้น ความอ้วน อารมณ์เครียด การรับประทานอาหารเค็มจัด การดื่มสุราและการสูบบุหรี่ ก็อาจเป็นปัจจัยเสริมความเสี่ยงในการเกิดโรคด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นเมื่อมีอายุ 25-55 ปี แต่จะพบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป

- การได้รับยาบางประเภท เช่น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาสเตียรอยด์ ยาลดความอ้วน เป็นต้น

สวัสดีค่ะ


 

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 112325เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2007 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ยินดีต้อนรับสู่ G2K ครับ
  • สิ่งดีดีเกิดขึ้นได้เสมอ ที่นี่ จริง ๆ ครับ
  • ขอให้มีความสุขครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท