เวลา...ยาเสพติด วิทยานิพนธ์ และชุมชนเข้มแข็ง


วิจัยเริ่มเพื่อท้องถิ่นต้นขึ้นบนดอยที่ร้อนระอุ และสิ้นสุดลงบนดอยที่สงบร่มเย็นดังเดิม

 

กลางปี ๒๕๔๖ ปางมะผ้า,แม่ฮ่องสอน

ถนนดินอ่อน เส้นทางเดียวไปสู่บ้านกึ้ดสามสิบ ฤดูฝนคราไหน ก็ลำบากเมื่อนั้น หากเป็นช่วงแล้งก็ฝุ่นอีกละ การเดินทางไปบ้านกึ้ดสามสิบต้องอาศัยถนนเส้นนี้จาก ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า  ดังนั้นการเดินไปยังตัวหมู่บ้านจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

          ระหว่างทาง เราพบเห็นไร่ของชาวลีซู มีทั้งไร่ข้าว ข้าวโพด  ไร่ขิง ถั่วแดง ตลอดจนไร่แครอท  ชาวลีซูมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติและวิถีการเกษตร ช่วงหลังๆเกษตรกระแสหลักมาแรง ผลิตเพื่อขายให้นายทุน..การเปิดพื้นที่ใหม่ๆเพื่อถางป่าทำไร่ เกิดขึ้นเสมอ เป็นเงื่อนไขหนึ่งทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับอำนาจรัฐบ่อยครั้ง

          วิถีเช่นนี้เอง ที่เป็นผลพวงจากโลกาภิวัตน์ ที่เราเรียกกันว่า “Globalization” คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ให้ความหมายของคำว่า ก่อบรรลัยใส่ฉัน ก็คงเป็นจริง โลกาภิวัฒน์ไม่เคยปราณีต่อพี่น้องชนเผ่า แม้กระทั่งบนดอยสูงเช่นบ้านกึ้ดสามสิบ

          ผู้เฒ่าอาวุโสชาวลีซูนั่งคุยกันเป็นกลุ่มที่ศาลาไม้ทางเข้าหมู่บ้าน หนุ่มนั่งจับกลุ่มคุยกันเรื่องสาวๆ ที่พวกเขาสนใจ สาวๆลีซูนั่งรวมกับแม่บ้านปักเย็บเสื้อผ้าที่พวกเธอจะนำไปใส่ให้สวยที่สุดในงานปีใหม่ นอกจากวิถีปกติในชุมชนที่เห็นก็มีวิถีชาวไร่ ลีซูทำงานหนักหากอยู่ในไร่ เราสังเกตจากไร่ที่กว้างใหญ่ พร้อมกับผลผลิตที่กำลังออกดอกผล


 

ฤดูหนาว ปี ๒๕๔๖ บนดอยกึ้ดสามสิบ ปางมะผ้า

 

          ผมจับใจความจากการสนทนาในวงน้ำชาของผู้เฒ่าอาวุโสลีซู พูดถึง จารีตเดิมที่มีอยู่ของลีซูที่เริ่มสูญหายไป และเอ่ยถึงเด็กๆลีซูรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจที่จะเรียนรู้วิถีตนเอง

อีกหน่อยประเพณีลีซูคงไม่มีแล้ว พ่อเฒ่าอาหวู่ผะ บอกผม พ่อเฒ่ากล่าวขึ้นอย่างลอยๆ เจตนาแกคงอยากบอกให้ผมรับรู้แค่นั้น

จริงๆของดีของชุมชนลีซูมีมากมาย เมื่อก่อนหากไม่สบายก็ใช้ยาสมุนไพรรักษากันเอง แม่เฒ่าอะหมี่มะ  พูดเสริมพ่อเฒ่า

 

          บทสนทนาในวงน้ำชาเช้าวันนั้น เป็นจุดเริ่มต้น ที่ผมทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท ในหัวข้อเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการดูแลตนเองของหญิงหลังคลอดชาวลีซู โดยใช้หญิงหลังคลอดเป็นตัวละคร ที่บอกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวลีซูที่มีอยู่มากมายและควรสืบสานให้ลูกหลาน โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพลีซู

          นั่นเป็นเรื่องอดีตที่ผ่านมาเมื่อปี ๒๕๔๗ ต่อมาหลังจากที่ผมได้เรียบจบปริญญาโทแล้ว ความคิดที่จะสานต่องานพัฒนาชุมชนที่กึ้ดสามสิบยังคงมีอยู่

ต้นปี ๒๕๔๗ หลังปีใหม่ลีซูบ้านกึ้ดสามสิบ

ลูกชายของแม่เฒ่าไปค้ายาบ้าและถูกเจ้าหน้าที่ยิงตายที่เชียงใหม่ครับ อะหวู่ผะ บอกให้ผมเมื่อผมถามถึง อะตาผะลูกชายคนโตของแม่เฒ่า คราไปเยี่ยมชุมชน

บ้านหลังโน้น และหลังนี้ ถูกปิด ถูกตำรวจยึดทรัพย์ เหตุเพราะพัวพันกับยาบ้าครับ ชาวบ้านคนหนึ่งชี้ให้ผมดูบ้านจากจุดสูงบนเชิงเขาที่เห็นทัศนียภาพชุมชนในเย็นวันหนึ่ง

 

ช่วงเมษายน ๒๕๔๗ บ้านกึ้ดสามสิบ,ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

          เหตุการณ์ช่วงต้นปี ๒๕๔๗ เปลี่ยนแปลงชุมชนไปมาก ยาเสพติด  ที่เป็นเงื่อนไขตัวหนึ่งที่ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การประกาศสงครามกับยาเสพติดรอบแรก มีผู้คนในหมู่บ้านหายไปหลายคน ชาวบ้านก็หวาดกลัวอิทธิพลจากผู้ค้ายาเสพติด กึ้ดสามสิบถูกทางการจัดให้เป็นหมู่บ้านที่พัวพันกับปัญหายาเสพติด ที่เชื่อมโยงกันกับบ้านรักไทยและรุ่งอรุณ ในข้อหาเป็นแหล่งพักยาเพื่อเดินทางต่อ เป็นจุดติดต่อระหว่างผู้ค้า การค้ายาเสพติดโดยความสัมพันธ์ทางชาติพันธ์ ที่เราพบว่า
"จีนยูนนานกับลีซู เป็นพี่น้องกัน"

 

          เหตุการณ์ที่สัมพันธ์ และเงื่อนไขที่ต้องฟื้นฟูชุมชนหลังการปราบปรามยาเสพติด

รองผู้พันปิยวุฒิกับผม ได้พูดคุยกันในประเด็นนี้

...ทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง? ทำอย่างไรให้ชุมชนเหล่านี้ปลอดยาเสพติด?

ทำอย่างไรให้ชุมชนเหล่านี้พึ่งตนเองได้?

เหมือนจะเป็นคำถามที่เราถามกันบ่อยครั้งในห้วงนั้น..

          การพัฒนาชุมชนโดยทางทหารที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป้าหมาย หลายๆแห่งในแม่ฮ่องสอน เป็น  กระบวนการที่ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งจริงหรือไม่?

เราทบทวนกันดูอย่างใจเป็นกลาง

เราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า กระบวนการการทำงานเพื่อพัฒนาของทหารยังมีจุดอ่อนอีกมาก ในเรื่องของวิธีคิด ความเข้าใจ และเข้าถึงชุมชน ดังนั้นแล้ว การพัฒนาที่ยังไม่เข้าใจ เข้าถึง ไม่ได้ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็งได้ไม่นาน หากโครงการเสร็จชุมชนก็อ่อนแอเช่นเดิม

          งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นกระบวนการที่พวกเราคุยกันต่อหลังจากนั้น ด้วยความเชื่อมั่นว่า งานวิจัยแบบนี้จะช่วยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างเต็มที่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ ปัญหาก็มาจากชุมชนเอง...ที่สำคัญ เรายังมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นนักวิจัยที่เป็นรุ่นพี่ และพี่เลี้ยงจาก ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นแม่ฮ่องสอน ช่วยในการให้ข้อเสนอแนะ และเต็มเติมกระบวนการการวิจัย...งานศึกษา

ในการคุยครั้งนั้น งานวิจัยเริ่มเพื่อท้องถิ่นต้นขึ้นบนดอยที่ร้อนระอุ และได้สิ้นสุดกระบวนการลงบนดอยที่สงบร่มเย็นดังเดิม

ปลายปี ๒๕๔๘ ที่แม่ฮ่องสอน

 

          หนึ่งปีต่อมา....

จากวันนั้นถึงวันนี้ ปัญหายาเสพติดหมดสิ้นไป ความสงบบนดอยกลับคืนมาอีกครั้ง พร้อมกับ ปัญญา ที่ก่อเกิดจากกระบวนการศึกษาวิจัย ชุมชนบนพื้นที่สูงได้เรียนรู้กระบวนการวิจัย ได้ใช้กระบวนการดังกล่าวแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในชุมชน...

สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น


คัดงานเขียนบางส่วนจากหนังสือถอดประสบการณ์วิจัยจากพื้นที่  "กระบวนการเรียนรู้สู่เส้นทางสีขาว"   

 จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)สำนักงานภาค

                          (งานเขียนยังไม่สมบูรณ์- - - จะจัดพิมพ์ปลายปีนี้ครับ) 

                                                                            จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

                                                                          เมืองปาย บ่ายวันอังคาร

                                                                                    ๓ ต.ค. ๔๙
 

 



ความเห็น (21)
  • Cheers!!!! up
  • เมล็ดพันธุ์ของชาติค่ะ

ขอบคุณพี่ Bright Lily ช่วงนี้ผมนั่งเขียนต้นฉบับหนังสืออยู่ที่บ้านครับ มีโอกาสเข้าใช้ Gotoknow บ่อยครั้ง ทำให้มีโอกาสเขียนบันทึก บ่อยๆและเข้ามาอ่านบ่อยๆ

ขอบคุณครับ สำหรับ..กำลังใจที่ดีครับ

       (เวลาอ่านบันทึกผม ต้องยิ้มด้วยนะครับ) 

^__^

ยิ้มกับเพลง และย่อหน้านี้ค่ะ

ผู้เฒ่าอาวุโสชาวลีซูนั่งคุยกันเป็นกลุ่มที่ศาลาไม้ทางเข้าหมู่บ้าน หนุ่มนั่งจับกลุ่มคุยกันเรื่องสาวๆ ที่พวกเขาสนใจ สาวๆลีซูนั่งรวมกับแม่บ้านปักเย็บเสื้อผ้าที่พวกเธอจะนำไปใส่ให้สวยที่สุดในงานปีใหม่ นอกจากวิถีปกติในชุมชนที่เห็นก็มีวิถีชาวไร่ ลีซูทำงานหนักหากอยู่ในไร่ เราสังเกตจากไร่ที่กว้างใหญ่ พร้อมกับผลผลิตที่กำลังออกดอกผล

เห็นภาพเลย

ป.ล. เด็กน้อยตาป๋องแป๋วน่ารักจัง

เพลงเพราะมั้ยครับ!!!

เหตุที่ชอบเพลงนี้เพราะเป็นเพลงแรกที่ผมเปิดเวลาขับรถครับ

.........................................

ผมพยายามสื่อออกมาให้เห็นภาพว่า บนดอยทำอะไรกันอยู่ วิถีชีวิตเป็นอย่างไร?

เพราะผมเองคลุกคลีกับชนเผ่ามานาน บางทีผมก็สามารถเข้าใจเลย แต่ผู้ที่ไม่เคยอาจต้องใช้วิธีการอธิบายแบบให้เห็นภาพครับ

............................................

ในภาพเป็นสาวน้อยลีซูครับ เธอคนนี้พูดเก่งช่างเจรจา ครับ 

กลับมาอีกที เพลงเพาะค่ะ แต่...

ทำให้เปิดหน้าเว็บนี้นานมาก แง๊แง

 คุณ IS

มีลูกเล่นใน Blog บางอย่างทำให้อืดๆครับ

ผมลบบางอย่างออกไปแล้ว ในBlog หลังจากนั้นลองเทียบกับ บันทึกของท่านอื่น ก็ไม่มีัปัญหาแล้วครับ

 

สิ่งต่างๆ  หลากหลาย  สูญสลายไปกับการจากไปของคนรุ่นเก่า  ดีใจจังที่ยังมีคนอย่างคุณเอก

ที่ยังสนใจในภูมิปัญญา  สิ่งเหล่านี้บางอย่างเรากำลังถูกชาวต่างชาติขโมยเราไปนะคะ

ในความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์ที่ในต่างประเทศไม่มี  เป็นที่น่าสนใจที่ผู้คนเหล่านั่นจะนำไปค้นคว้าและจดเป็นสิทธิ์บัตรของพวกเค้า  ทั้งๆที่เป็นภูมิปัญญาของเราแท้ๆ  บางอย่างที่คิดได้แล้วทำให้เป็นของเราโดยถูกต้องก็ดีนะค่ะ

อ่านแล้วคิดถึงเพลง "ชายคนนั้น"  ของคาราวาน

ชายคนนั้น  นั่งเหงาเศร้าซึม  บ้านอึมกรึมหลังใหญ่โบราณ...

ในช่วงที่พี่คามิน  ทำงานอยู่ที่  ปปง.  เขียนหนังสือกฎหมายการฟอกเงินที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการฟอกเงินและการยึดทรัพย์  รวมถึงวิธีการตามเงินที่ฟอกด้วยค่ะ

คุณกัลปังหา

การยกระัดับความรู้ท้องถิ่น สำคัญมากครับ ผมมองว่า ความรู้สากลก็ดี ความรู้สมัยใหม่ก็ดี หากผสานเข้ากับความรู้เดิมของชุมชน และนำกลับไปใช้ประโยชน์กับชุมชนเอง เป็นเรื่องที่ดี

อ่านเรื่อง "จุดคานงัด" ที่ผมเขียน เช่นเดียวกันครับ

เราคิดกันพอสมควรครับ เรื่องที่เราไปเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นสมุนไพรลีซู เราก็เกรงว่าจะมีคนนำองค์ความรู้นั้นไปและนำไปจดลิขสิทธ ิ์เหมือนพืชสมุนไพรหลายๆชนิด ของไทยเรา

ผมว่าพี่คามิน เรียนมาทางนั้นโดยตรงครับ ก็สามารถเขียนได้โดยไม่ยากนัก

เรื่อง "ยาเสพติด"  พี่ชายของผมที่เป็นนายทหารให้หนังสือเล่มโตๆเรื่องของ "ความมั่นคง" มาให้อ่านอ่านแล้วทำความเข้าใจ เพื่อจะย่อยสู่งานเขียน ก็กำลังอ่านและทำความเข้าใจอยู่ แต่อ่านแล้วยังมึนๆอยู่

ก็กำลังปั่นต้นฉบับครับ กำหนดแล้วเสร็จคงกลางเดือนหน้านี้ครับ 

 

ไม่ลองไม่เสพย์สิ่งอันตราย...

เพราะตัวต้องตายก่อนได้ทำดี...

อย่าได้ประมาทเกิดมาเป็นคน...

เร่งสร้างกุศลกันในชาตินี้...

อย่าเกิดมาเปล่าไปเปล่าน้องพี่...

ก่อนสินชีวี...ควรสร้าง...บุญ...เอย...

"ก่อบรรลัยใส่ฉัน" เป็นคำแปลที่ได้คำจำกัดความที่โดนใจมาก ๆ เลยครับ เพราะระบบ Globalization มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ครับ แต่สำหรับประเทศไทยจะรู้สึกว่าโทษมหันต์จะเยอะกว่าคุณอนันต์ครับ ขออภัยนะครับท่านอาจารย์ที่ไม่ค่อยได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ ผมได้รับไปรษณียบัตรเรื่อง "อดทน" ของอาจารย์แล้วครับ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

อาจารย์ umi

อากาศทางใต้เป็นไงบ้างครับ ? อากาศที่เหนือหนาวแล้วครับ

หากเราย้อนไปปี ๔๖ ถือว่าวิกฤตเรื่อง ยาเสพติด มากเลยครับ  เยาวชนของชาติติดยากันงอมแงมในหมู่บ้าน ยาเสพติดหาซื้อได้ง่ายกว่าขนม

การปราบปรามเกิดขึ้นหลังจากนั้น...มาพร้อมกับความสูญเสีย ความเจ็บปวดของผู้หลงผิด ชุมชนชายแดนได้รับผลกระทบเพราะเป็นจุดผ่าน

ภาพของชุมชนตอนนั้น...อ่อนแอ อ่อนไหว และหวาดระแวง

ท่ามกลางปัญหาที่เกิด...จึงมีการริเริ่มงานพัฒนาที่ช่วยให้ชุมชนเริ่มต้นสิ่งดีๆในวันใหม่

ทางไกล...สีขาว ของชุมชนเหล่านี้ครับ 

ขอบคุณอาจารย์ มากครับ

....................................

อาจารย์ปภังกร

หากวิกฤต คือ สิ่งที่ต้องพานพบ ความอดทน และมีกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากครับ

ผมปรารถนาให้อาจารย์มีพลังกายพลังใจที่เข้มแข็ง ในการเดินทางต่อ

ทางที่ขรุขระ แคบบ้างในบางช่วง แต่ทว่าอบอุ่น และท้าทายมากในความรู้สึก

ที่สำคัญ อาจารย์มีเพื่อนครับ 

เกี่ยวกับความเข้มแข็ง  ...

        การสร้งความแข้มแข็งให้กับตัวเองยังทำได้ยาก  ไม่ว่าจะเป็นกายเข้มแข็ง  ใจเข้มแข็ง ยิ่งพูดถึงชุมชนเข้มแข็งยิ่งยากกว่าเป็นหลายร้อยเท่า   นั่นรวมทั้งกระบวนการและขั้นตอนดังที่พี่จตุพรได้เขียนไว้ในบันทึกที่ผ่านมา  ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเชื่อว่าความพยายามของชุมชนทั้งหลายที่พยายามพึ่งพา ตนเอง สร้างสมความเข้มแข็งขึ้นมาจนเป็นที่ประจักษ์ และได้มีการนำมาแสดงเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ได้เห็น  ตลอดจนออกรายการทีวีต่าง ๆ  จะเห็นว่า ประสบการณ์ หลักวิธีคิด หลักการปฏิบัติของหลาย ๆ ชุมชนหลายเครือข่ายที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้มแข็งความสามารถของชุมชนและเครือข่าย ชุมชน เขาพยายามจัดตั้งกลุมชุมชนพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นความพยายามเริ่มต้น   และชี้ให้เห็นถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ   แค่หลักคิดที่บอกว่าต่อไปนี้เราจะพยายามพึ่งตนเองก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ  และต่อจากนี้ไปเชื่อว่าการวิจัยพัฒนา  การเข้าถึงชุมชน  การให้เขารู้จักพึ่งตนเองได้   ต้องยั่งยืนกว่าการที่ให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมาจัดการให้เขาทุกอย่างจากนั้นก็หนีไป   แล้วทิ้งปัญหาให้กับชุมชน...

น้องสิทธิเดชครับ

 บันทึกที่เขียนเกี่ยวกับ "การพึ่งตนเอง" ของชุมชนผมเคยเขียนไว้ที่นี่

การพึ่งตนเอง ทางเลือก ทางรอดของนิยายการพัฒนา

ซึ่งเป็นหัวใจของความเข้มแข็งของชุมชนเลยครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม 

  • ดีใจด้วยครับที่จะมีงานวิจัยของตนเองเผยแพร่เป็นเล่มแล้ว
  • ตกใจเพลงครับนึกว่า เพลงอะไร เพลงไพเราะมากครับ
  • ขอให้มีความสุขกับการทำงาน
  • ที่ไม่ได้แวะมาเพราะกำลังปั่นงานวิจัยอยู่เหมือนกันครับผม

อาจารย์ ดร.ขจิต ครับ

ผมวางแผนเขียนไว้อีกประมาณ ๒ เรื่องครับ แต่คงต้องเป็นปีต่อไป ปีนี้เก็บข้อมูลไปก่อนครับ

ผมมีความสุขดีครับ..อากาศที่บ้านผมกำลังดี ลมหนาวมาเยือนแล้ว

เพลงที่คลอเป็นเพลงที่เตรียมพร้อมกับฤดูหนาวที่กำลังมาเยือนครับ

"วอนฟ้าห่มดาว วอนสาวห่มใจ" ของ พี่หนู มิเตอร์ครับ

ขอบคุณ อาจารย์ ดร.ขจิต มากครับ 

ปัญหายาเสพติดหมดไปเนื่องจากงานวิจัยเข้ามา กระบวนการที่น่าสนใจ

อาจารย์ได้ใช้ความเย็นสยบความร้อนได้

รานงานวิจัยฉบับสมบูรณ์นี้สามารถอ่านได้ไหมค่ะ และหาได้จากที่ไหน

ขอบคุณมากค่ะ

คุณ Chah รอหนังสือที่จะออกมาช่วงปลายปีนี้ครับ...เข้าใจว่า น่าจะมีจำหน่ายครับ

เรามีทั้งหมด ๔ โครงการวิจัย ด้วยกันครับ

ส่วนหนังสือ ผมประมวลทั้ง ๔ โครงการเข้าด้วยกันและถอดบทเรียนเป็นสารคดีวิจัยครับ

เขียนงานวิชาการให้สนุก เหมือน สารคดีท่องเที่ยวครับ... 

 

แผ่นนำเสนอโครงการวิจัยเด่น...

 

อีกหนึ่งของความภูมิใจ

อยากเห็นภาพบรรยากาศภายในหมู่บ้านกึ๊ดสามสิบจัง

อยากไปเที่ยวแต่ไม่มีโอกาสสักทีอยากให้เอาภาพมา

ลงเยอะๆ...ขอบคุณครับ

กึ้ดสามสิบ เป็นหมู่บ้านที่ผมประทับใจครับ ผมได้รับประสบการณ์ดีๆจากที่นี่มากมาย

คุณบอยมีโอกาสไปเที่ยวได้ครับ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ลีซู ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท