เรื่องเล่าจากดงหลวง 51 การเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง


โรงเรียนแห่งนี้จะมีปรัชญาการเรียนการสอนเป็นแบบให้เด็กเป็นศูนย์กลาง แล้วครูเป็นเพียงเพื่อน เป็นพี่เลี้ยงคอยเสริมสร้างให้ประสบการณ์ของเขาเต็มตามที่เขาต้องการ ผลที่ได้เด็กจะเป็นตัวของตัวเอง คิดเป็น ทำเป็นและสร้างสรรค์อยู่บนสิ่งที่จับต้องได้ ......

เพื่อนสุรเชษฐ์ เวชชพิทักษ์ ตั้งประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่วงการการศึกษาคุยกันมาหลายสิบปี  และยังเป็นประเด็นที่คุยกันได้อีก ไม่จบสิ้น เพราะมีความหลากหลาย  มีการสร้างสรรค์ไปมากมาย  ผมว่าเพื่อน พี่น้องใน G2K จำนวนมากก็มีประสบการณ์เรื่องนี้มาบ้างแล้ว คงจะทยอยออกมาแสดงประสบการณ์กัน 

ผมเองก็มีประสบการณ์เหมือนกันครับ ที่โรงเรียนเด็กเล็กแห่งหนึ่ง  เขาจะประชุมผู้ปกครองว่า โรงเรียนแห่งนี้จะมีปรัชญาการเรียนการสอนเป็นแบบให้เด็กเป็นศูนย์กลาง แล้วครูเป็นเพียงเพื่อน เป็นพี่เลี้ยงคอยเสริมสร้างให้ประสบการณ์ของเขาเต็มตามที่เขาต้องการ  ผลที่ได้เด็กจะเป็นตัวของตัวเอง คิดเป็น ทำเป็นและสร้างสรรค์อยู่บนสิ่งที่จับต้องได้ ......

 เช้าวันหนึ่งผู้บันทึกไปสังเกตกระบวนการเรียนการสอนของเขาว่าทำอย่างไรนะ  เมื่อคุณพ่อคุณแม่มาส่งลูกให้กับครูที่ยืนต้อนรับหน้าโรงเรียนแล้วครูก็พาเด็กเข้าไปพบเพื่อนๆในห้อง   รวบรัดเข้าประเด็นครับ คุณครูตั้งคำถามเด็กๆว่า วันนี้หนูๆคิดอยากจะทำอะไรบ้าง คิดซะ เดี๋ยวครูจะมาเอาคำตอบนะ  ครูเดินออกไปสักพักก็เข้ามา ครูมาถามเด็กว่า  เอ้า ใครบอกครูได้บ้างว่าจะทำอะไรกันบ้าง 

มีเด็ก 2 คนจับมือกันแล้วบอกว่า หนูอยากขี่ม้า

มีเด็ก 3 คน จับมือกันบอกว่า หนูอยากทำขนมแพนเค้ก

มีเด็ก 5 คนเกาะกลุ่มกันแล้วบอกว่า หนูอยากสร้างบ้าน

....... 

เมื่อได้คำตอบครับแล้ว ครูก็ตั้งคำถามต่อว่า ทำไมหนู 2 คนถึงอยากขี่ม้า ช่วยอธิบายให้เพื่อนๆในห้องทราบด้วยทำไมหนู 3 คนถึงอยากทำแพนเค้กล่ะทำไมหนู 5 คนถึงอยากสร้างบ้าน 

ระหว่างนั้นเพื่อนครูผู้ช่วยอีกคนก็ออกไปข้างนอกไปปรึกษากับผู้บริหารโรงเรียน และครูท่านอื่นๆถึงความต้องการของเด็กๆเหล่านั้นสักพักก็เข้ามาแล้วปรึกษากับครูที่ประจำห้องแล้วก็ตอบกับเด็กๆทั้งหมดว่า  ตกลง

เมื่อครูทราบความประสงค์ของทุกคนแล้ว  ครูเข้าใจ และยินดีที่จะให้ทุกคนทำตามที่ต้องการ แต่จะมีครูพี่เลี้ยงไปช่วยหนูนะ เกิดการแบ่งกลุ่มครับ 

เด็ก 2 คนที่อยากขี่ม้า มีครูผู้ชายพาไปคุยกันกลางสนามและที่นั่นมีม้าแกลบ ตัวเล็กๆ 1 ตัวพร้อมเครื่องต่างๆที่ใช้สำหรับเด็กๆขี่ รวมทั้งระบบ ความปลอดภัยด้วย เด็กได้ขี่ม้าจริงๆ วนไปวนมาทั้งสองคนผลัดกัน โดยมีครูพี่เลี้ยงคอยควบคุมอยู่  

เด็ก 3 คนที่อยากทำแพนเค้ก ก็ไปเบิกเครื่องมือทุกอย่างจากห้องครัวมาหามุมทำแพนเตกกัน ทำจริงๆครับ มีครูพี่เลี้ยงแนะนำอยู่ แน่นอน

เด็ก 5 คนที่อยากสร้างบ้าน ไปแบกไม้มาจริงๆ มีตะปู ค้อน เลื่อย ฯลฯ ไปสร้างบ้านเล็กๆกันกลางสนามโน้น  ครูพี่เลี้ยงคอยแนะนำและคุยด้วยกันตลอดเวลา ผมไม่เชื่อสายตาว่านี่คือโรงเรียนเด็ก เขาสอนกันอย่างนี้จริงๆหรือนี่  เด็กสนุกมาก คุยกันเสียงดังลั่น  ครูก็สนุก  ไม่มีเวลาเป็นข้อจำกัด  

ท่านลองคิดซิว่าเด็กเรียนรู้อะไรบ้าง เด็กเกิดอะไรขึ้นในสมองบ้าง เด็กถูกหล่อหลอมอะไรลงไปในสมอง การพัฒนาการจะเป็นอย่างไร  ผู้บันทึกอยากให้โรงเรียนเด็กเล็กอื่นๆ พังห้องออกมาทำอะไรอย่างนี้บ้าง  

หนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ผู้เขียนกลับมาที่โรงเรียนนี้อีก  วันนี้แปลกครับทั้งครู ทั้งเด็กแยกไม่ออกว่าใครเป็นใครเลย บ้างแต่งตัวให้ดูเหมือนนักรบจำนวนมาก บ้างแต่ตัวให้เหมือนผู้นำทัพ บ้างแต่ตัวเป็นกษัตริย์  มีการพูดคุยกัน แบ่งฝ่ายกัน รบรากัน (แบบลิเกน่ะ)  แล้วเมื่อจบก็มานั่งล้อมวงคุยกัน แสดงความรู้สึกกัน  แสดงเหตุผลกัน สนุกมาก 

ปรากฏว่านั่นคือการเรียนวิชาประวัติศาสตร์  ที่เอาสาระทางประวัติศาสตร์มาแสดงร่วมกันเป็นละครเรื่องหนึ่งโดยทุกคนมีบทบาทแสดงครับ รวมทั้งครูด้วย 

ให้ตายซิ ผมคิด ใครหนาช่างสร้างสรรค์เหลือเกิน  ไม่เห็นมีเด็กคนไหนหลับ  ไม่เห็นมีเด็กคนไหนทำหน้าเบื่อหน่าย  ตรงข้ามสนุก และได้แสดงทุกคน พูดออกมาทุกคน  ผมว่าทุกคนจำวันนี้ไปอีกนานแสนนาน  ผู้บันทึกไม่ต้องการสรุป ให้ทุกท่านสรุปเองครับ 

เหล่านี้คือการเรียนรู้แบบเด็กเป็นศูนย์กลางหรือเปล่าครับ  ท่านครับ 

หมายเลขบันทึก: 84742เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2007 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
  • เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแน่นอนครับผม
  • ขอบคุณครับ
  • ลืมบอกว่าหวายอร่อยมาก
  • กินกับอาจารย์ฝรั่งจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • ขอบคุณครับอาจารย์ขจิตครับ
  • กลับถึงขอนแก่นแล้ว มีญาติๆมาเยี่ยมคุณแม่กัน ที่ออกจากโรงพยาบาล ก็ไม่มีอะไร ท่านอายุมากแล้วก็ต้องซ่อมสุขภาพเป็นปกติ
  • เอาไว้แก้ตัวเดือนเมษาอีกครั้งครับ

เรียนท่านอาจารย์บางทราย ตามมาเรียนรู้ กู่สร้างสรรค์

 ครู JJ อาจารย์ หมอเมืองทอง แขมมณี เคยบอกว่า เวลาจัดกิจกรรมให้ดูว่าใครมีบทบาทมากกว่ากันในแต่ละคาบหรือชั่วโมง ใครได้ทำ ได้พูดมากกว่า ก็คนนั้นเป็นศูนย์กลางครับ จำง่ายดี

  • สวัสดีครับ พี่บางทราย
  • ขอบคุณมากนะครับ
  • มีความสุขมาให้ครับ ความสุขที่บอกไม่ถูกว่าเป็นอย่างไร แต่รู้ว่าสุขใจ
  • เลยอยากจะมามอบให้กับครอบครัวพี่บางทราย ตลอดจนคุณยายที่ป่วยอยู่ด้วยนะครับ ให้อาการดีขึ้นแล้วหายเป็นปกติในเร็ววันครับ
  • โชคดีนะครับ
สวัสดีครับอาจารย์หมอ
  • P
  • สิ่งที่อาจารย์หมอสรุปจากท่านอาจารย์หมดเมืองทองนั้น "สั้นและชัด" ที่สุดเลยครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • น้องเม้งครับ
    P
  • ขอบคุณมาก น้อมรับความสุขนั้นครับ
  • คุณยายก็ทรุดโทรมไปตามสภาพ ก็อายุท่าน 97 แล้ว เราจะยืนยาวเท่าท่านหรือเปล่า คงไม่ถึงนะ เพราะเรารับสารเคมีมากกว่าคนรุ่นท่าน
  • ขอบคุณครับ

หวัดดีครับ พอได้รับแจ้งก็คลิกลิงก์เข้ามาอ่านทันทีเลย

อ่านไปก็ขนลุกไป (แสดงว่าเรื่องเล่านี้สามารถเร้าอารมณ์ได้จริง)

ชมคนเล่าแล้วก็ขอชม รร.นี้ด้วยว่าสุดยอดจริงๆ 

อยากให้มี รร.แบบนี้เต็มแผ่นดิน อยากให้มีครูแบบ รร.นี้เต็มแผ่นดิน ทำไงดี

จากที่อ่านเรื่องเล่านี้ พอเห็นได้ว่า ครู รร.นี้ มี good performance ด้านการสอนแบบเด็กเป็นศูนย์กลาง (ผู้บริหารด้วย) ซึ่งการ perform ออกมาดีนี้ ดูได้จาก

หนึ่ง - การทำแบบนี้สะท้อนกระบวนทัศน์ (ทัศนะพื้นฐานที่เป็นตัวกำหนดวิธีคิด วิธีให้คุณค่า และวิธีปฏิบัติ) ของคณะครูโรงเรียนนี้ ต่อเรื่องการศึกษา

สอง - ทำแล้วผลออกมาดี ตรงกับปรัชญาการศึกษาที่พูดกันมาก แต่ไม่ค่อยได้ยินเรื่องการปฏิบัติ 

สาม - ทำอย่างเป็นธรรมชาติมาก ไม่เงอะๆ งะๆ (จากที่อ่าน) ใครทำอะไรได้ถึงขั้นเป็นธรรมชาติมากๆ ดูแล้วเหมือนทำง่ายๆ เป็นไปเอง และดูสวยงาม สง่างาม (เหมือนการขว้างมีดของชอลิ้วเฮียง หรือการใช้นิ้วคีบกระบี่ศัตรูของเล็กเซี่ยวหง ในหนังกำลังภายใน)

อยากฟังเรื่องเล่าแบบนี้อีกเยอะๆ ครับ

  • ขอบคุณครับ
  • ผมก็รู้สึกเช่นนั้น "แต่ไม่ค่อยได้ยินเรื่องการปฏิบัติ "
  • อาจจะมีแต่ไม่ค่อยเผยแพร่ออกมา หรือไม่ค่อยมีจริงๆ
  • แต่นักพูดน่ะมากเหลือเกิน หลักการเยอะ เต็มประเทศไทย
  • ยังดีครับที่มีหลักการอยู่นะครับ
  • อย่างไรก็สนับสนุนแนวทางนี้ครับ
  • ขอบคุณครับ
มันมีจริงๆ หรอค่ะ โรงเรียนแบบนี้
  • สวัสดีน้องKawao
  • พี่เข้ามาจะตอบหลายครั้งแล้ว ระบบ Internet มันล่มไปทั้งวันเลย เช้านี้มาเชค ใช้ได้แล้ว กำลังจะเอาเข้าร้านซ่อมอยู่ทีเดียว
  • เรื่องนี้พี่ไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์ที่เล่านั้นเกิดที่ใดนะ  ทิ้งไว้ให้คนถาม ก็มีน้องนี่แหละที่ถามว่า "มีจริงๆหรือ ไอ้โรงเรียนแบบนี้" ดูมันเป็นความฝันมากไปมั๊ง   อือ... สำหรับเมืองไทยอาจจะฝันไกล ไกล แต่ไปไม่ถึงซะที แต่อาจจะมีบ้างนะ เช่น โรงเรียน Summer Hill ที่เมืองกาญจนบุรี(พี่ไม่ได้ติดตามมานานแล้ว ไม่รู้ว้าก้าวไปถึงไหน)
  • ใช่แล้วครับเรื่องที่เล่าให้ฟังไม่ได้เกิดในเมืองไทย  เพราะเมืองไทยเด็กๆคงไม่คิดอยากทำแพนเค้ก ขี่ม้า  เรื่องนี่เกิดที่ประเทศ Denmark ครับ ซักปี 40 พี่มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่นั่น และมีโอกาศดูโรงเรียน Kindergarten ของเขาเป็นอย่างนี้จริงๆ เขาเรียนแบบนี้ฟรีจนถึง ประมาณ ม 3 ด้วยซ้ำไป จึงเป็นหลักสูตรการศึกษาที่สร้างคนให้คิดเป็น ทำเป็นจริงๆ ไม่ใช่บ้านเราที่พูดแต่คำนี้ แต่กระบวนการเหมือนเดิม จับเด็กยัดอยู่ในห้อง แล้วก็เรียนตามที่ครูบอก ซึ่งครูก็เอาตามหนังสือ
  • เด็กจบปริญญาตรีออกมาจึงทำอะไรไม่เป็น เล้ยยยย  มีแต่ขอดูตัวอย่างหน่อย(คิดไม่เป็น)  บอกทางเลือกให้หน่อย(จินตนาการไม่มี) และบ้านเราเอาเวลาเป็นข้อจำกัดด้วยมากเกินไป กระบวนการเรียนรู้ไม่ควรเอาเวลามาเป็นตัวตั้ง
  • น่าสนไหมล่ะหากจะมีซักแห่งที่สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้แบบของเขาน่ะ  น่าสนใจนะ
  • ขอบคุณครับ

คำตอบในข้อความข้างบนที่บางทรายตอบกาเหว่าแม้จะสั้นๆ แต่ "อม" โจทย์หรือคำถามใหญ่ๆ ทางการศึกษาอยู่มาก (ซึ่งก็สะท้อนกระบวนทัศน์ในเรื่องการศึกษาของผู้เขียน)เช่น 

  1. สร้างคนให้คิดเป็น ทำเป็นจริงๆ (ทำอย่างไร? How?)
  2. จับเด็กยัดอยู่ในห้อง (ถ้าไม่ยัดในห้องแล้วจะทำอย่างไร? How?)
  3. เรียนตามที่ครูบอก ซึ่งครูก็เอาตามหนังสือ (ถ้าไม่เรียนตามครูบอกจะเรียนอย่างไร? How?)
  4. จบปริญญาแล้วทำอะไรไม่เป็น (ทำอย่างไรให้จบแล้วทำเป็น? How?)
  5. จินตนาการไม่มี (จะเรียนอย่างไรให้มีจินตนาการ? How?) เรื่องนี้เป็นเรื่อง(ยิ่ง)ใหญ่มาก เพราะปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างไอน์สไตน์ยังบอกว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้มีข้อจำกัด Imagination is more important than knowledge. Knowledge is limited. Imagination encircles the world. Albert Einstein (1879 - 1955) อ้าว...แล้วเรามามัวทำแต่เรื่องการจัดการความรู้กันอยู่ทำไม ทำไม่ไม่ทำเรื่อง "การจัดการจินตนาการ" ภาษาอังกฤษน่าจะเป็น "Immagination Management - IM" ขอบัญญัติศัพท์สักคำ
  6. กระบวนการเรียนรู้ไม่ควรเอาเวลามาเป็นตัวตั้ง (ถ้าไม่เอาเวลาเป็นตัวตั้ง แต่เอา "ชีวิต" เป็นตัวตั้ง กระบวนการเรียนรู้ควรเป็นอย่างไร? How?)

ทุกข้อ(ความคิด)ที่ยกมาล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ๆ ในเรื่องการศึกษาทั้งสิ้น คนที่เรียน ป.โท ป.เอก ทางการศึกษาจะเอาไปพัฒนาขึ้นเป็นโจทย์วิจัยในวิทยานิพนธ์เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ก็น่าจะดี

ส่วนที่ผมเขียนคำว่า How? ไว้หลังทุกคำถาม เพราะอยากฟังอยากอ่านอยากเรียนรู้จากเรื่องเล่า best practice ของผู้ปฏิบัติการสอนที่เป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ว่าท่านทำกันอย่างไร

  • เห็นด้วยทุกอย่างเลยครับ
    P
  • โดยเฉพาะข้อที่ 5 ที่เสนอให้ทำการจัดการกันซะเลยตัวจินตนาการนี้
  • ผมบางทีก็หัวเราะ บางทีก็สมเพศ เมื่อฟังเพลง "อีปึก" เมื่อเอามาเทียบเด็ก ป.ตรีของเรา แนะนำแล้วก็ไม่กระดิก บอกก็ไม่จด ยิ่งไปใหญ่เลยเมื่อพิจารณาในประเด็นการไฝ่รู้ เขาทำตัวสบายๆ รอพี่สั่งอย่างเดียว  ขนาดสั่งยังทำไม่ได้เลย  เราก็ต้องนั่งปลอบใจตัวเองว่า เออ เราไม่เองที่พูดไม่ชัด อธิบายไม่ดี เอ้าเอาใหม่ ก็เหมือนเดิม
  • ผมละอยากให้มหาวิทยาลัยเชิญพวกเราไปวิจารณ์บัณฑิตใหม่เสียเหลือเกินว่าเป็นอย่างไรบ้าง
  • แล้วนึกหรือว่าจะอยู่ในระบบหรือออกนอกระบบแล้วจะดีขึ้น หากวิสัยทัศน์มันไม่ก้าวไปไหนเลย
  • ถามว่าบ้านเราทำได้ไหม  ผมว่าทำได้แน่นอน และทำได้ดีกว่าฝรั่งมังค่าอีก  ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะเรามีต้นทุนเดิมทางวัฒนธรรมที่ดีอยู่ อาจจะหดหายไปบ้างก็รื้อฟื้นขึ้นมาได้  เพียงแต่ว่า มองเห็นไหม และกล้าหาญที่จะทำไหม
  • ทราบว่า "โรงเรียนรุ่งอรุณ" ก็น่าสนใจเพราะ อาจารย์ ผ่อง เซ่งกิ่ง ท่านมีจินตนาการที่ดีมากๆท่านหนึ่งกำลังทำอยู่ครับ ผมก็จะหาเวลาไปเยี่ยมอยู่นะครับ
  • ขอบคุณมาก ผมชอบข้อ 5 มากเลย
  • ผมก็ขอบข้อห้าด้วยคนครับ การจัดการจินตนาการ เท่ห์ชะมัด
  • แต่ต้อง มี ตัวการจัดการความรู้ด้วยครับ นั่นคือ จะต้อง มี เค็ม(KM) + อิ่ม(IM)
  • ได้สูตรใหม่คือ สูตร เค็มอิ่ม
  • เมื่อจัดการความรู้ให้ถึงขึ้นที่เค็ม เต็มที่แล้ว ก็ต้อง มี อิ่ม ตามมาด้วยครับ เพราะจะทำให้ อิ่มนั้น กลับไปเค็มได้อีก วนเวียนแล้วก้าวไปยิ่งขึ้น
  • แต่ IM แบบไม่มี KM นี่จะออกมาเป็นอย่างไรครับ
  • พอจะไหวไหมครับ แบบนี้ เรียกว่า IM หรือว่า มั่วครับ
  • นี่เห็นไหมล่ะ ผลของการต่อยอดมันดีอย่างนี้แหละ
  • เห็นด้วยครับน้องเม้ง วิชาการใดๆไปอย่างโดดเดี่ยวย่อมไม่สมบูรณ์ หากผสมผสานให้ลงตัวก็จะเป็นวิชาการที่ตอบสนองมากกว่า หรือส่งผลกระทบในทางที่ดีมากกว่าอย่างแน่นอน
  • ความจริง จะ IM ได้ก็มาจากฐาน KM นั่นแหละ
  • อยู่ดีๆคนเราจะจินตนาการบินโดยไม่เห็นนกบิน หรือสัตว์อื่นที่บินได้มาก่อนก็ไม่น่าจะใช่ เพียงแต่อย่าติดกับ K มากไป ควรไปต่อให้ถึง I ด้วย
  • พี่ว่าน้องเม้งเริ่มสร้าง IM เลยดีไหม เอ้าลองกันเลยนะ เม้งทำอยู่แล้วนี่ ก็ Simulation วหลายก็คือ IM ซึ่งก็มาจาก KM คือข้อมูลทั้งหลายที่ Feed เข้าไปนั่นใช่ไหม ชัดเลยหละ อย่างอาจารย์อรรถชัยที่เชียงใหม่ ก็ทำ Simulation เรื่องการปลูกอ้อยมาหลายปี ก้าวหน้าไปเยอะเลย
  • ตกลง KM ไปสู่ IM ครับ
  • สวัสดีครับพี่ไพศาล
  • ใช่ครับ   KM --> IM ---> KM ---> วนอยู่ในนี้หล่ะครับ โดยจะมีตัวเสริมเข้าไปเรื่อยๆ ให้ IM และ KM มันงอกงามครับ
  • ใช่ครับ ที่ผมทำอยู่ก็คือ IM ตัวหนึ่งครับ เพราะพวก Visualization เค้าแปลเป็นไทยว่า การสร้างภาพนามธรรม  อิๆ มันช่าง จินตนาการซะเหลือเกิน อิๆ
  • เอาความรู้ ยัดใส่เข้าไปในโมเดล นำไปสู่การจำลองแบบ แล้วเข้าสู่การแสดงผล ให้เห็นเพื่ออธิบายสิ่งที่เป็นอยู่ให้เสพความรู้ได้ง่ายที่สุด นั่นคือ วงจร Imagination encircles the world. ท่อนท้าย ที่ ท่าน สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ ได้กล่าวไว้ตามศิษย์พี่ไอสไตน์ครับ
  • ดีครับ ท่านอาจารย์ที่ทำเรื่องอ้อย มีข้อมูลไหมครับ น่าสนใจครับ อยากรู้ว่าทำในส่วนไหนบ้างครับ การเจริญเติบโต หรือนำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์หรืออย่างไรครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับพี่
  • สวัสดีน้องเม้งครับ
  • น้องเม้งลองไปที่ ความรู้เกี่ยวกับแบบจำลองระบบเกษตร 
  • ท่านอรรถชัยเป็นนักวิชาการที่พี่เคยทำงานด้วยที่ขอนแก่นสมัยท่านกำลังทำปริญญาเอก ตอนนั้นท่านศึกษาเรื่อง AEA (Agro-Ecosystem Analysis) ตอนนั้นเราทำร่วมกันเป็นการวิเคราะห์พื้นที่ทุกจังหวัดของภาคอีสาน จนก่อให้เกิดผลสะเทือน คือกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรรับลูกต่อไปทำการวิเคราะห์พื้นที่เป็นรายตำบลละเอียดลงไปอีก เพื่อเอางานทางวิชาการนี้ไประบุความเหมาะสมของพืชที่จะปลูกในพื้นที่ต่างๆที่เกษตรตำบล เกษตรอำเภอรับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ เรียกว่าเอาวิชาการเข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น อ.อรรถชัยร่วมกับ ดร.ณรงค์ หุตานุวัติ และคณะจารย์อีกหลายท่านทำเรื่องนี้ในสมัยนั้น ทั้งสองท่านที่พี่กล่าวนามถึง เป็นนักวิชาการที่พี่ชื่นชมมาก ทั้งวิธีคิดและการทำงาน ต่างจากข้าราชการอื่นๆที่พี่พบมา
  • หลังจากที่อาจารย์อรรถชัยจบปริญญาเอกแล้วย้ายไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ศึกษาเรื่อง Simulation อ้อย ครับ
  • ลองเข้าไปดูและแลกเปลี่ยนกันนะครับ
  • การทำ Visualization หรือ Simulation นั้นพี่สนใจ และชอบบริโภคเพราะมันเข้าใจง่ายและสร้างจินตนาการได้มากมายครับ  พี่จึงสนใจงานที่น้องเม้งทำ โดยเฉพาะเป็น IM ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่
  • ไม่ทราบว่าพี่ใช้ msn ไหมครับ หากใช้ พี่แจ้งด้วยนะครับ เผื่อได้มีโอกาสคุยกันบ้างในส่วนลึกๆ ครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ สำหรับเบอร์ของผม
  • สมพร_ช่วย_อารีย์@ฮอทเมล์.คอม แปลงเป็นอังกฤษเองนะครับ
  • ขอบคุณครับ
  • พี่ยังไม่ได้ติดตั้ง msn เลยครับ หากติดตั้งเมื่อใดจะส่งข่าวครับน้องเม้ง
  •  OK พี่ได้ email address แล้วครับ
  • ขอบคุณครับ

ดิฉัน เห็นว่านี้เป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงค่ะ

การให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งที่ตนอยากจะทำ

หรือการนำการเรียนประวัติศาสตร์ที่แสนหน้าเบื่อ (ตามประสบการณ์ของดิฉัน)

มาทำให้ เด็กเข้าใจในเรื่องราว และรวมไปถึงได้รับความสนุกด้วย

ควรส่งเสริมค่ะ

ถ้ารัฐบาลสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบดังกล่าว

ดิฉันว่าเด็กและสังคมไทยจะได้พัฒนาไปใกลกว่านี้แน่นอนค่ะ

สวัสดีครับ ปุยฝ้าย

เดี๋ยวนี้เมืองไทยมีหลายโรงเรียนที่พยายามสร้างหลักสูตรที่อยู่นอกกรอบมากขึ้น อย่างน่าสนใจครับ แต่น้อยเหลือเกินครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท