การจัดการความรู้


สมาร์ทการ์ดคนไทย ช่องโหว่ใหญ่เสี่ยงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
ขณะที่รัฐบาล โดยสำนักบริหารการ ทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวง มหาดไทย ได้กำหนดให้ประชาชนไทย ทุกคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ เริ่มใช้บัตรประจำตัว ประชาชนเอนก ประสงค์ หรือ สมาร์ดการ์ด ภายในเดือน ต.ค. 2548 ไม่ว่า จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก่อนที่จะกระจายไปยังประชาชน ทั่วประเทศในลำดับต่อไปนั้น จะมีประชาชนสักกี่คนที่รู้และเข้าใจถึงโทษที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพราะหลายต่อหลายครั้งที่ผู้นำประเทศ หรือ หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ในฐานะผู้จัดซื้อสมาร์ทการ์ด และสำนักบริหารการทะเบียน ในฐานะผู้นำสมาร์ดการ์ท ไปใช้งานจริง ได้ออกมากล่าวถึงสารพัดประโยชน์ของการใช้สมาร์ทการ์ด แต่กลับไม่มีครั้งไหนเลยที่จะเปรียบเทียบให้ประชาชนรู้และเข้าใจถึงโทษที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งวิธีในการป้องกันและแก้ไข จริงอยู่ที่การนำเอาสมาร์ทการ์ดมาใช้จะทำให้เกิด การบูรณาการข้อมูลระหว่าง หน่วยราชการต่างๆ ทำให้หน่วยงานราชการทำงานได้คล่องตัวขึ้น ประชาชนอาจได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ (ในกรณีที่หน่วยราชการนั้นๆ มีความพร้อม) ข้อมูลต่างๆ มีความแม่นยำนำไปสู่ การวางแผนงานพัฒนาประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกัน นั่นก็กำลังหมายความว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไทยจะเสี่ยงต่อการถูกละเมิดมากขึ้น ส่วนสิ่งเดียวที่จะเป็นความหวังสร้างทางออกให้กับปัญหานี้ คือ "กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" หนึ่งในโครงการพัฒนากฎหมายด้าน ไอซีทีของรัฐบาล แต่ทว่าความหวังเดียวอันนี้ กำลังจะพังลงไป เพราะร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งจากกระทรวงไอซีทีและสำนักงานคณะกรรมการ ข้อมูลข่าวสารของ ราชการ หรือ สขร. ยังถูกแช่แข็งอยู่ระหว่างการรอเข้าสู่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยหลายฝ่ายคาดว่า ยังจะต้องใช้เวลาอีกนาน ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมนักข่าว สายเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอทีพีซี สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดการเสวนาในหัวข้อ “สมาร์ทการ์ดกับสุญญากาศ ทางกฏหมาย ข้อมูลส่วนบุคคลในความเสี่ยง?” ขึ้น เพื่อร่วมกันคิดหาวิธีการและเทคนิคต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ข้อมูลส่วนบุคคลถูกละเมิด จากเจ้าหน้าที่และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นายเจษฎ์ โทณะวนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายจาก สำนักกฎหมายมโนทัย-เจษฎ์ แอนด์ แอสโซสิเอทส์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะนำสมาร์ทการ์ด มาใช้กับประชาชนไทยในการบริหารงานปกติ โดยเฉพาะที่จะเริ่มกับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ภาค เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรให้มีการประมวลผลข้อมูลเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การนับจำนวนครั้งที่ผ่านแดน เป็นต้น เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติและส่งผลกระทบกับผู้บริสุทธิ์ “ยกตัวอย่างการนับจำนวนคนเข้าออกระหว่างชายแดน ที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคน ที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย โดยบางคนอาจไปค้าขาย หรือ ประกอบอาชีพ เพราะขณะนี้ ยังไม่มีกฏหมายคุ้มครองข้อมูลโดยตรง ส่วนกรณีที่มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว บทลงโทษต่างๆ จะเป็นเพียงการเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้น เพราะข้อมูลที่ถูกละเมิดจะไม่เป็นความลับอีกต่อไป และใครจะเอาไปทำอะไรก็ได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย กล่าว มาถึงข้อเสนอในการป้องกันละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล นายเจษฎ์ เสนอว่า รัฐบาลจะต้องเร่งออกกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อ ใช้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเร็วที่สุด โดยภายในกฏหมายฉบับดังกล่าว ต้องกำหนดประเภทข้อมูลส่วนบุคคลที่จะบรรจุลงในสมาร์ทการ์ด ระยะเวลาการอัพเดทข้อมูล ลักษณะการนำข้อมูลไปใช้งาน ผู้มีสิทธิเข้าถึงและประมวล ผล อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญที่สุดเจ้าหน้าที่ผู้เข้าถึงข้อมูลต้องซื่อสัตย์ด้วย “แม้ไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ถ้ารัฐบาลจะใช้สมาร์ทการ์ดจริงก็สามารถใช้กฎหมายอาญาและแพ่ง ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในสมาร์ทการ์ดได้ ส่วนข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลการเสียภาษี ข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกประเทศและและข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เป็นต้น ที่กระจายอยู่ตามส่วนราชการต่างๆ ก็มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของ ทางราชการคุ้มครองอยู่แล้ว” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย กล่าวทิ้งท้าย ด้าน นายอิทธิ ฤทธาภรณ์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค กล่าวว่า สมาร์ทการ์ดเหมือนเครื่องบิน ที่ให้ทั้งความรวดเร็วและปลอดภัย แต่ก็อาจจะตกและสร้างความเสียหายได้มหาศาล ส่วนวิธีการป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลนั้น นอกจากออกกฏหมายแล้ว ก็ควรให้สิทธิกับประชาชนในการเลือกบรรจุข้อ มูลลงในสมาร์ทการ์ด เพราะรู้ถึงความสำคัญของข้อมูลตนเองมากที่สุด รอง ผ.อ.เนคเทค กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลบางกลุ่มเสนอให้ใช้บัตรสมาร์ทในลักษณะ 1 ใบ ต่อ 1 ข้อมูล เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ว่า ในทางเทคนิคสามารถทำได้ เพราะเครื่องอ่านสามารถทำงานร่วมกับ บัตรสมาร์ทการ์ดที่มีคุณสมบัติเดียวแต่บรรจุข้อมูลคนละประเภทได้ แต่จะสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สมาร์ทการ์ดเพียงใบเดียวก็เพียงพอในการให้บริการในด้านต่างๆ แต่ฐานข้อมูลควรแยกกัน ขณะที่ น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวถึงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ว่า ถ้าเป็นข้อมูล ปกติ เช่น ข้อมูลทะเบียนบ้าน ข้อมูลการเกณฑ์ทหารและข้อมูลด้านสาธารณูปโภค เป็นต้น ก็จะได้รับความเสียหายในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญเกี่ยวกับชีวิตและการดำเนินชีวิต เช่น ข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลการเสียภาษี เป็นต้น ความเสียหายต่อบุคคลจะมากมายจนไม่สามารถประเมินได้ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสนอวิธีป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ว่า นอกจากต้องเร่งออกกฏหมายโดยตรงแล้ว ควรให้ประชาชนเลือกข้อมูลที่จะบรรจุลงในสมาร์ทการ์ดและผู้มีสิทธ์ใช้งาน ขณะเดียวกัน ไม่ควรบรรจุข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ และนำสมาร์ทการ์ดไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น บัตรเครดิต เป็นต้น เพราะอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของความปลอดภัยระหว่างขั้นตอนการทำธุรกรรมได้ ทั้งหมดนี้ คือ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการเสวนาเรื่อง “สมาร์ทการ์ดกับสุญญากาศทางกฏหมาย ข้อมูลส่วนบุคคลในความเสี่ยง?” ที่ผู้เข้าร่วมการเสวนาทั้งหมด เป็นห่วงในเรื่อง “การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ขณะที่ นายธานี สามารถกิจ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารการทะเบียน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยตรง กลับแจ้งยกเลิกการเข้าร่วมเสวนากระทันหัน ทำให้ขาดข้อมูลด้านมาตรการป้องกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่า ขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรง ขณะที่สมาร์ทการ์ดกำลังจะเริ่มใช้งานภายในเดือน ต.ค. 2548 นั่นหมายความว่า ประชาชนไทยจะต้องเสี่ยงต่อการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลไป จนกว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลจะออกมาบังคับใช้และ เมื่อกฎหมายฉบับนี้ ออกมา แล้ว ก็ไม่แน่เช่นกันว่าจะใช้คุ้มครองสิทธิของประชาชนได้จริงหรือไม่ ก็ได้แต่ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตาม รวมทั้งต้องศึกษาให้รู้ถึงข้อดีข้อเสียและ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สมาร์ทการ์ด เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนอย่างมาก ก็ได้แต่หวังว่า อย่าให้ต้องถึงขั้นเกิดกรณีศึกษาขึ้นก่อนแล้วจึงมานั่งคิด หาทางแก้ไขภายหลังเหมือนปัญหาเดิมๆ อีกเลย…
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10649เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2005 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท