ใครผิด...เรื่องเล่าจากโรงเรียนโรงรถ


คนทำผิดก็ต้องถูกทำโทษสิ แล้วการให้อภัยละ จะถูกนำมาใช้เมื่อไร

เด็กชายจอมหยิบปืนแก๊ปออกมาจากกระเป๋าเด็กชายบูมโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากเด็กชายบูมผู้เป็นเจ้าของ 
ไม่ถึงสิบวินาทีต่อมาฉันรู้สึกเจ็บแปลบที่ต้นแขน และตามมาด้วยเสียงร้องไห้ของเด็กชายเต้ยแฝดผู้น้องของเด็กชายเติ้ล
 

สาเหตุของอาการผิดปกติของคนสองคนค้นหาได้ไม่ยากนัก
เด็กชายจอมยืนหน้าซีดพร้อมกับปืนแก๊ปในมือที่ไม่รู้ว่ามีกระสุนอยู่  ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเด็กชายบูมผู้เป็นเจ้าของที่หน้าตาตกตลึงสุดขีด

ฉันกับเด็กชายเต้ยโดนกระสุนที่ต้นแขนเหมือนกัน แต่ด้วยความเป็นเด็กจึงมีแต่เด็กชายเต้ยเท่านั้นที่ร้องไห้  ฉันสั่งให้เด็กชายจอมเอาปืนไปเก็บ เพราะฉันบอกตั้งแต่เห็นเด็กชายบูมถือปืนเดินลงมาจากรถผู้ปกครองแล้วว่าห้ามเอาปืนมาเล่นที่โรงเรียนและถามกำชับว่ามีกระสุนหรือไม่ คำตอบขันแข็งคือไม่มีครับ

เวลาล่วงเลยไปหลายนาที เด็กชายเต้ยยังไม่หยุดร้องไห้ ทั้งๆ ที่ฉันและเพื่อนอีกคนที่ทำหน้าที่ครูเข้าไปดูอาการที่ต้นแขนแล้วพบว่าไม่ได้เป็นอะไร เพราะกระสุนโดนที่ฉันก่อนแล้วจึงแฉลบไปที่เด็กชายเต้ย  นั้นแสดงว่า การไม่หยุดร้องไห้ไม่ได้เกิดจากอาการเจ็บ แต่เป็นเพราะอะไร ฉันก็ได้แต่สงสัย

ด้วยความที่เพื่อนของฉันเป็นครูที่จบการศึกษาเพื่อมาเป็นครู และเป็นผู้ชายเหมือนกัน  ฉันจึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเพื่อนฉันที่คอยจัดการเพื่อให้เด็กชายเต้ยหยุดร้องไห้  พยายามสอบถามและพูดคุยว่าจะให้ครูทำอย่างไรให้หยุดร้องไห้ เจ็บหรือเดี๋ยวครูพาไปให้หมอดูตอนนี้เลย เด็กชายเต้ยยิ่งร้องไห้หนักกว่าเดิม  เอาปืนมายิงเด็กชายจอมคืนเลยไหมจะได้เจ็บเท่ากัน  คำตอบคือเด็กชายเต้ยลงไปนั่งร้องไห้กับพื้น ตั้งคำถามร้อยแปด แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น แม้แต่เด็กชายเติ้ลแฝดผู้พี่เข้าไปดูอาการและปลอบใจก็ยังไม่เป็นผล  ฉันกับเพื่อนจึงได้แต่มองหน้ากัน และปล่อยให้ร้องไห้ต่อไป

ปล่อยเวลาผ่านไปสักระยะ เพื่อนฉันเข้าไปถามเด็กชายเต้ยอีกครั้งว่าจะให้ครูทำยังไงเต้ยถึงจะหยุดร้องไห้  เด็กน้อยยอมเอ่ยปากเป็นคำพูดครั้งแรกหลังจากเปล่งเสียงไม่เป็นภาษาอยู่นาน
"ห้ามบูมเอาปืนมาอีก"
"ให้ทำโทษจอม ขังไว้ที่โรงเรียน ไม่ให้กลับบ้านไปเจอพ่อแม่"

ฉันกับเพื่อนได้แต่อึ้ง...

ฉันบอกให้จอมกับบูมนั่งเฉยๆ อยู่หน้าเสาธงจนกว่าจะถึงเวลากลับบ้าน เพียงแค่เด็กชายสองคนรับคำสั่งและนั่งหน้าซึมอยู่ที่เสาธง เด็กชายเต้ยหยุดร้องไห้  กลับขึ้นมานั่งบนเก้าอี้  และทำงานของตัวเองต่อจนเสร็จทั้งคราบน้ำตา

นี่คือ กระบวนการคิดของเด็กประถมสอง
ที่ยึดมั่นในความคิดที่คนทำผิดต้องถูกลงโทษ 
ไม่สามารถยอมรับคำขอโทษได้ 
การให้อภัยได้ก็ต่อเมื่อเห็นคนทำผิดถูกลงโทษ

ห้วงแรกในความคิด ฉันโทษตัวเองว่าทำไมไม่ลงโทษเด็กชายจอมที่ทำให้เพื่อนเจ็บ  คำตอบที่ฉันคิดได้ภายหลังคือ เด็กชายจอมไม่ได้ตั้งใจ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ฉันสามารถรับรู้ได้ว่าเด็กชายรู้สึกผิดไม่น้อย และกล่าวคำขอโทษพร้อมยกมือไหว้ทั้งครูและเพื่อนจากการกระทำผิดของตัวเอง ซึ่งฉันคิดว่านั้นเพียงพอ...แต่ฉันคิดผิดหรือนี่

ฉันมีโอกาสได้คุยกับน้องสาวของฉันที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กอเมริกันถึงเหตุการณ์นี้ เค้าเปรียบเทียบให้ฟังและให้แง่คิดกับฉันว่า นั่นเป็นผลของการเลี้ยงดูแบบคนไทย ซึ่งฉันเห็นด้วย...

ถ้าลูกหัวชนโต๊ะแล้วร้องไห้  พ่อแม่จะตีโต๊ะว่าทำให้ลูกเจ็บ
ในขณะที่ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับเด็กอเมริกัน
พ่อแม่จะบอกว่าลูกต้องระวังให้มากกว่านี้นะลูกจะได้ไม่เจ็บตัว

ฉันไม่ได้หมายความว่าการเลี้ยงลูกของคนอื่นดีกว่าคนไทย แต่มันสะท้อนถึงกระบวนการคิดของเด็ก  โดยเฉพาะเรื่องการให้อภัย

ฉันอาจคิดมากไป


คนผิดก็ต้องถูกทำโทษสิ
แล้วการให้อภัยละ จะถูกนำมาใช้เมื่อไร...

------ ^.^------

บันทึกจากโรงเรียนโรงรถของฉันและเพื่อน
มีฉันเป็นผอ.และเพื่อนฉันเป็นครูใหญ่
มีนักเรียน 11 คน สอนเวลาห้าโมงครึ่งถึงหนึ่งทุ่ม
เพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่วัยแรงงานที่ไม่สามารถสอนการบ้านลูกได้ด้วยไม่มีเวลาและเกินความสามารถ
เพราะลูกกำลังเรียนในระดับที่มากกว่าระดับการศึกษาสูงสุดของตน

 

หมายเลขบันทึก: 108530เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2007 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านแล้วทำให้รู้สึกว่า ตัวเองก็มีวิธีการเลี้ยงลูกอย่างที่คุณเล่า  แต่สังคมไทยถูกปลูกฝังมาแบบนี้  พอจะนำเอาวิธีการเลี้ยงแบบฝรั่งมาใช้  มันไม่ได้ผล  เพราะเด็กไทยไม่ยอมรับเหตุผลเหมือนเด็กฝรั่ง  แต่ชอบนำเหตุผลไปใช้ในทางผิด เช่น วัฒนธรรมการแต่งตัว  การมีเซ็กส์แต่วัยเด็ก  ฯลฯ  แต่พอนำเหตุผลมาใช้กับการขอโทษ หรือให้อภัย  ก็ไม่ค่อยยอมรับกัน

สวัสดีคะ  คุณพุทธเกษม

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นจากผู้มีประสบการณ์ตรง

"เด็กไทยไม่ยอมรับเหตุผลเหมือนเด็กฝรั่ง"

แต่เลือกใช้แนวคิดและเลียนแบบสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีตามเหตุผลของตัวเอง...

นี้คือผลหนึ่งของกระแสโลกาภิวัฒน์ และทุนนิยมสุดโต่ง ที่เด็กเชื่อคนอื่นมากกว่าครอบครัว

(อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลัวการมีครอบครัวและบุตร...ฤา จะเป็นองุ่นเปรี้ยว...)

 ถึงน้องพิมพ์

บันทึกบทที่ ๒ ในพื้นที่เสมือน ทำได้ดีราวกับมืออาชีพ

:)

มาให้กำลังใจพิมพ์ดีด ครับ

P

ในแต่ละวิธีการก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป บางทีเรามักจะชอบมองเห็นของคนอื่นดีกว่าของเราเอง แต่ไม่ได้กลับมองว่าสิ่งที่เป็นอยู่และอยู่กับตัวเราบางทีก็ดีและเหมาะสมกับเราแล้ว สิ่งแวดล้องและสภาพสังคมที่ต่างกันมีผลต่อการอบรมสั่งสอน เด็กฝรั่งอาจจะถูกสอนให้คิดเอง ทำเอง ซึ่งก็ช่วยเป็นพื้นฐานให้เด็กฝรั่งมักจะแยกออกจากครอบครัวได้เร็วกว่าเด็กไทย แต่ความสัมพันธ์แบบคอรบครัวใหญ่ๆ ที่เรามักเห็นในสังคมไทย ก็ไม่ค่อยมีในสังคมยุโรปและอเมริกา ซึ่งบางทีเราเองก็ตอบไม่ได้ว่า ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตแบบไหนที่ดีกว่ากัน เป็นแบบที่เราเคยเป็นมา หรือจะเป็นแบบที่เค้าเป็นมา อย่างไหนล่ะที่ดี......

อ้ายเอก

สำหรับกำลังใจ  ....มากกว่าคำขอบคุณคะ

-----^.^-----

"ทำได้ดีราวกับมืออาชีพ"

เล่นเอายิ้มแก้ปริยิ่งกว่าในรูปอีกคะ

สวัสดีครับคุณ พิมพ์ดีด

     ขอบคุณที่แวะเข้าไปเยี่ยม ชอบเรื่องเกษตรเหมือนกันเลย เรื่องที่เล่าน่ากลัวจริงๆ ถ้าไม่มีใครสอนอย่างจริงจังเค้าจะเข้าใจอย่างนี้ไปจนโตหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ ..... นาสสะลวง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท