(รัก) สามเส้า และวิธีการจัดการ


สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด เพียงแต่นักพัฒนาชุมชน หรือนักวิจัย ต้องมีคำถามในใจเสมอว่า “จะยืนยันสิ่งนั้น ว่าเป็นอย่างนั้นเสมอ ๆ ได้อย่างไรดี”

     หัวเรื่องอาจจะหลอกนิด ๆ เหมือนรักสามเส้าที่เป็นปัญหา ตกลงกันไม่ได้อะไรปานนั้น แต่ไม่ใช่ครับ กำลังจะพูดถึงวิธีการตรวจสอบข้อมูลประเด็นความแม่นตรง (Validity) หรือความเชื่อถือได้ โดยเฉพาะข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งจะอาศัยวิธีการเช่นข้อมูลเชิงปริมาณก็ไม่ได้ จึงต้องอาศัยวิธีการที่เรียกว่าการตรวจสอบสามเส้า (Triangulation) ครับ

     เรื่องนี้เมื่อผมนำมาใช้เพื่อการยืนยันข้อมูลที่ทีมงานไตรภาคีฯ นำมาพูดถึง มาเล่าให้ฟัง ก็มักจะถูกถามด้วยคำถาม “ต้องทำอย่างไรอีกบ้าง ถึงจะเชื่อได้?” อย่างที่คุณลูกหมูอ้วนเองก็ยังบ่น ๆ ว่าน่าจะได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ลองอ่านดูเผื่อบางทีจะเปลี่ยนใจไม่อบรมแล้วก็ได้ ซึ่งผมเข้าใจว่าหากได้เข้าใจในภาพรวมจะไม่ถามอีกเลย เพราะสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด เพียงแต่นักพัฒนาชุมชน หรือนักวิจัย ต้องมีคำถามในใจเสมอว่า “จะยืนยันสิ่งนั้น ว่าเป็นอย่างนั้นเสมอ ๆ ได้อย่างไรดี” จากวิธีการดังต่อไปนี้ครับ ซึ่งมีทั้งหมด 4 วิธี อันนี้ขอยกคุณค่าและประโยชน์ทั้งหลายจากบันทึกนี้ไว้ให้แก่อาจารย์ ประจำหลักสูตร วท.ม. สาขาการวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่ มอ. คือ อาจารย์ ดร.สาวิตรี  ลิ้มชัยอรุณเรือง และศ.ดร.เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย ที่ได้พร่ำสอน (จนเหนื่อย) เพราะพวกเราที่เรียนก็งง ไม่ได้พบของจริง จนได้ออกฝึกปฏิบัติครับ ถึงบางอ้อ บางอ่อกัน

     การตรวจสอบสามเส้า (Triangulation) 4 วิธี คือ

          1. การตรวจสอบด้านข้อมูล หรือ Data triangulation ซึ่งเป็นการดูความถูกต้องของข้อมูลทั้งจากแหล่งที่มา ช่วงเวลา สถานที่ และบุคคล ว่าหากต่างช่วงเวลา สถานที่ และบุคคลไปแล้ว ข้อมูลจะแตกต่างกันไปหรือไม่

          2. การตรวจสอบด้านผู้วิจัย หรือ Investigator triangulation เป็นการตรวจสอบในตัวนักวิจัยด้วยกันว่าหากเป็นคนละคนกันไปเก็บข้อมูลมาได้ จะแตกต่างกันหรือไม่ประการใด

          3. การตรวจสอบด้านทฤษฎี หรือ Theory triangulation อันนี้เป็นการตีความให้ความหมายของข้อมูลที่ได้มา โดยการปรับเปลี่ยนกรอบคิด หรือทฤษฎีดูว่าผลการให้ความหมาย หรือการตีความ หรือข้อสรุปจากเหตุการณ์เดิม จะเหมือนกันหรือแตกต่างไปจากเดิม

          4. การตรวจสอบด้านระเบียบวิธีการวิจัย หรือ Methodology triangulation เป็นการทดสอบว่าข้อมูลที่ได้มาจากวิธีการเก็บรวมรวมข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน จะแตกต่างกันหรือไม่ หรืออาจจะใช้วิธีการเก็บรวมรวมข้อมูลผสมผสานกัน เปรียบกับการใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงอย่างเดียว ว่าได้ข้อมูลออกมาเป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกัน

ติดตามดูรายละเอียดต่อได้อีกที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Triangulation_(social_science)

หมายเลขบันทึก: 7132เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2005 00:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ไหนๆ ผ่านมาแล้ว เจอประเด็นนี้เข้า คงต้องบอกว่า ให้ชัดเข้า ระหว่างความตรง (validity) และ ความเชื่อถือได้ (reliability) อันนี้ผมไม่ขอพูถึงเรื่องรักสามเส้า (Triangulation) ครับ เพียงแต่สะดุดนิดนึงตรงย่อหน้าแรกเท่านั้นครับ ทั้งสองนี้เขามองคนละประเด็นกัน ความตรง (validity) และความเที่ยง (Reliability) แต่ทั้งสองอย่าง ทำเพื่อให้การเก็บข้อมูลได้ความเป็นจริงมากที่สุด การเก็บข้อมูลต้องอาศัยเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เครื่องมือที่ง่าย (ยาก) ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี ก็คือ แบบสอบถาม (ผมเรียกรวมๆ ละกันครับว่าแบบสอบถาม ทั้งแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์) คำถามคือ ทำอย่างไร ให้เราวัดในสิ่งที่เราต้องการวัดได้ ทำอย่างไรให้เราวัดสิ่งนี้ ซ้ำอีกกี่ครั้ง ก็ยังได้ค่าใกล้ๆ ค่าเดิม เท่าเดิม ส่วนการยืนยันว่าจะได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ อย่างเดิมนั้น เขาประมาณเอาแค่ 95 % ของการทำก็พอใจแล้ว ที่เขานิยมสมมติกันก็เป็นการปาเป้า เป้าเล็ก/ ใหญ่ไม่สำคัญ ถ้าเป้า มีวงกลม 10 วง วงในสุดเป็นหมายเลข 10 และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการ ถ้าเราปาลูกดอก 5 ครั้ง (พอ) เข้าเป้าตรงกลาง ในวงกลมในสุด (10) ทั้ง 5 ครั้ง นั่นคือ เครื่องมือของเรา มีความตรง (validity) และมีความเที่ยง (reliability) นั่นคือปา 5 ครั้งตรงเป้า ทั้ง 5 ครั้งไม่หลุดไปไหน แต่ถ้าปา 5 ครั้ง ลูกดอก ไม่เข้าเป้า 10 เลย แต่ไปกระจุกอยู่ที่ วงกลม ของเลข 4 ทั้ง 5 ครั้ง แสดงว่าเครื่องมือนั้น (การปาเป้า) มีความเที่ยง (reliability) แต่ไม่มีความตรง (validity) เพราะเป้าที่เราต้องการคือ 10 ไม่ใช่ 4 แต่ถ้าเราปาเป้า 5 ครั้ง กระจายไปทั่ว ไม่อยู่ที่ใดที่หนึ่ง นั่นหมายคามว่าการปาเป้า ของเราไม่มีทั้งความตรงและความเที่ยง คือไม่เข้า (ตรง) เป้า (10) และ ไม่เที่ยง เพราะ ปาไม่ซ้ำจุดเดิม (หรือใกล้เคียง)  อันนี้ที่เขาใช้อธิบายคำว่า validity และ reliability
การตรวจสอบความตรง และความเที่ยงนั้น เขาก็มีวิธีกัน ผมคงไม่ลงในรายละเอียด เพราะผมง่วงแล้วครับ และคงไม่ใช้ประเด็นหลัก ของเรื่อง ผมขอเลียบๆ ความเที่ยงนิดนึงว่า การวัดความเที่ยงนั้น ที่เราคุ้นเคย และร้อง อ๋อ กันนั่นคือ การวัดค่าความสม่ำเสมอภายใน (ค่าความคงที่ภายใน) (Internal Consistency) หรือเรารู้จักกันในนามของ การวัดค่าความน่าเชื่อถือของข้อมูล (reliability) และการวัดที่ใช้อยู่คงเป็น KR-20, KR-21, alpha และอื่นๆ และแน่นอน การวัดค่านี้ เราต้องแปลงทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นตัวเลข เพื่อการคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิง ปริมาณ (Quantitative data) หรือข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data) ก็ตามที
โดยสรุปก็คือการทำ standardize เครื่องมือ (เก็บข้อมูล) นั่นเอง

ผมย้ำอีกครั้งครับว่า ผมพูดถึงย่อหน้าแรกเท่านั้นครับ เพื่อให้ชัดเจน ระหว่าง validity กับ reliability จะได้ไม่หลงประเด็นกันครับ อาจจะพาลเลยไปถึงย่อหน้าที่สองด้วยครับ (ฮา) ผมเริ่มมึน งง กับความง่วง

และวอนท่าน ชายขอบ เขียนขยายความให้ชัดๆ อีกนิดว่า triangulation มันเป็นอย่างไรกันแน่ ทำทำไม ส่วนวิธีทำคงบอกไปแล้ว 4 วิธี น่าจะอธิบายความหมายของ triangulation ได้ตรงประเด็นกว่านี้ครับ เฮ้อ รักเส้(ศร)าเดียวก็ เศร้าแล้ว อย่าให้ถึง สามเลย 8-( แบบว่าผมไปอ่าน encyclopedia แล้วแปลไม่ค่อยถูกครับ แต่เป็น free encyclopedia  ที่เยี่ยมยอดครับ ผมไปใช้บริการบ่อยเหมือนกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท