การประเมินตามสภาพจริง (11)


การเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Learning) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เรียน ในการประยุกต์ใช้ทักษะที่เรียนรู้มาให้เข้ากับชีวิตจริงและสภาพแวดล้อมที่เป็นบริบท
บันทึกฉบับที่แล้วครูอ้อยเขียนเรื่อง  การวัดผลการเรียนรู้ด้านความรู้  ท่านผู้อ่านสนใจและอ่านได้ที่ การประเมินตามสภาพจริง (10)   พอมาถึงบันทึกนี้  ครูอ้อยจะเขียนในเรื่อง  วิธีการวัดผล  กับ  เครื่องมือวัด 
น่าสนใจนะคะ  ยิ่งอาชีพเป็นครูยิ่งต้องสนใจเชียวค่ะ 
ปัจจุบันนี้ท่านผู้ปกครองก็ให้ความสนใจเหมือนกัน  เมื่อวันก่อนยังมี อีเมลล์มาหาครูอ้อย  มาจากท่านผู้ปกครองที่เป็นห่วงลูกหลานของตนเอง  สนใจเรื่อง  แบบทดสอบวัดผลนี่ล่ะค่ะ 
วิธีการวัดผลและ เครื่องมือวัด  ที่สามารถนำมาใช้ควบคู่กับการจัดการเรียนการสอน  ได้แก่  แบบทดสอบ.....แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์  (Achievement Test) .....แบบทดสอบวัดความถนัด  (Aptitude Test).....แบบทดสอบความสามารถจริง  (Authentic Performance Test) 
แต่สำหรับบันทึกนี้  ครูอ้อยจะกล่าวถึง  แบบสังเกต   แบบสัมภาษณ์  แบบสอบถาม  และแบบจัดอันดับคุณภาพ 
เครื่องมือวัดอีกประเภทหนึ่งคือ...
แบบสังเกต.....เป็นการเฝ้าดูพฤติกรรมของบุคคลอย่างมีจุดมุ่งหมาย  โดยอาจทำเป็นกรอบของการสังเกต  เช่น  แบบตรวจสอบรายการ  (checklist)  แบบสังเกตประเมินค่า  ในการสังเกตนั้น  ต้องระวังไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว  มิฉะนั้นพฤติกรรมอาจจะเปลี่ยนแปลงจากการเป็นจริง  ต้องสังเกตด้วยความพินิจพิเคราะห์  เพื่อมองเห็นรายละเอียดตามกรอบที่ต้องการ  ต้องขจัดปัญหา  หรือความลำเอียงส่วนตัวออกไป  เพื่อให้ได้ข้อมูลตรงตามที่สังเกตจริงๆ 
แบบสัมภาษณ์...เป็นการสนทนาอย่างมีจุดมุ่งหมาย  ตามจุดประสงค์ที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า  ใช้แก้ปัญหาการเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถจะเก็บได้  จากพฤติกรรมการแสดงออก  หรือการตอบคำถามในแบบสอบ  แบ่งเป็นการสัมภาษณ์แบบมาตรฐาน  คือ  มีการวางแผน  การเตรียมตัวอุปกรณ์  เครื่องมือ   ซึ่งครอบคลุมจุดมุ่งหมายและอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์  และการสัมภาษณ์แบบไม่มาตรฐาน  หรือแบบปลายเปิด  ไม่มีการกำหนดแบบไว้ตายตัว   เป็นการสัมภาษณ์ทั่วไป  เปิดโอกาสให้แสดงออกโดยไม่ถูกบังคับ 
แบบสอบถาม.....มีลักษณะคล้ายแบบทดสอบ  คือ  ให้ผู้ตอบแสดงความรู้สึกออกมาจากใจจริง  แต่ที่แตกต่างคือ  การแสดงความคิดเห็น  ไม่มี ถูก ผิด  เพราะต้องการได้ข้อมูลที่เป็นความจริงมากที่สุด  แบบตรวจสอบรายการ  แบบสำรวจ  เป็นลักษณะหนึ่งของแบบสอบถาม  แต่จุดมุ่งหมายในการถามแตกต่างกัน  แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ  แบบปลายเปิด  ให้ผู้ตอบแบบสอบถามได้โดยเสรี  และแบบปลายปิด  ให้ผู้ตอบแสดงความคิดเห็นโดยมีตัวเลือกให้  ไม่มี ถูก ผิด  สะดวกกับการจัดทำข้อมูล  ถ้านำเอาข้อกระทงคำถามจากปลายเปิดมาคัดแปลงเป็นแบบปลายปิด  จะทำให้แบบสอบถามมีคุณค่ายิ่งขึ้น  ในบางครั้งอาจเป็นแบบผสม  คือ  มีทั้งแบบปลายเปิด  ปิด  อยู่ด้วยกัน 
แบบจัดอันดับคุณภาพ...เป็นการวัดคุณลักษณะที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขโดยตรงได้  เป็นการวัดตามลักษณะของคุณภาพ  อาจเป็นระบบมาตราพรรณาพฤติกรรม  หรืออาจเป็นแบบใช้ตัวเลขของอันดับแทนคำอธิบาย 
วันนี้ครูอ้อยขอจบเพียงเท่านี้..บันทึกต่อไปจะเป็นเรื่อง  การวัดผลการเรียนรู้ด้านทักษะกระบวนการ  ..โปรดติดตามนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 73795เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2007 04:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • มาขอบคุณครับผม
  • ผมกำลังทำเรื่องการประเมินโครงงานภาษาอังกฤษอยู่ครับ(Project Work Assessment)
  • คงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่อ้อย เพราะใช้เครื่งหลายอย่างเหมือนกันครับ

สวัสดีค่ะ  คุณขจิต

  • ดีใจที่เครื่องมือวัดและประเมินผลที่บันทึกของครูอ้อยจะได้ใช้ประโยชน์บ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ

การประเมินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก   เมื่อครูอ้อยเข้าสู่การเป็นผู้ตรวจผลงาน  จึงรู้ว่า  ต้องมองตรงนี้เป็น หนึ่งในจุดตรวจที่สำคัญที่สุดค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท