คนสร้างความรู้ ที่กิ่ง อ. แคนดง จ.บุรีรัมย์


นายสำเริง เย็นรัมย์  ชาวบ้านตำบลหัวฝาย  กิ่งอำเภอแคนดง จ.บุรีรัมย์  เป็นเกษตรกรธรรมดาผู้หนึ่งที่เหมือนๆกับเกษตรกรทั่วไปของเมืองไทย  น้าสำเริงอ่านหนังสือพอได้นิดหน่อย  แต่ถ้าให้เขียนคงจะยาก  ก็เห็นจะมีเขียนชื่อตัวเองนี่แหละที่บ่อยที่สุด

น้าสำเริงเคยไปขายแรงงานทั่วประเทศ   เคยอยู่โรงงานปลาหมึกที่ราชบุรี   รับจ้างเลื่อยไม้ต่อเรือที่สตูล  และยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่ได้เอ่ยนาม   จะเห็นว่าวัฏจักรของน้าสำเริงอยู่ในวังวนเดียวกับเกษตรกรไทยที่มีชีวิตต่อสู้ดิ้นรนมายาวนาน

น้าสำเริงวาดฝันไว้ว่าเขาจะเป็น "เศรษฐี"  คนหนึ่ง   แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ  ว่าเป็นเศรษฐีจากการทำเกษตรผสมผสานเพียง 1 ไร่กว่าๆ    แต่ความหมายของน้าสำเริง  หมายถึงว่าเป็น  "ผู้ที่ร่ำรวยความสุข"   จากการทำมาหากินแบบพออยู่พอกิน  นั่นเอง

น้าสำเริงมีบุคลิกของความเป็นผู้นำมากทีเดียว   แต่การนำที่ว่านั่น  ไม่ใช่เป็นผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  หรือ อบต. อะไรแบบนั้นนะครับ   เป็นผู้นำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มเกษตรกร    ที่สวนน้าสำเริงมีเกษตรกรเพื่อนบ้านอีก 5 คนที่มาร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำ   แลกเปลี่ยนกันแบบง่ายๆไม่มีพิธีกง  พิธีการ   ไม่ติดรูปแบบใดๆเลย   เดินเข้ามาในสวน  ใครสนใจเรื่องอะไร  ก็คุยกันเรื่องนั้น   คุยกันไป  ลงมือทำกันไปพร้อมๆกัน  เกิดปิ๊งอะไร  ก็เอากลับไปทำที่สวน  หรือแปลงเกษตรของตัวเองต่ออีกที  เรียนรู้ แล้ว  ททท. (ทำทันที)     ต่างจากเราเรียนแล้วไม่ค่อยได้เอาไปใช้จริง     เกิดผลอย่างไร  ก็กลับมาคุยกันครั้งหน้าอีก  เป็นอย่างนี้หมุนเวียนไปเรื่อยๆ

สวนน้าสำเริงในเนื้อที่ประมาณ ไร่เศษๆ  ติดกับถนนในหมู่บ้าน   ในสวนมีทั้งพืชหลากหลายชนิด  เช่น  กล้วย  มะพร้าว  ผัก  ไม้ดอก  ยางนา  และอื่นๆอีกมากมาย   ส่วนปศุสัตว์ ที่เห็นก็มี  หมูที่อยู่ในเล้าเล็กๆ ตั้งอยู่บนบ่อปลา   มีสระน้ำเลี้ยงปลาปลาบึก   เข้าไปในสวนก็จะเห็นได้ว่ามีการจัดระบบแบบง่ายๆ  แต่ดูสบายตาและร่วมรื่นดีมากครับ

ด้วยความที่เป็นคนที่มุ่งมั่น  มีหัวใจใฝ่เรียน  ถึงแม้จะเรียนในโรงเรียนน้อยไปหน่อย   น้าสำเริงแกมีความรู้ที่สร้างขึ้นมาเองเอามาแสดงให้คณะ KM สัญจรได้ดูชมกัน   ผมขออขนุญาตเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "ความรู้" นะครับ  ถึงแม้ว่าหลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วย  ผมจะนับสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น "ความรู้จากแผ่นดิน" หรือ "ความรู้มือหนึ่ง" (คนส่วนใหญ่มากด้วยความรู้มือสอง มือสาม มือ.... แต่ไม่ค่อยสร้างขึ้นใช้เอง  ติด mode เสพความรู้  มากกว่าสร้างความรู้)  เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ  เป็นความรู้ปฏิบัติ แต่มันสะท้อนวิธีคิด และร่องรอยของการเรียนรู้  ของคนได้ดี

ในบันทึกนี้ขออนุญาตยกความรู้ที่น้าสำเริงสร้างขึ้นมาใช้เองสักหนึ่งเรื่อง  นั่นก็คือ  "การให้น้ำพืชผัก"  ที่แสนจะชาญฉลาด  ง่าย  สะดวก  ประหยัดแรง และได้ผลดีทีเดียวครับ

น้าสำเริงใช้รถไถเดินตาม  หรือควายเหล็กพ่วงเข้ากับปั้มน้ำแบบท่อพญานาค   โดยที่ปลายท่อพญานาคต่อเข้ากับถุงผ้าแทนท่อน้ำ  แต่ข้อดีของถุงผ้า คือจะอ่อนตัวไปตามทิศทางที่เราต้องจัดได้ง่าย   ปลายถุงผ้าจะถูกจัดวางไว้บริเวณร่องคูริมถนนด้านหน้าของสวนน้าสำเริง  ซึ่งบังเอิญติดกับถนนลูกรัง  เป็นพื้นที่ด้านที่มีความสูงมากกว่าพื้นที่สวนด้านอื่นๆ ที่เหลือ    เมื่อน้ำถูกปล่อยมาก็จะไหลมาตามท่อผ่านถุงผ้า   ไหลลงร่องคูด้านหน้า  แล้วจะเอ่อล้นเข้าไปในสวนด้านที่ติดกับรั้ว   ด้านในรั้วจะปรับพื้นให้มีความชันเล็กน้อย  เพื่อให้น้ำไหลดีขึ้น   แต่ถ้าปล่อยให้น้ำไหลไปบนหน้าดินอย่างเดียวก็คงจะไหลเร็วมาก  และบังคับทิศทางยาก    น้าสำเริงใช้ฟางคลุมหน้าดิน  โดยเฉพาะบริเวณโคนต้นไม้   ฟางและเศษพืชผักถูกนำมาวางคลุมหน้าดินเพื่อช่วยชะลอความเร็วและรักษาน้ำไม้ให้ระเหยไปในอากาศได้เร็ว  อีกทั้งเป็นตัวช่วยบังคับทิศทางของน้ำให้เอ่อท่วมอยู่ได้นานและกระจายไปเต็มพื้นที่ได้ง่ายยิ่งขึ้น   น้ำที่ดูดซึมลงดินไม่ทันก็จะไหลลงบ่อปลา    จะเห็นว่าการสูญเสียน้ำน้อยมาก   และในขณะที่ให้น้ำนั้นก็สามารถใส่น้ำปุ๋ยหมักชีวภาพไปพร้อมๆกันเลย   น้าสำเริงเล่าว่า  เมื่อก่อนพอเริ่มปลูกพืชหลายชนิดปนกันก็ต้องหาบน้ำมารดจำนวนมาก  ซึ่งต้องใช้เวลาและออกแรงกับตรงนี้เยอะ   แต่จากการสังเกตไปในขณะที่ทำเกษตรอยู่ในสวนก็มองเห็นความได้เปรียบทางกายภาพบางอย่างจึงคิดทดลองวิธีการดังกล่าว

มันช่างน่าทึ่งในวิธีคิดจริงๆครับ   นี่แหละครับสิ่งที่ผมเรียกมันว่า "ความรู้จากแผ่นดิน" หรือ "ความรู้มือหนึ่ง"  เป็นความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นเอง  ปรับใช้เอง  โดยมีบริบทของตัวเองกำกับ   คนที่มีทักษะ "สร้างความรู้" จะคิดสร้างความรู้เล็กๆแบบนี้ออกมาเสมอ  และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มเล็กๆของเพื่อนบ้านก็จะค่อยเรียนรู้โดยเป็นไปแบบธรรมชาติมากที่สุด  แล้วจะมีความรู้เล็กๆอีกจำนวนมากที่ค่อยๆออกมาในวันข้างหน้าจากพวกเขาเหล่านั้น    ลองหลับตานึกภาพดูนะครับ  หากเกษตรกรไทยมีทักษะแบบนี้มากขึ้นอนาคตเกษตรกรรมจะเป็นอย่างไร

ตอนหน้าผมจะเล่าความรู้เล็กๆอีกชิ้นหนึ่งของน้าสำเริงที่ประทับใจอย่าลืมตามไปอ่านดูนะครับ

หมายเลขบันทึก: 18060เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 07:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท