การพัฒนาครูเพื่อติวเข้มเรื่องการทำผลงานวิชาการของครู ตรงกับเจตนารมย์ของ ก.คศ.หรือไม่


     ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศต่างจัดอบรมพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ส่ง วฐ.1 เพื่อรับการประเมินเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามมาตรา 80 ที่ ก.ค.ศ.กำหนด กันทั่วประเทศ โรงเรียนหลายแห่งต้องหยุดการเรียนการสอน ต่างส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนกันถ้วนหน้า
         และการจัดอบรมตามหลักสูตรพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ ก.ค.ศ.กำหนดดังกล่าวกลับเป็น
หลักสูตรที่มุ่งอบรมการทำผลงานวิชาการมากกว่าการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งหลังจากผ่านการประเมินเลื่อนวิทยฐานะแล้ว ตามมาตรา 80 โดยแต่ละ สพท.ต่างติวเข้มเพื่อช่วยครูฯเรื่องการทำผลงานทางวิชาการกันยกใหญ่
        ด้วยเหตุนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาทบทวนปัญหาเรื่องนี้ขึ้น ที่
โรงแรมรอยัล ริเวอร์ เพื่อพิจารณาเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไข ซึ่งผลการประชุมระดมความคิดก็ได้ข้อสรุปโดยสังเขปในแต่ละประเด็นดังนี้
หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนา
1. ควรปฏิรูปหลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการพัฒนาฯ โดยให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการแล้วจึงเข้ารับการพัฒนาฯ เมื่อผ่านการพัฒนาฯ แล้วจึงแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ ทั้งนี้รัฐควรออกค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนา หากเป็นการพัฒนานอกเหนือจากนี้ ให้ผู้เข้ารับการพัฒนารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
2. ควรพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาฯ ให้เป็นไปตามมาตรา 80 คือ การพัฒนาก่อนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หรือพัฒนาเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ เป็นการพัฒนาเพื่อให้พร้อมหรือมีความสามารถที่จะปฏิบัติงานในตำแหน่งหรือวิทยฐานะที่จะได้รับการแต่งตั้ง ไม่ใช่เป็นการพัฒนาเพื่อเอาความรู้มาทำผลงานทางวิชาการ ดังนั้นผู้ที่จะเข้ารับการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาฯ นี้จึงต้องผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการมาแล้ว

หลักสูตรพัฒนา

1. หลักสูตรพัฒนาฯควรแยกตามตำแหน่งและวิทยฐานะ แต่ไม่ควรแยกตามสาขาวิชา
2. หลักสูตรพัฒนาฯให้มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญควรเป็นหลักสูตรต่อยอดจากวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
3. ก.ค.ศ. ควรกำหนดกรอบหลักสูตรกลาง ส่วนรายละเอียดหลักสูตรควรเปิดโอกาส
ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือส่วนราชการกำหนด
4.
ให้มีคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการมีหน้าที่วางแผนการพัฒนา เพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนาฯแต่ละรุ่นได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน
5.
การพัฒนาฯ ควรยึดหลักความยืดหยุ่น และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงาน คุณภาพผู้เรียน และคุณภาพองค์กรเป็นสำคัญ ไม่ควรยึดหลักการพัฒนาเพื่อให้
มีความสามารถในการเลื่อนวิทยฐานะเป็นตัวตั้ง
6.
หลักสูตรพัฒนาฯอาจให้มีการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์
7.
สาระการพัฒนา ควรมาจากการสำรวจความต้องการของผู้เข้ารับการพัฒนา ควรให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการมีส่วนร่วมในการหาความต้องการจากผู้เข้ารับการพัฒนาด้วย
8.
สาระการพัฒนาบางเรื่องอาจให้ผู้เข้ารับการพัฒนาศึกษาด้วยตนเอง เช่น มาตรฐานตำแหน่ง มาตรฐานวิทยฐานะ โดยห้ามบรรยายสรุปในห้องฝึกอบรม และสาระการพัฒนาบางเรื่องที่จำเป็นต้องพัฒนา ควรต้องเพิ่มเติมให้
9.
สาระการพัฒนาเรื่องคุณธรรม จริยธรรมต้องเกิดการสั่งสมในระยะยาว ซึ่งรูปแบบการพัฒนาฯมีทั้งการพัฒนาแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

การบริหารจัดการ

1. ควรมีการคัดกรองผู้ข้ารับการพัฒนาโดยให้ผู้เข้ารับการพัฒนาต้องผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการมาแล้ว
2.
ควรแบ่งช่วงเวลาการพัฒนาเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรก อาจใช้เวลา 3 เดือน (ค้นงาน) ช่วงหลัง 8 เดือน (สร้างงาน) สำหรับชำนาญการพิเศษ หรือ 3 ช่วง สำหรับเชี่ยวชาญ มีที่ปรึกษา
3.
ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาควรให้ผู้เข้ารับการพัฒนาร่วมรับผิดชอบ
4.
การพัฒนาฯ ตามหลักสูตรนี้ อาจไม่ต้องรอเข้ารับการพัฒนาจากหน่วยงานต้นสังกัด แต่ควรเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ารับการพัฒนาจากหน่วยงานอื่นได้

วิทยากร

1. ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพวิทยากร โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกวิทยากร มีการพัฒนาวิทยากร ทำบัญชีรายชื่อวิทยากร การเชิญวิทยากรต้องเชิญผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อวิทยากร
2.
วิทยากรควรมีใบอนุญาตสำหรับวิทยากร โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการคัดเลือก
        ท่านมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรครับ?

หมายเลขบันทึก: 102319เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2007 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

      ดิฉันเข้ารับการอบรมของ สพท.กทม.เขต1  รุ่น1    ที่โรงแรมปรินซ์ตันแล้ว   เสร็จสิ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาขอขอบพระคุณวิทยากรทุกท่านผ่านท่านอาจารย์ธเนศผู้เยี่ยมวรยุทธด้วยนะคะ  ทุกท่านมีความจริงจังในงาน และโอบอ้อมอารีอย่างยิ่ง     

       ดิฉันรู้สึกว่าเป็นการอบรมพัฒนาที่มีความสุข ได้รับความรู้  เพิ่มพูนจริยธรรม และพลังลึกๆที่จะพัฒนางานตนเองเพื่อลูกศิษย์ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป  ทั้งยังปรารถนาที่จะให้เพื่อนครูทุกๆคนได้รับการอยรมพัฒนาอย่างนี้ เช่นกันค่ะ

  ขอบคุณครับ  สิ่งที่ผมมุ่งหวังในการเป็นวิทยากรทุกครั้งคือ  การเพิ่มพูน ความตระหนัก ความศรัทธา ในวิชาชีพครูของเรา  เช่นเดียวกับครูใหญ่ใน วีซีดี หนังเกาหลีที่ผมฉายให้เราวิเคราะห์กันครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท