สคส.จับมือ 2 โรงเรียนดัง จัดการความรู้ ปฏิรูปการศึกษา


สคส. จับมือ 2 โรงเรียนดัง
จัดการความรู้ ปฏิรูปการศึกษา

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จับสองโรงเรียนดัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอน หวังเป็นทางออกของยุคปฏิรูปการศึกษา      

             ในการประชุมวิชาการครั้งที่ 19 จัดโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในหัวข้อ “โรงเรียนจัดการความรู้ปฎิรูปการศึกษา” ซึ่งได้ 2 โรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนเพลินพัฒนา  และโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีการบูรณา การการเรียนการสอนอย่างรอบด้าน โดยใช้ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้ปกครองและครู ไม่เว้นแม้แต่คนขับรถและคนสวน ล้วนแต่ทำหน้าที่เป็นครูได้อย่างแท้จริง มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้เพื่อปฏิรูปการศึกษา
ดังตัวอย่างของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้มีการบูรณาการให้นักเรียนศึกษาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตามแนวทางจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบท “อุทยานมรดกโลก” ซึ่งโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดอยุธยา มีครูทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติ ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเข้าถึงเนื้อหาที่เรียนได้เข้าใจลึกซึ้ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองจากไม่รู้(No)ไปสู่ความรู้(Know) ได้
            นางจิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา กล่าวว่า ในการปฏิรูปการศึกษานั้น โรงเรียนได้พัฒนาการเรียนรู้อยู่ในกรอบของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ทั้งนี้ร.ร.ก็มีการปรับปรุง และออกแบบการเรียนการสอนตามบริบทของโรงเรียนมาโดยตลอด ซึ่งหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษานั้น ผู้บริหารต้องมีส่วนสำคัญ และควรเปิดใจยอมรับความคิดเห็นของครูตลอดจนนักเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การบริหารองค์ความรู้ของโรงเรียนเกิดการวิจัยและพัฒนานำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
             ขณะที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนเปิดใหม่ แต่สามารถออกแบบการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนโดยการบูรณา การการเรียนรู้ ที่ใช้ความรู้จากชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นมามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ลงพื้นที่เรียนรู้กับชุมชน และนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมาในโครงงาน “ชื่นใจได้เรียนรู้” ที่จะทำให้ครูผู้สอนสามารถรับรู้ได้ว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ในการเรียนอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ได้อาศัยการมีส่วนร่วมของ ครู ผู้ปกครอง และชุมชนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรอบรู้ในทุกๆด้านอย่างแท้จริง
            อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข  ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงของโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้ด้วยยุทธศาสตร์ “ก้าวพอดี” ให้ผู้เรียนเกิดความสุขในการเรียนรู้ที่พอเหมาะ พอเพียง กับบริบทของโรงเรียนที่เน้นการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ อาศัยเครือข่ายการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ขณะที่ครูก็มีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่ค้นหาสิ่งดีๆ ให้ผู้เรียนโดยการบูรณาการ การสอนอดีตให้เข้ากับการศึกษาแนวปฏิรูปในยุคปัจจุบัน ที่จะช่วยให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้ทั้งระบบ
           ด้าน ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ นักวิชาการอิสระ กล่าว่า การที่โรงเรียนสามารถสะท้อนรูปแบบการเรียนรู้ที่เด่นชัด เป็นผลมาจากการลงมือปฏิบัติของครูที่พยายามสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือการพัฒนาคน และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ยังได้เห็นตัวอย่างการใช้การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือในการสร้างปัญญา ทุกภาคส่วน และสร้างวัฒนธรรมการคิดแบบเชื่อมโยง ไม่แยกส่วนโดยเน้นผู้เรียนเป็นตัวตั้งและพัฒนารอบด้าน ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็มีส่วนร่วมในการประมวลความรู้และวัดผลความรู้ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูและนักเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย

            อย่างไรก็ตามตัวอย่างทั้ง 2 โรงเรียนได้ใช้การบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยการกระจายอำนาจในกรอบกระทรวงศึกษาฯ นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนและวิถีทางที่เหมาะสม ที่จะเป็นทางออกของการปฏิรูปการศึกษาได้ในที่สุด.    

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5999เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2005 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท