บทความอ่านเล่นเกี่ยวกับแบบจำลองระบบ (๖)


ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ


ใบอ้อย “ข้อมูลที่โปรแกรมอ้อยไทยของเธอนะมีอะไรบ้าง”
สงสัย “หลัก หลัก ต้องการข้อมูลสองลักษณะ”

ใบอ้อย “ขยายความหน่อย ซิ”
สงสัย  “ลักษณะแรกเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ลักษณะที่สองเป็นข้อมูล เชิงอรรถาธิบาย”

ใบอ้อย “อะไรคือข้อมูลเชิงพื้นที่”
สงสัย  “ก็เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งในแนวนอน และแนวตั้งของวัตถุ หรือ สิ่งของ จากจุดอ้างอิงมาตรฐาน เช่น
ที่ตั้งเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศเกษตรที่บ้านอ้อยใหม่มีตำแหน่ง ในแนวนอนเป็น ๔๙๖๕๓๑.๗๔๔๕ และมีตำแหน่งในแนวตั้งเป็น
๒๐๗๗๗๒๗.๓๗๑ ตั้งอยู่ในเขตที่ ๔๗Q ของแผนที่โลกตามระบบพิกัดแบบ ยูทีเอ็ม (UTM) ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างคงที่ ส่วนใหญ่จะเป็นแผนที่ของวัตถุ หรือ สิ่งของต่างบนพื้นผิวโลก เช่น แผนที่ชุดดิน แผนที่แปลงอ้อย และก็อีกเยอะ”

ใบอ้อย “อะไรคือข้อมูลอรรถาธิบาย”
สงสัย  “เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับขนาด หรือ สภาพของวัตถุ หรือ สิ่งของนั้น นั้น เช่น ข้อมูลเก็บจากเครื่องตรวจวัด
สภาพอากาศเกษตรที่บ้านอ้อยใหม่ของเมื่อวันวาน มีรังสีดวงอาทิตย์รวม ๑๙ เมกกะจูนล์ต่อตารางเมตรต่อวัน อุณหภูมิสูงสุดเป็น ๒๗ องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเป็น ๑๗ องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนรวม ๒๐ มิลลิเมตร ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงตามสภาพของวัตถ ุหรือสิ่งของ”

ใบอ้อย “ข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบอ้อยไทยมีอะไรบ้าง”
สงสัย  “เริ่มสนใจแล้ว ดีมาก”

ใบอ้อย “ก็มันอยากรู้นี่”
สงสัย  "ได้เลย ได้เลย อ้อยไทยมีข้อมูลเชิงพื้นที่รวม ๖ ประเภทข้อมูล มีแผนที่ขอบเขตการปกครองนะ แผนที่ชุดดินนะ แผนที่เขตภูมิอากาศเกษตรนะ แผนที่แปลงอ้อยนะ แผนที่ถนนน และแผนที่แหล่งน้ำ ในระดับจังหวัด”

ใบอ้อย “ทีมวิจัยของเธอทำมาตั้งหลายปี ได้กี่จังหวัดแล้วล่ะ”
สงสัย  “ห้าจังหวัดในอีสาน”

ใบอ้อย “จังหวัดอะไรบ้างล่ะ”
สงสัย  “ก็มีจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น และชัยภูมิ”

ใบอ้อย “ทำไมเลือกห้าจังหวัดนี้”
สงสัย  “มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากพอสมควร มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก หากทำ้สำเร็จก็น่าจะช่วยให้เขาพัฒนาขึ้นได้”

ใบอ้อย “จะทำข้อมูลของอีก ๓๐ กว่าจังหวัดที่เหลือไหม?”
สงสัย  “คงไม่ล่ะ”

ใบอ้อย “อ้าว ทำไมล่ะ?”
สงสัย  “คือ เราคิดว่าให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการทำแผนที่ นำไปพิจารณาดำเนินการจะดีกว่า ขอให้เราเอาเวลาไปทำงานวิจัย และพัฒนาของใหม่เพื่อใช้เสริมงานวิจัย และสอนในมหาวิทยาลัยดีกว่า แค่นี้ก็สนุกและมีความสุขพออยู่แล้ว”

ใบอ้อย “เอางั้น เลยเหรอ?”
สงสัย  “อืมม์ ใช่”

ใบอ้อย “ถามเรื่องอ้อยไทยต่อได้ไหม?”
สงสัย  “ได้เลย”
 
ใบอ้อย “ข้อมูลอรรถาธิบายที่เธอพูดว่าเป็นข้อมูลอีกประเภทหนึ่ง ในระบบอ้อยไทยมีอะไรบ้าง”
สงสัย  “อ๋อ อันนี้ไม่ยาก”

ใบอ้อย “ถ้าไม่ยาก ก็ว่ามา”
สงสัย  “ข้อมูลอรรถาธิบายที่ใช้ในระบบอ้อยไทยมี ๔ ชนิด  ข้อมูลชุดดิน ข้อมูลภูมิอากาศเกษตร ข้อมูลพันธุกรรมอ้อย และข้อมูลการจัดการปลูกอ้อย”

ใบอ้อย “ขยายความข้อมูลชุดดินหน่อยซิ”
สงสัย  “ข้อมูลชุดดินก็มี ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นข้อมูลแสดงลักษณะเฉพาะของชุดดินนั้น นั้น เช่นว่าความสามารถในการอุ้มน้ำ ความสามารถในการไหลผ่านของน้ำ ความสามารถในการสะท้อนความร้อน ส่วนสองเป็นข้อมูลตามชั้นความลึกของชุดดินแสดง ความอุดมสมบูรณ์ แสดงความชื้นดินแต่ละช่วง แบบจำลองอ้อยใช้ข้อมูลนี้ในการคำนวณการเปลี่ยนแปลง ของน้ำในดินและไนโตรเจน”


ใบอ้อย “ต้องนี้มีข้อมูลชุดดินของประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน”
สงสัย  “มีทั้งประเทศแล้ว กรมพัฒนาที่ดิน ทำไว้แล้ว”

ใบอ้อย “ใช้งานได้เลย หรือเปล่า”
สงสัย  “ได้เลย แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของข้อมูลก่อนน่ะ”

ใบอ้อย “ขอขยายความข้อมูลภูมิอากาศเกษตรอีกหน่อยซิ”
สงสัย  “ไม่เบื่อเหรอ”

ใบอ้อย “พักให้น้ำ ให้กาแฟ ก่อนก็ได้”
สงสัย  “ก็ดีนะ”

ทั้งสองสนทนาเกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็นในการใช้งานโปรแกรม เชื่อมโยงอ้อยไทย

ใบอ้อย “อ้าว ต่อ ต่อได้”
สงสัย  “ถึงไหนแล้ว”

ใบอ้อย “ข้อมูลภูมิอากาศเกษตร ไงล่ะ”
สงสัย  “อ๋อ มีสองแบบ”

ใบอ้อย “ว่าไป”
สงสัย  “แบบแรกเป็นข้อมูลสัมประสิทธิ์เขตภูมิอากาศ ในพื้นที่ที่เราทำงาน ๕ จังหวัด มีทั้งหมด ๕ เขตภูมิอากาศด้วยกัน ข้อมูลแต่ละมีรูปแบบ เหมือนกัน ต่างกันเพียงภูมิอากาศของแต่ละเขต แบบที่สองเป็นข้อมูลภูมิอากาศรายวันของแต่ละปีในแต่ละเขต”

ใบอ้อย “สัมประสิทธิ์เขตภูมิอากาศได้มาอย่างไงล่ะ”
สงสัย  “ได้มาจากการคำนวณโดยใช้ข้อมูลแบบที่สองของแต่ละ สถานีตัวแทนของเขตอย่างน้อยสองปีซึ่งเป็นข้อมูลภูมิอากาศ รายวันของแต่ละปีในเขตนั้น นั้น”
 

ใบอ้อย “แล้วข้อมูลแบบที่สองล่ะ ได้มาจากไหนกันล่ะ”
สงสัย  “ได้มาจากการตรวจวัดของแต่ละสถานีตัวแทน ซึ่งมีข้อมูลอย่างน้อย ๔ ชนิด และเป็นข้อมูลรายวัน ต้องมีข้อมูลรังสีดวงอาทิตย์ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นเมกกะจูนล์ต่อ ตารางเมตรต่อวัน ต้องมีอุณหภูมิสูงสุด-ต่ำสุดซึ่งมีหน่วยวัดเป็นองศาเซลเซียส และต้องมีข้อมูลปริมาณน้ำฝนซึ่งมีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตร”

ใบอ้อย “อย่างนี้ฉันก็วัดข้อมูลภูมิอากาศเกษตรที่ไร่อ้อยของฉันได้ซิ”
สงสัย  “ได้แน่นอน”

ใบอ้อย “นำเข้าและใช้งานกับโปรแกรมอ้อยไทยของเธอได้เลยเหรอ”
สงสัย  “ใช่”

ใบอ้อย “อย่างนี้ฉันก็สามารถใช้โปรแกรมอ้อยไทยประมาณการ ผลผลิตอ้อยของไร่ของฉันได้ใช่ไหมล่ะ”
สงสัย  “ก็ใช่อีก เหมือนกัน”

ใบอ้อย “เอาเรื่องข้อมูลให้จบดีกว่า”
สงสัย  “ก็ดีเหมือนกันนะ”

ใบอ้อย “คราวนี้ ว่าด้วยเรื่องข้อมูลพันธุกรรมอ้อย”
สงสัย  “ข้อมูลชุดนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ใหญ่ คือ ข้อมูลพันธุกรรมที่แสดงลักษณะทางการเจริญเติบโตของอ้อย และข้อมูลพันธุกรรมที่แสดงลักษณะทางพัฒนาการของอ้อย แต่ละพันธุ์”
 

ใบอ้อย “ข้อมูลแสดงลักษณะทางการเจริญเติบโตของอ้อย คืออะไร”
สงสัย  “เป็นข้อมูล เป็นตัวเลขแสดงการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ของขนาดของส่วนต่าง ต่างของอ้อย รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำตาลของอ้อยแต่ละพันธุ์”

ใบอ้อย “ยังงง งง อยู่เหมือนเดิม ขยายความหน่อย ซิ พี่”
สงสัย  “ตัวอย่างทางวิชาการนะมีมาก แต่จะอธิบายแบบง่าย ง่าย นะมันไม่ค่อยง่ายหรอกนะ ต้องขอเวลาคิดหน่อย”

ใบอ้อย “เติมกาแฟไหม”
สงสัย  “พอแล้ว ขอบคุณ”

สงสัยเริ่มคิดที่จะหาทางอธิบายให้เพื่อนเข้าใจความหมายและ ที่สำคัญกว่าคือเพื่อนสามารถนำไปขยายความให้เพื่อนบ้านใน หมู่บ้านอ้อยใหม่ได้เข้าใจอย่างชัดเจน
==========================>>

| ๖ |

หมายเลขบันทึก: 144246เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 04:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท