ร่วมเรียนรู้ในการอบรม “ชวนคิด ชวนดู เรียนรู้เรื่อง KM”


ความหลากหลาย สร้างพลังในการเรียนรู้

ไปเข้าอบรมครั้งนี้ (ภาพกิจกรรม) ก็คุณเมตตาอีกนั่นแหละค่ะ  เธอชั่งเมตตาสมชื่จริงๆ เพราะได้ยินหลายคนที่มาเข้าอบรมหรือสังเกตการณ์ก็บอกว่า มาเพราะคุณเมตตาชวน 

ตนเองก็ได้เรียนรู้หลายอย่างเช่นเดียวกับคุณเมตตา (ในบันทึก นี้ และ นี้) และ คุณรัตติยา (ในบันทึกนี้)  แต่ขอบอกเล่าในบางประเด็นค่ะ

1. ได้เรียนรู้อีกครั้งว่า ความหลากหลาย สร้างพลังในการเรียนรู้ 
การอบรมครั้งนี้  ที่จริงเป็นรอบของ CKO ของคณะ/หน่วยงาน  แต่พอเอาเข้าจริงๆ พบว่า มีหลายหลายจริงๆ  ทั้ง CKO ที่มีประสบการณ์มาแล้ว  ทั้ง CKO ที่เพิ่งถูกอุปโหลก  ทั้งตัวแทน CKO ที่ถูกร้องขอ   มีทั้ง CKO ที่อาจารย์ คณบดี/รองคณบดี  และ CKO ที่เป็นสายสนับสนุน  มีหลายคนที่เป็นคุณอำนวยเสียมากกว่า นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมที่อาวุธโสน้อย จนกระทั่งผู้ที่กำลังเกษียณอายุในปลายปีนี้  หลายหลายจริงๆ ค่ะ

ในส่วนตัว เมื่อได้เห็นและรู้ว่า ผู้เข้าอบรมไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่วางไว้  รู้สึกเป็นกังวัลแทนคุณเมตตาว่า จุดประสงค์ที่จะผลักดัน KM ผ่าน CKO ในรอบนี้  สงสัยจะไม่ถึงฝั่งฝันอีกแล้ว

แต่ผลกลับตรงกันข้าม  ความหลากหลายดังกล่าวกลับเป็นผลบวก  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ความคิด ได้ความเห็นหลากหลายมิติ  มีสีสัน    บทเรียนในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันอีกครั้งว่า ความหลากหลาย  ก่อให้เกิดพลังในการลปรร.  นี่หากมีแต่ คณบดีหรือรองคณบดี เข้าอบรมล้วนๆ ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

2. วิทยากร และ กระบวนการ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญของการอบรมเชิงปฏิบัติการ  
ท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์ ทำได้ยอดเยี่ยมมากค่ะ   ตนเองได้เรียนรู้จากอาจารย์ในตอนทานข้างเที่ยง  ทำให้ได้ทราบความคิดของท่านบ้างและ เหตุผลในปรับเปลี่ยนกระบวนการให้เหมาะสมตลอดเวลา  เช่นในช่วงเช้า ซึ่งให้แต่ละคน บอกเล่า บันทึกและพูดนำเสนอ   ตอนบ่าย ดูเหมือนอาจารย์วางแผนว่าจะแตะเรื่องบทบาท CKO  แต่หลังจากสำรวจตรวจสอบเห็นว่า หลายคนไม่ใช่ CKO  หรือเป็น CKO ที่ยังไม่รู้บทบาท  อาจารย์ก็เปลี่ยนกระบวนการอื่นแทน เป็นการให้เราใช้สมองซีกขวา ในการจิตนากรภาพฝันที่เราอยากได้ อยากเห็น  กิจกรรมในช่วงบ่าย ทลายกำแพงหลายอย่างไปอย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ

นอกจากนี้ ก็ยังได้เห็นความใจย็นของอาจารย์ ทั้งที่บางท่าน ไม่ได้พูดตามโจทย์ที่ให้  แต่อาจารย์ก็ไม่ขัด ปล่อยให้ลื่นไหลไป แล้ว ค่อยสรุป และ แนะนำในตอนท้าย 

3. การตีโจทย์ ยังมีปัญหา
ตนเองรู้สึกว่า การตีโจทย์คำถามที่วิทยากรให้แก่ผู้เข้าอบรม ยังมีปัญหา  เห็นได้ทั้งใน 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า ซึ่งให้ผู้เข้าอบรมเล่าให้กลุ่มฟังว่า ในหน่วยงานตนเองมีกิจกรรม ลปรร. ที่เคยมีมาและกำลังทำอยู่อย่างไรบ้าง (what and how) แต่พบว่า มีหลายคน พูดเพียงแต่ What เท่านั้น   และอีกช่วงก็คือในช่วงสุดท้าย  โจทย์คือให้แต่ละคนบอกว่า จะกลับไปทำอะไร 1, 2, 3…  แต่หลายท่าน ก็ยังแสดงพูดเสียยาวยืด กว่าจะกลับมาที่คำถาม ก็ใช้เวลาไปโข  จนมีผลกระทบกับคนที่ได้พูดทีหลัง 

ตรงนี้ ถามว่า จะแก้อย่างไร  คิดว่า วิทยากรคงต้องหาวิธีทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจโจทย์มากที่สุด  ส่วนผู้เข้าอบรม คงต้องตั้งใจฟังให้ลึกค่ะ ว่าวิทยากรต้องการอะไร 

นอกจากได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างแล้ว  ยังเกิดความประทับใจในหลายๆ เรื่อง  โดยเฉพาะความคิด ความเห็นและ ภาพจินตนากรของผู้เข้าอบรมบางท่าน  หากมีเวลา จะนำความประทับใจมาฝากในบันทึกต่อไปค่ะ 
 

หมายเลขบันทึก: 72692เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณมากเลยค่ะ สำหรับบันทึกนี้ ทำให้ได้ประเด็นในสิ่งที่ควรเรียนรู้ และสิ่งที่พึงระวัง  เพิ่มมากขึ้นค่ะ

สิ่งที่อาจารย์ยกมาเล่า เป็นสิ่งที่พบได้ทุกครั้งที่เข้าร่วมอบรมลักษณะนี้นะคะ การได้ศึกษาวิธีการที่กระบวนกร ดำเนินการน่าจะมีประโยชน์มากนะคะ หากเราจะต้องเป็นผู้จัดบ้าง

ซ้า...ธุ ...ให้อาจารย์มีเวลาเล่าความประทับใจค่ะ อยากอ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท