เพลงพื้นบ้าน วิธีการอนุรักษ์อย่างแท้จริง "จุดขายของศิลปะการแสดง"


จุดเด่น หรือจุดขายของศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้าน

วิธีการอนุรักษ์อย่างแท้จริง

จุดเด่นหรือจุดขายของศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) 

          จากตอนที่ผ่านมา 1-6 หัวเรื่องที่ผมเล่าต่อ ๆ กันมานั้น เป็นการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านอย่างแท้จริง นั่นหมายถึงการทำงานนี้จริง ๆ ทำอย่างต่อเนื่องกันมายาวนาน เรียกได้ว่าทำกิจกรรมนี้โดยไม่ต้องมีใครมากระตุ้น ไม่ต้องมีคำสั่งที่เป็นแบบแผน  แต่ไม่ว่าคุณจะทำงานใด ย่อมมีคนคอยแอบมองเราอยู่ (คอยจับตา) ทั้งที่เขาก็ทำไม่ได้แน่ ๆ แต่พยายามที่กวนน้ำให้ข่น ให้การทำงานล่าช้า หรือทำไม่ได้เสียอย่างนั้น

           ผม และน้อง ๆ อีก 2-3 คน  ต้องมานั่งปลง..... เมื่อยามที่เราเจอกัน ก็ได้แต่ปลอบใจน้อง ๆ ว่า อย่าเพิ่งเลิก ใครเขาจะว่าอย่างไร ชี้แจงไปเท่าที่จะทำได้ แล้วลองย้อนถามกลับไปบ้างว่า ตั้งแต่เกิดมา คุณเคยบ้างไหมที่จะรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเอาไว้แล้วเราก็มาเดินเครื่องกันต่อไป  แต่ถ้าวันใดมันไม่ไหวแล้ว  ก็ต้องโบกมือลา

       

           ครูชำเลือง มณีวงษ์ สร้างวงเพลงพื้นบ้านมานานกว่า 16 ปี (ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535) แต่ในความเป็นจริงผมเริ่มทำงานนี้มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2526 เพราะปัญหาอุปสรรคมากมายทำให้ต้องใช้เวลาสร้างสมความเข้าใจถึง 10 ปี  ผมสร้างเยาวชนเพลงพื้นบ้านมา มากกว่า 100 คน เฉพาะที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  ส่วนที่อื่น ๆ นับจำนวน 2,000 คน โดยยึดถือความถูกต้องตามที่ได้ร่ำเรียนมาจากครูเพลงในอำเภอดอนเจดีย์ และอำเภอใกล้เคียง โดยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิมๆ เอาไว้ให้มากที่สุด และรับงานแสดงทั่วไป เด็ก ๆ แสดงได้ครั้งละ 3-4 ชั่วโมง เล่นได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบหน่วยการแสดงนั้น 

          ครูพิสูจน์  ใจเที่ยงกุล โรงเรียนบางลี่วิทยา อำเภอสองพี่น้อง  ท่านเริ่มต้นเอาจริงเอาจังกับการอนุรักษ์สืบสานเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี และน่าเชื่อถือว่าคงทำไปอีกยาวนานแน่ เพราะน้องเขามีพลังในการทำงาน เป็นคนมุ่งมั่น ตั้งใจจริง หนักเอาเบาสู้ไม่ถอย เอกลักษณ์ของเขาคือ  พึ่งตนเอง ทำได้เองทั้งหมด แม้ว่าบางอย่าง ครูพิสูจน์ เขาทำไม่ได้ หรือทำไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในความกล้าที่จะทำออกมาก่อน แล้วค่อยปรับปรุงเอาทีหลัง (เยี่ยมมาก)

           ครูนารินทร์ และครูสุวรรณา แจ่มจิตต์ คู่นี้ไปด้วยกัน 2 คน เขามีใจตรงกัน ร่วมสานต่อเพลงพื้นบ้าน เริ่มต้นที่เพลงอีแซวเมื่อปี พ.ศ. 2545 หรืออาจจะก่อนหน้านี้ แต่ว่าท่านเริ่ม ต้นที่โรงเรียนสระยายโสมวิทยา อำเภออู่ทอง  ต่อมาครูนารินทร์ ย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย ก็จับงานที่ตนเองรัก คือ การสืบสานเพลงพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณบุรี อย่างแท้ จริง มีวงเพลงออกแสดงรับงาน รับใช้สังคมได้อย่างน่าภาคภูมิใจ แม้ว่าชั่วโมงทำงานยังน้อย แต่ความสามารถน้อง 2 คน เขามีมากพอที่นำพาวงเพลงอีแซวของอู่ทองศึกษาลัยไปได้ไกล

           ที่ผมกล่าวมาทั้ง 3 โรงเรียน มีความผูกพันและร่วมงานกันมาอย่างต่อเนื่อง มองเห็น ความยั่งยืนในการอนุรักษ์เพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านของสุพรรณอย่างจริงจัง  จะเป็นของจริงหรือไม่ มีสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ไม่ต้องสำรวจปัญหาให้เสียเวลา) คือ

          1. มีการฝึกหัดผู้แสดงทดแทนคนที่จบการศึกษาไป อย่างต่อเนื่อง และทันเวลา

          2. มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้สถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง

          3. มีงานแสดงในระดับที่สูงขึ้น ๆ จากระดับท้องถิ่น สู่ระดับจังหวัด สู่ระดับประเทศ

          4. มีองค์กร ส่วนราชการ สังคมเรียกร้อง ขอเชิญ จ้างวาน หาไปแสดงเป็นอาชีพ

          5. มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของวง หรือมีจุดขาย ที่เป็นลักษณ์โดดเด่น เรียกคนดูได้

           ในบางสถานศึกษาพบว่า เคยก่อตั้งวงเพลงอีแซว หรือ เพลงพื้นบ้าน แต่ทำได้เพียงระยะเดียวก็ล้มเลิกไป เพราะไม่มีเด็กมาเล่น ในบางทีก็มัวแต่มุ่งสร้างรางวัลจนลืมนึกถึงคุณค่าของตัวเอง  หากผลงานการแสดงของนักเรียนได้รับรางวัลมากมายมหาศาล ประกาศชื่อเสียงได้ก้องฟ้า  แต่เมื่อทำการแสดงเรียกหาคนมาดูไม่ได้  แล้วจะตอบคำถามข้อสงสัยได้อย่างไรว่า รางวัลที่ท่านได้ มันบ่งบอกถึงอะไรได้บ้าง นอกเสียจากตั้งเอาไว้โชว์แต่ว่าถ้ามีรางวัล และนำเสนอผลงานแล้วเรียกคนดูได้บ้าง ก็นับว่าเยี่ยมยอดแล้วครับ เพราะว่าเพลงพื้นบ้านหลาย ๆ ชนิด หมดไปจากความนิยมและความทรงจำของผู้คนไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะลงทุนขนาดไหน ก็ไม่คุ้มที่จะนำกลับมา  นอกเสียจากนาน ๆ ที มีผู้สนใจก็เรียกร้องมา จะทำให้ดูแบบของเก่ากันเลยครับ ในส่วนของเพลงอีแซว ผมว่ายังอยู่ได้อีกนาน เพราะเพลงอีแซว เป็นศิลปะการแสดงที่สามารถสื่อสารเรื่องราวได้ดี รวดเร็ว ตรงไปตรงมา น่าติดตาม

        

 จุดเด่นหรือจุดขายของศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน)  

         ผมเคยเล่าถึงความสามารถในการค้นหาความสำเร็จเรื่องนี้มาบ้าง ในคำหลักและบล็อกอื่น ๆ แต่ในบล็อกนี้ ผมขอนำเอาจุดที่มองเห็นความสำเร็จบางส่วนเอามานำเสนอนะครับ ซึ่งมันอาจจะเป็นเพียงเทคนิค หรือวิธีการหนึ่งเท่านั้นที่ได้ทำไปแล้วประสบผลสำเร็จส่งกลับมา ทำให้มีความยั่งยืนในวงการแสดง และมีงานการแสดงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด  จุดขายของวงเพลงอีแซว (เพลงพื้นบ้าน) โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 คือ

           1. มีผู้แสดงรับช่วงต่อกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ความสามารถด้อยกว่ารุ่นพี่ ๆ ก็ตาม

          2. มีบทเพลงที่เขียนขึ้นใหม่ทันเหตุการณ์ กระตุกอารมณ์ ผู้ชมให้อยู่ในความสนใจได้

          3. มีการอนุรักษ์ เสื้อผ้าชุดการแสดงแบบดั้งเดิม (ประยุกต์บ้าง) นุ่งโจงกระเบนทั้งวง

          4. มีการฝึกหัดอย่างต่อเนื่อง อย่างหนัก เน้นที่บทบาท อารมณ์ มากว่าการร้องรำโชว์

          5. มีครูผู้สอน เป็นผู้นำในการแสดง ร้อง รำ เล่นตลกร่วมกับนักเรียนทุกงานที่มีเวลาพอ

            บนเวทีการแสดงจริง ๆ เด็ก ๆ ต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณมากครับ (เล่นนอกบทบ้าง) ถ้ามัวเดินตามบท อย่างคำพระท่านว่า เทศน์จนหมดผูกผู้ฟัง ผู้ชมหายไปหมดแล้ว ไม่มีคนอยู่ฟังเทศน์ เช่นเดียวกัน ถ้ามัวยึดบทร้อง มัวตั้งใจรำอยู่ ต่อให้ฝึกมาดีแค่ไหน มันก็คือความเป็นพื้น ๆ ธรรมดา หาดูที่ไหนก็ได้ เหมือนอย่างการบรรเลงดนตรี (บางชนิด) คนดูคนฟังคนให้ความ สนใจน้อย แต่ดนตรีบางชนิด ทำไมคนดูแห่กันเข้าไปชมมากมายขนาดนั้น แต่เพลงพื้นบ้าน ไม่โลดโผน อย่าง วงดนตรี ผมขอแค่เพียงพอมีคนดูให้ความกรุณาสนับสนุนบ้าง วงเพลงก็พออยู่ได้ คนทำวงก็มีกำลังใจ มีเวลาที่จะคิด สร้างสรรค์สิ่งที่ดี มานำเสนอ ให้คุ้มกับที่ท่าน เสียเวลา เสียเงินทอง และที่สำคัญยิ่งก็คือ ผู้ชมจะต้องได้รับความรู้สึกดี ๆ  มีความรัก ความศรัทธา  มีความสนุกสนาน มีคติสอนใจ ได้รับประโยชน์ และมีความซาบซึ้ง เมื่อได้ฟังบทร้องจาก ที่แสดงพลังแห่งความคิดแท้ ๆ ออกมาสร้างความสะเทือนอารมณ์จนกลั้นน้ำตาไม่ไหว 

        เอ๊ย.. ศิลปะ พื้นบ้าน      นับวัน  จะร่วงโรย

 

      ขาด  ยาหอม                  คนโปรย  กลีบดอกไม้

 

      ไม่มีมะลิ   ดอกรัก            ร้อยมาจาก  หัวใจท่าน

 

      ไม่มีแม่ยก  ให้รางวัล         คอยปลอบขวัญ  ตอนร้องไห้

 

      ไม่มีคนดู  มาจับมือ           ยื่นมาขอ ถือแขน เอ๊ย. ขอถือแขน

 

      เพลงอีแซว  ยังโลดแล่น     อยู่ต่างแดน  ศิวิไลซ์ เอ๊ย ศิวิไลซ์

  <p style="margin: 0cm 0cm 0pt; line-height: 60%; tab-stops: 21.3pt 148.85pt" class="MsoNormal">         เอ๊ย.. เพลงอีแซว ยังโลดแล่น  อยู่ในแดน   ศิวิไลซ์</p>   <p style="margin: 0cm 0cm 0pt; line-height: 60%; tab-stops: 21.3pt 148.85pt" class="MsoNormal">       รับพระพร  สัพพี               หลังจากที่  เอวัง  เอ๊ย. ที่เอวัง</p> <p style="margin: 0cm 0cm 0pt; line-height: 60%; tab-stops: 21.3pt 148.85pt" class="MsoNormal"></p>       เสียงสวดมนต์  ยังแว่วดัง     เสียงระฆัง  หัวใจ เอ๊ย. ระฆังใจ <p style="margin: 0cm 0cm 0pt; line-height: 80%; tab-stops: 21.3pt 148.85pt" class="MsoNormal">     </p> <p style="margin: 0cm 0cm 0pt; line-height: 80%; tab-stops: 21.3pt 148.85pt" class="MsoNormal"></p>

ชำเลือง  มณีวงษ์ / ครูผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม (รางวัลราชมงคลสรรเสริญ) ปี 2547

 

หมายเลขบันทึก: 105989เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท