สอนมือใหม่ เดือนธันวาคม 48 (ตอนที่ 3)


เราต้องทำงานไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง ต้องให้กำลังใจกัน และควรมีความภาคภูมิใจในงานที่เราได้ทำ และต้องเข้าถึงเกษตรกร ไม่ละทิ้งงาน งานส่งเสริมการเกษตรจึงจะนำเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

          การสอนงานมือใหม่ได้บันทึกมาแล้ว 2 ตอน  คือ ตอนที่ 1 กระบวนการในการสอนงานทั้งหมด และ ตอนที่ 2 เป็นบันทึกเรื่องเล่าของคุณเชิงชาย  เรือนคำปา ตอนที่ 3 นี้ เป็นบันทึกเรื่องเล่าของคุณรังสรรค์  เลิศสูงเนิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 ว สำนักงานเกษตรอำเภอไทรงาม  เลขาณุการคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลมหาชัย  เชิญอ่านได้เลยครับ

          ตอนที่ 3 เรื่องเล่าของคุณรังสรรค์  เลิศสูงเนิน  เกี่ยวกับการทำงานส่งเสริมการเกษตรภายใต้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลมหาชัย

          คุณรังสรรค์  เลิศสูงเนิน มีประสบการณ์ในการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่มา 21 ปี เคยได้รับทุนไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 9 เดือน ประสบความสำเร็จในการทำงานในอาชีพนักส่งเสริมการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง เมื่อปี 2546 ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น โดยได้รับรางวัลครุฑทองคำ จาก พณฯ นายกรัฐมนตรี  และล่าสุดศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลมหาชัย อำเภอไทรงาม ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ในการประกวดศูนย์ฯ ในปี 2548 ของจังหวัดกำแพงเพชร

                                   

          คุณรังสรรค์ ได้เล่าให้น้องๆ ฟังว่า ในการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่นั้น ขั้นแรกนั้นตัวนักส่งเสริมเองจะต้องสร้างศรัทธา โดยทุ่มเทการทำงานให้ชุมชนเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวนักส่งเสริม  อีกทั้งยังต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการทำงาน และสร้างความร่วมมือให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน

          นอกจากนี้แล้ว ยังได้เล่าถึงหลักในการทำงานของศูนย์ฯ ตำบลมหาชัย 9 ข้อ ที่ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ คือ

          1. มีอุดมการณ์ร่วมกัน คณะกรรมการทุกคนต้องมาทำงานด้วยใจ

          2. ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อตกลง และมีความรับผิดชอบที่ดีต่อกัน

          3. มีน้ำใจช่วยเหลือ เสียสละเพื่อชุมชน ทำเพื่อส่วนรวม

          4. รู้บทบาทหน้าที่ เข้าใจในงานที่ทำเป็นอย่างดี

          5. ทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

          6. มีการแบ่งงาน และมีการสื่อสารกัน

          7. ถือว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องปกติ และหาข้อยุติในที่ประชุม

          8. เน้นการทำงานเป็นทีม และให้ความร่วมมือ

          9. การทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้

          ข้อคิดหรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในการทำงานภายใต้ศูนย์ฯ

  • การมีส่วนร่วมของชุมชน ร่วมคิด ร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา
  • ชุมชนมีความเข้าใจบทบาทหน้าทีของศูนย์ฯ
  • คณะกรรมการต้องให้ความร่วมมือ ฯลฯ

         และสุดท้ายคุณรังสรรค์ ได้เล่าทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า การทำงานส่งเสริมการเกษตรนั้น  เราต้องทำงานไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง  ต้องให้กำลังใจกัน และควรมีความภาคภูมิใจในงานที่เราได้ทำ  และต้องเข้าถึงเกษตรกร ไม่ละทิ้งงาน งานส่งเสริมการเกษตรจึงจะนำเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

วีรยุทธ  สมป่าสัก 

 

หมายเลขบันทึก: 10356เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2005 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบใจมากที่นำของดี ๆมาถ่ายทอดให้รู้

เยี่ยมมาก ๆ เลยครับ สำหรับคุณรังสรรค์ เลิศสูงเนิน นักส่งเสริมเกษตรที่มีผลงานดีเด่น และต้องขอแสดงความดีใจด้วยครับที่ได้กลับถิ่นเดิมเมืองกล้วยไข่ ในตำแหน่ง เกษตรอำำเภอปางศิลาทอง เยี่่ยมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท