อบต. แนวใหม่ ใช้วิจัยนำพัฒนา (อบต. บ้านแหวน จ.เชียงใหม่)


...ก่อนหน้านี้ เด็กๆ ประมาณ 10 คน ต้องอยู่ในห้องใต้บันไดแคบๆ อับๆ ของโรงเรียนท้าวบุญเรือง แต่ละวันจะมีชาวบ้านผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลเด็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "อนุบาลขวดนม" จนทีมงาน อบต. และแกนนำชุมชนส่วนหนึ่งรู้สึกสลดหดหู่อยากจะเปลี่ยนแปลง

"อึดอัดใจมากที่เห็นเด็กๆ ต้องทนอยู่ในที่ๆ ไม่ปลอดโปร่งโล่งสบาย เราเองมีหน้าที่ในฝ่ายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม อยู่แล้ว ต้องช่วยกันดูแลโรงเรียนและพัฒนาให้เป็นศูนย์เด็กเล็ก"

พ่อบุญศรี บัวเงิน อดีตสมาชิก อบต.บ้านแหวน ย้อนความหลัง

"เรามีเงิน มีความพร้อมทั้งอาหาร สถานที่ แต่กลับเห็นรถตู้มารับเด็กบ้านเราไปเรียนในเมืองเรื่อยๆ และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายครั้งละเป็นหมื่นๆ จึงตั้งเป้าหมายว่า เราจะต้องพัฒนาศูนย์เด็กเล็กของเราให้ทัดเทียมกับเอกชนให้ได้"

อดีตนายก อบต. สมบูรณ์ รอบรู้

จึงเกิดเวทีประชาคมหมู่บ้านหารือเรื่องการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบไปด้วย สมาชิก อบต.  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ปกครองและคณะครู  เกิดการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเก่าๆ ในโรงเรียนให้เป็นศูนย์เด็กเล็ก คู่ขนานไปกับการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ จนชาวบ้านให้ความร่วมมือมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม.  กลุ่มผู้สูงอายุ  กลุ่มฌาปนกิจศพ 

เมื่ออาคารแล้วเสร็จและได้เปิดให้บริการ ก็พบว่า อบต. ยังเป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณ ยังไม่เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานจริงๆ

เป็นจังหวะประจวบเหมาะกับที่ อ.เยี่ยมลักษณ์ อุดาการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขียงใหม่ ผู้พยายามหาวิธีการบูรณาการเรียนการสอนงานวิจัยในชุมชนสักแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับด้านจิตวิทยาพัฒนาการและการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย  จึงได้ร่วมกันทำโครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยองค์กรชุมชนตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่"

เมื่อเข้าสู่กระบวนการวิจัย อ.เยี่ยมลักษณ์ ทีมนักศึกษา พ่อสมบูรณ์ คุณบุญศรี คุณอินทัน และคุณกันต์ฤทัย ร่วมเป็นทีมวิจัย ใช้แนวทางการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กท้าวบุญเรืองตามภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนาเป็นสำคัญ    ขั้นตอนต่อมาคือ นักศึกษาเข้าไปช่วยสืบค้นหาว่าใครบ้างมีภูมิปัญญาการเลี้ยงดูเด็กในแต่ละด้าน ได้แก่ 1. ความเชื่อ/คติชาวบ้าน   2. เพลงกล่อมเด็ก   3. เจตคติและรูปแบบการเลี้ยงดูเด็ก   4. ประเพณีวัฒนธรรม   5. รูปแบบปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวในวิถีชีวิตดั้งเดิม   6. การละเล่นพื้นบ้านสำหรับเด็ก   7. นิทานพื้นบ้านสำหรับเด็ก   8. สื่อเด็ก 

"ด้านการบริหารจัดการ" เป็นอีกเรื่องที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน จนได้รูปแบบการบริหารแบบคณะกรรมการ มีการแบ่งบทบาทและระบุหน้าที่อย่างชัดเจน เป็นฝ่ายธุรการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายเลขานุการ ฝ่ายอาคารสถานที่ ฝ่ายการเงินและพัสดุ มีการกำหนดหลักปฏิบัติร่วมกัน

หลายสิ่งหลายอย่างภายในศูนย์ฯ ดูลงตัวและเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการตามวัยทั้งส่วนสูง น้ำหนัก สติปัญญา เป็นเด็กช่างสังเกต ช่างซักถาม สุขภาพจิตดี เชื่อมั่นในตนเอง ร่าเริง แจ่มใส มีความสามารถในการปรับตัว เชื่อฟัง และเคารพในกติกา

ผู้ปกครองสบายใจ สบายกระเป๋า ด้วยคุณภาพการเลี้ยงดูที่ไม่ต่างจากที่อื่น

คุณแม่ไม่ต้องตื่อนแต่เช้ามืดเพื่อแต่งตัวให้ลูก ไม่ต้องเสียค่ารถรับ-ส่งลูก ค่าเล่าเรียนก็แสนประหยัด เพียง 200 - 250 บาทต่อเดือนเท่านั้น

ด้วยคุณค่าที่ผู้คนเริ่มมองเห็น เกิดการบอกต่อ จากปากต่อปาก กลายเป็นความนิยม... ในแต่ละเดือนผู้ปกครองจะส่งลูกหลานเข้าไปเรียนที่ศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีนักเรียนถึง 40 คน จากเดิมมีประมาณ 10 คน ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนและสถานรับเลี้ยงเด็กในพื้นที่แข่งขันกันพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงดูเด็ก เป็นทางเลือกของผู้ปกครองและเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กในอนาคต

ผลที่เกิดขึ้นยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับ อบต.บ้านแหวน ในการที่จะรับถ่ายโอนการจัดการศึกษาโดยเฉพาะระดับปฐมวัย มีการเสวนาเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาศูนย์ฯ หลายครั้ง จนเกิดเครือข่ายศูนย์ฯ และเทศบาลหนองตองได้นำไปเป็นต้นแบบการพัฒนาศูนย์ฯ ของตนเองจนประสบความสำเร็จ

แม้ อบต. และคณะกรรมการศูนย์ฯ ชุดเดิมจะหมดวาระไป แต่รากฐานที่ดียังคงอยู่ สามารถที่จะสานต่อภารกิจได้ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย  อบต.ชุดใหม่ยังให้การสนับสนุนทุนอาหารกลางวัน การปรับปรุงอาคาร สถานที่ และทุกๆ เรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่น การสรรหาครู รวมทั้งวางแผนการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและพัฒนางานให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กในชุมชนได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มศักยภาพตลอดไป...

อ้อม สคส.

ที่มา : อบต. แนวใหม่ ใช้วิจัยนำพัฒนา จัดพิมพ์โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค  โทร. 053 944648 892662

 

หมายเลขบันทึก: 106064เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เด็กเก่า ร.ร.ท้าวบุญเรือง

ขอบคุณมากน่ะค่ะสำหรับการพัฒนาที่ดีแก่เยาวชนของโรงเรียนเล็กๆ

ที่มีคนเคยมองข้ามมาก่อน

ข้าพเจ้าเป็นเด็กเก่าที่เคยเรียนโรงเรียนบ้านท้าวบุญเรืองนี้มาก่อน

ข้าพเจ้าไม่เคยอายเลยด้วยซ้ำว่าข้าพเจ้าเคยเรียนโรงเรียนบ้านๆแห่งนี้

แต่กลับภูมิใจด้วยซ้ำที่โรงเรียนแห่งนี้ได้สร้างได้สอนให้ข้าพเจ้าเป็นคนดีใน

สังคนแห่งนี้ อยากขอบคุณผู้ที่เข้ามาช่วยพัฒนาโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้น่ะค่ะ

ขอบคุณสำหรับคุณครูทุกท่านที่เคยสั่งสอนตอนข้าพเจ้ายังเป็นเด็กวัยประถม

ขอบคุณ....ที่ให้ข้าพเจ้าได้เรียนโรงเรียนแห่งนี้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท