ขอบเขตของสุขภาวะทางจิตวิญญาณในบริบทไทย


สุขภาวะทางจิตวิญญาณ


ขอบเขตของสุขภาวะทางจิตวิญญาณในบริบทไทย   

ผศ.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ
สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


          
ตอนที่ 1   สถานการณ์ของสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณ
              ปัจจุบันประเด็นเรื่องจิตหรือจิตวิญญาณของคนและสังคมอยู่ในระดับวิกฤติมาก และมากขึ้นทุกขณะ หลายท่านให้ความเห็นดังนี้
“สังคมกำลังมีทุกข์มาก บกพร่องมาก รุนแรง ในระดับแย่มาก “
“สังคมที่เป็นอยู่ ขาดแคลนในเรื่องของจิตมาก  ต้องการการพัฒนาอย่างยิ่ง”
“คนจำนวนมากไม่เข้าใจสารัตถะความสำคัญของการมีชีวิต  กำลังหลงทาง”
“เป็นวัฒนธรรมของความโลภ เป็นทาสของการบริโภค เป็นทาสของการตลาดอย่างแท้จริง พฤติกรรมแบบนี้หรือวิถีชีวิตแบบนี้จะนำไปสู่ ความโลภ โกรธ หลง ความเห็นแก่ตัว ความขัดแย้ง”  “สังคมต้องการสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคน อันเป็นฐานรากที่จะทำให้สังคมเกิดสุขภาวะในที่สุด”

ตอนที่ 2  องค์ประกอบของชีวิต หรือองค์ประกอบของสรรพสิ่ง
              ฐานคิดวิทยาศาสตร์แนวใหม่ อ้างถึง Fritjof  Capra  ใน Tao of physic and Web of  life  เชื่อว่า ชีวิตทั้งหลายในระดับต่าง ๆ ล้วนดำรงอยู่อย่างเป็นระบบ ในลักษณะของระบบชีวิตที่โยงใยอยู่ด้วยกันเป็นข่ายใย โดยที่ระบบนิเวศเป็นระบบที่ใหญ่และสำคัญมากที่สุด  การเข้าถึงความจริงในระบบนิเวศ จะทำให้เข้าใจในระบบชีวิตทั้งหลาย เนื่องจากเชื่อว่าการจัดระบบองค์กรของระบบนิเวศ คือหลักการจัดองค์กรของระบบชีวิตทุกระบบ มนุษย์ในฐานะระบบชีวิตหนึ่งของระบบใหญ่ จึงต้องจัดแบบแผนชีวิต ระเบียบสังคมให้สอดคล้องกับแบบแผนของระบบนิเวศ
 ในขณะที่เมื่อมองในระดับเฉพาะคน   และโดยฐานคิดของศาสนาพุทธ เชื่อว่าชีวิตมีรูปและนาม ตามขันธ์ 5  แต่การอธิบาย กายกับจิต จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดเช่น บางกลุ่ม เชื่อว่ากายกับจิตเป็นคนละส่วนแต่ทำงานร่วมกัน บางท่านในกลุ่มนี้ก็จะเชื่อว่า เมื่อกายดับ จิตไม่ดับแต่จะเปลี่ยนรูปไป   ส่วนบางกลุ่ม เชื่อว่า กายและจิต แยกกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่เกิดคู่กันเสมอ เกิดและดับพร้อมกันตลอดเวลา นอกจากนี้บางท่าน ยังเชื่อว่าองค์ประกอบของชีวิตนอกจาก กายกับจิตแล้วจะมีปัญญาเข้ามาอยู่ร่วมกัน
              หากใช้ฐานคิดทางอภิปรัชญา(Metaphysics) ทั้งที่เป็นเอกนิยม และ(Monism)ทวินิยม (Dualism)และพหุนิยม (Pluralism)  มาอธิบายเรื่อง วัตถุนิยม(Materialism)จิตนิยม (Idealism)รวมถึงทฤษฎีธรรมชาตินิยม (Naturalism)  โดยในกลุ่มวัตถุนิยม(Materialism)เชื่อว่า กายหรือสสารเป็นสิ่งที่เป็นจริง จิตเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากการทำงานของกายเท่านั้น  มนุษย์มีร่างกาย ประกอบด้วยอวัยวะ กลไกต่างๆสลับซับซ้อนมากและสามารถทำงานได้ ส่วนจิตไม่มีจริง ความรู้สึก ความนึกคิดเข้าใจ เป็นผลของการรวมตัวของอวัยวะ ถ้าอวัยวะไม่รวมตัวอย่างเป็นระบบแล้ว ความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น ขณะที่กลุ่มจิตนิยม (Idealism) เชื่อว่ากายเป็นเพียงปรากฎการณ์ของจิต เช่น ร่างกายมนุษย์เป็นเพียงปรากฎการณ์ชั่วคราวของจิต เมื่อร่างกายดับไป จิตยังคงอยู่ ซึ่งบางทีอาจกลับคืนสู่รูปเดิมหรือเปลี่ยนรูปไปเป็นอย่างอื่น จิตจึงเป็นต้นตอของสรรพสิ่ง  ในกลุ่ม ทฤษฎีธรรมชาตินิยม (Naturalism)ถือว่ามนุษย์มีทั้งร่างกายและจิต เกิดมาพร้อมกัน ทำงานร่วมกันและมีความสำคัญเท่ากัน  เมื่อมนุษย์ตายทั้งร่างกายและจิตก็ดับไปด้วยกัน จิตจึงไม่ได้เป็นอิสระและเป็นอมตะตามความเชื่อถือของกลุ่มจิตนิยม


ตอนที่ 3   ความหมายของ จิต- จิตวิญญาณ-ปัญญา

ความหมายของ จิต


1.   คุณลักษณะของจิต
      • จิตเป็น “ปรมัตถสัจ” (ultimate truth) ยากที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้สมมติบัญญัติมาเรียก 
      • จิตเป็นสภาวะที่เป็นนาม เป็นนามธรรม ที่ไม่มีรูปร่าง  ไม่มีตัวตน   จิตเป็นนามตามขันธ์ 5 
      • จิตมีคุณสมบัติเป็นพลังงาน  แต่ในรายละเอียดจะคิดต่างกัน บางท่านคิดว่าเป็นพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า  บางท่านเชื่อว่าเป็นพลังงานรูปแบบอื่นแต่เป็นพลังงานที่มีอำนาจในตัวเอง บางท่านเชื่อว่าเป็นมนฑลของสนามพลังงาน

      • จิตเป็น “ปรมัตถสัจ” (ultimate truth) ยากที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้สมมติบัญญัติมาเรียก       • จิตเป็นสภาวะที่เป็นนาม เป็นนามธรรม ที่ไม่มีรูปร่าง  ไม่มีตัวตน   จิตเป็นนามตามขันธ์ 5       • จิตมีคุณสมบัติเป็นพลังงาน  แต่ในรายละเอียดจะคิดต่างกัน บางท่านคิดว่าเป็นพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า  บางท่านเชื่อว่าเป็นพลังงานรูปแบบอื่นแต่เป็นพลังงานที่มีอำนาจในตัวเอง บางท่านเชื่อว่าเป็นมนฑลของสนามพลังงาน


2.  ความคงอยู่ของจิต
     • จิตเกิดดับทีละขณะ  และเกิดดับอยู่ตลอดเวลา การตีความคำว่าเกิดดับแตกต่างกัน กลุ่มที่ยึดแนวสวนโมกข์จะหมายถึงวงจรปฏิจจสมุปบาท และบางกลุ่มหมายถึงการเกิดใหม่ของจิตเมื่อกายดับ นอกจากนี้บางกลุ่มเชื่อว่าจิตไม่ได้ดับแต่เปลี่ยนแปลงรูป ลักษณะไป
     • จิตเป็น Continuous  Consciousness  เป็น ตัวรู้  ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่มันสืบสานต่อได้เพราะว่ามันมีเหตุ และมันทำให้เกิดปัจจัยอันนี้ ขณะที่มันเป็นปัจจัยมันก็เป็นเหตุอีก ให้เกิดปัจจัยอย่างต่อเนื่อง บางกลุ่มยังรักษาความเชื่อของพุทธที่ว่าจิตเป็นขณิกะวาส  ขณิกะวาส ก็คือ เชื่อว่ามันมีความจริงอยู่ แต่เป็นmovementary  ขณิกะคือ ขณะ เป็นจริงขณะนี้ ขณะต่อไปก็เป็นจริง แต่ว่าเป็นจริงขณะนี้ กับขณะนี้ มันเป็นคนละอันกัน

3.  หน้าที่ของจิต
     • จิตทำหน้าที่เป็น จุดศูนย์รวมแห่งการรับรู้ โดยมีระบบประสาทเป็นที่อยู่อาศัยทางเดินของจิต
     • นอกจากการรับรู้แล้ว จิตยังเป็นตัวรู้ และ ทำหน้าที่คิด ผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่เชื่อว่า จิต คือความคิดนึกต่างๆ และ รวมไปในปริมณฑลของการคิด
     • จิตอาจจะคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ขึ้นอยู่กับฐานความรู้ ความคิด หรือสถานการณ์ที่แต่ละคนเผชิญ มันปรุงแต่งไป แล้วแต่มันปรุงแต่งโดยมีเจตสิก คือตัวปรุงแต่งจิตและเป็นตัวกำหนดคุณภาพของจิตซึ่งแบ่งเป็น กุศลจิต อกุศลจิต และอุเบกขาจิต
     • จิตอยู่เบื้องหลัง เป็นตัวกำหนดหรือร่วมกำหนดกับปัญญา ในเรื่องพฤติกรรม บุคลิกภาพของมนุษย์ (จิตปัจเจก) และรูปแบบ ความเชื่อ หรือค่านิยมของสังคม (จิตร่วมหรือวัฒนธรรม)

4.  วิวัฒนาการและระดับของจิต
     แบ่งระดับจิตได้ในหลากหลายรูปแบบ  ตัวอย่างเช่น
     • แบ่งจิตตามสภาวะที่เป็นอยู่ โดย จิตที่ไม่ได้รับการฝึกฝน คือการทำตามสัญชาติญาณ และจิตที่ได้รับการฝึกฝนคือจิตเหนือสำนึก
     • แบ่งจิตตามประเภทบุคคลโดยเชื่อว่าบุคคลแต่ละประเภทมีขั้นของจิตแตกต่างกัน ได้แก่ จากปุถุชน เป็นกัลยาณชน เป็นอาริยชน เป็นโสดา เป็นสกิทา เป็นอนาคา และสุดท้ายเป็นอรหันต์
     • แบ่งจิตเป็น 2 ระดับ คือ ภวังคจิต และวิถีจิต โดยภวังคจิตเป็น จิตใต้สำนึก ป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ คือเป็นต้นเหตุให้เกิดชีวิต เป็นจิตที่เป็นรากฐานของชีวิต แม้ในขณะที่เราหลับ ก็ยังรักษาชีวิตเอาไว้ได้  ส่วนวิถีจิต เป็น จิตขณะที่เราตื่น เช่น ทางตาก็ให้ได้เห็นรูป ทางหูให้ได้ยิน ทางจมูกก็ให้ได้กลิ่น ทางลิ้นให้ได้รู้รสอาหาร ทางร่างกายให้รู้สึกสัมผัส หรือกระทั่งเรื่องราวให้รู้สึกนึกคิดในเรื่องต่างๆ ตอนนั้นขึ้นสู่วิถี เรียกว่า วิถีจิต
     • แบ่งตามซิกมัน ฟรอยด์ คือ จิตรู้ conscious mind   กับ จิตไม่รู้ unconscious mind
     • แบ่งตามทฤษฎีสไปรัลไดนามิกส์   โดย Don Beck ( Spiral Dynamics; in: What is Enlightenment?; 2002) อธิบายวิวัฒนาการของจิตโดยสัมพันธ์กับสี 8 สี 8 ระดับ (แบ่งออกเป็นสองชั้น ชั้นล่างมี 6 สี 6 ระดับ และชั้นบนจะมี 2 สี 2 ระดับ) แต่ละสี จะบ่งบอกถึงโลกทัศน์ ปัญญา อุปนิสัย และพฤติกรรมของแต่ละคนที่มีต่อสังคมโดยรวมในชั่วขณะนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับหรือสี

ความหมายของ จิตวิญญาณ

1. ความหมายของจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับจิต
    • เป็นวิวัฒนาการของจิต ผู้ที่ให้ความหมายของจิตกับจิตวิญญาณต่างกัน ส่วนใหญ่เห็นว่าจิตวิญญาณเป็นวิวัฒนาการของจิต ซึ่งสามารถวิวัฒนาการไปจนถึงนิพพาน  เช่น 
       เป็นจิตที่ได้ฝึกฝนพัฒนาขึ้น เป็นจิตในระดับลึก จิตใจที่ละเอียด ประณีตขึ้น เป็นจิตที่มีคุณภาพจิตสูงขึ้น
       เป็นจิตหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัว จิตที่มีเมตตา กรุณา 
       เป็นจิตที่ไม่ยึดติด การที่เข้าถึงความสุขในระดับลึกซึ้ง หรือการที่ได้เข้าถึงสภาวะที่มันไม่สามัญ มันไม่ใช่เป็นเรื่องปกตินิสัย เช่น เรื่อง ฌาณ สมาธิ คือ เป็นระดับที่ลึกไปกว่าสภาวะอารมณ์ทั่วไป
    • เป็นจิตที่มีปัญญา  บางกลุ่มเชื่อว่า การที่จิตจะลงลึกถึงจิตวิญญาณได้ต้องอาศัยปัญญาที่ใช้ในทางดี หรือปัญญาญาณ  ในขณะที่บางท่านเห็นว่า จิตวิญญาณที่ดีอาจไม่ต้องอาศัยปัญญาก็ได้  ลักษณะของจิตที่มีปัญญา ได้แก่
           จิตที่หยั่งรู้อย่างกว้างขวาง อย่างประณีต ผูกพันกันกับการมีสำนึกต่อสาธารณะ การที่จะมองเห็นสุขทุกข์ของคนอื่น แต่จิตวิญญาณไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้คนอื่นหลุดพ้นเสมอไป แต่มันเป็นการหยั่งเห็นชัดในเรื่องนั้นๆ
           เป็นจิตของนักปราชญ์ หรือในวิสัยของปราชญ์ แต่คำว่าปราชญ์ไม่ได้หมายความว่าปราดเปรื่องทุกเรื่อง อย่างน้อยต้องปรับเปลี่ยนในสิ่งที่ตนเองกำลังคิดอยู่ กำลังเผชิญอยู่
           จิตวิญญาณคือสติปัญญา ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่าน เชื่อว่าจิตวิญญาณคือสติปัญญาที่ได้จากการทำงานของสมองซีกขวานำซีกซ้าย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางอารมณ์รู้สึกนึกคิดด้านบวก
     • เป็นจิตใจซึ่งโน้มไปในทางที่เป็นความดีความเป็นสิริมงคล  เชื่อว่าจิตวิญญาณเป็นจิตใจซึ่งลดละความเห็นแก่ตัวลง จิตใจซึ่งคิดถึงส่วนรวมโดยเฉพาะพวกที่ด้อยโอกาส  จิตใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตา กรุณา ที่อยากให้คนอื่นเขามีความสุข
     • เป็นธรรมจิต  หมายความว่า จิตที่สูงส่ง ดีงาม เป็นธรรม  เป็นธรรมชาติอันละเอียด เป็นจิตที่ออกไปในทางดีงาม เป็นจิตแห่งความงาม เหนือความดีและความจริง  ในอดีตเป็นจิตของความดี  จิตรู้ เป็นจิตของความจริงที่บนโลก แต่อันนี้เป็นจิตของความงาม ซึ่งเหนือกว่าความดีและความจริง เพราะมันเป็นความจริงที่แท้หรือเป็นความดีที่สุดยอด ขณะที่บางท่านเห็นว่าจิตวิญญาณไม่จำเป็นที่ต้องเป็นความดีที่สุด


2.  คุณลักษณะของจิตวิญญาณ
     • จิตวิญญาณเป็นตัวเดียวกันกับจิต   บางท่านให้ความหมายของคำว่าจิตกับจิตวิญญาณเป็นเรื่องเดียวกันหรือเหมือนกัน คิดว่าเป็นเพียงสมมุติบัญญัติ จะเรียกว่า จิต จะเรียกว่า จิตวิญญาณ จะเรียกว่าปัญญา โดยชื่อ คือ จะเรียกอะไรก็เป็นสมมุติ แต่โดยการปฏิบัติเรื่องนี้ไม่ต่าง
     • จิตวิญญาณมีคุณสมบัติเป็นพลังงาน  บางกลุ่มเชื่อว่า จิตวิญญาณ คือจิตที่มีพลังงาน และไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ว่าเป็นพลังงานประเภทใดจากแหล่งใด ซึ่งอาจจะเป็นพลังงานใหม่ที่จิตมนุษย์เองเป็นผู้สร้างขึ้นและเป็นพลังงานที่มีอิสรภาพ หรืออาจจะมาจากสนามพลังงานภายนอก 
     • จิตวิญญาณมีอำนาจ  เชื่อว่า จิตวิญญานมีอำนาจเฉพาะตัวที่จะสามารถรู้สึก รู้นึก รู้คิด รู้จดจำ รู้แสดงออกหรือกระทำใดๆ ทั้งในมิติทางกายภาพและในมิติทางพลังงานได้  ตัวอย่างเช่นบางท่านเชื่อว่าเป็นจิตวิญญาณหลายๆ ย่านความถี่ที่มารวมตัวกันอยู่อย่างสมดุลภายในกล่องพลังงานกล่องหนึ่ง ซึ่งมีสติปัญญา ความรัก ความรู้ และแสงสว่างเป็นพลังอำนาจเฉพาะตัว เป็นต้น
     • จิตวิญญาณเป็นการเดินทางไปสู่ศักยภาพ เชื่อว่าจิตวิญญาณเป็นการเดินทางสู่การพัฒนาศักยภาพ เช่น
        เป็นการเดินทางอันจะนำไปสู่มิติทางจริยธรรม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ทางปรัชญา ทางความไม่ลงตัวระหว่างทฤษฎี กับการปฏิบัติได้โดยสิ้นเชิง
        มิติของจิตวิญญาณคือการเดินทางบนหนทางไปสู่เป้าหมาย  ทำให้ อัตตาน้อยลงไปตามลำดับ จิตวิญญาณคือการผ่านพ้นอัตตา  Transpersonal  ( Transcend   หมายความว่า ทะลุอัตตาตัวเอง Transcendent  หมายความว่า บรรลุธรรม)


3.  ระดับของจิตวิญญาณ
     จิตวิญญาณ คาบเกี่ยวไปถึงความรู้สึกนึกคิด เจตคติ พฤติกรรม รวมทั้งปัจเจกชน  ของหมู่คณะ ของสังคม และของมนุษยโลก

4. ปรากฎการณ์ และพฤติกรรมที่แสดงออกอันเนื่องด้วยจิตวิญญาณ
    ปรากฎการณ์ และพฤติกรรมที่แสดงออกอันเนื่องด้วยจิตวิญญาณ มีดังต่อไปนี้
    • เป็นปรากฎการณ์ และพฤติกรรมที่แสดงออกในมิติความดี ความงาม ความถูกต้อง
    • ความไม่เห็นแก่ตัว เอื้ออาทร ความรัก เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา


ความหมายของ ปัญญา

1. ความหมายของปัญญาในพุทธศาสนา
    คำจำกัดความปัญญา ในเบื้องต้นตามความหมายในพุทธศาสนา กล่าวถึงใน
ไตรสิกขา ซึ่งพูดถึง  ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนี้
    • ปัญญา  แปลว่า ความรอบรู้  ความรู้ชัด หมายถึง การรู้ทั่วถึงความจริงหรือรู้ตรงตามความเป็นจริง เช่น  รู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ควรไม่ควร รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้เท่าทันสังขาร รู้องค์ประกอบ รู้เหตุปัจจัย รู้ที่ไปที่มา รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหมาย รู้ตามความเป็นจริง รู้ถ่องแท้ เข้าใจถ่องแท้ รู้เข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้พินิจพิจารณา รู้วินิจฉัย รู้ที่จะจัดแจงจัดการหรือดำเนินการอย่างไรๆ
    • ปัญญา คือความเข้าใจ  หมายถึงเข้าใจถูก เข้าใจชัด หรือเข้าใจอย่างถ่องแท้  เป็นการมองทะลุสภาวะหรือมองทะลุปัญหา เป็นการที่เห็นและเข้าใจชีวิตและโลกแห่งความเป็นจริง
    • ระดับของปัญญา ปัญญานั้นมีหลายขั้นหลายระดับ ขึ้นกับการแบ่งของแต่ละท่าน เช่น แบ่งเป็นโลกียปัญญา โลกุตรปัญญา เป็นต้น มีคำศัพท์หลายคำ ที่ใช้ในความหมายจำเพาะ หมายถึงปัญญาในขั้นใดขั้นหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่ง แง่ใดแง่หนึ่ง หรือเนื่องด้วยกิจเฉพาะ คุณสมบัติเฉพาะ หรือประโยชน์เฉพาะบางอย่าง เช่น ญาณ วิชชา วิปัสสนา สัมปชัญญะ ปริญญา อภิญญา ปฎิสัมภิทา เป็นต้น  ตัวอย่างของ ปฏิสัมภิทา 4 คือ
        อัตถปฏิสัมภิทา       คือ    ปัญญาแตกฉานในอรรถ
        ธัมมปฏิสัมภิทา       คือ    ปัญญาแตกฉานในธรรม
        นิรุตติปฏิสัมภิทา     คือ    ปัญญาแตกฉานในภาษา
        ปฏิภาณปฏิสัมภิทา  คือ    ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ
        นอกจากนี้  ระดับของปัญญายังมีระดับดังนี้ คือ จากรู้จัก เป็นรู้จำ เป็นรู้แจ้ง และเป็นรู้จริง
• วิธีทำให้เกิดปัญญา  แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
        สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียนหรือถ่ายทอดต่อกันมา
        จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง
        ภาวนามายปัญญา ปัญญาเกิดจากการลงมือปฎิบัติฝึกหัดอบรม

2. ปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของจิต
        เชื่อว่า ปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของจิต ดังนี้
• บางท่านชี้ชัดว่าเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ให้กับจิต  ในการตีความคือ การจำได้ การเกิดความรู้เกิดปัญญาขึ้นมา  ทำให้จิตพ้นจากการปรุงแต่ง จิตนั้นเกิดความบริสุทธิ์และเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง เห็นซึ่งไตรลักษณ์ เมื่อเห็นซึ่งไตรลักษณ์สิ่งต่างๆ ที่เป็นทุกข์ เป็นอานิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ดังนั้นถ้าจิตนั้นเข้าถึงการเรียนรู้ขั้นสูง จิตนั้นก็เกิดปัญญา 
• ปัญญาเป็นเจตสิกฝ่ายกุศล


3.  ปรากฎการณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกอันเนื่องด้วยปัญญา
     เมื่อปัญญาทำงานร่วมกับจิต เชื่อว่า มนุษย์ จะมีสัมมาทิฐิ ความรัก ความเอื้ออาทร ความเมตตา กรุณา  ความไม่เห็นแก่ตัว   เช่น เมื่อปัญญาเข้ามาในจิตเมื่อการรับรู้นั้น มันเกิดแสงสว่างขึ้น มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง ปัญญามันจะเกิด แล้วเมื่อปัญญามันเกิดมากเท่าไหร่ กรุณามันจะเกิด มันจะเกิดความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น
     เมื่อเกิดปัญญา จะมีผลต่อมนุษย์สามทาง โดยทางแรกคือ เจตจำนงของมนุษย์  (willing) ทำให้มนุษย์จะกล้าเผชิญ จะมั่นคง จะมั่นใจ  อันเป็นฐานแรก  ทางที่สองคือ ร่องอารมณ์ EQ เป็นความรักที่จะไปทำลาย ความโกรธ เกลียด อิจฉา ริษยา น้อยอกน้อยใจ เบื่อหน่าย และทางสุดท้ายคือจะเกิด Positive Intelligent


ตอนที่ 4   ที่มาของจิต/จิตวิญญาณ

1.     ที่มาของจิต หรือจิตวิญญาณ ตามหลักของพุทธศาสนา 
        ที่มาของจิตหรือจิตวิญญาณ เป็นไปตามหลักของพุทธศาสนา ในเรื่องขันธ์ 5 ปฏิจจสมุปบาท และ กฎอิทัปปัจจยตา นอกจากนี้บางท่านยังเชื่อว่าเกิดจาก วัฏสงสาร อดีตกรรมในอดีตชาติ ทั้งกรรมดีกรรมชั่วที่ติดตัวไปทุกภพ ทุกชาติ ส่งผลให้ไปเกิดในภพชาติต่างๆ กัน
  นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเกิดมาจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยการพัฒนาจิตใจขึ้นในเชิงจิตวิญญาณนั้น วิธีที่ทั้งเร็วและสั้นที่สุดคือการเจริญจิตภาวนา ด้วยการวิปัสสนากรรมฐาน

2.    ที่มาของจิต หรือจิตวิญญาณ คือ สัพเพธรรมา
       เชื่อว่า จิต/จิตวิญญาณ เป็นสรรพสิ่งที่มีจริง อยู่ในธรรมชาติ อยู่แล้วที่เรียกว่า สัพเพธรรมา  ขณะที่บางท่านเชื่อว่าเป็นสายพันธุกรรมซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติเช่นกัน

3.   ที่มาของจิต หรือจิตวิญญาณ มาจากภาษาตามวัฒนธรรม
      มีบางกลุ่มคิดว่าคำว่าจิตวิญญาณน่าจะมาจากวัฒนธรรมตะวันตก ภายใต้ความคิดของชาวคริสต์ ที่เรียกว่า God the spirit  3  ได้แก่ God the father (พระบิดา)  God the sun (พระบุตร) และ God the spirit (พระจิต)

4.   ที่มาของจิต หรือจิตวิญญาณ ในมุมมองของวิทยาศาสตร์แนวใหม่
       หากที่ใช้ฐานคิดวิทยาศาสตร์แนวใหม่ อ้างถึง Fritjof  Capra  ใน Tao of physic and Web of  life  เชื่อว่า ชีวิตทั้งหลายในระดับต่าง ๆ ล้วนดำรงอยู่อย่างเป็นระบบ ในลักษณะของระบบชีวิตที่โยงใยอยู่ด้วยกันเป็นข่ายใย โดยที่ระบบนิเวศเป็นระบบที่ใหญ่และสำคัญมากที่สุด  การเข้าถึงความจริงในระบบนิเวศ จะทำให้เข้าใจในระบบชีวิตทั้งหลาย เนื่องจากเชื่อว่าการจัดระบบองค์กรของระบบนิเวศ คือหลักการจัดองค์กรของระบบชีวิตทุกระบบ มนุษย์ในฐานะระบบชีวิตหนึ่งของระบบใหญ่ จึงต้องจัดแบบแผนชีวิต ระเบียบสังคมให้สอดคล้องกับแบบแผนของระบบนิเวศ

5. ที่มาของจิต หรือจิตวิญญาณ มาจากสนามพลังงาน
       บางกลุ่มเชื่อว่า จิตวิญญาณ คือจิตที่เป็นพลังงาน แม้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ว่าเป็นพลังงานประเภทใดจากแหล่งใด แต่เป็นความพยายามอธิบายโดยใช้หลักฐานที่มีอยู่บ้างโดยคิดว่าอาจจะเป็นพลังงานใหม่ที่จิตมนุษย์เองเป็นผู้สร้างขึ้นและเป็นพลังงานที่มีอิสรภาพ หรืออาจจะมาจากสนามพลังงานภายนอก เช่น สนามควอนตรัม หรือพลังงานที่เกิดขึ้นจากจักรวาลซึ่งบางท่านเรียกว่า แดน สุญญตา เป็นต้น

ตอนที่ 5   ความหมายของสุขภาวะทางจิต

1. สุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่เป็นความจริงแท้แน่นอน
         สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่เป็นความจริงแท้แน่นอน คือ การไม่มีตัวตน ทุกอย่างเป็นพลวัต เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงถึงกันเป็นส่วนของกันและกัน  มองไปถึงเรื่องของการเข้าถึงสิ่งดีงาม ความถูกต้อง การไม่มีอวิชชา การที่มีวิชาคือรู้เท่าทันของความเป็นมนุษย์สรรพสิ่งในโลก ความเป็นไป ความเป็นเช่นนั้นเองของสรรพสิ่ง และการได้สัมผัสกับพระเจ้า  โดยพระเจ้าในที่นี้คือความถูกต้อง  คือสิ่งที่ประเสริฐสุด

2. สุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาจิต
        เป็น สภาวะที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาจิตให้สูงขึ้น เพื่อกลับคืนสู่ธรรมชาติ คนที่พัฒนาจิตวิญญาณสูงขึ้น  จิตใจจะละเอียดบางยิ่งขึ้น มีความสามารถในการรับสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัวไวขึ้นละเอียดประณีตขึ้น

3. สุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้
        สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็น สภาวะที่มีความพร้อมที่จะเปิดตัวเองให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา พร้อมที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าสู่ในสภาวะปกติ เป็นการเข้าสู่ มณฑลแห่งพลังจิตวิญญาณ

4. สุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่มีสัมมาทิฏฐิ
         เป็นสภาวะที่มีสมาทานสัมมาทิฏฐิ โดยจิตรู้ว่า สิ่งนี้ไม่ควรทำ สิ่งนี้สังคมรับ สิ่งนี้สังคมไม่รับ สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ชั่ว บางท่านให้ความเห็นว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด  เป็นเรื่องของจิต ส่วนจิตวิญญาณ ไม่มีคำว่า ดี ชั่ว มีแต่ เมตตา  ไม่มีตนเอง เมื่อไม่มีตนเองแล้ว ทุกสิ่งเป็นสากล  เป็นหนึ่ง และมีความเป็นองค์รวมทุกอย่าง  โดยสรุปคือเมื่อมีทิฐิชอบ ความเห็นชอบจะนำไปสู่ประโยชน์และเกื้อกูลอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และมี “หิริ” มีความละอาย มี“โอตัปปะ” เกรงกลัวในสิ่งที่ทำผิด

5. สุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่จิตสงบ สะอาด
       เป็นสภาวะที่จิตสงบ เป็นการสงบเพื่อตนเอง และสงบเพื่อคนอื่น เป็นจิตที่ใสสะอาด  จิตมั่นคงไม่หวั่นไหว มีความสม่ำเสมอ ความเบา ความโปร่ง ความสมถะ ความเรียบง่าย

6. สุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่มีจิตวิญญาณของวิชาชีพ
      เป็น การเข้าถึงความงามของงานศิลป์ทุกสาขาไม่ว่าจะเป็นงานเขียนวรรณกรรม จิตรกรรม ปฏิมากรรม หรือแม้กระทั่งดนตรี นอกจากนี้สุขภาวะทางจิตวิญญาณยังเป็นเรื่องของการมีจริยธรรม จรรยาบรรณในวิชาชีพ

7. สุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่อยู่ในกระบวนการจัดการชีวิต
        เป็นภาวะที่เรามีความแข็งแรงต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยพึ่งพาตัวเองได้ ความสุขของชีวิตที่มันควรแก่อัตภาพ ปราศจากความหวาดกลัว  การดำรงชีวิตของเรา ให้รอดอยู่บนพื้นฐานของการเคารพ การใช้ชีวิตที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น การเคารพในทุกชีวิตอย่างเท่าเทียม การจัดการกับชีวิตที่มีอยู่ข้างหน้า เพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น เจริญขึ้น

8. สุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสภาวะที่อยู่ในกระบวนการทางปัญญา
        เป็นภาวะที่เรามีปัญญาดับทุกข์ของเราได้  เข้าถึงธรรมะ  รู้แจ้งในเรื่องนั้นนั้นโดยไม่จำเป็นต้องรู้แจ้งในทุกเรื่อง  มีปัญญาที่รู้ถูกต้อง รู้เท่าทัน และนำมาจัดการทางใจและทางกายได้

9. ปรากฎการณ์การแสดงออก ของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
         คนที่มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จะมีพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสม ดังนี้ คือ ไม่เบียดเบียนกัน   ไม่เลือกปฏิบัติ  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความช่วยเหลือเกื้อกูล มีความประพฤติปฏิบัติที่ดี  ความไม่เห็นแก่ตัว โดยสรุปคือ ปฏิบัติตนเพื่อดับทุกข์  และเพื่อช่วยเหลือสังคม


ตอนที่ 6   ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณ
1. กฎอิทัปปัจจยตา
    เชื่อว่าเป็นตามกฎอิทัปปัจจยตา มีเหตุมีปัจจัย ที่ทำให้เกิดและมีผลต่อสุขภาวะทางจิต/สุขภาวะทางจิตวิญญาณ  ซึ่งบางท่านเชื่อในเรื่องกรรมเก่าทั้งกรรมดี กรรมชั่ว หรือ เป็นพลังงานในอดีตที่ถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน

2. ปัญญา ระบบการเรียนรู้ ระบบการศึกษา 
     เชื่อว่าเป็นเรื่องของปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการเรียนรู้ที่ได้ได้ทำให้คนเข้าถึงความจริงและเรื่องชีวิต  ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการศึกษาทั้งทางด้าน ศีลสิกขา  จิตสิกขา  ปัญญาสิกขา

3. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี 
     เชื่อว่าสภาพทางธรรมชาติมีส่วนที่จะทำให้เกิดสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ


4. ระบบสังคม  ระบบวัฒนธรรม  ระบบศาสนา
     เชื่อว่า สภาวะแวดล้อมทางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในทุกรูปแบบ  โครงสร้างของสถาบันในสังคมเช่น ครอบครัวที่ดี   รวมถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม  และระบบศาสนาที่เอื้อต่อการการบรรลุธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ

5. ปัจเจกบุคคล
     เชื่อว่าปัจจัยเฉพาะในแต่ละคนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ  ซึ่งได้แก่ 
    • เพศ 
    • อายุ
    • ความสมบูรณ์ของร่างกาย
    • ระดับสติปัญญา
    • ความเพียร
    • ภูมิหลังของชีวิตและประสบการณ์ตรงเช่นประสบการณ์ทีพบกับความทุกข์ 
    • ความเชื่อในภาวะที่เหนือตัวเอง
 
ตอนที่ 7   การพัฒนาของสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ
 
1.   การปฏิบัติตามหลักธรรม โดยเฉพาะเรื่อง  ไตรสิกขา
        การปฏิบัติตามหลักธรรมจะเป็นการพัฒนาให้เกิดสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ โดยเฉพาะ การฝึกสมาธิ  ทั้งการฝึกธรรมชาติสมาธิ  ฝึกฌาน วิธีสมถภาวนา วิปัสนาภาวนา เพื่อการปฏิบัติให้เป็นผู้รู้สติ เป็นผู้มีสติ และเป็นผู้ใช้สติ

2.   การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง
         การพัฒนาให้เกิดสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ จะต้องพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง ทั้งปริยัติและการปฏิบัติ โดย
         • ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์กายภาพ หรือเรียนรู้จากประสบการณ์ภายใน  โยโสมนสิการ
         • บุพเพสันนิวานุสติ หมายความว่าต้องระลึกถึงกรรมเก่า เอากรรมเก่ามาวิเคราะห์ มาสังเคราะห์ นั่นก็คือการเอาประสบการณ์มาวิเคราะห์ และหาประสบการณ์อยู่ตลอด
         • การมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันในสังคม
         • กระบวนการเรียนรู้  ประกอบด้วย  ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง  ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้  ต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้  ต้องมีความเชื่อมั่นในพลังอำนาจของตนเอง และต้องมีศรัทธาแท้จริงในสิ่งที่เรียนรู้

3. การให้ความรู้ ความเข้าใจ  การศึกษา
       เชื่อว่า การให้ความรู้ความเข้าใจ และการศึกษาทั้งที่เป็น เจตสิกขา และ จิตสิกขา จะเป็นการพัฒนาให้เกิดสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ ซึ่งอาจจะอาศัยการอบรม ที่เรียกว่า Mental Training  เพื่อฝึกวิธีคิด วิธีมอง หรือใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมเช่น สุนทรียสนทนา Dialogue เป็นต้น

ตอนที่ 8   การวัดประเมินจิตสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ
  
      เชื่อว่าการวัดหรือประเมินสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณ   ผู้วัดบางคนสามารถวัดโดยตัวเอง และสามารถวัดได้โดยผู้อื่น แต่ การวัดต้องดูองค์รวมในระยะยาวต้องดูในหลายๆ บริบท ดังต่อไปนี้

1. เจโต ปริยญาณ  และ  วิญญาณัง อนิทัสสนัง อนันตัง สัพโตปภัง
       เชื่อว่าการวัดจะทำได้โดยญาณที่ทำให้สามารถ กำหนดหยั่งรู้วาระจิตคนอื่น เป็นการใช้จิตสัมผัสจิต ขณะเดียวกันบางท่านเชื่อว่าผู้ที่มีสุขภาวะทางจิต/จิตวิญญาณจริงจะรู้ว่าคืออะไร แต่บอกคนอื่นยาก การวัดจึงไม่ต้องไปเดาคนอื่น ไม่ต้องไปอ่านคนอื่น บอกคนอื่นไม่ได้  ต้องรู้ด้วยตนของตนเท่านั้น

2. วัดจากสัมมาทิฎฐิ
        เชื่อว่าการวัดจะทำได้โดยการสังเกตสัมมาทิฏฐิ เช่น  มีจิตนาการ มีมโนภาพ อย่างสัมมาทิฎฐิ  การเคารพคุณค่าในตัวคนอื่น และคุณค่าในตัวเอง การรู้จักปล่อยวาง ความตระหนักรู้ที่จะนำเราไปสู่ความไม่ประมาทในเหตุ   รู้โลกรู้สัง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 6002เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2005 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีจังเลยครับ

     อาจารย์ครับ ผมกำลังเปิดประเด็นเรื่องนี้อยู่กับอาจารย์ ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว นึกขึ้นมาได้ว่าอาจารย์เคยเล่าว่ากำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ด้วย อีกแนวหนึ่ง จึงขอเชื่อมโยงไว้ก่อน เพื่อไว้ Review เพิ่มอีกในภายหลังครับ

อาจารย์คะ เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจมากๆค่ะ

ขออนุญาติคัดลอกครับ

เป็นบทความที่ดีมากครับอาจารย์... ผมขออนุญาตนำไปอ้างอิงในบทความนะครับ

อาจารย์ค่ะ ขออ้างอิงในดุษฎีนิพนธ์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท