ธรรมของโลก


โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้

การที่คนเราจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุขนั้น คงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถหลายๆ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันที่มีการแก่งแย่งสูง (แย่งกันกิน แย่งกันอยู่ แย่งกันหา ฯลฯ)

ในแต่ละวันเราจะพบบททดสอบในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่น จนกระทั่งล้มตัวลงนอน.. บางครั้งตอนนอนก็ยังฝันเห็นเรื่องราวต่างๆ

ความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานประการหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าเราควรรู้ก็คือ "ธรรมของโลก"  นั่นก็คือถ้ามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็ย่อมต้องเผชิญกับเรื่องเหล่านี้

พระพุทธองค์ได้ทรงสรุปเรื่องธรรมประจำโลกไว้ในเรื่อง โลกธรรม ๘  โดยดิฉันนำสรุปของเรื่องโลกธรรม ๘ มาจากเว็บ http://www.tipitaka.com/lokadharma.htm ดังนี้

โลกวิปัตติสูตร เล่มที่ ๒๓

[๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ

๘ ประการเป็นไฉน คือ

ลาภ ๑         ความเสื่อมลาภ ๑
ยศ ๑           ความเสื่อมยศ ๑ 
สรรเสริญ ๑  นินทา ๑
สุข ๑          
ทุกข์ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้

หลวงพี่มหาชัยวุธ (BM.chaiwut) ก็เพิ่งเขียนเรื่องโลกธรรม ๘ ในบันทึก ปรัชญามงคลสูตร ๔๑ : อุดมคติแห่งชีวิต (ถ้าใครยังไม่ได้อ่านปรัชญามงคลสูตรทั้งหมดที่หลวงพี่เขียนเอาไว้ ดิฉันแนะนำให้ลองอ่านดูนะคะ)

ดังนั้นหากเราเข้าใจในโลกธรรมว่าเป็นธรรมชาติของโลกมนุษย์  เมื่อ"มี"  "ก็ไม่มี"ได้เป็นธรรมดา   มีความเข้าใจในธรรมพื้นฐาน เราก็จะไม่เป็นสุขหลงระเริงไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งเป็นเรื่องจอมปลอม (เพราะมีการเสื่อม) หรือเป็นทุกข์นักเมื่อเกิดความเสื่อมของลาภ ยศ สรรเสริญ  เพราะเรามีสติ รู้ตัว ดังนั้นเราจึงเข้าใจ และไม่ได้ยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านี้

ทุกวันนี้เราเห็นการแก่งแย่ง ชิงดี เรียกร้องมากมาย... แต่ถ้าเราเป็นเช่นนั้นกันหมดทุกคน..  เมื่อไม่มีผู้ให้ จะเหลืออะไรมาให้เราแย่งกันได้อีก....

หากเรามีสติ และเข้าใจในธรรมของโลก เราจะเป็นคนหนึ่งที่เลิกการแย่งกันกิน แย่งกันอยู่ แย่งกันหา ฯลฯ เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ  แต่กิน อยู่ หา เพื่อดำรงชีวิตอย่างสงบสุข ดำรงชีวิตอย่างพอเพียงเพื่อตนเองและผู้อื่น   และเปลี่ยนจากการ"ผู้รับ" เป็น"ผู้ให้"แทน

หมายเลขบันทึก: 106073เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

ลาภ ๑       ความเสื่อมลาภ ๑
ยศ ๑         ความเสื่อมยศ ๑
นินทา ๑     สรรเสริญ ๑
สุข ๑        
ทุกข์ ๑

โลกธรรมทั้ง ๘ ประการฟังดูเข้าใจไม่ยากเลยจริงๆ แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงรับไม่ได้กับความจริงนี้ก็ไม่ทราบนะครับ

มนุษย์ที่ขาดสติ ขาดปัญญา  ส่วนใหญ่ก็จะออกอาการอย่างที่ว่านี้แหละครับ เป็นกันทั่วทุกหัวระแหง... 

มีลาภ(รู้สึกเป็นสุข)    พอเสื่อมลาภ(รู้สึกเป็นทุกข์)ก็ทนไม่ได้  หลายคนถึงกับฆ่าตัวตาย

มียศ(รู้สึกเป็นสุข)   พอเสื่อมยศ(รู้สึกเป็นทุกข์)ก็ทนไม่ได้  หลายคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า เป็นโรคจิต

ได้ยินคำสรรเสริญ(ทั้งๆที่บางครั้งไม่ได้มาจากความจริงใจ)ก็ชอบใจปลื้มใจ(รู้สึกเป็นสุข)  แต่พอได้ยินคำนินทาหน่อยเดียว(ทั้งที่อาจจะมีความจริงอยู่บ้าง)ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ(รู้สึกเป็นทุกข์)

นี่ถ้ามนุษย์รู้ว่า  การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ และคำนินทา บางครั้งก็ทำให้เรามีความสุขได้   โลกนี้สังคมนี้คงจะน่าอยู่กว่านี้มากนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์   กมลวัลย์  

  • ครูอ้อยชอบตอนท้ายของบันทึกค่ะ  ครูอ้อย...กำลังให้  แม้แต่ความคิด  บางคนเขา...ขายความคิด....แต่ครูอ้อย..ให้แบบได้เปล่าเลยค่ะ
  • ถึงแม้ว่า...คนที่ได้รับจะไม่รู้..แต่ครูอ้อยก็มีความสุขค่ะ
  • ครูอ้อยไม่แก่งแย่งใคร...ครูอ้อยจะรู้ตัวเองและแข่งกับตัวเองเสมอค่ะ
  • ขอบคุณบันทึกที่ดีของอาจารย์  จะเพียรมาอ่านบ่อยๆ  และนำไปปฏิบติค่ะ
  • ครูอ้อยต้องพอเพียงกว่านี้ค่ะ...เมื่อวานนี้ครูอ้อยก็ตัดกางเกงใหม่อีก 2ตัวค่ะ  ครูอ้อยอ้วนขึ้นค่ะ...ไม่พอเพียงสักทีเลยค่ะ...เจ้าน้ำหนักตัวนี่

ขอบคุณและสวัสดีค่ะ

P

เข้ามาเยี่ยม....

อ่านๆ ไป ก็นึกข้อสนทนาธรรมกับอดีตท่านเจ้าอาวาส (มรณภาพสิบกว่าปีแล้ว)  เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ ทำนองนี้...

ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนเรากินของเผ็ด แม้เรารู้ว่าเผ็ด แต่มันก็หรอย ...

เจริญพร

สวัสดีค่ะ อ.ศิริศักดิ์

ดิฉันว่าไม่ใช่เขารับไม่ได้ทั้งหมดหรอกค่ะ แต่รับได้แค่ครึ่งเดียวคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ และ สุข  ^ ^ อีกครึ่งหนึ่งจะไม่ยอมรับกันเสียเฉยๆ งั้นแหละค่ะ

เห็นด้วยอย่างมากๆ ค่ะ ว่าการเสื่อมในลาภ ยศ สรรเสริญนั้นยังเป็นสุขได้เสมอ แม้นมีคนนินทาก็มีสุขได้เหมือนกัน อันนี้ก็เห็นจริงตามประสบการณ์ส่วนตัวมาแล้วค่ะ แต่จะเป็นสุขสงบได้จะต้องมีสติ และเข้าใจในความเสื่อม เข้าใจในวงจรการเกิดดับในไตรลักษณ์ของสิ่งต่างๆ..

สติเป็นตัวช่วยจริงๆ..ถ้าไร้สติก็เหมือนไร้ชีวิตเลยค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ ที่แนะนำสั่งสอนดิฉันมาเสมอ.. ไม่ได้อาจารย์รับรองไม่ได้มาเขียนบันทึกพวกนี้แน่ๆค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะครูอ้อย สิริพร กุ่ยกระโทก

อ่านบันทึกครูอ้อยก็รู้แล้วล่ะค่ะว่าเป็นนักให้(ผู้น่ารัก)ค่ะ ^ ^

ดิฉันว่าดีนะคะ ถ้ามีคนแบบครูอ้อยเยอะๆ น่ะค่ะ อยากให้มีคนให้กันเยอะๆ สังคมจะน่าอยู่ขึ้นเยอะเลยค่ะ

การให้..ถ้าจะดีที่สุด..ก็คือการให้แบบไม่หวังผล ไม่คาดหวัง แบบครูอ้อยนั่นแหละค่ะ ถ้าเราทำเต็มที่สิ่งที่เราได้คือความภาคภูมิใจว่าเราได้มีส่วนช่วยเหลือเขาค่ะ ^ ^

ขำเรื่องความพอเพียงของครูอ้อยค่ะ จะบอกว่าวันนี้ก็เพิ่งซื้อกระโปรงใหม่เนื่องจากน้ำหนักเพิ่มเหมือนกันค่ะ 55555

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน ลปรร นะคะ ^ ^

กราบนมัสการหลวงพี่BM.chaiwut

ท่านอดีตเจ้าอาวาสเปรียบเทียบได้ดีจังเลยค่ะ

เหมือนเรากินของเผ็ด แม้เรารู้ว่าเผ็ด แต่มันก็หรอย...

ดิฉันก็ชอบทานเผ็ดมากในอดีตค่ะ ^ ^ แต่ตอนนี้เลิกไปเยอะเลยค่ะ ทั้งเผ็ด ทั้งหวาน ทั้งเค็ม ตอนนี้กินจืดมากเลยค่ะ แต่ก็ยังมีรสอยู่บ้าง  เรื่องแบบนี้คงมาพร้อมกับประสบการณ์ และอายุกระมังคะ คงเหมือนกับเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข เนี่ยแหละค่ะ สุดท้ายก็เบื่อ และไม่เห็นเป็นเรื่องของสุขสักเท่าไหร่เลยค่ะ แต่ก็ยังเห็นอารมณ์สุขอยู่บ้างตอนที่ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่อารมณ์ก็อยู่ไม่นานค่ะ..

ขอบพระคุณหลวงพี่ที่มาเยี่ยมเยียนและ ลปรร ค่ะ

หนูกมลวัลย์

ขยันเขียนและขยันหาเรื่องธรรมมานำให้คิด

เรื่องโลกธรรมแปดนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและเป็นเรื่องที่ควรเจริญสติในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องครับ เหมือนการกำกับดูแลเข็มทิศชีวิต

เพราะหากเราเผลอไผลและขาดสติ ข้อหนึ่งข้อใดในโลกธรรมแปดนี้เมื่อมากระทบกับเรา จะเป็นตัวการสร้างทุกข์ได้และกระทำกรรมอันก่อให้เกิดวิบากทุกข์สืบไป

เวลาธรรมข้อนี้ปรากฏขึ้นในชีวิตจริง ต้องเตือนสติหรือเจริญสติอยู่ตลอดเวลาเมื่อเกิดสุขเวทนายามที่ ลาภ ยศ สุขและสรรเสริญ พึงมีพึงเกิดแก่เรา

และเมื่อเวลาทุกข์ใจเกิดขึ้นเมื่อยาม เสื่อมจากโลกธรรมสี่นั้น ต้องเจริญสติเช่นกันจะได้เข้าใจในเรื่องธรรมดาของโลกธรรม...ไม่เป็นทุกข์มาก

เช่นเมื่อได้ดีมีสุขอะไรก็ตาม เกิดความสุขเวทนา ต้องกำหนดจิตเจริญสติว่า "สุขหนอๆๆๆๆๆๆๆ" และเมื่ออารมณ์นั้นดับไป ก็กำหนดว่า " ไม่เที่ยงหนอ" อย่างนี้เป็นต้น เป็นการเจริญสติแบบเวทนานุปัสสนา

บางท่านอาจเจริญทางปัญญาคือเห็นกระบวนการของทุกข์ยามกระทบกับอารมณ์ที่พึงใจ จะเกิดจิตยินดีที่ฟูฟ่องล่องลอยไปกับอารมณ์นั้น แล้วเห็นว่าเป็นเพียงกระแสอารมณ์ที่เกิดกระทบกับจิตเพียงวาระหนึ่ง ขณะหนึ่งๆเท่านั้น มิได้เป็นแก่นสาระอะไร ที่จะไปยึดติด หรือเกิดจิตโลภอยากบริโภคอีก เป็นต้น

รู้สึกว่าจะเขียนยาวไปแล้ว :)

สวัสดีค่ะ อ.พิชัย กรรณกุลสุนทร

หนูชอบหาเรื่องธรรมมาสอนตัวเองค่ะ ^ ^ รู้สึกว่าการเขียนบันทึกทำให้ได้ทบทวนและได้สอบตัวเองค่ะ จะได้พัฒนาการเจริญสติไปเรื่อยๆ เพราะหนูยังรู้ไม่ค่อยเยอะจริงๆ ค่ะ

ไม่เคยเรียนเกี่ยวกับเรื่องโลกธรรม ๘ เลยค่ะ ถ้าเคยเรียนตอนเด็กๆ ก็คงลืมหมดแล้วก่อนที่จะมาเขียนบันทึกนี้ ^ ^  แต่เรียนรู้จากการทำงานอยู่แล้วว่าลาภ ยศ สรรเสริญ นั้นมีเสื่อมได้ และไม่เที่ยงจริงๆ ชัดเจนมากๆ ค่ะ ก็เลยไม่ค่อยยึดติดกับเรื่องเหล่านี้ เพราะรู้ว่าเงินทองหามาได้ ก็ใช้หมดไปได้ และไม่ชอบเป็นทาสของเงินค่ะ แต่จะเป็นผู้ใช้เงินแทน 5555

แต่เรื่องความสุขไม่เที่ยงนั้นเพิ่งมาสังเกตเห็นหลังจากเห็นเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญค่ะ เพราะฉะนั้นแรกๆ ก็ลอยไปกับความสุขพอสมควรค่ะ หลังๆ ถึงจะเพิ่งมาเจริญสติเวลาเห็นว่าตัวเองกำลังมีความสุขค่ะ 

ตอนนี้กำลังเจริญกายานุปัสสนาอยู่ค่ะ เพราะปวดหัวอยู่ (ปวดตั้งกะเมื่อวานแล้วค่ะ) สงสัยจะ(เกือบ)เป็นไข้  ตอนนี้เลยได้เจริญสติไปด้วยหลายๆ อย่างตอนเขียนตอบอาจารย์เลยค่ะ ^ ^

ขอบคุณอาจารย์ที่มาเขียนยาวๆ นะคะ หนูชอบค่ะ ได้ความรู้เยอะดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมา ลปรร เช่นเคยนะคะ

แต่กิน อยู่ หา เพื่อดำรงชีวิตอย่างสงบสุข ดำรงชีวิตอย่างพอเพียงเพื่อตนเองและผู้อื่น   และเปลี่ยนจากการ"ผู้รับ" เป็น"ผู้ให้"แทน

..........................

   ประทับใจตอนท้ายนี่ล่ะคะ

เรื่องนี้ถ้าเราเข้าใจมองเห็น จะมีประโยชน์มากกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะมันคือ สิ่งที่คู่กับโลกครับ (  ชื่อก็บอกแล้วว่าโลกธรม ) 

ถ้ามองเห็น และเข้าใจ ก็ เสมอกับเข้าใจโลกที่เรามีชีวิตอยู่  ทำให้สงบ นิ่ง ไม่วูบวาบ วุ่นวาย

ถ้าได้อะไรมา สักเรื่อง เป็นเรื่องน่ายินดี ประสบสิ่งที่ต้องการ  ก็ ไม่ดีใจเกินไป รู้ว่าสักวันมันก็จะเสื่อม ทันทีที่ได้มา  ทำให้เราไม่ดูแคลนคน ไม่ข้ามคนที่ล้ม

เวลามีอะไรที่ไม่ น่ายินดี ก็มีสติ รู้ว่าสักวันเรื่องร้าย ๆ ก็จะผ่านไปได้  ไม่ฟูมฟายเกินเหตุ มองหาทางลุกขึ้นยืน

เวลาอยู่กลาง ๆ ก็พยายามรักษาสภาพ ให้กลาง ๆ ตลอดไป  ดีเกินไป สักวันก็ต้องลง

ผมจะนึกถึงเพลง  โลกนี้คือละคร ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้

  " วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย  " 

วันนี้ ผมนึกถึง ท่านอดีตนายก คนหนึ่งเป็นที่สุด เมื่อไม่กี่ปีก่อน ยิ่งใหญ่ยากที่ใครจะมาล้มได้ ยากจนนึกไม่ออก   มาวันนี้  สูญเสียอะไรไปมากมาย  

เคยอ่าน หนังสือเล่มหนึ่ง มีนักธุรกิจคนหนึ่ง สร้างชีวิตจากการล้มละลาย หลายครั้ง  มีคติว่า

มีได้ก็หมดได้  หมดได้ก็มีใหม่ได้  เวลามีก็อย่าประมาท เวลาหมดก็ยังมีความหวังเสมอ ครับ

 

สวัสดีค่ะคุณ P ดอกแก้ว

ดิฉันเชื่อในเรื่องของความพอดีค่ะ มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดีค่ะ พอดีๆ ตรงกลางเนี่ยแหละค่ะดีที่สุด ไม่สุข ไม่ทุกข์ไปกับเรื่องต่างๆ

เรื่องผู้รับกับผู้ให้เนี่ย ดิฉันคิดแบบง่ายๆ เลยค่ะ ว่าถ้าทุกคนเป็นผู้รับกันหมด ในเมื่อไม่มีผู้ให้ แล้วผู้รับจะรับมาจากใครกันล่ะ..ใช่ไหมคะ... เราต้องเป็นผู้ให้ในบางครั้ง และเป็นผู้รับในบางครั้งค่ะ ถึงจะพอดี แต่ตอนนี้รู้สึกว่าค่านิยมการให้นั้นมีอยู่น้อยไป เลยรณรงค์ให้เป็นผู้ให้กันมากขึ้นค่ะ   แต่จริงๆ คนใน Gotoknow ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ให้กันอยู่เยอะแล้วค่ะ ^ ^

ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านและให้ข้อคิดเห็นเสมอนะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะคุณ P หมอจิ้น

คุณหมอเขียนได้ตรงใจมากเลยค่ะ... เขียนดีกว่าที่ดิฉันเขียนเยอะเลย ^ ^  ดีจังเลยค่ะ

การมีสติเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ค่ะ การที่จะมีโอกาสเห็น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แล้วเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้จะจบลงในวันหนึ่ง ไม่หลงไหลไปกับมันนั้น จะต้องมีสติพอสมควรค่ะ เพราะไม่งั้นโดน ๔ อย่างนี้พาไปหลงทางได้ง่ายๆ เลยค่ะ  ตอนเขียนบันทึก ดิฉันก็นึกถึงตัวอย่างของอดีตนายกฯ เหมือนกันค่ะ นึกถึงตัวอย่างที่เกิดกับคนรอบๆ ตัว และสุดท้ายนึกถึงประสบการณ์ของตัวเองด้วยค่ะ  ^ ^

ดิฉันว่าเรื่องโลกธรรม ๘ นั้นพอมีประสบการณ์ชีวิตสักพักหนึ่ง เห็นความไม่ยั่งยืนของบางอย่างบ้างแล้ว ถ้าได้อ่านธรรมเหล่านี้จะเข้าใจดีเลยค่ะ เพราะเคยผ่านมาแล้ว จะ relate ได้อย่างชัดเจนเลยค่ะ

ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ในโลกนี้ ก็คงหนีไม่พ้นวงจรของโลกธรรม ๘ นี้แน่ๆ ค่ะ

ขอบคุณคุณหมอที่เข้ามา ลปรร และให้ข้อคิดดีๆ เสมอเลยนะคะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท