อริยมรรค2


การสดับฟังอย่างศึกษาใฝ่รู้ คือการสดับฟังอย่างทำความเข้าใจ หรือที่เรียกกันว่า การสดับฟังอย่างสะท้อนกลับ โดยใช้การไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด เป็นการบอกกัลยาณมิตรผู้ให้ความรู้ รู้ว่าเราตั้งใจสดับ

กัลยาณมิตร

มิตรที่ดีงาม มีความปรารถนาดี มุ่งประโยชน์เกื้อกูล มีคุณสมบัติที่จะแนะนำ ชี้แจงและเป็นแบบอย่างที่ดีงามเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยบุคคล พ่อแม่ ครูอาจารย์ รวมตลอดถึงสื่อต่างๆที่ดีงาม

ผู้มีกัลยาณมิตรจึงสามารถพัฒนาให้เกิดความรู้ชอบได้ไม่ยากเย็นนัก เพียงแต่ต้องเข้าไปหากัลยาณมิตร เฝ้าสังเกตและสดับฟังอย่างตั้งใจ มีความใฝ่รู้ สอบสวนทวนถามและจดจำใส่ใจ

การสดับฟังอย่างศึกษาใฝ่รู้ คือการสดับฟังอย่างทำความเข้าใจ หรือที่เรียกกันว่า การสดับฟังอย่างสะท้อนกลับ โดยใช้การไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด เป็นการบอกกัลยาณมิตรผู้ให้ความรู้ รู้ว่าเราตั้งใจสดับ

กัลยาณมิตรผู้ให้ความรู้ก็จะเฝ้าสังเกตการณ์การสะท้อนกลับของเรา เพื่อจะกำหนดท่าทีว่าควรจะแนะนำต่อไปหรือว่าไม่ เมื่อเห็นอาการสะท้อนกลับเชิงบวก คือความตั้งใจใฝ่ศึกษา ท่านก็อาศัยความกรุณาแนะนำสุดความสามารถ

กัลยาณมิตรจึงมีความจำเป็นสำหรับผู้มีปัญญาน้อย ไม่สามารถใคร่ควญด้วยปัญญาของตนได้

ครั้งหนึ่ง พระอานนท์กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า กัลยาณมิตรเป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ทีเดียว พระพุทธเจ้าตรัสว่า อานนท์ เธออย่าได้กล่าวเช่นนั้น อานนท์ เธออย่าได้กล่าวเช่นนั้น กัลยาณมิตร กัลยาณสหาย กัลยาณพวกเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว

โยนิโสมนสิการ

คำว่า โยนิโสมนสิการ มาจากคำว่า โยนิโสและมนสิการ โยนิโส แปลว่า โดยองค์กำเนิด โดยต้นเหตุ ส่วนคำว่า มนสิการ แปลว่ากระทำไว้ในใจ รวมความแล้วจึงแปลว่า การกระทำในใจโดยแยบคาย หารพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การสอบสวนถึงต้นเหตุ หมายถึงการฉลาดคิด ซึ่งท่านกล่าววิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ 4 วิธีคือ การคิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดเฉียบด้วยเหตุผล คิดค้นหาแก่น

คิดถูกวิธี ศัพท์ศาสนาเรียกว่า อุปายะมนสิการ แปลว่า คิดโดยอุบาย ทำในใจแยบยล คือการคิดค้นที่สอดคล้องประสานกลมกลืนกับเรื่องที่กำลังศึกษาหรือปฏิบัติ เพราะถ้าคิดไม่เป็นเห็นไม่ชัดก็ปฏิบัติไม่ถูก ปลูกไม่ติด คือไม่สามารถบรรลุจุดหมายได้ แต่ถ้าคิดเป็นเห็นชัด ก็ปฏิบัติถูกปลูกติดแล้ว จิตก็เบิกบาน

คิดมีระบบ ศัพท์ศาสนาเรียกว่า ปถมนสิการ แปลว่ากระทำไว้ในใจถูกทาง คือ การคิดพุ่งเข้าหาเรื่องที่กำลังศึกษาปฏิบัติ จัดกรอบความคิดให้กระชับ ปรับเข้าสู่ประเด็นให้มองเห็นชัด ไม่ด่วนตัดสินใจ ค่อยๆคิดไปทีละขั้นตอน

คิดสบเหตุผล ศัพท์ศาสนาเรียกว่า การณมนสิการ แปลว่า กระทำไว้ในใจโดยเหตุ(ผล)คือ การคิดอย่างมีเหตุผลรองรับ ถ้าทำอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร ผลอย่างนี้เกิดมาจากสาเหตุอะไร

คิดค้นหาแก่น ศัพท์ศาสนาเรียกว่า อุปปาทกมนสิการ แปลว่า กระทำไว้ในใจให้เกิด(ข้อสรุป)คือ คิดหาข้อสรุปให้ปฏิบัติได้ง่าย การวิเคราะห์ก็เพื่อหาข้อสรุปว่า เรื่องนี้เราจะเอาอย่างไรจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อจะได้สะดวกในการปฏิบัติ

กล่าวโดยรวบยอด ความรู้ชอบคือรู้ชัดถึงจุดมุ่งหมาย คือมีกรอบความคิดที่ชัดเจนในเรื่องนั้นๆ กรอบความคิดนี้เองที่ทำให้ตื่นตัว ว่องไว ก้าวหน้า คือตื่นตัวในประโยชน์ของตน ว่องไวกระฉับกระเฉงเข้าสู้งาน และอาศัยความรู้ชอบพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้า

ดังนั้น เมื่อมีความรู้ชอบจึงเป็นเหตุให้มีความดำริชอบเป็นต้นติดตามมา
คำสำคัญ (Tags): #อริยมรรค
หมายเลขบันทึก: 105984เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท