Workshop โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ (รุ่นที่ 1-2)


เปิดใจยอมรับมันและเรียนรู้ไปกับสิ่งนั้น และสิ่งรอบข้างอย่างตั้งใจ

จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ โดยมีแนวคิดที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเหล่านั้น ได้นำหลักการและแนวทางการจัดการความรู้ (knowledge management) มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการนำสติปัญญาขององค์กรมาเพิ่มพลังในการเรียนรู้ การเข้าถึงความรู้ การรู้จักเลือกใช้ ดัดแปลง ปรับปรุง ต่อยอดความรู้ที่มีอยู่เดิม และหรือสร้างความรู้ใหม่ อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลขององค์กรที่จัดและที่สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กและเยาวชน

ระยะแรกของการดำเนินโครงการวิจัย มีเป้าหมายการวิจัยที่มีระดับความพร้อมและความเป็นไปได้  ได้ทีมแกนนำและเกิดเครือข่ายนักจัดการความรู้ขององค์กรเป้าหมายการวิจัย คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 17 แห่ง ที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาค  และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 78 แห่ง รวมจำนวน 95 แห่ง ให้เป็นแกนหลักนักจัดการความรู้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กร เป็นทีมขับเคลื่อนการจัดการความรู้ ถ่ายทอด สร้างนักปฏิบัติการจัดการความรู้ และร่วมกันพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ในองค์กรของตน เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลให้กับองค์กรทางการศึกษาอื่น

องค์กรกลุ่มเป้าหมายการวิจัยคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 17 แห่ง และสถานศึกษา 78 แห่ง รวม 95 แห่งๆ ละ 2-7 คน มีจำนวนทั้งสิ้น 305 คน โดยการประชุมครั้งนี้ จัดเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการวิจัยที่มุ่งหวังพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้สามารถสร้างกระบวนการจัดการความรู้ในองค์กรตลอดระยะเวลาดำเนินการโครงการ และวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเน้นเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ต้องมีการฝึกปฏิบัติ แบ่งกลุ่มย่อย จึงวางแผนดำเนินการจัดประชุมกลุ่มเป้าหมายการวิจัย จำนวน 6 ครั้ง ๆ ละ ประมาณ 45 65 คน ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 1 3 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ จังหวัดกรุงเทพฯ
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 15–17 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรมคุ้มสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี
  • ครั้งที่ 3 วันที่ 22–24 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรมท๊อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก
  • ครั้งที่ 4 วันที่ 29 มิถุนายน1 กรกฎาคม 2549 ณ ราชพฤกษ์ แกรนด์ โฮเทล จังหวัดนครราชสีมา
  • ครั้งที่ 5 วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2549 ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี
  • ครั้งที่ 6 วันที่ 13–15 กรกฏาคม 2549 ณ โรงแรมบี พี แกรนด์ ทาวเวอร์ จังหวัดสงขลา

    ซึ่งจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่1-2)  ที่จ๊ะจ๋าได้เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการได้เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการทีมแกนนำนักจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกลุ่มเป้าหมายโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้  ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และจากสถานศึกษาที่มีผู้อำนวยการโรงเรียนและ ครู ดังนี้

    • ครั้งที่ 1 - 8  โรงเรียน จาก 2 แห่ง คือ กรุงเทพฯ และฉะเชิงเทรา  รวมจำนวนทั้งสิ้น 38 คน
    • ครั้งที่ 2 - 16  โรงเรียน จาก 3 แห่ง คือ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี  รวมจำนวนทั้งสิ้น 56 คน

     ข้อสังเกตจากกิจกรรมทั้ง 2 ครั้งดังนี้ ครั้งแรก พบว่า

    •   การสร้างความตระหนักให้กับทีมแกนนำในการเริ่มจัดการความรู้จากจุดเล็กๆ ในโรงเรียน
    • กลุ่มย่อยที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนมีปฏิบัติกระบวนการกลุ่มได้ถูกต้อง เช่น การสกัดความรู้จากเรื่องเล่า มีการเล่าทวน, ขุมความรู้เป็นแก่นความรู้ มีการทวนบทสรุปในกลุ่ม และการทวนcore competency  
    •  การเพิ่มกิจกรรมชวนคิดชวนคุย ในช่วงกิจกรรมภาคบ่ายของวันแรก เพื่อตอบข้อซักถามและสร้างความเข้าใจในแนวคิดการจัดการความรู้
    •  มีตัวอย่างเรื่องเล่าดีๆ จากผู้เล่าในกลุ่มครูเป็นนักปฏิบัติ และสามารถเชิญมาเป็นตัวอย่างการเล่าเรื่องสำหรับรุ่น 2 ต่อไปที่จะจัดขึ้นที่ จ. สุพรรณบุรี
    • ปรับปรุงข้อมูลการนำเสนอการฝึกอบรมชัดเจนมากขึ้น เช่นการนำเสนอธารปัญญาที่ต้องสร้างภาพซ้อนให้เข้าใจใน Slid เดียวกัน เป็นต้น
    • กลุ่มครูเป็นกลุ่มที่คัดเลือกมาแล้ว ทำให้มีความสนใจในกระบวนการตลอดเวลา 
    • ทีมนักวิจัยมีการวางแผนและทำงานที่ดีมาก มีการเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาตลอดเวลา จากการ AAR หลังเลิกกิจกรรมของทุกวัน

    ครั้งที่ 2  คือ

    •   จากการเชิญครูวีณา อ่องแสงคุณ โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ เป็นตัวอย่างเรื่องเล่าความสำเร็จ (Best Practice) ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
    •  มีแบบสอบถามความภาคภูมิใจกับผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อช่วยในการแบ่งกลุ่มคนให้ตรงกับหัวปลาในกิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลัง
    •  การนำเสนอเรื่องเล่าความสำเร็จของตัวแทนแต่ละกลุ่ม บางกลุ่มนำเสนอเรื่อเล่าความสำเร็จไม่ตรงหัวข้อที่กำหนด  ดังนั้นทีมงานของโครงการฯ แก้ไขด้วยการให้ทีมสังเกตการณ์แนะนำก่อนนำเสนอ
    • ปรับปรุงบทบาทคุณอำนวยในกลุ่มย่อย ด้วยการเตรียมเอกสารคู่มือการทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยในกลุ่มย่อยและย้ำให้อ่านเอกสารก่อนเข้าการประชุมปฏิบัติการ 
    •  มีการเพิ่มกิจกรรมชวนคิดชวนคุย  เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทของคุณอำนวยและคุณลิขิต
    •  ในกระบวนถอดขุมความรู้และแก่นความรู้ มีการสังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่า ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมไม่สามารถสร้างตารางแห่งอิสรภาพได้ชัดเจนและ มีวิธีคิดการประเมินในแบบเดิม ลักษณะขั้นลำดับ และเน้นการร้องขอ concept ที่ชัดเจนตลอดเวลา

              จากประสบการณ์การเข้าร่วม Workshop  2 ครั้ง จ๊ะจ๋ารู้สึกว่า ทีมงานวิจัยของโครงการฯ คงต้องพยายามชักชวนให้แกนนำเริ่มทำใจจุดเล็กๆ ที่เห็นว่าพร้อมทำ KM น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และในการชักชวนคนอื่นๆ ให้ร่วมกันทำ KM นั้นคงต้องใช้วิธีที่ชักชวนด้วยใจ  และจ๊ะจ๋าคิดว่าทีมงานวิจัยโครงการฯ คงต้องตามไปให้กำลังใจกับแกนนำเป็นระยะๆ  คอยสอบถามอยู่เรื่อยๆ และการติดต่อสื่อสารผ่าน weblog ก็เป็นหนทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอยากให้แกนนำของโครงการฯ เห็นความสำคัญในการใช้ blog เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญมาก และยังช่วยให้แกนนำมีโอกาสเรียนรู้วิธีการดำเนินงานต่างๆ จาก Best practice ในเรื่องที่ตนสนใจและตรงตามวิสัยทัศน์ พันธะกิจของแต่ละโรงเรียน  ในลักษณะ เพื่อนช่วยเพื่อน หรือ พี่สอนน้อง  ก็เข้าใจนะคะว่าการเริ่มเรียนรู้และปฏิบัติในสิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เพราะความเคยชินในเรื่องของระบบความคิด ระบบการทำงาน ที่ต้องปรับเปลี่ยนไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรายังต้องพร้อมที่จะพัฒนา ตัวเอง การทำงาน และองค์กร เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  การเรียนรู้และรับในสิ่งใหม่ตลอดเวลา สอนให้จ๊ะจ๋าพร้อมที่เปิดใจยอมรับมันและเรียนรู้ไปกับสิ่งนั้น และสิ่งรอบข้าง เพราะเราต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ กับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียน
หมายเลขบันทึก: 35180เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2006 07:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท