เหตุเกิดที่ธรรมศาสตร์ - จัดการความรู้ ตามดูอารมณ์


". . . ผมไม่แคร์หรอกครับว่าใครเป็นผู้คิดค้น KM (ซึ่งเราเปรียบว่าเป็น "จักรยาน" ในวันนี้) ถ้าท่านถามผมว่าใครคิดค้นเครื่องบินผมอาจตอบจากความจำว่าเป็นพี่น้องตระกูลไรท์ แต่ถ้าท่านถามผมว่าใครคิดค้น KM (จักรยาน) ผมไม่ทราบจริงๆ ครับ. . . "

         ช่วงบ่ายวันพุธที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสเข้าไป ("บรรยาย") ชวนผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คุยกันเรื่อง KM ในวันนั้น ท่าน CKO ของธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ได้ร่วม "แชร์" เรื่องเล่าอย่างมีสีสัน เราพูดกันถึงเรื่องการ Share Tacit Knowledge ซึ่งเป็นความรู้ในลักษณะ "เคล็ดวิชา" (ไม่ใช่หลักวิชา) แชร์สิ่งที่เป็นเทคนิคเฉพาะตัว (ที่ใช้แล้วได้ผล ถึงแม้จะไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ก็ตาม)

        ท่าน ดร.สมคิด ได้เล่าถึงเคล็ด (ที่ไม่) ลับของท่านในเรื่องการสร้างผลงานทางวิชาการว่า . . . "ผมไม่ได้ตั้งต้นด้วยการเขียนหนังสือ ผมทำวิจัยเป็นเรื่องๆ ตีพิมพ์บทความไปเรื่อยๆ แต่หัวข้อวิจัยและบทความเหล่านี้นำมาเชื่อมต่อกันได้ . . . แล้วจึงค่อยนำมารวบรวมเขียนเป็นหนังสือเพื่อขอตำแหน่งวิชาการ จนได้เป็นศาสตราจารย์ . . ." นี่คือตัวอย่างของเคล็ดวิชาที่ถือว่าเป็นความรู้เชิงปฏิบัติ เป็นเทคนิค เป็นกลเม็ด เป็น Knowledge ที่อาจจะดูว่าเล็กน้อย แต่ว่ามีคุณค่า และมองหาพบได้ยาก เพราะฝังรากลึกอยู่ในตัวผู้ปฏิบัติ

        อีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องเล่าของท่าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ท่านเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่เจ้าหน้าที่โครงการของคณะพาณิชย์ฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน ทำให้สามารถบริการและบริหารโครงการที่รับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น สำหรับในส่วนของการศึกษา ท่านยังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า มีการพัฒนาทักษะการเขียนของนักศึกษาในคณะของท่าน ผ่านการจัดทำวารสารที่ออกเป็นประจำทุกเดือน มีการจัดเวที Faculty Luncheon โดยได้เชิญศิษย์เก่าเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจอีกด้วย

        สรุปว่ากระบวนการพูดคุยกันในวันนั้น ลื่นไหลไปได้ค่อนข้างดี (ในสายตาของผม) จะมีสดุดอยู่บ้างก็ตรงที่มีท่านผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งได้เอ่ยขึ้นว่า " . . . หลักการบริหารมากมายที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น สามารถนำไปใช้ขยายผลได้เป็นอย่างดีที่อเมริกา แต่พอมาถึงเมืองไทยก็ตายทุกที . . ." ขณะที่ผมฟังไป ในใจก็ได้แต่คิดว่า "คนเราทำไมต้องไปจำขี้ปากคนอื่นเขามาพูดด้วย ทำไมไม่จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า อยู่กับการพูดจาเรื่อง KM . . . ไม่ต้องไปคิดถึงคำพูด "เก่าๆ" ของคนอื่น ที่พูดขึ้นมาแล้วเรียกเสียงฮาได้ เพราะสิ่งที่พูดมานี้ถ้าคิดดีๆ แล้วจะ "ตลกไม่ออก" ...คำพูดที่ว่าหลักการบริหารทั้งหลายมาตายที่เมืองไทยนั้น มันทำให้ได้เห็นว่า ผู้ที่เอาหลักการเหล่านั้นมาใช้ ไม่ได้เข้าใจ "แก่น"ของมันอย่างถ่องแท้ เป็นการทำไปตามกระแส ทำไปตามคำสั่ง ไม่ได้ทำไปด้วยความเข้าใจที่แท้จริง ไม่ได้เห็นความหมาย หรือคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่ทำนั้น เป็นการทำที่ติดรูปแบบ ไม่มีการนำมาปรับให้เข้ากับบริบทหรือวัฒนธรรมขององค์กรของตนแต่อย่างใด ...เมื่อไม่ได้ทำด้วยใจ ในที่สุดก็ไม่ยั่งยืน...."

        ในขณะที่ผมกำลังคิดติดพันอยู่นั้น ท่านผู้พูดท่านนั้นก็ตั้งคำถาม ถามผมว่า " . .ไม่ทราบว่าใครเป็นคนคิดเรื่อง KM นี้ขึ้นมา? หวังว่าท่านวิทยากรคงจะพอให้ข้อมูลได้บ้าง" ...ผมตอบกลับไปทันทีด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยดีนัก สรุปสาระหลักๆ ได้ดังนี้ . . "KM ก็เหมือนกับจักรยาน มันเป็นกระบวนการ เป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้เราบรรลุอะไรบางอย่าง (ตาม "หัวปลา" ที่ตั้งไว้) ... ผมไม่แคร์หรอกครับว่าใครเป็นผู้คิดค้นจักรยาน หรือ KM นี้ ถ้าท่านถามผมว่าใครคิดค้นเครื่องบินผมอาจตอบจากความจำว่าเป็นพี่น้องตระกูลไรท์ แต่ถ้าท่านถามผมว่าใครคิดค้นจักรยาน (หรือ KM)  ผมไม่ทราบจริงๆ ครับ การได้รู้ว่าใครประดิษฐ์จักรยาน (หรือ KM) จะทำให้ท่านขี่จักรยาน (ทำ KM) ได้ดีขึ้นหรือครับ?!!"

        ถึงจะเป็นคำตอบที่แฝงไปด้วยอารมณ์ . . แต่ก็สามารถกระตุ้นความสนใจของผู้ที่เข้าร่วมประชุมในบ่ายวันนั้นได้เป็นอย่างดี . . จริงๆ แล้วการเป็นวิทยากรนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางทีก็ต้องเล่นละครหลายบทบาทเหมือนกัน แต่ละครฉากนั้นของผม ...ช่างสมจริงสมจังเสียจริงๆ . . .พับผ่าซิ !! เกลียดจริงๆ คำถามประเภทนี้ !!

คำสำคัญ (Tags): #hrd#management#knowledge#od#km
หมายเลขบันทึก: 35173เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2006 06:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
อาจารย์คะ  ในสังคมมีแบบนี้อยู่มากทีเดียว บางคนเข้ามาในเวที จ้องจะถามบางคำถามที่คาดว่าวิทยากรตอบไม่ได้ เรียกว่ากวนเมือง ทุกคนก็ทราบว่าคนไหนเป็นคนอย่างไร อย่าไปใส่ใจเลยคะ    ที่กรมตอนนี้สนใจหนังสือมือใหม่หัดขับของอาจารย์มากเลยคะ โดยเฉพาะทีมKM ส่วนกลางมีความตื่นตัวมาก ๆ ยุทธศาสตร์นำร่องของอาจารย์สร้างกระแสกระเพื่อมเหมือนโยนก้อนหินลงน้ำแล้วกระจายไปทั่ว เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นจริง ๆ ในกรม วันที่ 13 ก.ค.นี้จะมีการลปรร.KM ส่วนกลางคิดว่าจะมีบรรยากาศความสุขเกิดขึ้นในกรม อยากเรียนเชิญอาจารย์มาร่วมชื่นชม แต่ก็เกรงใจอาจารย์ ถ้าอาจารย์ว่างอยากเรียนเชิญนะคะ  ขอบคุณอาจารย์มากนะคะตอนที่อาจารย์มาบรรยายที่กรม เกษตรจังหวัดหลายท่านยังถามถึง เมื่อวานเขตภาคเหนือคิดจะเชิญอาจารย์ไปในเวทีระดับเขตเรื่องเกษตรปลอดภัยด้วย ขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะที่เป็นที่ปรึกษาให้ตลอดมาจนเรามีวันนี้ที่เกิดการเรียนรู้และจัดทำ KMทั่วทั้งองค์กร สอดรับกับท่านอธิบดีคนใหม่ที่มีแนวทางให้กรมเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
เป็น Comment ที่เห็นแล้วต้องรีบอ่าน ...อ่านแล้วก็ไม่ผิดหวัง เกิดพลังขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่วันนี้เป็นวันศุกร์ ..เป็นวันศุกร์ของสัปดาห์ที่รู้สึกว่ายาวนาน ถ้าคุณธุวนันท์มีกำหนดการของวันที่ 13 ก็ลองส่งมาให้ดู ถ้าสามารถไปได้จะขอเข้าไป "แจม" ด้วย ...จะได้ร่วมมีความสุขด้วยครับ

 

ตั้งแต่ดิฉันได้รู้จัก KM จากท่านวิทยากรของ สคส. เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดิฉันมองโลกเปลี่ยนไปหมดค่ะ จากที่เคยรู้สึกว่าสังคมไทยของเราเต็มไปด้วยปัญหา     กลายเป็นเห็นว่าสังคมไทยของเราสว่างไสวไปด้วย "โอกาส" 

โอกาสที่จะเชื่อมโยงความรู้ มิตรภาพ  และเชื่อมโยงประเทศไทยให้เป็นปึกแผ่น 

 "..เคล็ดวิชาที่ถือว่าเป็นความรู้เชิงปฏิบัติ เป็นเทคนิค เป็นกลเม็ด เป็น Knowledge ที่อาจจะดูว่าเล็กน้อย แต่ว่ามีคุณค่า และมองหาพบได้ยาก เพราะฝังรากลึกอยู่ในตัวผู้ปฏิบัติ.."

สำหรับข้อความเล็กๆนี้ ในหน้าบันทึกของท่านอาจารย์  (ผ่านสมองที่ได้รับการบ่มเพาะเคล็ดวิชาเรื่อง KM มาหลายเดือน)

และประสบการณ์ส่วนตัวในการใช้ประโยชน์จาก KM

ยิ่งทำให้ดิฉันมั่นใจในการมองโลกของดิฉันขึ้นอีกค่ะ

อยากขออนุญาตใช้พื้นที่เล็กๆ ในกรอบนี้  "คารวะท่านอาจารย์ประพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิของ ส.ค.ส. ทุกท่านค่ะ"

 

 

ตั้งแต่ดิฉันได้รู้จัก KM จากท่านวิทยากรของ สคส. เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดิฉันมองโลกเปลี่ยนไปหมดค่ะ

จากที่เคยรู้สึกว่าสังคมไทยของเราเต็มไปด้วยปัญหา กลายเป็นเห็นว่าสังคมไทยของเราสว่างไสวไปด้วย "โอกาส" โอกาสที่จะเชื่อมโยงความรู้ มิตรภาพ และเชื่อมโยงประเทศไทยให้เป็นปึกแผ่น "..เคล็ดวิชาที่ถือว่าเป็นความรู้เชิงปฏิบัติ เป็นเทคนิค เป็นกลเม็ด เป็น Knowledge ที่อาจจะดูว่าเล็กน้อย แต่ว่ามีคุณค่า และมองหาพบได้ยาก เพราะฝังรากลึกอยู่ในตัวผู้ปฏิบัติ.."

สำหรับข้อความเล็กๆนี้ ในหน้าบันทึกของท่านอาจารย์  ผ่านสมองที่ได้รับการบ่มเพาะเคล็ดวิชาเรื่อง KM มาหลายเดือนของดิฉัน และบวกประสบการณ์ส่วนตัวในการใช้ประโยชน์จาก KM ได้อย่างมากมาย 

 ยิ่งทำให้ดิฉันมั่นใจในการมองโลกของดิฉันขึ้นอีกค่ะ

อยากขออนุญาตใช้พื้นที่เล็กๆ ในกรอบนี้ "คารวะท่านอาจารย์ประพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิของ ส.ค.ส. ทุกท่านค่ะ

 --------------------

ขออนุญาตเขียนอีกครั้งหนึ่งค่ะ ..แบบชัดเจน

    ตีบทแตกแบบนั้นดีแล้วครับ .. เห็นด้วยมากๆ เพราะคล้ายๆการผ่าตัด เมื่อจำเป็นก็ต้องทำ  ขืนใช้ยาทาๆถูๆเดี๋ยวก็เน่าและลุกลามจนเสียหายกว้างขวางได้ .. จะเรียกว่าเป็นการการใช้ "หนามยอก-หนามบ่ง" มา "ตัดไฟต้นลม" ก็ได้ครับ .. งานนี้ขอบอก/เชียร์ ว่า ดี .. ไม่เสียหายครับ !

อ่านที่อาจารย์เล่าแล้วก็ทำให้คิดได้ว่า ก็เพราะมีคนคิดแบบคนที่ถามนั่นอยู่มากมายในองค์กรต่างๆของไทยเรา จึงทำให้ KM ตายไงนะคะ ยิ่งถ้าคนคิดแบบนี้เป็นคนระดับสูงด้วยละก้อ เชื่อได้ว่าองค์กรนั้นโดนดองแน่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สคส.รวมทั้งอาจารย์ลงทุนลงแรงไปให้กับประเทศชาติเรา เริ่มปลุกให้คนคุณภาพที่อาจจะโดนคนคิดตื้นๆแบบนั้นครอบงำมานาน "ตื่น"และมีความหวัง เห็นถึงโอกาสที่แต่ละคนจะทำให้แก่ประเทศชาติและสังคม มองโลกในอีกมุม หาช่องในอีกทาง ไม่รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังอีกต่อไป เหมือนความรู้สึกที่คุณสมาชิก GotoKnow.org บรรยายนั่นแหละค่ะ

ขอบคุณสคส.และ GotoKnow ค่ะ

พลังของ สคส.ที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ในทุกภาคส่วน จนปรากฏภาพความสำเร็จ และบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนได้อย่างไม่รู้จบในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 (ซึ่งเป็นโอกาสที่ตัวเองได้รู้จักกับ สคส. เป็นครั้งแรก) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา....เป็นผลของการทำงานที่มุ่งมั่นของคน สคส.อย่างแท้จริง พวกเราชาว สพท.สพ.2 เป็นกำลังใจให้อาจารย์เสมอนะคะ.....

อาจารย์ดุจัง  บรรยากาศที่มีหลาย ๆ มุม เพื่อคิดกลับไปกลับมา ความคาดหวังต่อวิทยากรที่มีอยู่ทุกเวทีสิ่งหนึ่งก็คือ "การรู้ว่าต้นกำเนิดของเรื่องที่เล่านั้นมีแหล่งที่ อยู่ตรงไหน"    คำถามลักษณะว่า KM จะเข้ามาเป็นแฟชั่นหรือเปล่า ถูกถามบ่อยที่สุด แต่นั่นก็เป็นแรงส่งให้หลายองค์กร ทำ KM แบบฝังรากและระมัดระวัง 
ด้วยความเคารพค่ะอาจารย์ "หนูเคยหารือเรื่องงานกับท่านผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเมื่อหลายปีก่อนเรื่องจะตัดสินใจเลือกสถานที่จัดสัมมนาผู้บริหารระดับสูง ถามไปถามมากันหลายมุมเพื่อให้เกิดความชัดเจน และสามารถทำงานต่อได้ ในใจหนูไม่คิดอะไรเลยเพียงแต่ถาม เสนอแนะเพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด  แต่ท่านตีความว่า "คุณเห็นผมมีประโยชน์ร่วมกับเจ้าของ........หรือไง อย่ามองผมแบบนั้นนะ"  หนูเกือบจะหัวใจวายตายในวันนั้น ทำไมท่านตีความเช่นนั้นได้ และหนูก็ทบทวนตัวเอง ทบทวนคำพูดว่าหนูพูดคำไหนที่แสดงให้เห็นว่า ท่านกรุณาอย่าเชียร์สถานที่นี้จนออกหน้าออกตา ไม่มีค่ะ  ท่านคิดเอาเอง ตั้งแต่วันนั้นกับอธิการบดี คนนั้นหนูไม่เคยกล้าพูดกับท่านอีกเลย กลายเป็นความกลัวไปเลยค่ะ

อาจารย์สงสารผู้ถามจะดีกว่าค่ะ     ดูว่าเรามีเมตตาและทดสอบอารมณ์เราด้วย     มนุษย์มีหลากหลายและเรามักจะคาดหวังว่าเค้าน่าจะเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น    แต่ก็เป็นธรรมดาของคนเราที่จิตจะมีอารมณ์มากระทบ     เป็นเรื่องปกติที่วิทยากรจะต้องอดทน     อาจารย์เก่งมากแล้วค่ะที่ตอบไปแค่นี้     ขอบคุณที่เล่าให้ฟังและยังติดตามอ่านอยู่เสมอ    ขออนุญาตไม่ใส่ชื่อ     กลัวไม่ถูกใจอาจารย์ค่ะ  ต้องขออภัยด้วย

อาจารย์ครับ ตั้งเเต่อาจารย์ให้พวกผมขี่จักรยานเอง  (ทั้งเอา  km มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางาน  ช่วยไปเล่าเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการความรู้ทั้งในเเละนอกกรมส่งเสริมการเกษตร) ผมได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย  รวมทั้งแบบที่อาจารย์เล่าให้ฟัง  โดยเฉพาะคนในองค์กรเดียวกันนี้แหละครับ  เมื่อรู้ว่าเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปเป็นวิทยากร พี่เขาก็เริ่มที่จะฝากอะไรกลับไปกับเราแล้วหละ(เช่น เรื่องนี้ฝากกรมฯ.........นะ)  บางเรื่องผมก็เห็นใจเขานะ  เพราะคนที่สั่งงานเขาก็สักแต่จะสั่งอย่างเดียว(บอกให้ทำอย่างนี้นะ ตั้งแต่  1ถึง10 )เขาไม่ค่อยได้คิดได้เรียนรู้  พอเราพูดถึงการจัดการความรู้ เขารู้สึกเหมือนรูปคนที่แบกก้อนหินมหีมาอยู่ ตามที่อาจารย์เคยนำเสนอไว้นั้นแหละ  เอาอะไรมาให้ทำอีกแล้ว   แต่โจทย์ของผม คือทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่ามันไม่ใช่  ก็บอกเขาว่าฟังผมแล้ว เอาแต่แนวคิด/หลักการให้ชัดนะ  อย่าติดยึดกับรูปแบบ  อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ผมเล่า  ไปลองทำดูก่อน  และที่ฝากผมไปนั้น  ผมก็กรมฯ พี่ๆก็เป็นส่วนหนึ่งของกรมฯ ผมก็มีปัญหาในงานที่ผมรับผิดชอบอยู่เยอะแล้ว คงรับฝากอีกไม่ได้  แต่ถ้าเราต้องการเห็นกรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาก็ต้องช่วยกันทำงาน  เราพร้อมที่จะเป็นเพื่อนช่วยเพื่อน เอาปัญญา/ความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน คงช่วยได้เท่านี้ 

สวัสดีครับ   ผมยังไม่รู้จักอาจารย์ดีพอ  แต่จากการฟังอาจารย์บรรยายที่ทอปแลนด์ พิษ'โลก   รู้ถึงความตั้งใจจริง  ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ทำอะไรแล้วอยากทำจริงๆจังๆ  ให้คุ้มค่ากับเวลา และพลังสมองที่เสียไป  ตั้งแต่ตอนเรียนป.ตรี  จนถึงตอนนี้รับราชการมา 8 ปี รู้สึกเป็นคนส่วนน้อยของสังคม  เลยไม่ค่อยกล้าพูดในที่สัมมนาหรือที่ประชุม  เพราะความคิดไม่ค่อยตรงกับคนอื่นๆ  แต่การได้อ่านและพูดคุยในblog กับคนคอเดียวกัน  จึงคิดว่าตัวเราคงเป็นฟันเฟืองชิ้นหนึ่งที่จะช่วยในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เดินต่อไปได้  จึงมีกำลังใจที่จะทำงานที่มีคุณค่าต่อไป  และขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ทำสิ่งที่เชื่อมั่นต่อไปครับ

 จริงใจครับ

บางครั้งความตั้งใจที่ดี ก็คงต้องมีการสะดุดบ้าง บางครั้งบางคำถาม อาจทำให้หงุดหงิด แต่เจตนาของผู้ที่ถามอาจไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ ก็ถือว่าให้อภัยเขาเถอะครับ

ติดตามข้อเขียนใน Blog แล้ว รู้สึกช่วงนี้อาจารย์หงุดหงิดง่ายหรือเปล่าครับ อย่าหักโหมงานมากนักนะครับ

วันนั้น ผมอยู่ในเหตุการณ์พอดี เห็นเหตุการณ์ และพอได้มาทราบความรู้สึดของอาจารย์ ก็ยิ่งทำให้ผมหวนไปถึงเรื่องหนึ่งที่ได้ยินพระรูปหนึ่งเล่าเกร็ดพระพุทธศาสนาให้ฟัง ซึ่งพอจับใจความได้ว่า มีผู้ถามพระพุทธเจ้าถึงความมีอยู่จริงหรือภพภูมิต่าง ๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านไม่ตอบ เพราะแม้ตอบคำถามไป ก็ไม่ทำให้บรรลุธรรม ผมไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ และหากมีใครขยายความที่ถูกต้องให้ทราบได้ก็จะเป็นประโยชน์สนับสนุนเรื่องจักรยานของท่านอาจารย์เป็นอย่างดี

ขอบคุณ คุณนัทธี และทุกๆท่านที่ตามอ่าน และคุณ Boonpitak ที่ห่วงใยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท