ขอร้อง...อย่าตีลูกอวดแขก


ด้วยความโมโหที่ถูกต่อว่าและรู้สึกเสียหน้า แม่ก็คว้าไม้เรียวไปฟาดลูกของตัวเอง

               นึกย้อนถึงชีวิตเมื่อตอนเด็ก ๆ ถ้าให้ชั่งว่าระหว่างป๊ากับแม่ใครตีลูกบ่อยกว่ากัน ดิฉันและน้อง ๆ ลงความเห็นว่า เป็นแม่แน่นอน แต่ถ้ากรณีหนัก ๆ แม่ถึงจะยกให้ป๊า ที่เรียกว่าใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ตอนได้ยินเสียงแม่เหลาไม้เรียว (เวลาจะตีลูกแม่เหลาไม้เรียวใหม่เกือบทุกครั้ง เพราะไม้เก่าลูกจะแอบเอาไปทิ้งหมด) ยังไม่เท่าเห็นตอนป๊าเดินถือไม้เรียวตรงรี่เข้ามา

               แม่จะตีหลายที แต่ไม่แรงเท่าป๊า ส่วนป๊าตีน้อยที แต่ละทีหนัก ๆ เน้น ๆ หลายครั้งที่ไม้เรียวหักไปเลย แต่ทั้งป๊ากับแม่จะไม่ตีลูกที่อื่นนอกจากก้น ขนาดมีกางเกงนอก-กางเกงในกันไม่ให้โดนไม้เพียว ๆ ยังไม่วายขึ้นเป็นแนว ๆ หลังถูกตี และถ้าทั้งสองคน (ป๊า-แม่) เห็นญาติพี่น้องตีลูกหลานตรงอื่นที่ไม่มีผ้ารองรับ ก็มักจะห้ามไม่ให้ตี แต่ใช่ว่าจะไปตีหลัง-ไหล่-แขน เพราะถือว่ามีเสื้อกันแล้วก็ไม่ได้นะคะ บอกว่าอันตราย ยิ่งตีหัว ไม่ได้เด็ดขาด

               พวกเราทุกคนไม่เคยวิ่งหนีเวลาจะถูกตี เพราะรู้ตัวว่าผิดจริง ๆ แม้บางทีไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัว แต่เป็นความผิดโดยรวม กรณีหลังนี้ดิฉันโดนบ่อยเพราะเป็นพี่คนโต แม่บอกว่าไม่รู้จักดูแลน้อง ๆ ก็เลยถูกตีไปพร้อมกับน้อง ๆ ด้วย แต่บางทีจะถูกตีน้อยทีกว่าน้องที่เป็นเจ้าของเรื่อง คิดดูว่าดิฉันมีน้อง
5 คน ซน ๆ ทั้งนั้น จะถูกตีบ่อยไหม นี่ไม่รวมความผิดของตัวเองอีกนะคะ

               ที่พวกเราพี่ ๆ น้อง ๆ จดจำคำสอนของป๊ากับแม่ได้ตลอดมา นอกจากการไม่ให้ตีลูกตีหลานที่อื่น ที่ไม่ใช่ก้นแล้ว ทั้งสองคนยังสั่งนักสั่งหนาว่า เป็นพ่อเป็นแม่คน
อย่าตีลูกอวดแขก ดิฉันจะยกเรื่องอธิบายความหมายค่ะว่า....

               สมมุติมีเด็กคนหนึ่งเล่นซนอยู่ในบ้าน แม่กำลังจะเก็บกวาดบ้าน ก็เลยไล่ให้ไปเล่นหน้าบ้าน หรือจะไปเล่นชิงช้าหน้าบ้านของบ้านข้าง ๆ ก็ตามใจ ลูกก็ย้ายไปเล่นที่ใหม่ที่แม่บอก เวลาผ่านไปไม่นานเจ้าของบ้านข้าง ๆ ก็เดินมาต่อว่าแม่ที่ไม่ดูแลลูกปล่อยให้ไปเล่นทำชิงช้าของเขาเลอะเทอะ ด้วยความโมโหที่ถูกต่อว่าและรู้สึกเสียหน้า แม่ก็คว้าไม้เรียวไปฟาดลูกของตัวเอง แล้วบอกว่า
แม่บอกแล้วใช่ไหมว่าอย่ามาเล่นแถวนี้...อย่ามาเล่นชิงช้าของเขา

               คุณว่าเด็กจะสับสนไหมล่ะคะว่า ตกลงแม่จะเอายังไงกันแน่ เมื่อกี๊บอกให้มาเล่นที่นี่ แต่พอถูกต่อว่า ก็พูดสวนทางกัน อย่างนี้แหละที่ป๊ากับแม่ของดิฉันเรียกว่า
ตีลูกอวดแขก ซึ่งการทำอย่างนี้ลูกจะเสียใจและไม่เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่

               ดิฉันคิดว่า คำสอนของป๊ากับแม่ เรื่องการตีลูก สามารถนำมาใช้ได้กับการทำงานของเราได้ด้วย เมื่อไม่นานนี้ดิฉันเห็นตัวอย่างที่พ้องกับเรื่องนี้จากหัวหน้าของดิฉันเอง เรื่องมีอยู่ว่า....

               ท่านและดิฉันพร้อมด้วยคุณครูตัวแทนส่วนหนึ่งเคยไปรับความรู้ในเรื่องหนึ่งมา เมื่อกลับมาคุณครูอยากให้ท่านมาเป็นผู้นำการถ่ายทอดให้ความรู้ในเรื่องนั้นกับเพื่อนครูในโรงเรียนโดยมีดิฉันเป็นผู้ช่วยด้วย จนวันหนึ่งมีตัวแทนจากเจ้าของเรื่องเดิมมาติดตามเรื่องนี้ ท่านบอกว่าที่ผ่านมาคุณครูยังทำกระบวนการไปไม่ถูกต้องนัก เรื่องนี้หัวหน้าของดิฉันรีบรับว่า ที่ครูทำเช่นนี้ ก็เพราะเรามาช่วยบอกและพาเขาทำเช่นนี้ ครูไม่ผิดแต่เป็นเพราะพวกเรารับข้อมูลมาเช่นนี้เราก็ถ่ายทอดไปเช่นนี้

               การรับเอาความผิดพลาดในครั้งนี้ไว้ของหัวหน้า โดยไม่ปล่อยให้แขกเข้าใจว่า ครูทำไม่ถูกต้อง ทำให้ครูเชื่อมั่นและอบอุ่นใจในตัวศึกษานิเทศก์ ว่าเรายืนอยู่เคียงข้างเขา และไม่สับสนว่าทำไม ศน.บอกให้ทำอย่างนี้แล้วกลายเป็นไม่ใช่ การไม่ตีลูกอวดแขกของหัวหน้า ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้แง่มุมของการทำงานร่วมกับครู เรียนรู้ภาวะผู้นำของหัวหน้า ดิฉันโชคดีและอุ่นใจที่หัวหน้าของตัวเองมีลักษณะของผู้นำที่ดี แต่ก็ไม่โชคดีไปเสียทั้งหมดเพราะดิฉันไม่แน่ใจว่าผู้บังคับบัญชาท่านอื่น ๆ ของดิฉัน จะลืมตัวตีลูกอวดแขกหรือเปล่า
?

               เช้านี้ดิฉันต้องรีบเดินทางไป จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเข้าร่วมการอบรมการสอนภาษาไทย ที่มรฏ.พระนครศรีอยุธยา ในวันนี้กับพรุ่งนี้ หากมีอะไรดี ๆ จะเก็บเกี่ยวมาฝากกันค่ะ

               ทิ้งท้ายเรื่อง
อย่าตีลูกอวดแขก ฝากไว้ให้คิดต่อ ท่านใดมีเรื่องที่จะกรุณาแลกเปลี่ยนกันในทำนองนี้ขอเรียนเชิญค่ะ




หมายเลขบันทึก: 91593เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2007 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)
  • ดีจังเลยครับพี่
  • ถ้าคุณแม่คุณพ่อไม่ทำแบบนี้
  • ตีลูกอวดแขก
  • เด็กๆๆคงมีความสุขนะครับ
  • ขอบคุณครับผม

สวัสดีค่ะ ศน.กุ้ง  ปวีณา ธิติวรนันท์

  • สำหรับเรื่องนี้  ครูอ้อยเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
  • ครูอ้อยมีลูก...เหมือนมีเทพธิดาองค์น้อยๆ  และคิดเสมอว่า  เธอๆทั้ง 4 คนนั้นมีบุญนะที่ได้มาอยู่กับครูอ้อย  มาเป็นลูกของแม่   ดังนั้นการตีลูก  ดุลูก  อวดแขกนี้  ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียว
  • แต่..การตีลูกอวดแขกนี้  ไม่ได้หมายความแค่พ่อกับแม่เท่านั้น....น่าจะหมายถึงรวมไปถึง  คุณครู....หรือ  การมีคนในปกครอง
  • การกระทำ  ตีลูกอวดแขก  บางทีก็ทำเหมือนอยากจะ...เปล่งศักดา  ว่าข้าใหญ่ที่นี่นะ

ไม่รู้มีความเห็นเหมือนครูอ้อยหรือเปล่าค่ะ

เช้านี้ดีจัง  ที่ได้คุยกับคนสวยของครูอ้อย

ขอบคุณค่ะ...เข้าใจความหมาย...ประการประยุกต์เรียบร้อย....บันทึกมีพลังค่ะ

อาจารย์คะ อาจารย์เขียนได้น่าอ่านมากและสะกิดเตือนใจได้ดีมากเลยค่ะ

อ่านแล้วทำให้นึกถึงในแง่การศึกษาว่าจำเป็นต้องใช้เรื่องนี้ให้มากๆ ด้วยค่ะ

โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมวิทยานิพนธ์นักศึกษา มักจะเจอบ่อยๆ ว่าอาจารย์ที่คุมวิทยานิพนธ์เมื่อแนะนำนักศึกษาไปล้ว ทำวิจัยไปตามคำแนะนำแล้ว แต่พอเวลาสอบป้องกันเกิดปัญหากรรมการสอบแนะนำว่า ต้องปรับแก้ตรงไหนๆ ก็มักจะพบว่า อาจารย์ที่คุมวิทยานิพนธ์มักจะพูดทำนองที่ว่า นักศึกษาเป็นคนทำผิด .และดุนักศึกษาต่อหน้ากรรมการอื่นๆ และคนที่เข้าร่วมรับฟังการสอบป้องกัน....เจอบ่อยมากค่ะ...จนรู้สึกสงสารนักศึกษาขณะเดียวกันก็หมดความนับถืออาจารย์ท่านนั้นไปเลย

อ่านเรื่องนี้ ไม่ค่อยสบายใจ ไม่เคยตีลูกเลย คนเราพูดกันดีๆ น่าจะรู้เรื่อง และยังมีอีกหลายวิธีมากที่จะทำโทษเด็กค่ะ  มีลูกคนเดียว ไม่เห็นเสียเด็กด้วย

สวัสดีครับ..

นาน ๆ ทีมีบันทึกมาฝากชาวบล็อกแต่เป็นบันทึกมุมละเอียด  มีชีวิต  และมีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตและการงานเป็นอย่างมาก...

(1)  ผมประทับใจวิถีการบ่มเพาะลูก ๆ  ของคุณพ่อและคุณแม่ขององจารย์มาก  และสัมผัสถึงความอบอุ่นอย่างมีตัวตนอันแท้จริงของท่านอยู่ในบันทึกนี้อย่างเต็มล้น

(2)  ตอนนี้ผมกำลังสอนน้องดินในบางเหตุการณ์ให้เสียสละบางอย่างให้กับน้อง...โดยเฉพาะแม่ของเขาจะย้ำเรื่องนี้บ่อยครั้ง  ส่วนผมจะเฝ้ามองและสังเกตอาการของน้องดิน  ซึ่งรู้สึกว่าเขากำลังทำความเข้าใจกับคำว่า "พี่"  ที่ต้องแสดงความรักให้กับน้องด้วยการแบ่งปันและเสียสละ...หลายครั้งหลายหนผมซื้อขนมให้ลูกจึงมักซื้อมาถุงเดียวและพร่ำสอนการแบ่งปันระหว่างเขาทั้งสองคน  แต่ฝ่ายคุณแม่มักจะซื้อมาให้คนละถุง...

(3)  ผมประทับใจและศรัทธาต่อหัวหน้าของอาจารย์มาก  สะท้อนบทบาทและสถานะของผู้นำที่ดีอย่างน่านับถือ  ผมเองก็ฉุกคิดขึ้นมาและหันไปหลับตากวาดสำรวจจังหวะการทำงานของผมเองว่าที่ผ่านมา "ตีลูกอวดแขก"  มากี่ครั้งบ้างแล้วหนอ...ซึ่งไม่วายสงสารลูกน้องอย่างจับใจ...

(4)  จากนี้ไปผมจะเตือนตนเองเสมอในเรื่องดังล่าว  จะพยายามทำให้ดีที่สุด  โดยเฉพาะเรื่องการดูแลลูกน้องที่จะต้องไม่ "ตีลูกอวดแขก" ...ส่วนในครอบครัวผมยังไม่ได้กระทำเช่นนั้น  และคิดว่าจะไม่ทำ..ซึ่งหมายถึงจะพยายามให้ดี - และให้ดีที่สุด

ขอบพระคุณครับ....ที่นำพาบันทึกดี ๆ มาแต้มให้เช้านี้สดใสและมีชีวิต

 

 

จริงค่ะอาจารย์กุ้ง  ผู้ปกครองไม่ควร ตีลูกอวดแขก  พี่หนิงเองตอนเด็กๆซนมาก  โดนตีประจำ  แต่ไม่เคยอวดแขกค่ะ  เพราะงั้นเราเด็กๆจะรู้ว่า  ถ้ามีแขกมาบ้านเราจะรอด  555

คุณแม่พี่หนิงเคยเป็นช่างตัดเสื้อผ้า  พวกเราจะโดนสายวัดตัวที่คล้องคอประจำ  อิอิ  ก็จะมีรอยแดงๆยาวๆ และโดนแซวว่า...ได้ชุดใหม่กันอีกแล้ว  อิอิ

P
  • สวัสดีค่ะ..คุณน้องอาจารย์ขจิต
  • ถ้าพูดถึงเรื่องถูกตีนี่ จะตีแบบอวดแขก หรือไม่อวดแขก ก็ไม่อยากถูกตีทั้งนั้นล่ะค่ะ
  • อันนี้เป็นความคิดสมัยเด็ก ๆ นะคะ แต่ตอนที่โตมาแล้วนี่ ก็นึกว่าเรานี่ถูกตีมาบ้าง ก็ดีเหมือนกัน ก็นั่นเป็นความผิดจริง ๆ เราไม่ได้ถูกตีแบบทารุณกรรมหรือเป็นที่รองรับอารมณ์ แต่เป็นการถูกตีที่มีเหตุผล แต่ตอนเด็ก ๆ ไม่ยอมรับไง
  • จำได้ว่าพอขึ้นชั้นมัธยมฯ พ่อแม่ก็วางไม้เรียว เพราะกลัวว่าเราจะอาย โตเป็นสาวแล้วยังถูกตี อาศัยว่าพี่ไม่เกเรไงคะ เป็นเด็กตั้งใจเรียน เพราะถูกกรอกหูว่าเป็นพี่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้อง ๆ นั่นแหละค่ะ ก็เลยไม่ต้องถูกตีด้วยก็เป็นได้
  • ว่าจะถามอาจารย์ว่า หนังสือที่จะเชิญอาจารย์มาสุพรรณฯ วันที่ 19 พ.ย. จะให้พี่ส่งไปที่ไหนดีคะ อาจารย์ช่วยกรุณา Mail มาบอกพี่หน่อยนะคะ....ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ
P
  • สวัสดีคุณครูอ้อยที่แสนดีค่ะ
  • เมื่อก่อนเคยนึกอิจฉาคนมีลูก จะได้เป็นเพื่อนเรายามแก่ หลัง ๆ เห็นตัวอย่างลูก ๆ บางคนก็เหนื่อยใจแทนพ่อแม่ ตอนนี้เปลี่ยนใจแล้วคิดว่าไม่มีโอกาสมีลูกอย่างคนอื่นเขาก็โชคดีไปอย่างค่ะ
  • สังคมเปลี่ยนไป พ่อแม่ก็มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาการเลี้ยงลูกมากขึ้น การใช้ไม้เรียวในการเลี้ยงลูกก็ลดน้อยลงไป
  • คุณครูอ้อยเป็นคุณแม่ยุคใหม่ รู้หลักที่ดีในการเลี้ยงลูก โชคดีและเป็นบุญของลูก ๆ ทั้งสี่จริง ๆ ด้วยค่ะ และคงต้องเรียกว่าเป็นบุญของคุณครูอ้อยด้วยค่ะที่มีลูกน่ารักทั้งสี่คน
  • ใช่แล้วค่ะ...การตีลูกอวดแขก หมายรวมถึงคุณครูกับลูกศิษย์ และเจ้านายกับลูกน้องด้วยค่ะ ใช้หลักการเดียวกันได้ค่ะ เห็นด้วย ๆ
  • วันนี้คุณกุ้งไปอบรมการสอนภาษาไทยที่อยุธยามาค่ะ มีคุณครูตื่นตัวให้ความสนใจไปร่วมอบรมเยอะมาก พันสามร้อยกว่าคนแน่นหอประชุมเลยค่ะ ลำบากเรื่องที่นั่ง ที่รับประทานอาหาร ห้องน้ำ และที่จอดรถนิดหน่อย...พอทนได้ เห็นครูกระตือรือล้นขวนขวายเรียนรู้เทคนิคการสอนกันเยอะขนาดนี้...ชื่นใจมากกว่าค่ะ ลำบากนิดหน่อยแค่นี้ไม่เป็นไร
P
  • ที่จริงเรื่องนี้ตัวเองสะดุดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ค่ะ
  • เมื่อคิดถึงเหตุการณ์นี้ จึงเกิดความคิดเชื่อมโยงถึงเรื่องราวใกล้ตัวเมื่อในอดีตได้
  • ตัวเองเลือกที่จะสะท้อนเรื่องราวแบบง่าย ๆ แต่ขอแฝงไว้ด้วยความรู้สึก จึงอาจเป็นเหตุให้บันทึกนี้มีพลังก็อาจเป็นได้ค่ะ
  • ขอน้อมรับกำลังใจที่พี่กรุณาทิ้งรอยไว้ให้ทุกตัวอักษรด้วยความขอบคุณยิ่งค่ะ
P
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์จันทรัตน์มากค่ะที่กรุณาร่วมแลกเปลี่ยนและต่อยอด
  • ขอบพระคุณสำหรับการเปิดรับเข้าสู่อ้อมใจให้ได้ร่วมชายคาแพลนเน็ต LIVE ด้วยค่ะ
  • สมัยที่ตัวเองเรียนปริญญาโทนั้นโชคดีที่ไม่เจอเหตุการณ์ที่อาจารย์เล่าให้ฟัง แต่มีน้อง ๆ หลายคน เคยบ่นว่าตัวเองตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เหมือนกันค่ะ บางคนช่วงก่อนสอบเจอกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่มักให้แก้ไขงานบ่อย แทบทุกครั้งที่นำงานไปให้ดู แก้ไปแก้มา ปรับไปปรับมา ก็พาลมาเหมือนในรูปเดิมแต่แรกเข้าให้ได้ ก็มี
  • อาการแบบนี้เคยเป็นกับพี่ที่ทำงานด้วยกัน เขาเล่าว่าสมัยก่อนเคยทำงานกับเจ้านายคนหนึ่งเวลาเสนอเรื่องเข้าไป ท่านก็จะแก้คำ แก้ประโยคในหนังสือที่เสนอไปนั้นทุกครั้ง ไม่เคยเลยที่จะไม่แก้ไข บางทีแก้ไขเสียหลายครั้งสุดท้ายกลับมาเหมือนเดิม ตอนหลังพี่เขาจะเก็บฉบับที่ถูกแก้ไว้นั้นตลอดแนบฉบับใหม่เข้าไปด้วย กันอาการแก้ไปแก้มามันก็เหมือนเดิม...ได้เหมือนกันค่ะ
P
  • ขอบพระคุณคุณsasinanda มากค่ะ
  • เป็นความไม่สบายใจของดิฉันเช่นกันค่ะเมื่อครั้งเด็ก ๆ แต่ตอนนี้เข้าใจพ่อกับแม่แล้วเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/suphan2/87474
  • พ่อแม่แต่ละบ้านก็มีวิธีการเลี้ยงลูกที่ไม่เหมือนกัน "ไม้เรียว" อาจจะเหมาะกับบางบ้าน และไม่เหมาะกับบางบ้านค่ะ
  • ถ้าจะใช้ ก็ต้องให้เหมาะสมด้วยค่ะ ใช้ผิดที่ผิดทาง เป็นมีปัญหาทุกราย
  • เลี้ยงลูกคนเดียวไม่เสียคน น่าสนใจมากค่ะ คงได้มีโอกาสไปร่วมเรียนรู้จากบันทึกของคุณsasinanda บ้างในโอกาสต่อไปนะคะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ
แหม...ได้หลายประเด็นเลยค่ะ
  1. เห็นด้วยเรื่อง เวลาตีเด็กๆเนี่ย ให้ตีที่ก้น"เท่านั้น" ที่บ้านก็ปฏิบัติเช่นนี้ค่ะ คุณพ่อบ้านบอกว่าถ้าตีที่อื่นอาจเป็นอันตรายเกินไป....( แต่พี่เม่ยเองมักจะตีด้วยปากค่ะ คือใช้เสียงขู่ แว้ด แว้ด แม่จะตีแล้วนะ จะตีแน่เลย....อยู่อย่างนั้น...ตีไม่ค่อยลงค่ะ ..)
  2. ส่วนตีลูกอวดแขกนั้น ไม่ทำแน่นอนค่ะ มีอะไรค่อยพูดค่อยจากันดีกว่าเนาะ!
  3. ส่วนอุปมาเรื่อง ตีลูกอวดแขก ในการทำงานนั้น ยิ่งถือเป็นข้อห้ามสำหรับตัวเองเลย  เอ๊ะ!...แต่จะมีเรื่อง ช่วยลูกตีแขก บ้างหรือไม่ พี่เม่ยก็ชักสงสัยตัวเองเหมือนกัน??

P

  • พูดไปจะกลายเดี๋ยวจะกลายเป็นแก้ตัวว่างานยุ่งจนแทบไม่มีเวลาโงหัวขึ้นมาบันทึกเรื่องดี ๆ แลกเปลี่ยนกัน
  • พบผศ.ดร.ทัศนีย์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้จุดประกายและชักจูงให้ดิฉันรู้จัก G2K และมีโอกาสเปิด blog เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมานี้ ท่านก็บอกว่าท่านเข้าใจจุดที่เรายืนอยู่ว่าต้องแบ่งเวลาไปเป็น promoter แต่ก็ต้องบังคับตัวเองให้ได้ว่าอย่างน้อยต้องบันทึกเรื่องขึ้นให้ได้สักสัปดาห์ละ 1 เรื่อง ป้องกันแฟน ๆ (กัลยาณมิตร) หดหาย
  • ดิฉันก็ว่าต่อไปนี้ต้องพยายามทำให้ได้ อาจารย์ทัศนีย์ท่านบอกว่าเป็นการทดสอบความรักความเหนียวแน่นด้วยไง ว่ายังมีเพื่อนอยู่หรือเปล่า...เอ้า! เข้าเรื่องค่ะ

              1) เรื่องแนวการเลี้ยงลูกของป๊ากับแม่นี่ ดิฉันจะลองนำค่อย ๆ ทยอยนำเสนอค่ะ มีแง่มุมที่น่าคิดหลายเรื่อง เผื่อจะได้แลกปลี่ยนกับผู้สนใจเรื่องวิธีการดูแลเลี้ยงดูลูก ๆ หรือเชื่อมโยงไปถึงลูกศิษย์ หรือ ลูกน้อง ก็อาจจะได้

              2) วันนี้ดิฉันสะดุดกับคำพูดของวิทยากรที่ให้การอบรม เขาบอกว่า จากประสบการณ์สอนที่ผ่านมา พบว่า การจะปลูกฝังหรือเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องใดกับเด็กระดับประถมฯ จะต้องใช้หลัก "ศรัทธา" (เชื่อในสิ่งนั้นจากคนที่เด็กรักและเชื่อฟังเป็นคนสอน อาจไม่ใช่พ่อแม่ อาจเป็นปู่ย่าตายาย หรือใครในบ้านที่เด็กรักและเชื่อฟัง) ส่วนเด็กระดับมัธยมฯ ให้ใช้หลัก "เหตุผล" อาจารย์ลองปรับใช้กับลูก ๆ ดูสิคะ เผื่อใช้ได้ผลจะได้มาแลกเปลี่ยนกัน

              3) อ้าว! อาจารย์เคย ตีลูก(น้อง)อวดแขกด้วยหรือนี่ จริงเหรอ...ไม่น่าเชื่อ

              4) เอ้า! ฟังอย่างนี้แล้ว ดีใจแทนลูกน้องของอาจารย์ด้วยค่ะ


    ....ขอบคุณอาจารย์เช่นกันค่ะ ที่กรุณามาร่วมต่อยอดความคิด แม้ว่านาน ๆ ทีดิฉันจะมีบันทึกขึ้นมาค่ะ
P
  • สวัสดีค่ะพี่หนิงจอมซน (สมัยเด็ก) ...กำลังคิดถึง และว่าจะโทรไปคุยด้วย ก็มาพานพบกับพี่ในบันทึกของตัวเองในวันนี้ทันที
  • ถูกสายวัดตัวตีนี่ เจ็บประมาณไหนนะ ไม่เคย...
  • ขนาดเป็นแนวอย่างกับไม้เรียวไหม
  • อะไรก็ช่างเหอะ...ถ้าเป็นสมัยเด็ก ๆ ก็ไม่อยากโดนทั้งนั้นแหละเนอะ
  • แล้วจะโทรไปคุยด้วยนะคะ

P
  • ดีใจค่ะ ที่พี่เม่ยมาแลกเปลี่ยนด้วย เรื่องนี้ตรงประเด็นเข้ากับชีวิตจริงเลยใช่มั๊ยคะ
  • เห็นภาพคุณแม่(เม่ย)อารมณ์ดีคนนี้เลยค่ะ ที่ว่าตีลูกไม่ลง ... น่ารักจัง จะตีแล้วน๊า...จะตีแล้วน๊ะ...จะตีแน่ ๆ เลย ... แต่ก็ไม่ตี..ฮ่ะ..ฮ่ะ...ฮ่ะ..
  • เขาเรียกว่า เขียนเสือให้วัวกลัว หรือเปล่าคะ (คือ...สำนวนไทยไม่แข็งแรงเท่าที่ควรค่ะ)
  • ป๊ากับแม่ของหนูเขาเลี้ยงลูกประเภทโบราณอยู่สักหน่อยค่ะ ถือคติ เลี้ยงวัวให้ผูกเลี้ยงลูกให้ตี (สำนวนนี้น่าจะถูกเรื่องถูกความหมายนะคะ) ตอนหลังก็เริ่มพัฒนาเพราะแม่เริ่มดูละครมากขึ้น เรียนรู้วิธีการเลี้ยงลูกจากละครไปด้วยในตัว (ฮา...) ประเภทดูละครย้อนดูตัว...ทำนองนั้น
  • ถูกใจมากค่ะ ...ช่วยลูกตีแขก...ฮ่า..ฮ่า...ฮ่า
  • เคยมีคนข้างบ้านตีลูก แล้วพูดดุด่าลูก (เสียงดัง) มาก ๆ ข้ามไปอีกฝั่งบ้านนึง  เพราะว่าต้องการดุด่าประชดบ้านอีกฝั่งที่ไม่ค่อยกินเส้นกัน
  • กรรมของเด็กจริง ๆ  ไม่อยากให้มีพ่อแม่แบบนี้เลยอ่ะค่ะ

P
  • สวัสดีค่ะอาจารย์จินตนา
  • ลักษณะนี้เข้าข่าย "ตีลูกประชดแขก" ได้เหมือนกันนะคะเนี่ย
  • นี่ประชดข้างบ้านใช่มั๊ยคะ
  • บางบ้านนี่ บางวัน แม่ตีลูกประชดพ่อ บางวัน พ่อตีลูกประชดแม่ ก็มีค่ะ
  • อนาจใจที่พ่อแม่บางคนไม่เข้าใจจิตใจลูก และเห็นลูกเป็นสมบัติ (ที่ไม่มีชีวิตจิตใจ) ของตัวเอง จะทุบจะตีก็เป็นสิทธิ์ของพ่อแม่
  • เขาถึงต้องมีเรื่องของ "สิทธิเด็ก" ออกมากันนี่ไงคะ
  • เรื่องพวกนี้ละเอียดอ่อนค่ะ...คุณครูต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกศิษย์ หากมีปัญหาแบบนี้ คุณครูจะได้ช่วยเหลือได้ทันค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนค่ะ คงจะมีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้กับอาจารย์ในโอกาสต่อไปนะคะ
  • อ่านแล้วได้พลัง  ท่ามกลางความท้อแท้ ... เหนื่อย...
  • ของคนที่เคยถูกตี...อวดแขก
  • มีบันทึกที่สะกิดใจ...คนเคย ตี...อวดแขก
  • แม้คนที่สะกิดใจ...อาจไม่ใช่...คนที่เคย...ตี
  • ขอบพระคุณ คุณไม่มีชื่อ
  • มีคนบอกว่า....

             - ในดีนี้นั้นมีเสีย ในเสียก็มีดี

             - ศรัทธาในอุดมการณ์อาจเทใจได้เต็มร้อย แต่ศรัทธาในตัวตนของใครสักคนนั้นต้องเตรียมเผื่อใจ

             - เราอาจสัมผัสกับความรักความจริงใจจากผู้คนรอบข้างได้เสมอ แต่แน่ใจไหมว่าทุกสัมผัสนั้นคือความรักและความจริงใจที่แท้จริง เพราะ...สำหรับบางคนเขาแสดงความรักและความจริงใจโดยเคลือบไว้ด้วยอะไรบางอย่างสักอย่างก็เป็นได้

             หากพานพบ หรือเคยถูกตีอวดแขกมาบ้างแล้ว ก็อย่าได้เสียกำลังใจไปเลยค่ะ โดยเฉพาะถ้าเราไม่เคยได้ทำอย่างเขา ก็แสดงว่า เรามีภาวะผู้นำ ความละเอียดอ่อนในการเข้าถึงใจผู้ร่วมงาน และเป็นบุคคลที่น่านับถือมากกว่าเขาผู้นั้นค่ะ

             ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้ท่านสู้ต่อไปค่ะ เพราะบางทีท่านอาจจะเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งมีลูกน้องอีกหลายคนที่ต้องดูแล และหากจะเปรียบแล้วก็เหมือนดั่งแม่ไก่ที่คอยปกป้องคุ้มครองลูกไก่ให้อาศัยอยู่ใต้ปีกที่มั่นคงอบอุ่น หากปีกของแม่อ่อนล้าลูกไก่ก็คงพาลแย่ไปเสียด้วยกันนะคะ

            เครียด...เหนื่อย...ท้อแท้...หมดกำลังใจ...นั้นได้แต่หากนานไปคงไม่ดีต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางใจเป็นแน่แท้...เป็นห่วงค่ะ

ขอบคุณครับพี่

มีลูก เมื่อจะ ไม่ตีลูกอวดแขก ครับ

  • สวัสดีคุณน้องตาหยู ค่ะ
  • ตอนนี้ยังไม่มีลูกเป็นของตัวเอง ถ้ามีลูกศิษย์ หรือลูกน้อง ก็ไม่ควรตีพวกเขาอวดแขกด้วยเช่นกันค่ะ
  • ต้องทำอย่างพี่เม่ย ค่ะ ...ช่วยลูกตีแขกไงคะ ถึงจะได้ใจลูก ... ลูกศิษย์ ... หรือ ลูกน้องค่ะ
  • ขอบพระคุณ อ.หมอธนพันธ์
  • ติดตามไปอ่านบันทึกของ อ.หมอแล้ว ชอบมากค่ะ ได้เรียนรู้แง่มุม และความคิดผ่านเรื่องเล่าของชีวิต
  • ยินดีที่ได้เริ่มต้นร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ
  • สวัสดีค่ะพี่ปวีณา ธิติวรนันท์
  • มาทักทาย  สบายดีนะคะ
  • เป็นเรื่องที่เตือนสติได้เป็นอย่างดี
  • ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท