การวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับการจัดการความรู้


แม้การวิจัยเพื่อท้องถิ่นและการจัดการความรู้จะมีความต่างในหลายส่วน แต่สิ่งที่เป็น "หัวใจ" ของทั้งสองเรื่องนี้ซึ่งเป็นส่วนที่ "เหมือนกัน" นั่นก็คือมุ่งเน้นเรื่องของ "ปัญญาปฏิบัติ"

เมื่อวานตอนใกล้เที่ยง

ได้มีโอกาสส่งเสียงตามสาย

สอบถามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของโรงเรียน "คุณอำนวยเมืองคอน" ที่ได้ฤกษ์เปิดโรงเรียนในวันนี้คือ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม ท่านอาจารย์จำนงหรือครูนงของพวกเรา...ครูใหญ่ของโรงเรียนฯ บอกกล่าวเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากมาย...และบอกเรากลับมาว่า... อาจารย์ช่วยเล่าถึงงานที่อาจารย์ไปทำมาให้ฟังบ้างครับ

ช่วงที่ผ่านมากิจกรรมด้านการ "จัดการความรู้" ที่เราขับเคลื่อนอยู่นั้นเป็นประเด็นด้าน "คุณธรรม" สถานศึกษา โดยเฉพาะเครือข่ายโรงเรียน "วิถีพุทธ" ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีกิจกรรมการเรียนรู้และเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าจะเชื่อมต่อกันกับงานจัดการความรู้ของสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนและโรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอนได้

แล้วเราก็เล่าถึงการไปพูดคุยกับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี เมื่อวันพุธที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยท่านผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาของมรภ.กาญจนบุรีได้ให้เกียรติเชิญไปเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมเรื่อง "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หลักการ กระบวนการและกรณีศึกษา"

เราเล่าให้ครูนงฟังถึงมุมมองที่เรามีต่อ "การวิจัยเพื่อท้องถิ่น" กับ "การจัดการความรู้" ซึ่งต่างก็เป็น "เครื่องมือ" ในการเพิ่มพลังทาง "ปัญญา" ให้กับผู้คนในสังคม สุดท้าย เรานัดหมายกันว่า จะจัดวงเรียนรู้ของกศน.และสพฐ. ร่วมกัน แล้วเราคงมีเวลาไปนั่งพูดคุยเรื่องโรงเรียนคุณอำนวยพร้อมจิบชาร้อนแกล้มโรตีด้วยกัน ก่อนวางสายครูนงบอกว่า อาจารย์ช่วยเขียนเล่าเรื่องพวกนี้ลง blog เพื่อจะได้เรียนรู้ร่วมกันหน่อยจะได้ไหม...

จำได้ว่าเมื่อปลายปี 2545 มีการจัดประชุมประจำปีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เชียงใหม่ โดยมีหัวข้อน่าสนใจว่า "ชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการความรู้โดยอิสระ" คำถามที่เป็นที่มาของการจัดประชุมก็คือ ระบบงานที่ใช้อำนาจสั่งการ จัดการความรู้ที่เป็นความจริงและความถูกต้องไม่ได้ เราจะจัดการความรู้ที่เป็นอิสระได้อย่างไร...อิสระคืออะไร...ทำไมต้องอิสระ

ช่วงนั้นเราทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถื่นพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก จึงได้มีโอกาสไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ๆ นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น หน่วยงานพี่เลี้ยง นักวิชาการ ผู้นำประชาคมในท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่พวกเราให้ความสำคัญตลอดมาในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นก็คือ การสร้าง "ความเข้มแข็ง" ให้กับชุมชนท้องถิ่นด้วยกระบวนการ "วิจัย" โดยเน้นที่ตัว "กระบวนการเรียนรู้" และการสร้าง "ความรู้" ให้เกิดในชุมชน ตลอดจนการสร้าง "คน" และ "กลไก" ที่สามารถ "จัดการ" ตนเองและชุมชนได้

ภารกิจหลักของเครือข่ายการวิจัยเพื่อท้องถิ่นก็คือ "ทำอย่างไรที่ผลงานวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น" และ " ทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านได้ใช้งานวิจัย" ซึ่งท่านอาจารย์ปิยะวัตร บุญ-หลง ได้ให้ "คาถา" ในการทำงานกับพวกเราว่า "งานวิจัยจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านจริง ๆ ชาวบ้านต้องเป็นผู้สงสัยเสียเอง ต้องเป็นผู้ตั้งคำถาม และเป็นผู้ทำ"

งานที่เป็นบทบาทของพวกเราในฐานะ "ผู้ประสานงาน"  ก็คือ การจัดการและประสานให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่าง "นักวิจัย" ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้สร้าง "ปัญญา" และ "นักพัฒนา" ซึ่งก็คือผู้สร้าง "ปฏิบัติการ" ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดและระดับชาติ ซึ่งมักทำงานในลักษณะ "แยกส่วน" หรือ "ต่างคนต่างทำ" นั้นให้มาเชื่อมประสานกัน  (หรือที่ท่านอาจารย์ปิยะวัตรบอกว่าทำให้เป็น "ขนมชั้น" )

สำหรับกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น เราใช้หลักการของ "อริยสัจสี่" ซึ่งก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เราใช้ "เวที" การพบปะพูดคุยเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ค้นหา "ปัญหา" หรือ "ทุกข์ร่วม" ของชุมชน เข้าใจถึง "ที่มา" หรือ "สาเหตุ" ของปัญหา และนำไปสู่การ "ปักธง" หรือ "เป้าหมาย" ในการทำงานร่วมกันเพื่อจะหลุดพ้นจากความทุกข์ จากนั้นเราก็มา "จัดทัพ" และ "จังหวะก้าว" ด้วยการทำ "แผนปฏิบัติการ" หรือ Action Plan  ซึ่งคือ "เส้นทางเดิน" เพื่อการก้าวล่วงทุกข์ที่ชุมชนประสบ

กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนภายใต้การวิจัยเพื่อท้องถิ่นนี้ ในหลายพื้นที่ ดูเสมือนว่าจะใช้เวลายาวนาน...จนหลาย ๆ คนไม่อาจ "อดทน" รอคอย แต่เชื่อไหมว่า "ผล" ที่ได้รับจากกระบวนการที่ชุมชนมี "ส่วนร่วม" ในทุกขั้นตอนนี้...น่าชื่นใจ เนื่องเพราะชุมชนได้ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ในการแก้ไขปัญหาและตัดสินใจ แทนการใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์เหมือนที่ผ่านมา....เป็นเส้นทางการสร้าง "ชุมชนเข้มแข็ง" ที่มีรากฐานอัน "มั่นคง" เพราะคำว่า "วิจัย" ที่มาจากภาษาบาลีว่า "วิจโย" นั้น หมายถึง  "ปัญญา" ซึ่งนับได้ว่าเป็น "ภูมิคุ้มกัน" ที่ดีที่สุดของชุมชนภายใต้การถาโถมของกระแสสังคมที่เป็นอยู่

ส่วนการ "จัดการความรู้" นั้นมี "เส้นทางเดิน" ในการก้าวสู่เป้าหมายที่น่าจะ "สั้นกว่า"  การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การจัดการความรู้เป็นการนำเอา "ผลสำเร็จ" ของกรณีศึกษาที่เรียกว่าเป็น "Best Preactice" ที่มีอยู่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตามปรัชญาของ Care&Share&Learn เป็นการใช้ "ผล" ของการค้นพบหรือการวิจัยทั้งของตนเองและผู้อื่นซึ่งก็คือตัว "ปัญญา" หรือ "ความรู้" ไปดำเนินการหรือไป "ใช้" เพื่อให้บรรลุ "เป้าหมาย" ที่ตั้งไว้ โดยความรู้เป็นเครื่องมือนำพาไปสู่ความสำเร็จ  เป็นการนำความรู้ไปก่อให้เกิดประโยชน์ ในขณะที่งานวิจัยโดยทั่วไปเน้นขั้นตอนของ "การแสวงหา" หรือ "การสร้าง" ความรู้มากกว่าการใช้ความรู้

โดยส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่า แม้การวิจัยเพื่อท้องถิ่นและการจัดการความรู้จะมีความต่างในหลายส่วน แต่สิ่งที่เป็น "หัวใจ" ของทั้งสองเรื่องนี้ซึ่งเป็นส่วนที่ "เหมือนกัน" นั่นก็คือมุ่งเน้นเรื่องของ "ปัญญาปฏิบัติ"

ไม่ทราบว่านักจัดการความรู้ท่านใดจะช่วยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นนี้บ้าง

หมายเลขบันทึก: 111385เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2007 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • อาจารย์เล่าเรื่องที่เมืองกาญจนบุรีให้ฟังหน่อยนะครับ
  • อยากทราบว่าคุยเรื่องอะไร
  • กับท่านผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา
  • เผื่อช่วยเมืองกาญจน์ได้บ้างครับ
  • คุ้นเคยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพราะไปช่วยงานบ่อย
  • จนใครๆๆนึกว่าจบหรือทำงานที่นั่นครับ
  • งาน KM แห่งชาติ ผมพบอธิการบดีไปประชุมด้วย
  • ผมยังเชิญเข้าห้องประชุม UKM เลยครับ
ตามอาจารย์ขจิตมาติดๆ แต่อ่านไม่ไหวเลยค่ะ ตัวหนังสือมันเล็กผิดปกติ เริ่มแกร่แล้วค่า - - " น่าจะมีปัญหาจากฟอนต์ค่ะ กดขยายหนังสือให้ตัวใหญ่ทางมุมขวาบนก็ไม่ขยาย จะลองก็อปไปลงโปรแกรมอื่นอ่านแทนดูก่อน (ดีใจจังที่อาจารย์มีเวลาว่างมาเขียน ไม่อยู่แป๊บเดียว Gotoknow เปลี่ยนไปเยอะใช่มั้ยคะ)

..................................................................................

ขอรบกวนฝากข้อความถึงอ.ขจิตนะคะ

อ.ขจิตรีบๆ กลับไปดู comment ตัวเองเร็ว ตอบให้กระจ่างไว้แล้ว มาว่าคนอื่นเขาโบ เดี๋ยวเดือนหน้าเจอกันที่เชียงใหม่ก่อน...น่าดู แซวดีนัก เหอๆๆ ^ ^ หัวเราะอย่างเหี้ยมโหดดดดดดดดดด

อ.ตุ้ม ครับ

  •  ดีใจที่อาจารย์เขียนบทความขยายความคิด และข่ายงานให้คนทั้งหลายเข้าถึงและแจมได้ได้...มีค่ามากเลยจริง สำหรับผมที่ได้จากบทความของอาจารย์เข้าใจคำว่าวิจัยเพื่อท้องถิ่นและการจัดการความรู้มากขึ้น
  • ในมุมของผมทั้งการวิจัยเพือท้องถิ่นและการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือของกันและกัน...หากมองว่าจะทำงานให้สำเร็จสักอย่างโดยใช้ความรู้เป็นเครื่องมือ วิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งเป็นความรู้อย่างหนึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือการจัดการความรู้ ช่วยให้งานบรรลุเป้าหมายได้ แต่ถ้ามุ่งที่ต้องการคำตอบที่สงสัยอะไร ตอบโจทย์ในใจ(ร่วมกัน)บางอย่างหรืออยากรู้อะไรบางอย่าง เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพของคนไทยที่อยากรู้อยากเรียนเรื่องอะไรก็ได้ อย่างนี้แล้วก็สามารถเอาวิธีการของการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือได้...ผมจึงคิดว่าต่างก็เป็นเครื่องมือให้แก่กันและกันได้ แล้วแต่จะมองว่าเอาอะไรเป็นเป้าหมายหลัก...ถ้าอยากรู้ในสิ่งที่สงสัยอยากรู้(วิจัย)ก็เอา KM เป็นเครื่องมือ...แต่ถ้าอยากทำงานให้บรรลุเป้าหมาย(KM) ก็เอาวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือได้...แต่ไม่ว่าจะเป็นวิจัยเพื่อท้องถิ่นหรือจัดการความรู้ก็เพื่อให้งานสำเร็จบรรลุเป้าหมายเช่นกัน ได้ความรู้จากการปฏิบัติเหมือนกัน...ในความคิดของผมความรู้ที่ได้จากการวิจัยคือความรู้ที่ตั้งใจเอาไว้ล่วงตอนกำหนดโจทย์ว่าอยากรู้อะไร...ในขณะที่ในการการจัดการความรู้เราต้องการเอางานให้บรรเป้าหมายเป็นหลัก ความรุ้คือผลพลอยได้ เอาไว้ต่อยอด ปรับใช้ในการทำงานราอบหน้า
  • เมื่อวานเปิด ร.ร.คุณอำนวยเมืองคอนสนุกสนานมากครับ....อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แล้วอยากจะเชิญอาจารย์มาที่ห้องเรียนเราสักครั้งหนึ่ง มาเป็นผู้ให้เรียน  จีบๆไว้ก่อนนะครับ เมื่อวานวันเปิดโรงเรียน ก็มีผู้ให้เรียนที่เป็นบุคคลพิเศษสี่ท่านคือยอดคุณเอื้อผู้ใจดีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีฯและคุณกิจดีเด่นและทีมงานคุณอำนวยที่เข้าไปส่งเสริมซึ่งเป็นข่ายงานของทีม KM ร.พ.มหาราชนครศรีธรรมราช คุณกิจที่ว่าคือหมอพะยอม ศักดิ์จิรพาพงศ์ หมอพื้นบ้าน(หมอเถื่อน)มาเป็นบุคคลให้เราเรียนรู้ คุณอำนวยอีกสองท่านเป็นนักวิชาการสาธารณสุขจาก ร.ร.มหาราชนครศรีฯและจากสถานีอนามัยนอกนั้นเราก็เป็นทั้งผู้เรียนและผู้ให้เรียนจากพวกเราเหล่านักเรียนด้วยกัน
  • น้องสุธีป อาจไพรินทร์ ผอ.กศน.อำเภอชะอวด และน้องแดง ครู กศน.ชะอวด ก็เข้าเป็นนักเรียนด้วย คงง่ายที่จะเชื่อมข่ายงาน กศน.และ สพฐ. ในโครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้....และผมจะดึงเพื่อนๆจาก กศน.อำเภอปากพนังที่มีข่ายงาน ร.ร.คุณธรรมอยู่ที่มีใจแบบคนคอเดียวกันมาเป็นเพื่อนเรียนรู้ใน ร.ร.คุณอำนวย เพื่อจะได้เชื่อมข่ายกับโรงเรียนวิถีพุทธในสังกัด สพฐ.ที่อาจารย์เป็นทีมจัดการความรู้ให้อยู่
  • อ่านบันทึกนี้ตรงส่วนนี้อย่างเดียว ....สำหรับกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น เราใช้หลักการของ "อริยสัจสี่" ซึ่งก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เราใช้ "เวที" การพบปะพูดคุยเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ค้นหา "ปัญหา" หรือ "ทุกข์ร่วม" ของชุมชน เข้าใจถึง "ที่มา" หรือ "สาเหตุ" ของปัญหา และนำไปสู่การ "ปักธง" หรือ "เป้าหมาย" ในการทำงานร่วมกันเพื่อจะหลุดพ้นจากความทุกข์ จากนั้นเราก็มา "จัดทัพ" และ "จังหวะก้าว" ด้วยการทำ "แผนปฏิบัติการ" หรือ Action Plan  ซึ่งคือ "เส้นทางเดิน" เพื่อการก้าวล่วงทุกข์ที่ชุมชนประสบ....  สำหรับผมมันเกินคุ้มแล้วครับ

อาจารย์ขจิตคะ

เรื่องที่จะเล่าเกี่ยวกับงานที่มรภ.กาญจนบุรีมีมากเลยค่ะ คงเขียนในบันทึกไม่ไหว จริง ๆ แล้วเราร่วมมือกันทำงานมานานหลายปีแล้วค่ะ ช่วงนี้ก็จะมา "ต่อยอด" มีโครงการที่จะพัฒนางานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกันทั้งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดในภาคตะวันตกค่ะ แล้วจะเล่ารายละเอียดให้อาจารย์ฟังทางโทรศัพท์นะคะ

ช่วงเดือนหน้า พี่ตุ้มนัดหมายคณาจารย์ของมรภ.กาญจนบุรีที่สนใจงานชุมชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวนค่ะ คงได้ทำ "วงเรียนรู้" แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นกันค่ะ ถ้าอาจารย์ขจิตกลับมา "เยี่ยมบ้าน" ช่วงนั้น ก็ขอเรียนเชิญมาแจมเวทีได้เลยค่ะ

ทีมงาน world moral forum ฝากความระลึกถึงมาให้อาจารย์ด้วยนะคะ และถามหา "memorial picture" ที่อาจารย์ช่วยเป็นตากล้องให้ในวันที่เราไปประชุมที่มูลนิธิชัยพัฒนาค่ะ อย่าลืมส่งไฟล์ภาพให้ด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

คุณ Petite JAZZ คะ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียนนะคะ ขออภัยด้วยที่มีข้อผิดพลาดทางเทคนิค ได้เข้าไปแก้ไขบันทึกและทำให้ตัวอักษรใหญ่ขึ้นมาได้หน่อยนึงค่ะ มีภาพและ webที่อยากลงใน blog แต่ก็ทำไม่ค่อยเป็นค่ะ จะพยายามเรียนรู้ต่อไปค่ะ

เรื่องราวที่อยากเล่ามีมากมายค่ะ คิดว่าจะแบ่งเวลาเขียนถ่ายทอดเป็นช่วง ๆ ให้ได้สม่ำเสมอทุกอาทิตย์ค่ะ สิ่งใดที่น่าจะเป็น "ประโยชน์" ก็อยากนำมา "แลกเปลี่ยน" และ "แบ่งปัน" จะได้มีความรู้ที่เป็น "Explicit Knowledge" บ้าง ไม่ใช่เป็นความรู้หรือประสบการณ์อยู่เฉพาะตัวหรือ "Tacit Knowledge" เท่านั้นค่ะ คือไม่อยากเป็นเหมือน "ห้องสมุดที่ถูกเผา" ค่ะ

คุณ Little Jazz สบายดีนะคะ ...ทำงานหนักแล้วอย่าลืมพักผ่อนด้วยนะคะ

Bonne  

 

สวัสดีค่ะครูนง

อ่านสิ่งที่ครูนงเขียนเล่ามาแล้วได้ข้อคิดและได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่างทีเดียวค่ะ เสน่ห์ของการจัดการความรู้อยู่ที่ตรงนี้เอง... การ "ต่อยอด" ซึ่งกันและกันภายใต้การเป็น "กัลยาณมิตร" ....

ขอบพระคุณครูนงมากนะคะที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันทำวงเรียนรู้ด้านคุณธรรมสถานศึกษาของเครือข่ายสพฐ. ค่ะ การเรียนรู้ "ข้ามวง" น่าจะช่วยให้เราได้สะท้อน ทบทวนและมองเห็นจุดอ่อน/จุดแข็ง ข้อจำกัด/โอกาส ภายใต้ความเป็น "ตัวตน" และ "วัฒนธรรม" ขององค์กรได้คมชัดลึกมากยิ่งขึ้นนะคะ แล้วเราค่อยมาคิดต่อกันว่าจะ "เสริมพลัง" กันและกันอย่างไร เราน่าจะทำงานเชิงบูรณาการในลักษณะของ "area based" คือมีมิติของ "พื้นที่" เป็นเป้าหมายร่วม

เราเริ่มโครงการ "นำร่อง" ของการเรียนรู้ "ข้ามวง" กันที่นครฯ น่าจะดีนะคะ ท่านอาจารย์วิจิตรที่ขอนหาดก็รอฟังข่าวอยู่ว่าพวกเราจะนัดหมายกันวันไหน ช่วงที่ผ่านมาตุ้มก็เดินสายทำงานอยู่ในพื้นที่อีกหลายจังหวัดค่ะ ซึ่งก็มีศักยภาพทุกพื้นที่ แต่คิดว่าที่นครฯ มีครูนงและทีมงานที่เป็นหลักสำคัญ โดยเฉพาะโรงเรียนคุณอำนวย เราน่าจะเริ่มที่นครฯ ได้ก่อนค่ะ

หากครูนงมีโอกาสมาประชุมที่กทม.หรือพื้นที่ทางภาคกลาง ส่งข่าวมาให้ทราบด้วยนะคะ ทีมงานรอต้อนรับ "ครูใหญ่" โรงเรียนคุณอำนวยอยู่ค่ะ มีน้อง ๆ อยากรู้จักและอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูนงแบบว่า "ตัวเป็น ๆ " กันอีกหลายคนเลยค่ะ

 

 

 

นักบุญที่ช่วยกันออมบุญวันละหนึ่งบาทเพื่อสวัสดิการชุมชน

อ่านในเรื่องการวิจัยที่อาจารย์เขียนแล้วรู้สึกซึ้งใจมากจากชาวบ้านที่มีใจสาธารณะ จิตอาสาและเป็นนักบุญด้วย บางครั้งเทคโนโลยีพวกชาวบ้านก็ไม่อยากจะใช้มันเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแต่พวกเราก็ปฏิเสธมันไม่ได้ จำเป็นต้องไปตามยุคตามสมัยแต่ก็เป็นสิ่งที่ดีเมื่อได้เข้ามารับข้อมูลข่าวสารอันเป็นสาระ สิ่งที่จะแลกเปลี่ยนในครั้งนี้คือการได้ทำงานร่วมกับชุมชนบ้านเกิดของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่เรายังจะต้องเรียนรู้กับมันอีกมากเรื่องการจัดการความรู้ที่คุณภีมและอาจารย์อ้อมได้เสียสละเวลามาให้ความรู้แลกเปลี่ยนการทำงานการจัดสวัสดิการชุมชนเป็นสิ่งที่พวกชาวบ้านอย่างนักบุญทั้งหลายไม่มีวันที่จะลืมเลย เพราะเป็นงานวิจัยที่ทำให้พวกเราทั้งหลายได้เกิดการปฏิรูปการทำงานของเครือข่ายออมบุญวันละหนึ่งบาทครั้งยิ่งใหญ่ที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยครั้งนี้จึงทำให้ชุมชนได้รู้จักการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองและกล้าที่จะทำในสิ่งที่มีผลกระทบในบางเรื่องแต่ก็ต้องทำเพื่อความเสมอภาคและยุติธรรมให้กับชาวบ้านที่มีสิทธิเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจนพวกเราก็จะเป็นสะพานเชื่อมให้คนสองกลุ่มได้มีการเอื้ออาทรต่อกันโดยใช้กระบวนการจัดการเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านทุกหมู่เหล่าได้รุ้จักกันมากขึ้นไว้วางใจกันมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับทุกภาคส่วนถึงจะมีปัญหาบ้างก็ยังมีกลุ่มคนที่มีใจสาธารณะเข้าร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้เกิดผลที่ดีกับชุมชน บางครั้งเราก็เป็นคนหนึ่งที่นึกท้อใจเหมื่อนกันว่าทำไมถึงมีคนที่เสียสละน้อยเกินไปทั้งที่บ้านเมืองเราช่วยกันคนละไม้คนละมือสิ่งที่เราอยากเห็นมันคงไม่อยากอย่างที่คิด

นักบุญที่ช่วยกันออมบุญวันละหนึ่งบาทเพื่อสวัสดิการชุมชน

สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพรักของชาวบ้านออมบุญ

อาจารย์อย่างพึ่ง งง ซิค่ะตอนนี้พึ่งจะรองสนทนากับอาจารย์ด้วยตัวหนังสือแต่ถ่ายทอดจากความรู้สึกนะค่ะ ผิดถูกกรุณาช่วยแก้ให้ด้วยนะคะอีกหน่อยอาจารย์คงจะเห็นความก้าวหน้าขององค์กรชุมชนนี้ทางเครื่องประหลาดนี้นะบางครั้งก็ทำให้คนเขียนงงเหมือนกันทุกคนฝากความคิดถึงมาให้อาจารย์ด้วยค่ะตอนนี้ลำใยสวนประธานเครือข่ายออมบุญวันละหนึ่งบาทกำลังเก็บอยู่เลยคิดตั้งกลุ่มลำใยอีกแล้วสงสารประธานเราจังหน้าจะพักผ่อนได้แล้วแต่ก็ยังอยากทำงานช่วยชาวบ้านเราอยู่หาคนที่ทำงานแบบนี้อยากนะแต่เราเป็นรุ่นลูกพวกเราก็ยังช่วยดูแลอยู่ ว่างเมื่อไหร่อาจารย์มาแวะที่กลุ่มนี้ด้วยนะคะ จะบอกให้ก็ได้ว่าเป็นใครก็นกที่พูดเรื่องชาวบ้านเมื่อไหร่อดร้องไห้ไม่ได้ซักที แต่ตอนนี้ทุกคนฝากให้เราเป็นคนพัฒนาระบบไอทีด้วยแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีใครเมตตาให้ชาวบ้านได้พัฒนาด้านนี้ด้วยหรือไม่คิดว่าสวรรค์คงมีตานะว่าเราพยายามที่จะช่วยให้ชาวบ้านได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างทั่วถึง แต่พวกชาวบ้านยังต้องการคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ในด้านต่าง ๆ อีกมากนะคะเพราะประสบการณ์ของกลุ่มเรายังมีน้อยแต่ก็พยายามจะเรียนรู้กับชุมชนให้มากอยู่ ถ้าอาจารย์มีขอชี้แนะให้กลุ่มออมบุญวันละหนึ่งบาทก็เขียนไว้ นกได้มาอ่านบ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท