"เรื่องเล่าจากดงหลวง" เรื่องที่ 1 ตลาดชุมชน


...สนับสนุนให้เกิดตลาดขึ้นในชุมชน โดยมีหลักการ ให้นำผลผลิตที่ปลอดสารพิษมาขายกันเอง เพื่อมิให้เงินรั่วไหลออกนอกชุมชน ให้หมุนเวียนภายใน โดย ชาวบ้านเป็นคณะกรรมการเอง ตั้งกฎระเบียบกันเอง ฯ ....
1.        ตลาดชุมชนตลาดแบบไหน คือ ตลาดที่มีที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านชนบท มีพัฒนาการมาจากโครงการ คฟป.ทำการสนับสนุนแหล่งน้ำในหมู่บ้านและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ คาดหวังว่าหากทำการผลิตมากเกินบริโภคแล้วน่าที่จะมีการศึกษาระบบตลาดในหมู่บ้านเพื่อมองหาลู่ทางในการนำผลผลิตไปขายเพื่อรายได้แก่เกษตรกร ทางโครงการจึงประสานงานให้สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่นหรือที่เรียกสั้นๆว่า RDI เข้ามาทำการศึกษาและหาทางสนับสนุนให้เกิดตลาดขึ้นในชุมชน โดยมีหลักการ ให้นำผลผลิตที่ปลอดสารพิษมาขายกันเอง เพื่อมิให้เงินรั่วไหลออกนอกชุมชน ให้หมุนเวียนภายใน โดย ชาวบ้านเป็นคณะกรรมการเอง ตั้งกฎระเบียบกันเอง ฯ มีโครงการ คฟป.และ RDI เป็นพี่เลี้ยง..เริ่มงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนปัจจุบันมีตลาดชุมชนเกิดขึ้นแล้วในทุกจังหวัดพื้นที่โครงการจำนวน 8 แห่ง (ดูรายละเอียดที่เอกสารตลาดชุมชน)

2.        เยี่ยมกลุ่มระบบชลประทานจุลภาคซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตพืชผักส่งตลาดชุมชนในอนาคต กลุ่มนี้อยู่ที่บ้านป่าไม้พัฒนา ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร  เจ้าหน้าที่เดินทางเข้าบ้านป่าไม้พัฒนาเพื่อเยี่ยมกลุ่ม MI (Micro Irrigation หรือชลประทานจุลภาค) เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 49 พบว่าพื้นที่สาธารณะจำนวน 17 ไร่เต็มไปด้วยแปลงข้าวโพดฝักอ่อนที่สมาชิกกลุ่มทำสัญญากับโรงงานไทซุน จ.หนองคาย โดย Broker มาเป็นผู้ส่งเสริม  สภาพการปลูกบางแปลงไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควรเพราะเหตุผลเรื่องคุณภาพของดิน และวิธีการใส่ปุ๋ย รวมทั้งการขาดแคลนน้ำบางช่วง  การปรึกษากันระหว่างสมาชิกกลุ่มและเจ้าหน้าที่ คฟป. สรุปว่า เกษตรกรควรเข้มงวดกับการดูแลตามหลักวิชาการที่นักวิชาการแนะนำ  และกลุ่มต้องประชุมกันเรื่องการปรับปรุงระบบสูบน้ำซึ่งเห็นสมควรให้ลงทุนเปลี่ยนขนาดปั้มน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งสมาชิกกลุ่มขอให้ทางโครงการพิจารณาสนับสนุนส่วนหนึ่งสมาชิกกลุ่มจะรวบรวมเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อจัดซื้อปั้มน้ำใหม่นี้

3.        การทำการผลิตในฤดูแล้ง  ในการปรึกษากันดังกล่าว สมาชิกกลุ่มกล่าวว่าเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดฝักอ่อนหมดแล้วจะปลูกพืชผักสวนครัวกันต่อทันที ทั้ง 17 ไร่ ? ที่ปรึกษากล่าวว่าลองผลิตกันครอบครัวละเพียง 1 งาน ก็พอ เอาไว้ปีต่อไปค่อยเพิ่มพื้นที่มากขึ้น ส่วนชนิดพืชผักนั้นสมาชิกกลุ่มสนใจพืชผักสวนครัวทั้งหลาย  ซึ่งจะจัดประชุมทำการวางแผนการผลิตต่อไปโดยให้ประธานกลุ่มนัดหมายวันประชุม

4.        ผลิตน้ำส้มควันไม้  เมื่อพูดถึงพืชผักที่สมาชิกกลุ่มสนใจจะปลูกในฤดูแล้งนี้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สมาชิกบอกคือ เดี๋ยวนี้เรามีตลาดชุมชนเองแล้ว  อยากจะปลูกผักเอาผลผลิตไปวางขายที่ตลาดนั้น...   คณะที่ปรึกษาเลยตั้งประเด็นต่อไปว่า หากปลูกพืชผักจะทำอย่างไรเมื่อมีโรคแมลงลงกินพืชผัก  ทุกคนก็พูดเหมือนกันว่า ก็เอายามาฉีดฆ่าแมลง..... ที่ปรึกษาจึงอ้างถึงว่าผู้นำกลุ่มของเราเดินทางไปฝึกอบรมเรื่องการทำน้ำส้มควันไม้มาแล้วทำไมไม่ทำแล้วเอามาใช้ล่ะ...คณะที่ปรึกษายังพูดสนับสนุนถัง 200 ลิตรให้ ขณะพูดกันชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า ชาวบ้านป่าไม้พัฒนาหลายคนทำเตาเผาถ่านอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นเราไปดูกันว่าเตาเป็นแบบไหน แล้วจะต่อยอดทำน้ำส้มควันไม้ได้หรือไม่อย่างไร...  พูดไปพูดมา แม่บ้านคนหนึ่งพูดว่า น้ำส้มอะไรเนี่ยะมันเปรี้ยวมากไหม ทำไมต้องมาจากเตาถ่านและเอามาใส่พืชทำไม..... พบว่าชาวบ้านหลายคนไม่รู้จักน้ำส้มควันไม้ ชาวบ้านที่รู้จักเลยช่วยอธิบายให้ ว่าน้ำส้มควันไม้เป็นการบังคับให้ควันไฟที่เกิดจากการเผาถ่านในระบบเตาที่ออกแบบมาโดยเฉพาะนั้นผ่านท่อแล้วจะเกิดหยดน้ำจากควันเมื่อรองหยดน้ำนี้ไว้ทิ้งให้ตกตะกอนแล้วสามารถนำไปผสมน้ำตามสัดส่วนที่ถูกต้องใช้รดพืชผักแทนสารเคมีเพื่อป้องกันและขับไล่แมลงที่มาทำลายพืชผักได้ เป็นการปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่าย.... เราไปดูเตาเผาถ่านแบบชาวบ้าน  พบว่าลักษณะเตาสามารถต่อยอดทำน้ำส้มควันไม้ได้  เราแนะนำวิธีทำและเจ้าของเตาก็เห็นดีเห็นงามและแสดงอาการสนใจจะทำโดยเร็ววัน

5.        ตลาดชุมชนบ้านป่าไม้พัฒนา  เราทราบจากแม่ค้าที่ค้าขายอยู่ 3-4 คนว่า อินแปงสนับสนุน 5,000 บาท  อบต.สนับสนุน 5,000 บาท ชาวบ้านก็ช่วยกันและเน้นย้ำว่าได้รับการสนับสนุนจาก อบต.ดีมาก จึงเกิดอาคารตลาดที่ถาวร มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ที่วางสินค้าทำด้วยไม้จริง (โอย..มันดีกว่าบ้านบางหลังเสียอีก)  พื้นที่วางสินค้าถูกทำเป็นล็อกแล้ว มีม้านั่งสำหรับแม่ค้าสำเร็จรูป ตลาดติดถนนใหญ่สายหลัก ซึ่งมีรถผ่านมาก เหมาะสมมาก  อย่างไรก็ตามชาวแม่ค้าบอกว่าอยากจะเพิ่มเติมถมดินและทำตู้ใต้ที่วางสินค้าเพื่อเก็บสิ่งของไม่ต้องขนไปมาระหว่างบ้านกับร้านค้า...ใกล้ๆกันมีชาวบ้านสร้างเพิงเป็นร้านขายก๊วยเตี๋ยว  และแม่ค้าบอกว่าขายดีมาก จากการสอบถามพบว่า เพิ่งเปิดให้ชาวบ้านคนใดสนใจเอาสินค้ามาวางได้เลย ยังไม่มีกฎ กติกาใดๆ ยังเปิดฟรีสำหรับผู้สนใจในระยะต้นนี้ สักเดือนสองเดือนค่อยกำหนดกันโดยประชุมสมาชิก ผู้นำกลุ่มเสนอขอให้ที่ปรึกษาช่วยเรื่องป้ายตลาดชุมชน  เราก็บอกว่ายินดีจะทำให้ ขอปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องก่อน

6.        ตลาดชุมชนบ้านโพนไฮ  เรามาถึงบ้านโพนไฮซึ่งทราบมาก่อนแล้วว่าจะไม่มีการเปิดตลาดวันนี้จากกำหนดการเดิม  แต่มีเหตุผลที่ทางอำเภอขอให้งดกิจกรรม และบังเอิญผู้นำเกิดป่วยขึ้นมา   แต่เมื่อเรามาถึงพบว่าร้านค้ามีแล้วและมีแม่ค้า 2-3 คนมานั่งขายของแล้วด้วย เราแวะไปคุยกับผู้นำคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่หน้าบ้านพอดี  ....พ่อไข..เล่าให้ฟังว่าทีแรกว่าจะไม่เปิด แต่เมื่อชาวบ้านตั้งใจจะขายแล้วก็เปิดเลยโดยไม่มีพิธีรีตองอะไร แค่ผู้นำประกาศทางหอกระจายข่าวว่าวันนี้จะมีร้านค้าชุมชนเกิดขึ้นและมีเพื่อนบ้านมาขายของใครสนใจก็แวะมาซื้อหากันได้  ตลาดที่นี้สภาพแบบง่ายๆ หลังคามุงแฝก ราคาไพละ 15 บาท บ้านโพนไฮได้เงินมาจากอินแปง 10,000 บาท ใช้ไปไม่หมดหรอก  พ่อไขกล่าว..เป็นสถานที่วางขายสินค้าชาวบ้านแบบง่ายๆ ยังไม่มีกฎ กติกาอะไร และยังไม่มีการคุยกันมากนัก เพียงแต่อยากทำ และเห็นหลายบ้านมีตลาดก็น่าที่จะทำได้....

7.        ทำไงต่อ  เห็นว่าสิ่งที่น่าจะทำคือ อินแปง คณะที่ปรึกษา และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุยกันถึงการร่วมมือสนับสนุนตลาดชุมชนที่กำลังเกิดใหม่ 2 แห่งนี้ ใครคิดอย่างไร ใครสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง ร่วมมือกันอย่างไรกันได้บ้าง  และที่สำคัญชาวบ้านคิดอย่างไร...

8.        มุมมองของที่ปรึกษา   บ้านป่าไม้พัฒนาเป็น ผู้ไท... เป็นสมาชิกไทบรู โดดเด่นมากในความกระตือรือร้น  ขยันในการทำงานเพาะปลูก เราไม่ค่อยพบที่ว่าพอเกษตรกรได้ระบบชลประทานจุลภาคแล้วลงมือทำกันทันทีและเต็มพื้นที่สาธารณะที่กำหนดไว้ หากคุยกัน ร่วมมือกันจะเป็นตลาดอีกแบบหนึ่งที่ผลิตมิใช่เพื่อคนในชุมชนเท่านั้น แต่จะเป็นตลาดเพื่อสาธารณะวงกว้างด้วย เพราะที่ตั้งตลาดอยู่ติดถนนใหญ่สายหลัก  อาคารตลาดที่ลงทุนทำแบบถาวร และกลุ่มผู้นำตื่นตัวมาก  ที่เด่นอีกประการคือ มีกลุ่มผลิตพืชผักที่โครงการสนับสนุนระบบชลประทานจุลภาคมีแหล่งน้ำ และลงมือเพาะปลูกแล้ว สมาชิกกลุ่มเองก็คิดจะปลูกผักเพื่อวางขายที่ตลาด.....บ้านป่าไม้พัฒนาจึงเป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพมาก  สำหรับบ้านโพนไฮ เป็นความสนใจและความพยายามของผู้นำซึ่งเป็นสมาชิกไทบรู แต่ขนาดชุมชนเล็ก และอยู่ใกล้บ้านหนองแคน ที่มีตลาดชุมชนเกิดขึ้นแล้วและกำลังก้าวหน้าด้วยดี (ท่านที่สนใจเรื่องตลาดชุมชน สามารถติดต่อเรื่องเอกสารเรื่องตลาดชุมชน และ VCD ได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือที่ โครงการ คฟป. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ถนนราชดำเนิน กทม.)

 
หมายเลขบันทึก: 72637เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2007 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
เยี่ยมครับ มีการจัดทำ VCD ด้วย
นายบอนมีโอกาสแวะไปทางมุกดาหารอยู่บ่อยๆ โอกาสหน้าจะแวะไปเยี่ยมดูสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดงหลวงครับ
  • มีสาวสวยไปชวนให้แวะมาทักทาย
  • ที่กาญจนบุรี มีไทยโซ่ง ด้วยแต่ไม่ทราบเหมือนกันไหม ใส่ผ้าหีน ลายแตงโม
  • ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟังจะแวะมาทักทายบ่อยๆครับ

นายบอนครับ

หากผ่านมาทางมุกดาหารก็แวะที่ส.ป.ก.มุกดาหารเรามีเอกสารอยู่ที่นั่นแต่ VCD กำลังทำสำเนาจาก RDI KKU ครับ

ท่านขจิตครับ

ไทยโซ่งกับไทยโซ่แตกต่างกันครับ วันหลังจะแนะนำไทยโซ่ครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม

vcd ที่คุณบอนว่านี้ ซื้อ หรือแจก ที่ไหนบ้าง

สวัสดีครับ คุณไฉไล กองทอง หมายถึง VCD เรื่องตลาดชุมชนใช่ไหมครับ ผมขออนุญาตสอบถามเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า ท่านทำงานอะไร อยู่ที่ไหน ทำไมสนใจงานตลาดชุมชน จะเอา VCD ไปทำอะไร ขออนุญาตทราบข้อมูลนิดหนึ่งครับ

 

ไฉไล ทำงานในส่วนงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ที่ทำงานอยุ่ที่เชียงใหม่คะ เป็นการทำงานร่วมกันในการพัฒนาตลาดของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรบนพื้นที่สูง ทั้งนี้รวมไปถึง การปลูกพืชเพื่อจำหน่ายในชุมชน การขายให้กับผู้ซื้อท้องถิ่น เป็นต้นคะ พูดง่ายๆ คือดูแลในส่วนของงานการพัฒนาตาลดของชุมชน ที่หน่วยงานไปมีการส่งเสริม และพืชที่มีการปลูกอยู่แล้วในพื้นที่ให้มีตลาดรองรับ ซึ่งในแต่ละตลาดที่พัฒนาก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทของชุมชน ทั้งนี้ได้เห็นงานอาจารย์ที่เขียนไว้ก็เลยสนใจคะ ว่ามีคนสนใจงานพัฒนาตลาดของชุมชนเหมือนกันคะ

ไฉไล

สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือเปล่าครับ ตลาดชุมชนที่เชียงใหม่มีโดยวัฒนธรรมอยู่แล้วตามหมู่บ้านที่เรียก กาดแลง กาดงาย ผมจบจากที่นี่ และมีเพื่อนทำงานด้านนี้ ที่มีชื่อเสียงคือ ตลาดอิ่มบุญ ของชมชวน ตอนนี้ขยายเป็นกลุ่มปลูกพืชผักอินทรีย์ และตลาดผักอินทรีย์แล้ว ก้าวหน้าไปมากเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท