ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล
ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

รัฐธรรมนูญใหม่ควรจะต่างรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างไร


รัฐธรรมนูญใหม่ควรจะต่างรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างไร 

วิทยากร  เชียงกูล วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 

      เนื่องจากคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีที่มาที่มีข้อจำกัดและมีเวลาที่จำกัดจึง ควรจะนำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้นกว่าเดิมพอสมควร ไม่ถึงกับต้องให้สมบูรณ์หรือดีเลิศ ส่วนที่ดีหรือพอใช้ได้อยู่แล้ว น่าจะปล่อยไว้หรือเรียบเรียงใหม่ให้สั้นกระชับอ่านเข้าใจง่าย ไม่เยิ่นเย้อยืดยาวมากเกินไป และข้อสำคัญ คือ ควรเขียนมาตราเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไปให้แก้ไขได้ง่ายขึ้น จะได้ไม่เจอทางตัน จนต้องมีการทำรัฐประหาร เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่กันอีก

      รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีอยู่ 12 หมวด 5 หมวดแรกว่าด้วยบททั่วไป พระมหากษัตริย์ สิทธิเสรีภาพ หน้าที่ชุมชน แนวนโยบาย ถิ่นฐานแห่งรัฐ อาจปรับแก้เพียงบางประเด็น เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ชุมชน น่าจะตัดคำว่า “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออก เพราะรัฐธรรมนูญควรสำคัญกว่ากฏหมายอื่น  และควรกำหนดให้มีการออกกฎหมายประกอบภายใน 1-2 ปี ถ้ารัฐบาลไม่ทำตาม  ให้ประชาชนมีสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ได้เลย  หรือสามารถฟ้องค่าเสียหายจากรัฐบาลได้

      หมวดที่จะต้องใช้เวลาอภิปรายแก้ไขมากหน่อย คือ หมวดว่าด้วยรัฐสภา คณะรัฐมนตรี การปกครองส่วนท้องถิ่น และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (เรื่ององค์กรอิสระต่างๆ)

      ที่มาของ สส. การเลือกแบ่งเขตแบบเดิม ก็พอใช้ได้ แต่การเลือก สส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน น่าเปลี่ยนเป็น สส. แบบสัดส่วน 100 คน แทน  โดยนับจากคะแนนของ สส. ที่แพ้ในแบบแบ่งเขต แล้วรวมคะแนนผู้แพ้แต่ละพรรคเป็นคะแนนรวมทั่วประเทศ  มาคิดเป็น สส. แบบสัดส่วนให้แต่ละพรรคตามเปอร์เซนต์ เช่น พรรคไหนได้ 30% ก็ได้ สส. 30 คน พรรคไหนได้ 1% ก็ได้ 1 คน โดยแต่ละพรรคจัดลำดับบัญชีรายชื่อตามคะแนน(คิดเป็นเปอร์เซนต์) ที่ผู้แพ้ได้รับในแต่ละเขต

      วิธีนี้จะทำให้ได้จำนวน สส. จากพรรคต่างๆ เป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับสัดส่วนของคะแนนทั้งหมดที่พรรคได้รับ คะแนนทุกคะแนนของประชาชนจะมีความหมาย จะทำให้มีสส.พรรคฝ่ายค้านพอสมควร การแข่งขันในแต่ละเขตจะไม่ดุเดือดแบบผู้ชนะได้หมด ผู้แพ้เสียหมด พรรคเล็กๆ ก็มีโอกาสได้ สส. ประชาชนทุกภาคทุกกลุ่มมีโอกาสมีผู้แทนของตน

      ถ้าจะกำหนดให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคอยู่ในบัญชีแบบสัดส่วนลำดับ 1- 5 ก็ทำได้ แต่ควรยกเลิกเรื่องการเป็นรัฐมนตรีแล้วต้องพ้นจาก สส. ควรให้เป็น สส. ต่อไป นายกฯและรมต. ที่เป็น สส. จะได้สนใจรับผิดชอบต่อสภาด้วย และจะได้ไม่ยุ่งยากเรื่องต้องเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกคนได้คะแนนรองขึ้นมาแทน

      นายกฯน่าจะมาจาก สส. แต่ ครม. อาจจะมาจากคนนอกได้ การเลือกนายกฯให้ สส. โหวตได้อย่างเสรี รวมทั้งกฎหมายสำคัญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีก็ให้ สส. โหวตได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกขับออกจากพรรค ถ้าหากโหวตขัดกับพรรค เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอิสระ ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ สส. จะถูกขับออกจากพรรคก็เฉพาะกรณีทุจริต ประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง

      ที่มาของ สว. อาจจะแบ่งเป็นการเลือกตั้งทางตรงครึ่งหนึ่ง และเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มอาชีพ สมาคมองค์กรต่างๆ อีกครึ่งหนึ่ง แต่ก็ต้องออกกติกาให้รัดกุม เพราะการเลือกตั้งทางอ้อม เช่น เลือก สส.ร และเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม  ก็ยังมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อล้อบบี้กันแบบเล่นพวกได้

      วิธีที่จะกันไม่ให้นักการเมืองมาสมัคร สว. คือ ควรห้ามผู้เคยเป็น สส. อบจ. และเคยลงสมัคร สส. อบจ. มาสมัคร สว. และห้ามคนที่เป็น สว. กลับไปสมัคร สส. และอบจ.เพื่อแยกกันให้ชัดเจน คนที่เคยถูกพิพากษาเรื่องฉ้อโกงหรือเรื่องใดก็ตาม ก็ควรถูกห้ามสมัครสส. และสว.

      การหาเสียงเลือกตั้ง  ควรมีกฎหมายคุมเข้มเรื่องขนาดป้ายโปสเตอร์และการใช้สื่ออื่นๆ ให้มีขนาดเดียวกันเพื่อให้เป็นธรรม ต้องสร้างกกต. ที่เป็นกลางและเข้มแข็ง  ตรวจสอบและลงโทษผู้ซื้อเสียงและหัวคะแนนอย่างจริงจัง เช่น ทั้งตัดสิทธิ ทั้งปรับ และจำคุก  แก้กฏหมายให้สามารถใช้การอัดเทป และการถ่ายวิดีโอเป็นหลักฐานผูกมัดการซื้อเสียงได้ ฯลฯ

      เรื่ององค์กรอิสระ ควรเปลี่ยนวิธีการสรรหา และคัดเลือกคณะกรรมการองค์กรอิสระใหม่ ไม่ให้พรรคการเมืองแทรกแซงได้ และควรเปิดกว้างให้คนจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการองค์กรอิสระได้ แทนที่จะเน้นคุณสมบัติประเภทเปิดให้เฉพาะข้าราชการระดับสูง และควรเพิ่มองค์กรอิสระด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค, คุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร และคุ้มครองการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม

      บางองค์กร เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ควรเปลี่ยนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยให้ทางฝ่ายตุลาการเลือกกันเอง รวมทั้ง กกต. ก็น่าจะให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น

      ควรจะให้องค์กรอิสระ เช่น ปปช. มีงบประมาณและกำลังคน  รวมทั้งอำนาจที่จะช่วยให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น องค์กรอื่น เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็เช่นกัน ควรให้มีบทบาทเพิ่มขึ้น เช่น เป็นตัวแทนประชาชนช่วยยื่นเรื่องฟ้องร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

      รัฐควรให้ทั้งสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมโอกาสในการทำงานขององค์กรภาคประชาชน และสื่อมวลชนเพิ่มขึ้น ให้ประชาชนเสนอกฎหมาย  ฟ้องร้อง คัดค้าน ถอดถอนนักการเมืองตลอดจนเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น เช่น ลดจำนวน 5 หมื่นชื่อลงมา , ให้ยื่นประชาชนฟ้องตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านองค์กรอื่น

      ลดอำนาจส่วนกลาง โดยเฉพาะมหาดไทย ตำรวจ ลงกระจายอำนาจ ทรัพยากร บุคคลากรด้านการบริหารสู่ประชาชนในท้องถิ่นโดยตรงเพิ่มขึ้น โดยใช้รูปแบบที่หลากหลาย พัฒนาระบบการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและโปร่งใส  เป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่นจริงๆ  ส่งเสริมให้สังคมพลเรือนเข้มแข็งขึ้น

      ประเด็นสำคัญ คือ ควรร่างรัฐธรรมนูญให้มีเนื้อหาที่ก้าวหน้าเอื้อประโยชน์ประชาชนมากกว่าปี 2540 คณะยกร่างรัฐธรรมนูญควรฟังเสียงประชาชนให้มาก ลอมชอมในประเด็นใหญ่ๆ ที่ประชาชนพอรับได้ และเผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนทราบ  จะช่วยให้ประชาชนไปลงมติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ และเป็นวิธีการปฎิรูปการเมืองที่ก้าวไปทีละขั้นตอน  ดีกว่าที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาขัดแย้งหลายประเด็นมาก  จนประชาชนส่วนใหญ่อาจลงคะแนนไม่เห็นชอบ และทำให้ คมช. และรัฐบาลต้องหยิบเอารัฐธรรมนูญเก่ามาปรับแก้เอง

      หากร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาที่ทำให้ประชาชนลงประชามติไม่เห็นชอบ  จะยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญของเขา ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และทำให้กลุ่มอำนาจเก่าฉวยโอกาสปลุกระดมประชาชนให้ประเทศเกิดขัดแย้งแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง โอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่ใช้ได้พอสมควร  ก็อาจจะมีอุปสรรคอีก

      ประชาชนกลุ่มต่างๆ อาจมีความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญแตกต่างกันได้เป็นธรรมดา แต่ถ้าเปิดเวทีให้กว้างขวาง  ให้ประชาชนมีโอกาสอภิปรายกันด้วยเหตุผลและข้อมูลมากกว่าการใช้อารมณ์ และพยายามตกลงตามเสียงส่วนใหญ่และหรือลอมชอมกันในประเด็นที่คนส่วนใหญ่พอรับได้       ก็น่าจะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่พอใช้ได้ ที่อาจจะค่อยมาแก้ไขได้ภายหลัง ดีกว่าการหวังผลเลิศ ต่างฝ่ายต่างถกเถียงเอาชนะกันแบบเอาเป็นเอาตายว่าต้องเป็นรัฐธรรมนูญแบบนั้นแบบนี้ จนอาจจะทำให้เกิดความแตกแยกเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง ที่นำไปสู่ความสับสนวุ่นวายทางการเมือง  และการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกได้ 

      ปัญหาสำคัญคือสังคมไทยอยู่ในสถานการณ์ที่มีปัญหาความขัดแย้งซับซ้อนหลายฝ่าย แต่ยังมีกลุ่มที่เห็นแก่ผลประโยชน์หรือชอบคิดง่ายๆ แบบ 2 ขั้วอย่างสุดโต่ง ทั้งคมช.และรัฐบาล              (สุรยุทธ์) ก็มีขีดความเข้าใจปัญหาและความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่จำกัด  ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า ถ้าประชาชนรู้เท่าทันปัญหา รู้เท่าทันทุกฝ่าย และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปแบบสันติวิธีอย่างมีจังหวะก้าว เช่น ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่ดีขึ้นเพื่อหาทางปฏิรูปการเมืองขั้นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 105134เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท