บันทึกเก่าเก็บ ตอนที่ 1 : จริยธรรมกับผู้นำนิสิต


อย่าลืมกลับไปพลิกอ่านไดอารี่เก่า ๆ ของตนเองกันบ้าง บางทีเรื่องดี ๆ อาจกำลังรอคอยท่านกลับไปสัมผัสและเรียนรู้อีกครั้ง ซึ่งหลากเรื่องราวนั้นอาจมีทั้งที่ "ตกสมัย" และ "ร่วมสมัย" อยู่ก็เป็นได้....

กลางดึกของคืนที่ผ่านมา  มีโอกาสได้พลิกกลับไปอ่านไดอารี่ตนเองที่เขียนไว้เมื่อปี 2545 พบประเด็นแนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนานิสิตที่น่าสนใจ  ครั้งนั้นผมเรียนเชิญ รศ.ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มทส.)  เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "จริยธรรมกับผู้นำนิสิต" อันเป็นประเด็นหลักที่ "ชู" ขึ้นมาเป็น "แก่นสาร"  ในการสัมมนาผู้นำนิสิต"  ในยุคนั้น

ที่สำคัญแก่นสารที่วิทยากรนำเสนอเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับที่ผมอ้างถึงธรรมะ หรือคุณธรรมที่นำเสนอไว้ในหัวข้อ "บริการคืองานของเรา"

(แปลกแต่ก็จริง เพราะการพูดถึงเรื่องจริยธรรมของผู้นำนิสิตในยุคนั้น ประเด็นเรื่องจริยธรรมยังไม่ "ฮิตติดหู" และถูกยกมาวิพากษ์อย่างรุนแรงในเวทีการเมืองไทย ถึงขั้นการชุมนุมและเปิดเวทีสาธารณะต่อเนื่องและเนืองแน่น)

ครั้งนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจและควรค่าต่อการจัดเก็บเป็น "องค์ความรู้"และ "ต่อยอด" สู่องค์กรนิสิต หลายประการเป็นต้นว่า การนิยามลักษณะของผู้นำ  หลักการเป็นผู้นำ และลักษณะคนที่มีคุณค่า  ดังนี้

           ๑. ลักษณะผู้นำ

               ผู้นำ คือ ผู้ที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่บุคลิกภาพและบารมีนำสมาชิกไปสู่เป้าหมายของกลุ่มได้และรักษาเอกภาพของกลุ่มไว้ได้ โดยมีบุคลิกภาพที่สำคัญ  ๕  ประการ คือ กายภาพ  สติ ปัญญา  ความสนใจ วาจา  อารมณ์

          ๒. หลักแห่งการเป็นผู้นำ

               ๒.๑  หลักการครองตน  ได้แก่  การรู้จักตนเอง ยอมรับตนเอง มั่นใจในตนเอง ประมาณตนเอง ควบคุมตนเอง ประเมินตนเอง  และพัฒนาตนเอง

              ๒.๒  หลักการครองงาน  ได้แก่ ทำให้ดีที่สุด (ฉันทะ) ทำให้แล้วเสร็จ (วิริยะ)  อุทิศกายและใจ (จิตตะ)  ทำงานด้วยปัญญาอย่างมีหลักวิชา  (วิมังสา)

              ๒.๓  หลักการครองคน  ได้แก่  มอบความเป็นมิตร (เมตตา)  ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล (กรุณา)  ยินดี ส่งเสริม สนับสนุน (มุฑิตา) ยึดมั่นหลักการ ไม่หวั่นไหว (อุเบกขา)

นอกจากนี้ในหลักแห่งการครองคนยังได้หยิบยกแนวคิดเกี่ยวกับ "สังคหวัตถุ ๔"  มาเน้นย้ำเพิ่มเติมให้แน่นหนักมากขึ้น กล่าวคือ  เกื้อกูลคนอื่นด้วยสิ่งของเงินทอง (ทาน)  เกื้อกูลด้วยถ้อยคำ (ปิยะวาจา)  เกื้อกูลด้วยแรงกาย (อัตถจริยา)  ร่วมทุกข์ร่วมสุขและให้ความเสมอภาค (สมานัตตา)

        ๓. ลักษณะคนที่มีคุณค่า

             ประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญ ๕  ประการ คือ อยู่เป็น คิดเป็น ทำเป็น คนเก่ง คนดี

        ในยุคสมัยที่ผู้นำสังคมได้ชูนโยบายคุณธรรมนำประเทศชาติเช่นนี้ การได้ผลิกกลับไปอ่านบันทึกของตนเอง เจอะเจอข้อความอันเป็นประโยชน์ของผู้รู้ที่ยังคง "ร่วมสมัย"  จึงอดไม่ได้ที่จะนำกลับมาเขียนถึงอีกครั้ง

       แน่นอน, เรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นเรื่อง "เก่า" ที่ไม่เล่าเดี๋ยวก็ "ลืม" !

ที่สำคัญเราทั้งหลายอย่าลืมกลับไปพลิกอ่านไดอารี่เก่า ๆ ของตนเองกันบ้าง  

บางทีเรื่องดี ๆ อาจกำลังรอคอยท่านกลับไปสัมผัสและเรียนรู้อีกครั้ง ซึ่งหลากเรื่องราวนั้นอาจมีทั้งที่ "ตกสมัย"  และ "ร่วมสมัย"  อยู่ก็เป็นได้....

คำสำคัญ (Tags): #ผู้นำนิสิต#msu
หมายเลขบันทึก: 69071เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2006 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • รศ.ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ เป็นชาวโคราชที่ไปอยู่ห่างไกลทางใต้ถึง ม. สงขลาฯ เป็นเวลานาน ในขณะที่ผมไปอยู่เหนือที่ ม.เชียงใหม่ แต่เราได้มาพบกัน และ ทำงานร่วมกัน ที่ ม. เทคโนโลยีสุรนารี บ้านเกิด
  • ท่านเป็นผู้ชำนาญด้านกิจการนิสิต นักศึกษา และ ด้านกีฬา ที่หาได้ยากมากคนหนึ่ง
นอกจากไดอารี่เก่าๆ แล้ว บันทึกเก่าๆหลายบันทึกใน gotoknow อีกมากมาย ยังรอการค้นพบ และตักตวงสาระดีๆเช่นกันนะครับ

อาจารย์ panda  และ (คุณ) นายบอน - กาฬสินธุ์

  • ผมเห็นด้วยกับทัศนะท่านเป็นผู้ชำนาญด้านกิจการนิสิต นักศึกษา และ ด้านกีฬา ที่หาได้ยาก
  • บันทึกเก่าๆหลายบันทึกใน gotoknow รอการค้นพบ ซึ่งผมก็กำลังค้นหาอยู่อย่างไม่ลดละ
คุณธรรม จริยธรรม คงต้องกลายมาเป็นวาระแห่งชาติต่อไปครับ และน้อมมาปฏิบัติร่วมกันต่อไปในทุกๆหย่อมย่านของสังคมครับ พี่มนัส
ขอบคุณ น้องแจ๊ค มากครับ คงไม่ถึงกับต้องเป็นวาระแห่งชาติ .เอาแค่ในระดับมหาวิทยาลัยก็ดีถมไปแล้วแหละครับ

สิ่งที่เรา และประเทศชาติต้องการมากที่สุดคือ ผู้นำที่มีคุณธรรมนำใจครับ

ท่านอาจารย์ท่านเก่งและเชี่ยวชาญตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา

เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่เรา ท่านทั้งหลายแสวงหาครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ และบันทึกดีๆจาก แผ่นดิน ที่มีให้พวกเราเก็บเกี่ยวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท