งานสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง WUCLM
งานสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เผยชื่อ 8 เล่มเข้ารอบคว้า “ซีไรต์” ปี 50


เผยชื่อ 8 เล่มเข้ารอบคว้า “ซีไรต์” ปี 50
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 กรกฎาคม 2550 17:45 น.

  

หลังจากที่คณะกรรมการได้เคร่งเครียดถกเถียงกันอย่างหนักกับผล รางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) วันนี้ได้มีการประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกรางวัลซีไรต์รอบแรก ประเภท "กวีนิพนธ์" ประจำปี 2550 ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล โดยมี ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เป็นประธานการแถลงข่าว ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
       
       โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลรอบแรกมีทั้งหมด 8 คน ประกอบไปด้วย อดุล จันทรศักดิ์ รับหน้าที่เป็นประธานกรรมการคัดเลือก ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา, พินิจ นิลรัตน์ ,พิเชฐ แสงทอง ,วชิระ ทองเข้ม , ผศ.ดร.สายวรุณ น้อยนิมิตร และ รศ.อวยพร พานิช เป็นคณะกรรมการคัดเลือก
       
       ในปีนี้คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือ ประเภทกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าประกวดรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2550 จำนวน 76 เล่ม ได้มีมติเอกฉันท์ให้เสนอหนังสือกวีนิพนธ์ 8 เล่ม เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินพิจารณารางวัลซีไรต์ในรอบต่อไป โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้
       

       1เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็ก ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ,2.ที่ที่เรายืนอยู่ ของ อังคาร จันทาทิพย์,3.ปลายทางของเขาทั้งหลาย ของ กฤช เหลือลมัย ,4.แมงมุมมอง ของ พรชัย แสนยะมูล,5.ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ ของ อุเทน มหามิตร,6.ลงเรือมาเมื่อวาน ของ ศิริวร แก้วการญจน์ ,7.โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของ มนตรี ศรียงค์ และ หมู่บ้านในแสงเงา ของ โกสินทร์ ขาวงาม
       
       
“เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก” เป็นบทกวีที่นำเสนอสาระเกี่ยวกับจิตวิญญาณของมนุษย์ที่ตกอยู่ในพันธนาการของสังคม ด้วยมุมมองที่ทั้งขื่น ทั้งขัน ทั้งอ่อนโยน แต่บางครั้งก็ตรงไปตรงมา เป็นบทกวีที่จรรโลงอารมณ์อันประณีตของมนุษย์ ในโลกยุคบริโภควัตถุ ตัวเลขและเทคโนโลยี แม้จะเป็นเสียงแผ่วเบา แต่ก็เป็นเสียงตอกย้ำให้สังคมเชื่อว่ามนุษย์ยังมีคุณค่า เรื่อง“ที่ที่เรายืนอยู่” เป็นกวีนิพนธ์ร่วมสมัยอีกเรื่องหนึ่งที่มุ่งนำเสนอในสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ เป็นไปของสังคมโดยมองจากที่ที่ “เรา”ยืนอยู่ด้วยสายตาของกวี โดยได้หยิบเอาเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมานำเสนอเป็นเครื่องมือหรือ “ทางผ่าน” พาไปสู่สภาพจริงของสังคมไทยที่เราพบเจออยู่ตลอด ด้วยภาษาที่ลื่นไหลสลักเสลา เรื่อง “ปลายทางของเขาทั้งหลาย” เป็นกวีนิพนธ์ที่เปิดใจกว้าง สำรวจสัญลักษณ์และความหมายในรูปรอยอารยธรรม และวัฒนธรรมที่บิดเบือนผิดไปจากรูปเดิม กอปรกับความไม่รู้ของคนร่วมสมัย และอวิชชาอันมืดบอดในตัวตน แม้จะเป็นยุคไฟสว่าง แต่ก็เหมือนเดินอยู่ในทางที่มืดมิด
       
       เรื่อง กวีไส้ชุ่ม “แมงมุมมอง”เป็นบทกวีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน หยิกแกมหยอกตลอดเรื่อง สร้างความฉงนให้กับผู้อ่าน ก่อนลงมืออ่าน โดยจะหยิบคำพังเพยที่ว่ากวีมักไส้แห้ง เปลี่ยนมาเป็นกวีไส้ชุ่ม คือเต็มไปด้วยเงินทอง หรือเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ เรื่อง “ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์” เป็นกวีนิพนธ์แนวเหนือจริง ที่อุดมด้วยพลังแห่งจินตนาการ กวีได้เสกแมลง หิ่งห้อย นกหก พงไพร ทุกอิริยาบถของสรรพสิ่งประทะสังสรรค์ด้วยอารมณ์อันหลากหลาย เรื่อง “ลงเรือมาเมื่อวาน” เป็นกวีนิพนธ์ที่พรรณนาอารมณ์ความรู้สึกสะเทือนใจของกวีที่มีต่อผู้คนและสิ่งต่างๆ ในสังคม ซึ่งได้ชี้ชวนให้ขบคิดถึงความสำคัญของการดำรงอยู่และความเป็นไปของวัฎจักรชีวิต แม้ว่าจะเป็นสัจธรรมที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ก็ผู้เขียนก็นำเรื่องราวเหล่านั้นมาเขียนเป็นภาษากวี
       
       “โลกในดวงตาของข้าพเจ้า” เป็นบทกวีที่สร้างจินตภาพเชิงกวีแบบใหม่ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสอย่างตื่นเต้นและแปลกหูแปลกตา สะกิดเตือนให้ผู้อ่านหวนกลับไป มองเมือง ใหม่ มองคนธรรมดาสามัญด้วยสายตาแบบใหม่ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจและยอมรับความเป็น “คน” ของกันและกันมากขึ้น เรื่อง “หมู่บ้านในแสงเงา”:กวีนิพนธ์บนเส้นชีวิต เป็นบทกวีที่บันทึกย้อนทวนสายธารแห่งชีวิต กลับไปสู่หมู่บ้านซึบซับความหลังครั้งเยาว์วัย มีสีสันและแสงเงาหวานล้ำลึกเป็นองค์ประกอบ โดยเลือกใช้วรรณศิลป์แบบฉันทลักษณ์อันราบรื่นและลงตัว
       
       โดยภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ พินิจ นิลรัตน์ หนึ่งในคณะกรรมการได้เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความงามการชื่นชมธรรมชาติและรูปแบบการดำเนินชีวิตอันสวยงาม และบทกวีส่วนใหญ่ยังคงเน้นรูปแบบของฉันทลักษณ์แบบเดิมๆ
       
       
พินิจ ได้ไขข้อข้องใจในเรื่องที่มีผู้ตั้งสังเกตุว่าบทกวีในปีนี้ มีเรื่องการวิพากษ์สังคมน้อยลงว่า แท้จริงแล้วบทกวีประเภทนี้ยังคงมีคนส่งเข้ามาประกวดอยู่แต่กวี อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้มีความนุ่มนวลขึ้น ตามยุคตามสมัย มากกว่าการวิพากษ์แบบแรงๆเหมือนที่ผ่านมา
       
       
ทั้งนี้จะมีการประกาศผลผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์อย่างเป็นทางการ ประมาณต้นเดือน สิงหาคม และจะมีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม 2550 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมงกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จะเสด็จฯพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่ผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์)
       
http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9500000080021

 

 

หมายเลขบันทึก: 110396เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2007 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2014 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท