ไปอินเดีย : 1. การเดินทางขาไป


     วันที่ ๒๖ กค. ๔๙ เราเดินทางไปไฮเดอราบัด อินเดีย    เพื่อไปร่วมพิธีแต่งงานลูกสาวคนเล็ก    เรามีลูกสาว ๓ คน    เพิ่งขายออกคนนี้คนเดียว    ลูกสาวคนนี้เป็นคนเดียวกันกับที่เราไปงานรับปริญญาที่อเมริกา เมื่อเดือนที่แล้ว

    เราในที่นี้รวม ๖ คน   คือพี่ชาย (ลุงตุ๊) กับพี่สาว (ป้าอี๊ด) ของหมออมรา    ลูกสาว ๒ คน และหมออมรากับผม    เป็นคณะที่มีสาวๆ ๒ คน  คนแก่ ๔ คน    เราตั้งให้ลูกสาวคนที่ ๒ ผู้คล่องแคล่ว เป็นหัวหน้าทัวร์

      เป็นครั้งแรกที่ผมไปอินเดียใต้    ผมไปอินเดียหลายครั้งมาก แต่ไปเฉพาะภาคเหนือ   

     เราบินโดยการบินไทย   ลูกสาวบอกว่าแก่แล้ว นั่งสายการบินที่สบายหน่อย    บินจากกรุงเทพไปเชนไน  ใช้เวลา ๓ ชั่วโมงเศษ    แล้วต่อสายการบินภายในประเทศไปไฮเดอราบัด ใช้เวลาช่วงนี้ ๑ ๑/๒ ชม.

    ลักษณะเรื่องบินก็เหมือนบินไปหาดใหญ่เมื่อวาน คือเครื่องบินแอร์บัส คนกว่าครึ่งลำ    ต่างกันตรงผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นแขก   และมีกลิ่นแขกนิดหน่อย 

     ที่จริงเรารู้ตัวว่าจะมีลูกเขยแขกมาหลายปีแล้วนะครับ    ลูกสาวบอกว่าเขาเป็นแฟนกันมา ๙ ปี    ว่าที่ลูกเขยเขาเรียน สแตนฟอร์ด    ส่วนลูกสาวเรียน เอ็มไอที    อยู่คนละฝั่งของสหรัฐอเมริกา  แต่เขาก็เจอกันจนได้

     หลังจบปริญญาโทด้าน Material Science และทำงานได้ระยะหนึ่ง ว่าที่ลูกเขยก็ไปเรียน MBA ที่สแตนฟอร์ด   แล้วออกมาทำงานได้เงินเดือนสูงมาก    ลูกสาวเอาบ้าง ไปเรียน MBA ที่ ฮาร์วาร์ด    แต่จบแล้วหางานยาก เพราะเป็นผู้หญิง    รวมทั้งโดนแฟนกีดกันไม่ให้เข้าไปทำงานในบริษัทเดียวกัน 

     ตกลงคู่นี้จะทำงานด้านการบริหารการลงทุน (Investment Management) ทั้งคู่    ซึ่งผมว่าไม่ดี   เพราะงานสาขานี้การแข่งขันสูง  ความไม่แน่นอนสูง  ความมีน้ำใจต่ำ  ความเครียดสูง    แต่งงานแล้วเขาคงจะอยู่ที่นิวยอร์คไประยะหนึ่ง    เพราะว่าที่ลูกเขยกำลังทำงานที่นั่น   และลูกสาวก็กำลังหางานแถวๆ นั้น

     ผมบอกพ่อแม่ของว่าที่เจ้าบ่าวว่าลูกสาวผมเป็นคนที่อยู่ด้วยยาก (คือเป็นคนอารมณ์รุนแรง - เหมือนตัวผมเอง)    เขากลับบอกว่าลูกชายเขาก็เป็นคนยากเหมือนกัน    ผมก็ได้แต่หวังว่าการแต่งงานนี้เป็นการตัดสินใจของเขาเองทั้งคู่    และอายุก็เข้า ๓๓ และ ๓๑ แล้ว  ไม่ใช่เด็ก    มีงานการเป็นหลักฐานดีเยี่ยมทั้งคู่    น่าจะประคองนาวาสมรสฝ่าคลื่นลมเป็น

     ในประสบการณ์ของผมคลื่นลมของนาวาสมรส ส่วนใหญ่เป็นลมภายใน  (ลมเพชรหึง ก็เป็นลมภายในนะครับ) ที่เราไปสร้างมันขึ้นเอง    หรือกระพือให้มันแรงขึ้นเอง    พอแก่ตัวเข้าเราก็ชำนาญในการปล่อยให้คลื่นลมเล็กๆ น้อยๆ ผ่านไปโดยไม่เข้าไปเอาอารมณ์ของเราช่วยกระพือ 

    ผมนั่งบันทึกนี้บนเครื่องบินไปเชนไน   เครื่องบินบินผ่านบริเวณอากาศแปรปรวนอยู่ตลอด   มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นเมฆแบบไม่เป็นก้อน   เป็นเมฆที่แน่นทึบตลอดทั่วไปหมด    ต่างจากเมฆเป็นก้อนๆ ที่บ้านเรา

    เราเตรียมไปดูพิธีแต่งงานแบบอินเดียเต็มที่    เจ้าบ่าวบอกว่าจะเป็นประเพณีแต่งงานแบบ เตลูกู (Telugu) ขนานแท้ 

    เวลาที่เชนไนหลังเวลาไทย ๑ ๑/๒ ชม.   เครื่องบินลงเวลา ๑๒.๔๕ น.    พิธีตรวจคนเข้าเมืองไม่ยุ่งยาก   เรารอกระเป๋านานกว่าครึ่งชั่วโมง    พอออกมาก็มีป้ายบอกว่าสนามบินภายในประเทศเลี้ยวขวาเดินไป ๒๐๐ เมตร    ไปเช็คอินที่เคาน์เตอร์ Jet Airways    แล้วต้องรับ tag สำหรับติดกระเป๋าถือทุกใบที่ถือขึ้นเครื่อง     กระเป๋าที่ผ่านเอ็กซเรย์แล้ว เขาตีตราที่ tag เป็นเครื่องหมายว่าตรวจแล้ว    นี่คือระบบของอินเดียที่ผมรู้แล้วแต่ลืมทุกที

    ลูกสาวคนกลางอยู่ว่างไม่ได้   งัดเอา camcorder มาถ่ายบรรยากาศภายในสนามบินเชนไน   โดนแขกมาห้ามสองครั้ง    ต้องหลบๆ ถ่าย     ผมจึงถ่ายภาพนิ่งบ้าง    ไม่โดนแขกดุแต่โดนไทยดุ   ซึ่งเราชินเสียแล้ว  

    เครื่องบิน Jet Airways เชนไน - ไฮเดอราบัด เป็นเครื่อง ATR 72-500 เป็นเครื่องใบพัดจึงบินช้าหน่อย    อากาศเหนือเมืองเชนไนไม่ใส    เข้าใจว่าคงจะมีฝุ่น    ตลอดระยะทางบินท้องฟ้าไม่ใส   คล้ายกับที่หาดใหญ่เมื่อวาน    หมอกที่หาดใหญ่เป็นหมอกควันจากไฟป่าที่อินโดนีเซีย   

     บนเครื่องบินเขาเลี้ยงอาหาร   ให้เลือกมังสวิรัตกับไม่มัง    เราเลือกไม่มัง  เป็นปลาราดพริก กับมันเทศ   อร่อยดี   ที่จริงเวลาบิน ๑๕.๑๕ น. บ้านเราไม่เลี้ยงอาหารหนักแบบนี้  
 
    ผมเตรียมไปตรวจสอบกล้องถ่ายรูป Canon SLR EOS 30D ด้วยว่าใช้การไดีดีไหม    จะได้ตีราคาว่าโดนโกงไปเท่าไร

                        

                   จะไปแต่งงานลูกสาวก็คึกคักอย่างนี้แหละ

                            

                          ระหว่างนั่งรอที่สนามบินเชนไน

                       

             สองพี่น้องที่ห้องรอขึ้นเครื่อง สนามบินเชนไน

                      

            บรรยากาศริมถนนเมืองไฮเดอราบัด ถ่ายจากรถ

วิจารณ์ พานิช
๒๖ กค. ๔๙
บนเครื่องบินการบินไทยไปเชนไน
เพิ่มเติมที่สนามบินเชนไน 

 

คำสำคัญ (Tags): #อินเดีย
หมายเลขบันทึก: 42356เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2006 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมจะเดินทางไปอินเดีย คนเดียวด้วยตัวเอง มาเจอ Blog ของอาจารย์ ไม่ทราบว่า อาจารย์เคยไปเมือง coimbatore ไหมครับ

เคยเจออาจารย์ในการประชุม KM ด้วยครับ แต่คนเยอะเลยไม่ได้คุยด้วย

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • รู้สึกยินดีไปด้วยกับอาจารย์ค่ะ
  • รักษาสุขภาพนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท