ปุ๋ย : พัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพชีวิต


ปุ๋ย : พัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพชีวิต

            เมื่อเดินเข้าไปใน โรงเรียนบ้านหนองราชวัตร  (อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี) รู้สึกแปลกใจว่าทำไมโรงเรียนนี้มีแต่ความร่มรื่น สดชื่น สบายใจ  ต้นไม้  ใบหญ้า แปลงผัก สวนหย่อม ดูสวยงามเขียวชอุ่มไปทั่วบริเวณ  อยากจะรู้ว่าเขาดูแลรักษากันอย่างไรจึงเป็นเช่นนี้ได้  เพราะถ้าใครเคยไป อ.หนองหญ้าไซ  คงจะรู้ว่าที่นี่คืออีสานของเมืองสุพรรณบุรี  มันแห้งแล้งและขาดน้ำ ต้นไม้  พืชสวน พืชไร่ ต้นข้าว ก็รอคอยแต่น้ำฝนบนฟ้าเท่านั้น  ที่นี่เขาจึงแปลกกว่าที่อื่น  เมื่อเจอหน้าผู้อำนวยการ ท่าน ผอ.เกรียงศักดิ์  โพรามาต   ผมรีบถามก่อนเป็นอันดับแรก พี่ครับ...พี่ทำอย่างไรทำไมต้นไม้  ผักหญ้า ในโรงเรียนจึงงดงาม เขียวชอุ่มอย่างนี้ มีเคล็ดลับอะไรหรือเปล่า  ผอ.รีบเล่าเป็นเรื่องราวยืดยาว  พอสรุปได้ว่า   แต่เดิมชาวบ้านจะรู้จักใช้แต่ปุ๋ยเคมี  ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด  ซึ่งเมื่อนำมาใช้แล้วจะทำให้ดินแข็ง ไม่ร่วนซุย  โดยปกติดินที่นี่ก็มีปัญหาที่ไม่เหมาะกับการปลูกพืชอยู่แล้ว   ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ และการงานอาชีพฯ  (งานเกษตร)  ในช่วงชั้นที่ 1-2     ครูและนักเรียนจึงช่วยกันระดมความคิดว่าจะทำ ปุ๋ยชีวภาพ   ซึ่งได้แนวคิดมาจากการที่นักเรียนได้ดูข่าวจากทางโทรทัศน์  เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินไม่ดีและการปลูกผักให้งอกงาม โดยได้เชิญ ภูมิปัญญาชาวบ้าน  ที่มีความรู้มาช่วยในการจัดทำปุ๋ย          

            วิธีทำปุ๋ยของนักเรียนก็ง่ายมาก เอาปุ๋ยคอก 10  กก.  แกลบดำ  10  กก. รำละเอียด  10  กก. มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน  รดด้วยน้ำ  EM. (เชื้อจุลินทรีย์)  1 ลิตร   คลุกเคล้าผสมกันเข้าให้ทั่ว  นำกากน้ำตาล 3  ลิตร มาราดรดลงไป  ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกทีแล้วเกลี่ยมากองไว้  คลุมด้วยกระสอบป่านทิ้งไว้  3-4  วัน  โดยไม่ต้องกลับเพื่อให้  EM. ย่อยสลายวัสดุต่างๆ  ให้เข้าด้วยกัน  เพียงเท่านี้นักเรียนก็มีปุ๋ยคุณภาพดีเอาไว้ใช้แล้ว            

             ปุ๋ยของโรงเรียนทำประโยชน์ให้กับโรงเรียนนานัปการ   สิ่งแรก นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะกระบวนการในการทำปุ๋ย  ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง  รู้จักการทำงานเป็นทีม  มีวินัยและความรับผิดชอบ   รักการทำงาน  สิ่งที่สอง นักเรียนได้เรียนรู้การปลูกผักในทุกระดับชั้น  เช่น  ผักบุ้ง   ผักกาด   คะน้า  กวางตุ้ง   ผักชี  พืชผักสวนครัวต่างๆ  ฯลฯ  แล้วนำปุ๋ยที่ทำมาใส่  ทำให้ผักเจริญงอกงามดีมาก  โรงเรียนได้นำผักที่นักเรียนปลูกไปทำโครงการอาหารกลางวันให้เด็กรับประทาน เด็กทุกคนมีข้าวกิน   ผักที่เหลือยังนำกลับไปให้ผู้ปกครองที่บ้านได้อีกด้วย สิ่งที่สาม นักเรียนนำปุ๋ยไปให้ผู้ปกครองใช้ที่บ้าน  และโรงเรียนยังนำไปแจกให้ชาวบ้านใช้กันทั้งหมู่บ้าน  ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น เป็นผลย้อนกลับเอามาช่วยเหลือโรงเรียนอีกทีหนึ่ง  สิ่งที่สี่ ทำให้โรงเรียนสวยงาม ร่มรื่น มีต้นไม้  สวนหย่อมที่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี   สิ่งที่ห้า  ทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ไม่เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการช่วยสังคมทางอ้อม            

              นับว่าเป็นยุทธวิธีที่เรียกว่า  ปุ๋ย :  พัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิต   ใครสนใจเขาไม่สงวนลิขสิทธิ์ลองเอาไปทำดู  ขณะนี้เขากำลังพัฒนาต่อยอดเอาไปทำยาขับไล่แมลง  รักษาความสะอาดห้องน้ำ ใครมีสูตรเด็ดๆ ก็เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 111438เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2007 07:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ลุดิถี ปีใหม่ กราบไตรรัตน์
  • ขอ ศน.ธวัช จงสุขสันต์
  • คิดสิ่งใด สมหวัง ทั้งชีวัน
  • ทั้งครอบครัว ทั่วกัน มั่นคงเทอญ

        (ขอขอบคุณสำหรับส.ค.ส.ที่มอบให้ตลอดมา)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท