ความลับของผม ทำสิ่ง “แตกต่างและยาก” จะได้ไม่ต้องไปแข่งกับใคร


ผมไม่กลัวความยาก ผมก็ต้องหาวิธีว่าสิ่งที่ทุกคนคิดว่ายากนั้น มีวิธีการทำอย่างไร
 

จากประสบการณ์การดำรงชีวิตที่ผ่านมา ผมมีนิสัยพื้นฐานที่ชอบทำอะไรให้แตกต่างจากคนอื่นในแทบทุกเรื่องที่เป็นไปได้ ไม่ใช่อยากเด่นอยากดังอะไร แต่ไม่ชอบไปแข่งกับใครโดยไม่จำเป็น เพราะผมรู้สึก(ซึ่งพบว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง) ว่าการทำเหมือนคนอื่นนั้นจะต้องไปแข่งกับคนอื่น แต่การทำแตกต่างไปนั้น จะมีคู่แข่งขันน้อย หรือไม่ต้องแข่งขันเลย

 

เช่นการทำงานนอกระบบหรือจะว่าอิงระบบก็ได้ ผมก็ทำแบบไม่มีใครแข่งขันเลย ในเครือข่ายปราชญ์ที่ผมทำงานอยู่นั้น แทบไม่มีนักวิชาการทำงานอยู่เลย จึงเรียกได้ว่าไม่มีคู่แข่ง

 

หรือในมหาวิทยาลัย ก็จะมีการแข่งหรือแย่งกันสอน และทำงานวิจัย แบบต้องสับหลีกสาขากัน ผมก็จะไม่แข่ง แต่รอให้ทุกคนเลือกให้เสร็จก่อนแล้วที่เหลือ ที่ไม่มีใครทำ ผมจะรับเอง หรือถ้าทุกคนทำงานทุกอย่างแล้ว ผมก็จะไปสร้างงานใหม่ของผมเอง ที่ยังเป็นช่องว่างของระบบ เพราะต้องการเสริมระบบแต่ไม่ต้องการไปแข่งกับใคร

 

ตอนไปทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าวกินเอง ผมก็ไม่ต้องการไปแย่งทรัพยากรกับใคร จะใช้เฉพาะที่ไม่มีใครต้องการแล้ว เช่น ฟางมาคลุมนา ก็ไปเอาที่เขาไม่ต้องการและกำลังจะเผาทิ้ง ไม่แย่งแรงงานการไถ การดำ หรือวัสดุอินทรีย์กับใคร ไปขนเฉพาะที่เขาจะทิ้ง หรือกำลังจะเผาแล้วเท่านั้น

 

ผมเลี้ยงวัวและควายเองก็เพราะไม่ต้องการไปแย่งปุ๋ยคอกกับใคร หญ้าและฟางที่ให้วัวควายกิน ก็ได้มาจากที่เขากำลังจะเผาทิ้ง หรือฉีดยาฆ่าตามคันนา โดยไปขอเขาไว้ ว่าอย่าฉีดเลย เดี๋ยวจะมาเกี่ยวทำความสะอาดให้

 จนกระทั่งการปลูกข้าว ผมก็จะไม่ขาย แต่เก็บไว้รับประทานเอง แจกบ้าง แลกบ้าง เพื่อจะได้ไม่ไปแข่งขันกับใครในระบบตลาด  

ที่พูดมาดูเหมือนจะง่ายไปหมดนะครับ แต่จริงๆแล้ว ทำได้ยากพอสมควรทีเดียว สำหรับคนที่ไม่เคย และไม่พร้อมที่จะทำ

  

ความยากมาจาก เราต้องมีความพร้อมที่จะทำอย่างแตกต่าง ต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความรู้ และระบบสำรองต่างๆอย่างพร้อมเพรียงจึงจะทำในสิ่งที่แตกต่างได้อย่างง่ายๆ

  

ไม่งั้นแล้วขอพูดไว้เลย ว่า ทำไม่ได้หรอกครับ

  

พอพูดอย่างนี้ หลายคนอาจคิดว่า เพราะผมโชคดีที่พร้อมนะซิจึงทำได้

   

คำตอบก็คือ ใช่ แต่ไม่ทั้งหมด

  

ผมพร้อมไม่ใช่ผมรวย หรือมีทรัพยากรมาก

  

คนที่อ่านประวัติผมอย่างละเอียดจะทราบดีว่า ผมมาจากครอบครัวยากจน อาศัยกินข้าววัดมาจนโตเข้ามหาวิทยาลัย ผมจะรวยมาจากไหน ผมไม่รวยหรอกครับ แต่ผมเป็นคนเตรียมพร้อมหมดทุกเรื่อง ในทุกสถานการณ์

  

ยิ่งฟังยิ่งงง ใช่ไหมครับ

 

เอาอย่างนี้ ให้ลองนึกดูว่า ลูกชาวนาจนๆ ไปอยู่วัด กินข้าวก้นบาตรไปวันๆ จะมีอะไรนักหนา แล้วผม เอาอะไรมาพร้อม แต่บังเอิญผมเป็นคนเตรียมพร้อม

 

ผมพร้อมที่ใจครับ

 

ผมไม่เคยกลัวความยาก

 

ผมกลับชอบอะไรที่ยากๆอีกต่างหาก

 

ถ้าง่ายๆใครอยากทำ ทำไปเลย ผมไม่สนใจ

  

ทีนี้เมื่อผมไม่กลัวความยาก ผมก็ต้องหาวิธีว่าสิ่งที่ทุกคนคิดว่ายากนั้น มีวิธีการทำอย่างไร

  

ผมจึงชอบคำพูดของคุณไตรภพ พูดในรายการเกมส์เศรษฐีว่า ไม่มีอะไรยาก หรือง่าย มีแต่รู้กับไม่รู้

  

นี่คือความลับของผมครับ

  

ผมก็เพียงไปค้นหาวิธีที่ทุกคนคิดว่า ยาก ว่า ทำอย่างไร และโดยธรรมชาติ สิ่งที่ว่ายากก็จะ ง่าย ได้โดยอัตโนมัติ

  

พอผมรู้เคล็ดของเรื่อง ยาก แล้ว เรื่องที่ว่ายาก ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

  

คราวนี้คงชัดขึ้นนะครับ

 

แล้วผมก็พร้อมที่จะทำสิ่งที่แตกต่างได้แล้ว เพียงแต่รอให้ทุกคนเลือกสิ่งที่ตนคิดว่าง่าย ตรงกับต้องการของตนไปหมด และเพียงพอแล้ว ก็จะเหลือ เรื่อง ยาก ไว้ให้ผม

  

ง่ายไหมครับ เข้าทางผมพอดี แบบวางลูกบอลที่จุดโทษที่ไม่มีผู้รักษาประตูเลยละครับ เตะเข้าประตูไปเลย

  

แล้วผมก็ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง (จากผู้ร่วมงานส่วนหนึ่ง) ทั้งทั้งที่ผมไม่ควรจะได้รับเกียรติอันนี้หรอกครับ (บางคนก็ยังค่อนแคะ ต่อต้านครับ) ว่าทำงานยากๆได้ ทั้งๆที่ผมไม่เคยคิดว่าเป็นเรื่องยากแม้แต่นิดเดียว

  

ตอนนี้ก็ไม่ลับแล้วนะครับ

  

ใครสนใจเชิญเลียนแบบได้ครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น มีแต่ดีใจที่ทุกคนมาช่วยกันทำเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย และกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป เพื่อขยายฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนครับ

  
หมายเลขบันทึก: 79906เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ผมชอบคำ คำนี้  จริง ๆ  ครับ  "ไม่ใช่อยากเด่นอยากดังอะไร แต่ไม่ชอบไปแข่งกับใครโดยไม่จำเป็น เพราะผมรู้สึก(ซึ่งพบว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง) ว่าการทำเหมือนคนอื่นนั้นจะต้องไปแข่งกับคนอื่น แต่การทำแตกต่างไปนั้น จะมีคู่แข่งขันน้อย หรือไม่ต้องแข่งขันเลย"  บางครั้งทำตามก็ว่า  "เป็นกบในกะลา"  พอคิดให้มันแตกต่าง  กลับกลายเป็น  "นอกคอก"  ซึ่งคำหลังนี้ผมไม่ค่อยชอบเลยครับ...

ขอเสริมอีกนิดหนึ่งครับ

ไม่ว่าในกะลา หรือ ในคอก ไม่มีความจำเป็นเลยที่เราต้องอยู่ในนั้น

หากมีใครบอกผมอย่างนั้น ผมก็จะบอกว่า "ก็ถูกแล้ว ก็ผมไม่ใช่สัตว์ในคอก(วัว ควาย)นี่หน่า"

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่คิดไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขาเท่าไรนัก 

ขอบคุณครับคุณผู้ชายป้ายเหลือง และคุณอุทัย ที่เข้ามาแสดงเจตนาว่าจะทำตัวให้แตกต่าง ในทางที่ดี ที่ถูกต้องกว่าเดิม

แสดงว่าผมก็ไม่ได้คิดอยู่คนเดียวในโลก และมีคนร่วมอุดมการณ์หลายคน

  • ในมหาวิทยาลัย ก็จะมีการแข่งหรือแย่งกันสอน และทำงานวิจัย  เห็นด้วยค่ะอาจารย์
  • ตอนนี้กำลังเจอพอดี  ทางภาควิชาเศรษฐศาสตร์ได้เสนอวิชาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิชาการศึกษาทั่วไป(GE) กลายเป็นว่ามีอาจารย์จากต่างคณะแย่งกันลงชื่อสอนเต็มไปหมด  ดูจากรายชื่อก็งงๆ ว่า "ทำไมอาจารย์ถึงเลือกจะมาสอน"
  • ท่านเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดีแค่ไหน  ยังสงสัยว่าทางมหาวิทยาลัยนำเกณฑ์อะไรมาตัดสินว่า  ใครควรจะได้สอน
  • ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังตั้งคำถามว่า "ที่มีผู้ลงชื่อสอนมากมาย เป็นเพราะว่าคณะอื่นไม่มีโหลดการสอน  หรือเพราะว่ามีความสนใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริงกันแน่"
  • ทำให้ตอนนี้หว้ารู้สึกถอดใจแล้วค่ะ  ไม่อยากไปแข่งกับใคร การเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำได้หลายทาง  และปกติหว้าก็ได้สอดแทรกในวิชาที่สอนมาหลายปีแล้ว  ไม่เคยคิดว่าจะต้องไปแก่งแย่งกับใครเลย...
  • ปกติจะเป็นคนแปลกค่ะ  คิดว่าถ้าโดนมอบหมายให้สอนวิชาง่ายๆหรือวิชาเดิมๆ แสดงว่า"เขาดูถูกว่าเราไม่มีความสามารถ" แต่ถ้าได้สอนวิชายากๆ มีเราสอนคนเดียวในมหาวิทยาลัย "มันปลื้ม"  แต่โดนบางคนค่อนขอดว่า"เราโง่"
  • รู้สึกดีจังค่ะ   ที่ไม่ได้คิดอย่างนี้คนเดียว
     มาบอกว่า โรคชอบของยาก นี่ผมก็เป็นครับอาจารย์ .. เป็นมานานแล้วด้วย  พอได้ยินใครบอกว่า ทำไม่ได้ ก็จะเถียงในใจทันทีว่า มันคงต้องทำได้ แต่ด้วยวิธีไหนเท่านั้น แล้วผมก็จะบ้าอยู่กับเรื่องนั้น ไม่ยอมแพ้มัน สู้กับมันแบบไม่ยอมถอย แต่ไม่ได้มีคู่ต่อสู้ที่เป็นคนนะครับ เพราะพอเขาสรุปแล้วว่าทำไม่ได้ ก็พากันเดินหายไปหมด  เราก็เลยไม่ต้องปวดหัวไปแข่งกับใคร คู่ต่อสู้คือตัวปัญหานั้นๆ  ผมชนะมาแล้วหลายครั้ง หลายเรื่อง โดยไม่มีใคร ผู้ใดต้องแพ้ผมเลย  เกิดเป็นความรู้อยู่ในตัวที่พูดได้ดังๆโดยไม่ต้องอ้างตำรา  และไม่ต้องกลัวผิดด้วย 

อาจารย์ลูกหว้า อาจารย์พินิจ ผมว่าดูเหมือนว่าเราจะอยู่เรือลำเดียวกันในเรื่องนี้ พอมีอะไรใหม่ ทุกคนจะแย่งกันทำ โดยไม่รู้ว่าทำได้ไม่ได้ แต่สักพักก็ลงตัวครับ

เข้าหลักการของ

หนทางพิสูจน์ม้า เวลา (และงาน) พิสูจน์คน

ว่าใครตัวจริงตัวปลอม ไม่นานก็ค่อยๆชัดครับ

อันนี้อย่างไรก็ต้องใช้เวลา ขืนมาตั้งประเด็นคุยกันก่อนทำงาน จะไม่มีวันจบครับ และจะทะเลาะกันโดยเปล่าประโยชน์ครับ

นี่เป็นวิธีที่ผมใช้ได้ผลมาแล้วครับ

เรียน อ.แสวง

เห็นด้วยค่ะ  กับคำพูดว่า  หนทางพิสูจน์ม้า เวลา (และงาน) พิสูจน์คน 

คำพูดนี้ใช้ได้ตลอดกาล  แต่กว่าคนจะเห็น คนทำก็เริ่มท้อแล้วค่ะอาจารย์  

ถ้าคนทำรู้ว่าเราทำอะไรเพื่ออะไรจะไม่ท้อครับ ที่ท้อเพราะ เราทำอย่างหนึ่งไปหวังผลอีกเรื่องหนึ่งนะครับ ลองใจเย็นๆ นั่งทบทวนตัวเอง แล้วจะเข้าใจประโยคนี้ครับ แล้วจะไม่ท้อครับ

สวัสดีครับ อ.แสวง

ขออนุญาตินำบทความไปรวมครับ ขอบคุณมากครับ

http://gotoknow.org/blog/mrschuai/117622

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขออนุญาตพุดว่า.....

ถ้าสิ่งยากๆและแตกต่างที่อาจารย์กำลังทำ ให้ผล ว่าดีมากๆ ไม่ว่า จะในด้านไหน ก็จะมีคนตามค่ะ แต่อาจารย์ คงสนุกที่จะคิดแตกต่างไปอีกใช่ไหมคะ

อย่างอ.จ.ลูกหว้า บอกว่า มีบางวิชา มีคนสอนกันเยอะ เพราะเขาเห็นว่า สอนแล้วดี คนนิยม มีคนมาเรียนมาก ค่ะ

แม้ในทางธุรกิจ ถ้าเราทำอะไรเป็นคนแรกแล้ว ดี เดี่ยวก็มีคนตาม และอาจทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขาเห็นจุดอ่อนที่จะต้องปรับปรุงแล้ว

เรื่องนี้ เป็นสัจธรรมค่ะ

  • เมื่อดีก็ทำเยอะๆ ครับ
  • เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คนอื่นไม่รู้ ไม่เข้าใจ
  • ถ้าเรายืนหยัด  คนอื่นก็จะตามมา
  • สวัสดีครับ

 

  • เป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยมครับ
  • ผมก็โดนข่อนขอดจากเพื่อนรักเป็นประจำเหมือนกัน ว่าไปรับมาทำทำไม งานที่ไม่มีใครเขาทำ
  • อาจารย์ประกาศ "ใครสนใจเชิญเลียนแบบได้ครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น" บางทีทั้งแจกทั้งแถมไม่มีใครเอาครับ

ขอบคุณครับ

อย่างน้อยผมก็มีคนเผชิญชตากรรมเช่นผม เพิ่มอีกหนึ่งคน

 

ไชโย้ ดีใจจังเลย

ขออนุญาตนำปรัชญานี้ไปใช้ในชีวิต การทำงานบ้างนะคะ  ขอบคุณค่ะ

ขอบอกวาโดนทีเดียวครับ อ.แสวง  อาจารย์มีความพร้อมที่ใจ  รู้จักเตรียมใจ  เสริมใจ  แต่ไม่ถอดใจครับ

แนวคิดนี้คือการพึ่งตนเองแบบพอเพียง  และมีเหตุมีผล  ไม่ทุกข์ใจกับความอยากที่ทุกๆคนมี  พอใจแต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตครับ  โดยเฉพาะยึดวิถีการให้นั้นประเสริฐสุด

ชีวิตผมก็เจอแต่ของยากตลอดชีวิต  ผมถือว่าเป็นกรรมที่ผมต้องชดใช้  ไม่เปรียบเทียบของง่ายๆอย่างคนอื่นได้  ไม่ทุกข์ใจคิดแต่ปัญหาตั้งแต่ต้น  ถืองานยากเป็นโอกาสของชีวิต

ชีวิต  และวิธีคิดอาจารย์แสวงนี่คือของจริงครับ  ชีวิตเราวนว่าย  เบียดเสียดอยู่กับของปลอมๆเต็มไปหมด

ขอบคุณครับลุงเอก

เพราะผมไม่เก่ง และ ไม่ค่อยชอบแข่งขันกับใครครับ ก็เลยโชคดีที่เรื่อง(คนอื่นคิดว่า)ง่ายๆเขา(แย่งกัน)ทำกันไปหมดแล้ว เหลือแต่เรื่อง(ที่คนอื่นคิดว่า)ยาก แบบไม่มีคู่แข่งให้เราทำแบบสบายๆ หลายเรื่องเลยครับ

แต่ ผมว่า แข่งขัน มาจาก ใจแคบ ครับ

ขยาย "" ให้เป็น "" ในตัวแรก

และขยาย "" เป็น "" ในตัวที่สอง

เป็น "แบ่งปัน" น่าจะ ใจกว้าง ดีกว่านะครับ

โลกจะน่าอยู่กว่านี้เยอะเลยครับ

 

ขอบคุณมากครับ

 

ขอบคุณสำหรับ หลักการดีๆครับ เป็นสิ่งที่ดีมากครับ ผมเองก็ชอบทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร แต่พอทำ หลายๆคนเขาก็หาว่าผมอยากเด่น จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ ผมเพียงแค่อยากไม่ค่อยอยากเหมือนใคร พอเวลาเค้าต่อต้านผม ก็ไม่รู้จะคิดหาสำนวนใด ไปพูดให้เข้าได้ฟัง และก็เข้าใจ

ก็มาเจอบทความนี้ ถึงทำให้ผมสามารถอธิบาย ได้ ว่าทำไมผมถึงได้ชอบทำอะไรที่มันแตกต่าง

 

ขอบคุณมากๆครับ อาจารย์ :-)

ขอบคุณครับ

ไชโย้ มาแล้วอีก ๑ ที่คิดเหมียนๆกัน 

รีบมานะครับ เรารับไม่มาก

เพราะถ้ามาก ปรัชญาเราจะผิดทันทีครับ

มันจะไม่แตกต่างนะซิครับ........อิอิ

นิจสถิตย์ บูรพาเกียรติภิรมย์

อาจารย์ครับ ผมขออนุญาติ นำบทความ ของอาจารย์ ไปเผยแพร่ตามเว็บบอร์ท ของผมได้มั่ยครับ คือผม อายุ16 ผมเห็นว่า บทความนี้ดี ผมเลยอยากจะให้คนอื่นได้อ่าน ด้วย

โดยอ้างอิงถึง ชื่อ อาจารย์ ได้มั่ยครับ

นิจสถิตย์ บูรพาเกียรติภิรมย์

เผยแพร่แล้วนะครับ ครู

http://forums.sem.or.th/index.php/topic,12935.0.html

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท