ระบบสวัสดิการไหน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไร้สัญชาติ?


ฉันก็เข้าใจถึงความจำเป็นพื้นฐานของการเป็น "มนุษย์" ที่ขอเพียงให้มีที่อยู่อาศัย มีอาหารกิน เมื่อเจ็บป่วยได้รับการรักษา เด็กๆ ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน และไม่ต้องมีชีวิตที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง เยี่ยงทาส

เมื่อวานนี้ ฉันได้ขึ้นไปเยี่ยมหมู่บ้านชนเผ่าแห่งหนึ่ง และได้มีโอกาสพูดคุยกับหลายครอบครัว

ครอบครัวของอาแม

อาแม เป็นเด็กหนุ่มชนเผ่า ที่น่าจะอายุราว ๑๖-๑๗ ปีได้ อาศัยอยู่ในบ้านไม้ไผ่แบบชนเผ่าซึ่งดูแล้วคาดว่าคงสร้างได้ประมาณ ๒-๓ ปี แล้วก็จริงดังคาด เมื่อเริ่มพูดคุยทำให้ทราบว่าอาแมและครอบครัวเพิ่งละทิ้งบ้านเกิดจากประเทศพม่า เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ได้กว่า ๒ ปี

โดยก่อนหน้านี้พี่ชายของอาแมได้เข้ามาเยี่ยมหาญาติพี่น้องซึ่งอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้มานานจนมีบัตรประชาชนไทยแล้ว จากนั้นจึงได้กลับไปพาแม่และน้องๆ เข้ามาสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อพูดคุยกับครอบครัวทำให้ฉันได้รับทราบเรื่องราวที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วเมื่อ ๑๐ ปีก่อน และปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่

"ฉันอยากมาอยู่ที่ประเทศไทย เพราะไม่อยากอยู่อย่างเป็นทาส อยู่ที่โน่นทหารต้องบังคับให้เราไปแบกของ ปลูกอะไรก็ต้องแบ่งให้ บางครั้งก็มาเอาไปหมด ไม่ให้ก็ไม่ได้"

น้องของอาแมบางคนได้เข้าโรงเรียนในหมู่บ้านแล้ว แม้จะอายุมากกว่าเพื่อนๆ ในชั้นเรียนหลายปี แต่อาแมอายุมากเกินไป จึงได้แต่ฝึกหัดอ่านเขียนภาษาไทยกับพี่ที่รู้หนังสืออยู่ที่บ้าน มีน้องคนเล็กที่มาเกิดในประเทศไทย แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ทำเอกสารรับรองให้ เพราะไปแจ้งเกิดที่อำเภอไม่ได้

ชีวิตของครอบครัวอาแม และอีกหลายครอบครัวชนเผ่าเป็นมาเช่นนี้ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย ไม่ว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน หรืออาจจะอีก ๑๐ ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่เปลี่ยนแปลง

ปัญหาคือ..

ฉันได้มารู้จักผู้คนตรงนี้ แบบเห็นหน้าเห็นตา ได้พูดคุย ได้เข้าใจความจำเป็นของการมีชีวิตรอด หรือเพียงชีวิตที่ดีกว่า แล้วฉันก็เข้าใจถึงความจำเป็นพื้นฐานของการเป็น "มนุษย์" ที่ขอเพียงให้มีที่อยู่อาศัย มีอาหารกิน เมื่อเจ็บป่วยได้รับการรักษา เด็กๆ ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน และไม่ต้องมีชีวิตที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง เยี่ยงทาส

ฉันคิดถึงระบบสวัสดิการพื้นฐาน เพื่อคนชายขอบระหว่างรัฐเหล่านี้ ที่เพียงให้เขาเข้าถึงความเป็นมนุษย์พื้นฐานได้ แต่ฉันก็ยังหวั่นๆ ถึงเสียงที่เคยได้ยินมาว่า "ยิ่งให้ก็ยิ่งทะลักเข้ามา" ยังไม่รวมถึงคำกล่าวที่เป็นนามธรรมมากว่า "เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ" อีกแง่หนึ่งฉันก็เข้าใจและเห็นภาพชัดว่า การที่พวกเขาเข้ามาก็ต้องใช้ทรัพยากรของชุมชน เช่นต้องมีการถางป่าทำไร่เพิ่มขึ้น

แต่ที่ผ่านมา ไม่มีใครไปยุ่งอะไรกับเขา เขาก็เข้ามากันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วไม่ใช่หรือ?  หรือนี่ เป็นเพียงวิถีชีวิตหนึ่งของคนแนวชายแดน ที่อยู่ชายขอบรัฐ ที่แสวงหาชีวิตที่ดีกว่าไม่ต่างจากเราๆ ทั่วไป

ฉันว่า ... ฉันน่าจะทำอะไรเพื่อคนเหล่านี้ ที่ก็เป็นเพื่อนร่วมโลกของฉันได้บ้าง  ดีกว่านั่งบ่นเฉยๆ !!

 

หมายเลขบันทึก: 94818เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2007 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เบื้องต้น ฉันคิดถึงเรื่องการศึกษานอกระบบ ที่น่าจะให้เขาได้รู้จักการสื่อสารและการใช้ชีวิตในสังคมไทย อย่างที่อาแมได้ทำอยู่ คือพยายามเรียนฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทย ซึ่งน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี

แล้วทีละเล็กทีละน้อย อาจค่อยๆ ปรับสู่ระบบการศึกษานอกโรงเรียน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

  • ครับเห็นด้วย ระบบการศึกษาทางไกลน่าจะช่วยได้ สื่อการสอนสมัยนี้พัฒนาไปไกล
  • แนะนำให้เสนอโครงการไปทาง สสส. น่าจะได้ผลตอบรับกลับมา
  • หากมีอะไรให้ผมช่วยเรียนเชิญเสนอมาได้ หากช่วยได้ ผมยินดีครับ
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณคุณบีเวอร์อย่างมากที่อาสาช่วย คงได้มีโอกาสรบกวนแน่ๆ ค่ะ

มีหลายอย่างที่เราทำได้

ในประการแรก เราคงต้องช่วยเหลือให้เขารู้จัก "โลกใหม่" ที่รอเขาอยู่ เมื่ออาแมเข้าใจภาษาไทย เข้าใจว่า เมืองคืออะไร เมื่องมีอะไร อาแมก็จะลงดอยไปอยู่ในเมือง และเมืองก็จะเติม "สำนึกวัตถุนิยม" ในจิตวิญญานของอาแม เราจะรอจนกว่า อาแมจะมีปัญหา หรือเราจะช่วยให้อาแมเห็นปัญหาเสียก่อนที่ปัญหาจะเกิดล่ะ จะป้องกันหรือจะรักษาดีล่ะ

ในประการที่สอง เราจะรอให้ สมช.สั่งการให้มีการส่งอาแมกลับออกไปในดินแดนที่จากมา หรือเราจะเข้าไปบอกกล่าวถึงความจำเป็นที่อาแมต้องมาเมืองไทยล่ะ เธอเองก็มีประสบการณ์กับ "ชาวบ้านห้วยแห้ง" เธอซึ่งเดินเข้าไปบอกกล่าวที่ สมช. ได้อยู่แล้ว เธอจะเกี่ยงให้คนที่ทำไม่ได้ ทำ หรือเปล่าล่ะ

 

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ขอถามต่อว่า...

ประการแรก อยากป้องกันแน่นอนค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องรอเข้าเมือง เมืองก็เข้ามาถึงที่นอนอาแมแล้ว ทั้งจากเพื่อนๆ ที่ไปมาแล้ว และโดยเฉพาะจากโทรทัศน์

แล้วจะป้องกันอย่างไรดีล่ะคะ ช่วยแนะนำเพิ่มเติมชัดๆ อีกสักนิดค่ะ

ประการที่สอง แหมนึกว่าอาจารย์ไม่รู้จักเราซะอีก :-)

องค์ความรู้ ก็คือ การป้องกันที่ดีค่ะ

ความคิดก็เหมือนร่างกายของคนค่ะ มองเห็นได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท