การพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันทางสาธารณสุข บทเรียนร่วมกันของอุทกภัยหาดใหญ่ ปี 2543: เมื่อ รพศ.หาดใหญ่ถูกน้ำท่วม


ชีวิตนับแสนคนต่างได้ร่วมทุกข์ร่วมกันแต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือเราได้เรียนรู้ร่วมกันถึงภาวะที่ต้องพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกัน

     ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงของหาดใหญ่ปลายเดือนพฤศจิกายน  2543  เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในทันทีและต่อเนื่อง หากไม่ได้ร่วมทุกข์ด้วยกันในภาวะพิบัติครั้งนี้  คงยากที่จะมีความรู้สึกร่วมกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้น  อุทกภัยครั้งนี้รุนแรงเป็น  2 เท่าของปี 2531   ย่านตลาดกิมหยงแหล่งซื้อหาของกินของใช้ที่นักท่องเที่ยวนิยมน้ำท่วม  2 – 3 เมตร  น้ำท่วมครั้งนี้ยาวนาน 3 – 7 วัน ขาดไฟฟ้าขาดน้ำกินน้ำใช้และอาหาร  ในพื้นที่  20 กว่าตารางกิโลเมตร ประชากรเกือบ 200,000  คน    คนจำนวนไม่น้อยบ้านชั้นเดียวของเขาถูกน้ำท่วมจมหายไปขาดทั้งที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน    ชีวิตนับแสนคนต่างได้ร่วมทุกข์ร่วมกันแต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือเราได้เรียนรู้ร่วมกันถึงภาวะที่ต้องพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้และในอนาคต

1. เมื่อโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ถูกน้ำท่วม
     อำเภอหาดใหญ่ มีลักษณะพิเศษทางระบบบริการสาธารณสุขหลายประการจากจำนวนประชากรในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ประมาณ 150,000  คน นอกเขต  150,000  คน และผู้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรวมทั้งผู้เดินทางเข้าออกแต่ละวันอีกกว่า 200,000  คน อำเภอนี้ไม่มีโรงพยาบาลชุมชน    โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่เป็นทั้งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลประจำอำเภอ  มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มีโรงพยาบาลเอกชนอีก 3 – 4 แห่ง มีโรงพยาบาลค่ายเสนาณรงค์ มีคลินิกเอกชนกว่า  100 แห่ง แต่ที่พิเศษคือมีศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครหาดใหญ่ อีก 15 แห่ง ซึ่งนอกเวลาราชการมีแพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ไปร่วมให้บริการ  5 แห่ง

     แต่เมื่อน้ำท่วมหาดใหญ่  โรงพยาบาลหาดใหญ่ซึ่งเมื่อปี 2531 พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบนอกจากคลังยาซึ่งอยู่ใต้ดิน  ปีนี้น้ำท่วมโรงพยาบาลหาดใหญ่จนถึง OPD และ ER ซึ่งสูงกว่าระดับพื้นดินเกือบ 1.5 เมตร พร้อมกับน้ำท่วมโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและตัวเมืองลงไปเกือบ 2 – 3 เมตร อาจจะเรียกได้ว่ามีเพียงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลค่ายเสนาณรงค์เป็นเพียง 2 โรงพยาบาลกับสถานพยาบาลระดับคลินิกหรือศูนย์บริการสาธารณสุขอีกไม่กี่แห่งที่รอดพ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้

     3 นาฬิกาหลังเที่ยงคืนวันที่  21  พฤศจิกายน  2543 พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่พักในโรงพยาบาล ถูกระดมกันมาขนยาจากคลังยาชั้นใต้ดิน      เจ้าหน้าที่ชายช่วยกันขนกระสอบทรายไปปิดทางลงชั้นใต้ดิน ตึกอุบัติเหตุใหม่ซึ่งเป็นห้องควบคุมระบบไฟฟ้าของตึกใหม่

     6 นาฬิกา น้ำท่วมเลยขอบกั้นของชั้น 1 น้ำเข้าคลังยาใหญ่  แต่เราขนได้เกือบ  60  เปอร์เซ็นต์ มากระจัดกระจายอยู่ตึกอำนวยการชั้น 1

     7 นาฬิกา มีเสียงเรียกใครเป็นผู้ชายไปช่วยขนกระสอบทรายจากห้องควบคุมมากั้นน้ำที่โรงไฟฟ้าเก่าเพราะน้ำสูงเกินที่จะกันที่ตึกใหม่ได้แล้ว

     9 นาฬิกา หลังจากทุ่มเทปกป้องจุดวิกฤต น้ำเริ่มทรงตัว  หาดใหญ่น้ำท่วมหมดแล้ว ผู้มีประสบการณ์น้ำท่วมปี 2531 บอกว่าน้ำท่วมเท่ากับปี 2531 แล้ว  ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดับ น้ำประปาหยุดไหล โทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้ ถัดจากนั้นอีกครึ่งชั่วโมง ระบบไฟฟ้าฉุกเฉินของโรงพยาบาลขัดข้อง

     10 นาฬิกา ความไม่แน่ใจว่าระบบไฟฟ้าจะแก้ไขได้หรือไม่ ICU เปลี่ยนเครื่องช่วยหายใจเป็น Bird  คลังเลือดเตรียมขนย้ายเลือดไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  คนไข้หนักที่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่ใช้ระบบไฟฟ้าเตรียมส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  การเดินทางถูกตัดขาด เรือไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้เพราะน้ำเชี่ยว  รถบรรทุกของทหารได้รับการติดต่อ ทีมทหารถูกส่งเข้ามา เราเปิดประตูทางด้านหลังซึ่งรถชนิดพิเศษซึ่งสูงจากพื้นดินเกือบ 1.5 เมตรเข้ามาได้

     11 นาฬิกาถึงเที่ยง เรี่ยวแรงที่ยังมีอยู่ของคนที่สามารถเข้ามาทำงานได้หรือตกค้างจากเมื่อคืน ถูกระดมกันเพื่อเลือกทางรอดที่ดีกว่าให้ผู้ป่วย การลำเลียงโดยทางรถจึงเริ่มขึ้นจนเสร็จสิ้น

     ระบบไฟฟ้าฉุกเฉินถูกซ่อมแซมและดูเหมือนว่าจะใช้ได้อีกครั้ง  ระดับน้ำเริ่มทรงตัว เราหวังว่าน้ำจะลด คนขับรถเตรียมรถแลนด์รุ่นเก่าซึ่งเราเตรียมไว้ออกหน่วยช่วยผู้ประสบอุทกภัยออกมาเพื่อออกไปติดต่อหาน้ำมันมาใช้กับระบบไฟฟ้าสำรอง เพราะคาดว่าการไฟฟ้าคงหยุดจ่ายไฟต่อเนื่องอีก 1 – 2 วัน (ในความจริงไฟฟ้าถูกจ่ายอีก 5 วันถัดมา) เราหวังว่าน้ำจะลด  แต่คงต้องเตรียมการไว้ก่อน รถพอจะวิ่งไปได้โดยยึดกลางถนน ระดับน้ำทรงตัวผู้คนเริ่มเดินไปมาหาสู่กันแต่เราพบว่าหาดใหญ่ได้จมลงใต้น้ำแล้ว  ปั๊มน้ำมันต่าง ๆ ถูกน้ำท่วม รถน้ำมันซึ่งต้องมาส่งให้โรงพยาบาลติดอยู่นอกเมือง หน่วยงานต่าง ๆ แม้แต่ดับเพลิงหรือกู้ภัยจมอยู่ใต้น้ำ  เรากลับโรงพยาบาลและหวังว่าน้ำจะลด เราคงต้องช่วยตัวเอง ตลอดทางแม้ว่าเป็นวันแรกหลายคนเริ่มพบกับความยากลำบากทั้งการหาอาหารและความเจ็บไข้ไม่สบายของเขา  สถานพยาบาลที่ไม่ถูกน้ำท่วมก็ห่างไกลออกไป   โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองก็อยู่กลางน้ำเช่นกัน  เรายังหวังว่าน้ำจะลดอย่างไรก็ตามเราเปิดประตูด้านหลังให้คนป่วยสามารถเดินทะลุมายังตัวโรงพยาบาลซึ่งยังคงเปิดห้องฉุกเฉินทำการตลอดเวลา  ตั้งแต่เช้าเชือกถูกขึงด้านหน้าโรงพยาบาลไว้เพื่อให้คนไต่เข้ามา   ชุดชูชีพที่กลุ่มงานเวชกรรมสังคมเตรียมไว้ในการออกหน่วยช่วยผู้ประสบอุทกภัยถูกนำมาให้เจ้าหน้าที่ที่คอยไปรับคนหน้าโรงพยาบาลเรายังหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาทุกข์ให้คนหาดใหญ่

     ตั้งแต่เย็นวันที่  22  พฤศจิกายน  2543 เราได้ประสบกับความรู้สึกร่วมกันการพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันในหมู่ผู้ร่วมทุกข์กันในโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วย  ญาติและเจ้าหน้าที่  เมื่อเย็นนั้นน้ำเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ฝนกระหน่ำลงมาอย่างไม่สิ้นสุด  ไฟดับทุกอย่างมืดมิด มีแต่แสงจากไฟฉายและเทียนไข ผู้คนที่เดินไปมาหากันไม่สามารถไปมาถึงกันอีก ตึกอำนวยการน้ำเริ่มเข้า ยาจากชั้น 1 ถูกระดมกันไปช่วยขนขึ้นไปชั้น 2   ในโรงพยาบาลอาหารเริ่มร่อยหรอเพื่อเลี้ยงผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่

     วันพฤหัสที่  23 พฤศจิกายน 2543 ระดับน้ำท่วมไม่มีวี่แววว่าจะหยุด ฝนยังคงกระหน่ำ เมืองเงียบสะงัด  ทุกอย่างเหมือนกับจะหยุดนิ่งนอกจากสายน้ำ  ผู้พักอาศัยในบ้านพักของโรงพยาบาลถูกประกาศให้ย้ายไปอยู่บนตึก  รถยนต์จมนิ่งใต้สายน้ำ  บ้านอาจไม่ปลอดภัยแม้ชั้น 2  สถานีวิทยุที่ออกอากาศได้เริ่มแจ้งข่าวการขอความช่วยเหลือ  เรายังคงไม่มีไฟฟ้า  น้ำประปา น้ำฝนพอเป็นที่พึ่ง  ผู้ป่วยหนักเริ่มไม่ปลอดภัยในโรงพยาบาลใหญ่ เย็นวันที่ 23 ฟ้าเปิด หน่วยสื่อสารติดต่อกับเฮลิคอปเตอร์ของราชนาวีได้ การลำเลียงผู้ป่วยชุดใหญ่เพื่อส่งไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จึงเริ่มขึ้น โชคดีที่ตึกใหม่มีลานสำหรับเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าชั้น 10  โชคดีที่ทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาลร่วมแรงร่วมใจกัน  เปล 1 เปลใช้คนประมาณ  10  คน ผลัดเปลี่ยนกันแบกหามไปทั้งเจ้าหน้าที่และญาติ  กว่า10 เที่ยวที่เฮลิคอปเตอร์มารับผู้ป่วยหนักกว่า  60 คนจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

     เมื่อเราขึ้นไปชั้นบนสุดของตึกเราได้เห็นโชคร้ายและวิบัติภัยของโรงพยาบาลหาดใหญ่ เราอยู่กลางเวิ้งน้ำสุดลูกหูลูกตา บ้านชั้นเดียวจมอยู่ใต้น้ำ บ้านชั้นเดียวที่ยังเหลืออยู่มีผู้คนขึ้นไปอยู่อาศัยบนหลังคา ท่ามกลางความหนาวเย็นของสายฝน  เราได้ตระหนักว่าเรายังห่างไกลจากความทุกข์ของชะตากรรมของคนอีกมากมาย  สายน้ำ  ความเงียบ ความมืดของค่ำคืนของเรายังอยู่ท่ามกลางหมู่มิตรที่พึ่งพาอาศัยกันได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยยังอยู่กับความเดียวดายและหิวโหย   เราพลัดพรากจากพ่อแม่และมิตรสหาย แต่เรารู้ว่าเขาอยู่ในที่ปลอดภัย แต่หลายคนไม่สามารถจะรับรู้ได้ เราเริ่มขาดแคลนอาหารแต่หลายครอบครัวไม่มีอาหาร  เย็นวันที่  23 พฤศจิกายน  2543  เมื่อฟ้าโปร่งอยู่ชั่วขณะ เราได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินไปมา แต่เมื่อมืดลงเราได้มีโอกาสแค่รับฟังการเรียกหาความช่วยเหลือผ่านทางสถานีวิทยุสงขลานครินทร์ และสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย  ซึ่งรับข้อมูลจากกลุ่มผู้ที่ยังมีโทรศัพท์มือถือติดต่อได้  แต่เราก็ตระหนักว่าจริง ๆ แล้วเราได้อยู่ในความมืดมิดและเงียบสะงัดที่ธรรมชาติได้พิชิตพวกเราลงอย่างราบคาบ   เสียงขอความช่วยเหลือครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งไม่สามารถได้รับการตอบสนอง เรายิ่งตระหนักว่ามีคนอีกมากทุกข์ยากมากกว่านี้หลายเท่าที่ไม่สามารถแม้แต่จะเอาชีวิตรอดจากสายน้ำ     ที่หาทางรอดบนความเวิ้งว้างของกระแสน้ำรอบด้าน (เมื่อน้ำลด   1  เดือนถัดมาผู้เขียนได้ตระหนักถึงวุฒิภาวะของคนหาดใหญ่ที่ผ่านภัยพิบัติอย่างตระหนักต่อตนเองและการดำรงอยู่ของชีวิต)  ความเงียบและมืดมิดของคืนวันที่  23  สายฝนที่โปรยปรายเป็นระยะ      ความคิดคำนึงของแต่ละคนคงล่องลอยไปตามความเชี่ยวกรากและมืดมนของกระแสน้ำที่ตนเองได้ประสบ

     เราต่างประสบภัยพิบัติครั้งนี้ในห้วงน้ำต่อเนื่องมาอีก 2 วัน  หลายพื้นที่กินเวลาเกือบ  1  สัปดาห์  แต่วิบัติภัยต่อเนื่องจากความสูญเสียยังยาวนานกว่านั้น  โรงพยาบาลเองคงต้องอาศัยเวลาฟื้นฟูเบื้องต้นไม่น้อยกว่า  1  เดือนและอีกยาวนานจากนั้น  ประชาชนหรือแม้แต่พวกเราเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประสบภัยพิบัติทั้งชีวิตทรัพย์สินยังคงประเมินไม่ได้ว่าเราจะสามารถฟื้นฟูมันให้กลับสู่สภาพเดิมได้หรือไม่  หรือได้เมื่อใด  แต่ที่สำคัญคงเป็นความทรงจำที่ดำรงอยู่ แม้ว่าหลายคนอาจจะเก็บมันไว้ลึก ๆ เพื่อไม่ให้มันแปรเป็นความเศร้าโศกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น

     ปล.เป็นความรู้จากเอกสารที่ผมได้รับมาจาก นพ.อมร รอดคล้าย ตามบันทึก ก็เพราะ GotoKnow.Org อีก(ครั้ง) ครับ

     อ่านต่อ  ตอนที่ 2 บทที่ต้องเรียน และ ตอนที่ 3 หลังอุทกภัยผ่านไป

หมายเลขบันทึก: 43027เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท