รูปแบบทฤษฎีเชิงประจักษ์ : 2


ทฤษฎีแบบแข็งจะมีทั้งรูปแบบ และเนื้อหา

      y = x + 3

สมการนี้มีแต่ รูปแบบ(Form) ไม่มีความหมายเกี่ยวกับโลกรอบข้าง  เรียกว่า ไม่มีเนื้อหา(Content)แต่ถ้าผมใส่ความหมายเกี่ยวกับโลกจริงเข้าไปว่า  y : รายได้, x : เงินลงทุน, แล้ว ประโยคสัญลักขณ์นั้นก็มีเนื้อหา และมีความหมายเกี่ยวกับโลกจริงขึ้นมาทันที  คือมีฐานะเป็น เชิงประจักษ์ ขึ้นมาทันที  คราวนี้มาดูกระสวนของประโยคสัญลักขณ์ต่อไปนี้บ้าง

            ถ้าให้          P1 : T-----HLI

                             P2 : HLI-----A

                             P3 : E-----A

            สรุป : จาก P1,P2,P3, จะได้ :

                             Th1 : T-----A

                             Th2 : T U E-----A

ประโยคข้างบนนี้เป็นประโยคที่ไม่มีความหมายเชิงประจักษ์  มันมีแต่รูปแบบ  ไม่มีเนื้อหา แต่ถ้าผมใส่ข้อความลงไป คือใส่เนื้อหาเชิงประจักษ์เข้าไปว่า  P : Postulate(กติกา,ข้อตกลงเบื้องต้น),  T : Time (เวลา), HLI : High Level of Intelligence (สติปัญญาระดับสูงขึ้นไป), A : Achievement (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน), E : Easy (ความง่ายของบทเรียน), Th : Theorem,Theory(ทฤษฎีบท, ทฤษฎี), และ U : Union(and/or), แล้วรูปแบบข้างบนนี้ก็จะมีเนื้อหาเชิงประจักษ์ขึ้นมาทันทีและเรียกชื่อว่า  ทฤษฎีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน(Achievement Theory) ดังนี้

ทฤษฎีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 

กติกา(P) :

      P1 : ในการเรียนรู้บทเรียนใด ๆ ถ้าให้เวลาเรียน(T) มากๆตามที่ผู้เรียนต้องการแล้ว สติปัญญาที่อยู่ ในระดับที่สูงขึ้นไป(HLI), จะแสดงกิจกรรมมากขึ้น  นั่นคือ :  T------HLI

      P2 : ถ้าสติปัญญาระดับสูงขึ้นไป(HLI)ของบุคคลใดแสดงกิจกรรมตอบสนองต่อบทเรียน  แล้วจะทำให้บุคคลนั้นมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน(A)สูงขึ้น  นั่นคือ :   HLI------A 

      P3 : ในการเรียนบทเรียนใดๆ ถ้าผู้สอนทำบทเรียนให้ง่าย(E) โดยวิธีหรือกระบวนการใดๆ  แล้ว ผูเรียนจะมีผลสัมฤทธิ์(A) จากบทเรียนนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสติปัญญาในระดับที่สูงขึ้น  นั่นคือ :  E ------ A

จาก P1 - P3 นิรนัยไปเป็น Theorem(Th) ได้ดังนี้

จาก P1 - P2 จะได้ :

                        Th1 :  T ------ A

จาก P3 - Th1 จะได้ :

                        Th2 :   T U E  ------ A

ทฤษฎีตามตัวอย่างนี้ มีทั้ง รูปแบบ และเนื้อหา  ดังนั้นจึงจัดเป็นทฤษฎีประเภทแข็ง (Strong - Form  Theory )

ขอให้สังเกตว่า  รูปแบบของทฤษฎีนี้คล้ายกับรูปแบบของการให้เหตุผลแบบนิรนัย  คือ  P1 - P3  ทำหน้าที่เป็น เงื่อนไขมาก่อน  หรือ ข้ออ้าง (Premises)  และ Th1 - Th2 เป็นผลที่ตามมา หรือผลสรุป(Conclusion)  ดังนั้น ผมจึงยืมคำทางตรรกศาสตร์มาใช้อยู่บ่อย ๆ ในบันทึกต่าง ๆ ที่ผ่านมา(นักตรรกศาสตร์ทั้งหลายไม่ว่ากันนะ  หากผมใช้ในความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากเจ้าของสาขาไปบ้าง ก็ให้ถือว่าเป็นความหมายของผมที่ผมใช้ก็แล้วกัน )

บางท่านอาจจะสงสัยว่า  ทำไมจึงเรียกกลุ่มข้อความข้างบนว่าทฤษฎี  คำตอบก็คือ  (1) ประโยคเหล่านั้นกล่าวถึงสิ่งที่สังเกตไม่ได้โดยตรง  คำเหล่านั้นได้แก่  เวลา(Time - T), ระดับของสติปัญญา(HLI), ความง่าย(E), ผลสัมฤทธิ์(A), (2) เป็นกลุมข้อความที่ อธิบาย เหตุการณ์ในธรรมชาติ คือผลสัมฤทธิ์จากการเรียนรู้บทเรียน ที่เราสามารถสังเกตได้จากคะแนนการสอบ  

ถ้าจะถามว่า ทำไมจึงเป็นทฤษฎีเชิงประจักษ์  คำตอบสั้นๆก็คือ คำกล่าวของทฤษฎีนี้เราสามารถที่จะนิรนัยไปเป็นข้อความที่สังเกตได้  เช่น  จาก Th1 ทำนายว่า  ถ้าให้บุคคลใดๆ เรียนบทเรียนใดๆ โดยให้บุคคลนั้นๆ ใช้เวลาเรียนเต็มที่ตามที่ตัวเองต้องการ  แล้ว คนที่มีสติปัญญาสูงหรือต่ำ ก็เรียนได้สำเร็จพอๆกัน.  ถ้าเราจะนำข้อความนี้ไปทดสอบด้วยวิธีการวิจัยก็ได้  และถ้าทำเช่นนี้  ข้อความนี้ก็คือ สมมติฐานของการวิจัย นั่นเอง.         

                        

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10023เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2005 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

โยม อาจารย์

อาตมาทำความเข้าใจได้ เพราะสอนตรรกศาสตร์ 5 5 5

เจริญพร

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

นมัสการพระคุณเจ้า

เพราะว่า  พระคุณเจ้าเป็นนักปรัชญา ครับ  แต่เนื่องจาก ศาสนาพุทธ มีแนวคิดสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ พระคุณเจ้าจึงได้สนใจเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ผมรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้น

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

ล้ำลึก เลื่อมใส

ขอบคุณค่ะ ครูต้อย เพิ่งกระจ่าง

หากเราสร้างบทเรียนให้กระจ่างง่าย โดยใช้เทคนิค วิธีการ กระบวนการใดก็ได้ จะสามารถช่วยให้ผู้เรียนที่ไม่จำเป็นต้องมีระดับสติปัญญาสูง ก็สามารถมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสติปัญญาสูง และถ้าให้เวลาตามที่เขาต้องการจะเรียนรู้ ใช่ตามศักยภาพไม๊ค่ะ อาจารย์ดร.เด็กที่มีสติปัญญาต่ำก็จะเรียนได้สำเร็จพอๆกับเด็กที่มีปัญญาสุง แสดงว่าเราให้ความสำคัญที่การวางแผนการจัดการเรียนรู้ ใช่ไหมค่ะ ถ้าเป็นอย่างที่ตัวเองเข้าใจ ก็จะสามาถแก้ปัญหาเด็กเรียนช้า ไม่ทันเพื่อนได้ แต่มันมีบางอย่างค่ะ หลัดสูตรมันบังคับ เราไม่อาจขอร้องให้ เขา ยืดหยุ่นเวลาเรียนรู้ให้เด็กเราได้ นอกจากครูต้องทำงานเพิ่ม ใช้เวลาหลังเลิกเรียนช่วยนำพาเด็กไปสู่จุดหมาย เอ. อ.ดร.ค่ะ รูปแบบทฤษฏีเชิงประจักษ์ นี่ขอนำไปทดลองใช้สัก 1 เดือนนะคะ รอโรงเรียนเปิด แล้วจะส่งผลให้ทราบ ขอบพระคุณค่ะ

(๑) ขอบคุณครับ คุณภาณุ

(๒) ครูต้อยเข้าใจถูกแล้วครับ

ตามทฤษฎีนี้ พยากรณ์ว่า ถ้าให้เด็กใดๆที่มีอวัยวะครบถ้วน และใช้การได้ตามปกติ และเป็นเด็กธรรมดา (ไม่เอ๋อ ฯลฯ)เรียนบทเรียนที่ง่าย และให้เวลาเต็มที่ตามที่เขาจะต้องการ แล้ว เด็กเหล่านั้นจะเรียนรู้บทเรียนได้สำเร็จพอๆกัน

(๓) ที่ว่าจะนำไปใช้นั้น ยินดีอย่างยิ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท