ปรึกษางาน KM


เรื่อง KM ต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติ

๐๗.๐๐ น. วันนี้ ดิฉันมีโอกาสได้เข้าพบ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ สคส. เพื่อขอคำแนะนำและปรึกษาเกี่ยวกับงานด้าน KM และรายงานเรื่องการจัดตลาดนัดความรู้ จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๘-๙ พฤาภาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา

ดิฉันขอคำแนะนำจากอาจารย์วิจารณ์ว่างาน ๓ เรื่อง ต่อไปนี้ควรดำเนินการอย่างไร
๑. ในคราวที่ไปจัดตลาดนัดความรู้ที่ รพร.ธาตุพนม นพ.มนู ชัยวงศ์โรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้แจ้งให้ทราบว่ามูลนิธิ รพ.สมเด็จพระยุพราช มีความสนใจและต้องการให้ขยายวิธีการ KM ไปสู่ รพ.สมเด็จพระยุพราช ๒๑ แห่งทั่วประเทศ จึงขอให้ช่วยไปจัด KM workshop ให้ด้วย
๒. สมาคมนักกำหนดอาหารจะจัดประชุมวิชาการประจำปีในเดือนมิถุนายนนี้ ต้องการให้มีบรรยายเกี่ยวกับ KM และมีกิจกรรมในกลุ่มย่อยด้วย คาดว่าผู้เข้าประชุมจะมีประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน แบ่งกลุ่มย่อย ๒๐ กลุ่ม
๓. โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เชิญดิฉันให้ไปบรรยายและจัดกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้เรื่อง KM สำหรับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ ๒ จำนวน ๑๘๒ คน


แนวทางการดำเนินงานที่สรุปได้จากการหารือมีดังนี้

KM Workshop สำหรับกลุ่ม รพ.สมเด็จพระยุพราช
แบ่งเป็น ๒ workshop
- Workshop แรกมีเป้าหมายเพื่อสร้างวิทยากร KM โดยเลือก รพ.สมเด็จพระยุพราชที่มี best practice มาสัก ๔-๖ แห่งๆ ละ ๔-๕ คน จำนวนคนทั้งหมดประมาณ ๓๐ คนหรืออย่างมากไม่เกิน ๔๐ คน คนเหล่านี้จะต้องไปทำหน้าที่เป็นวิทยากรฝึกคนอื่นๆ ใน รพ.ตนเองและ รพ.อื่นได้ ผู้อำนวยการ รพ. (คุณเอื้อ) ควรมาด้วย อาจเดินเรื่องด้วยเบาหวาน แต่จะแนะให้ขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้ด้วย
- Workshop ครั้งที่ ๒ อีกประมาณ ๑ เดือนครึ่งถึง ๒ เดือนหลังจากงานแรก จัด KM workshop สำหรับกลุ่ม รพ.สมเด็จพระยุพราช โดยทีมวิทยากรที่ผ่านการฝึกไปแล้ว ทีมงานของดิฉันและ สคส.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

การประชุมวิชาการของสมาคมนักกำหนดอาหาร
ช่วงเช้า เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. บรรยายเรื่อง KM โดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ช่วงบ่ายที่แบ่งกลุ่มย่อยให้เป็นกิจกรรม Knowledge sharing โดยใช้เรื่องเล่า ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที หลังจากนั้นจับฉลากให้มานำเสนอความรู้ที่ได้ ๗-๘ กลุ่ม อภิปรายว่าจะเอาเครื่องมือนี้ไปใช้ต่ออย่างไร การที่จะทำกิจกรรมกลุ่มย่อย ๒๐ กลุ่มนี้ได้ จะต้องมีการเตรียมผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ประจำกลุ่มไว้ล่วงหน้า ต่อไปควร connect กันเป็นเครือข่ายและอาจแนะให้ไปแลกเปลี่ยนกันในบล็อก สมาคมนักกำหนดอาหารก็จะได้ทำหน้าที่เป็นสมาคมยุคใหม่ ที่ไม่เพียงแต่หาวิทยากรมาบรรยายวิชาการเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันอีกด้วย

งานสอนนักศึกษาพยาบาล
ดิฉันมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้นำ KM เข้าไปสู่การเรียนการสอน และน่าจะใช้ได้ดีในรายวิชา Clinical practice อาจารย์วิจารณ์เสนอวิธีการให้นักศึกษาเขียน diary เล่าว่าได้เรียนรู้อะไร ทำอะไร นักศึกษาจะได้ฝึกเขียน ซึ่งเป็นการจัดระบบความคิด ทำให้มีใจจดจ่อกับสิ่งที่เรียนสิ่งที่ฝึก และยังได้อ่านของเพื่อน นักศึกษาเขียนสิ่งที่ประทับใจทั้งในเรื่องที่เป็นเทคนิค ความรู้ ความรู้สึก อารมณ์ (ความเป็นมนุษย์) วิธีการนี้จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเรียนรู้จากการฝึกงาน และเรียนรู้จากเพื่อน เป็นการเรียน ๒ ขาคือเรียนจากทฤษฎีและเรียนจากการปฏิบัติ ในแต่ละสัปดาห์กลุ่มอาจารย์มาคุยกัน คัดเลือกบันทึกที่ดีๆ มาสัก ๑๐ เรื่อง (เลือกตาม scope ของการเรียนรู้) ให้คนที่เขียนดีมาเล่า เวลาเล่าจะเล่าได้มากกว่าที่เขียน เอามาแลกเปลี่ยนต่อ ทำความเข้าใจให้ชัด จับมาเปรียบเทียบกับทฤษฎี วิธีการเรียนการสอนแบบนี้จะได้ข้อมูลเยอะมาก อาจารย์สามารถจะทำวิจัยได้ หากรู้วิธีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้

เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงที่ได้คุยกับท่านอาจารย์วิจารณ์ ช่วยให้มองเห็นทางสว่างว่างานแต่ละเรื่องควรดำเนินการอย่างไร ดิฉันคิดว่าเรื่อง KM ต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือคิดวางแผนงานว่ามีรายละเอียดอะไรบ้าง ทำอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วได้ผลเป็นอย่างไร จะนำมาเล่าต่อค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙


 

หมายเลขบันทึก: 28760เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณครับ   ที่ช่วยบันทึกไว้  

วิจารณ์ พานิช

ถ้ามหาวิทยาลัยมี "การสอนแบบไม่สอน" คือหันมาเน้นที่ "การเรียนรู้" ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เหมือนกับที่ท่านอาจารย์วิจารณ์เสนอแนะไว้ ...ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ เราก็คงไม่ต้องมาเสียเวลาพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างที่ผ่านมาในช่วงหลายปีนี้ ...ผมอ่านตรงนี้แล้วทำให้นึกอยากจะลองว่าถ้านำ KM ไปใช้กับนักศึกษาแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร?....รบกวนอาจารย์วัลลาช่วยแชร์ประสบการณ์งานสอนนักศึกษาพยาบาลด้วยวิธี KM นี้ให้พวกเราฟังด้วยนะครับ ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักบริหารการศึกษาทุกท่าน

เรียน อาจารย์วัลลา  ที่นับถือ

      ผมมีเรื่องที่ต้องการแลกเปลี่ยนในประเด็น การเรียนการสอนของนักศึกษาพยาบาล ผมเคยได้รับฟังวิธีการสอนของวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง อาจารย์ท่านจะมีวิธีการสอนในเรื่องโรค ท่านจะให้นักศึกษาทุกคนกลับไปที่บ้านและลองไปสอบถามว่ามีญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว ป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง ได้รับการรักษาอย่างไรบ้าง มีวิธีการดูแลตนเองอย่างไรบ้าง หากครอบครัวใดไม่มีใครเจ็บป่วยก็ให้ไปเรียนรู้จากผู้ใหญ่เหล่านั้นว่ามีวิธีการดูแลตนเองอย่างไรจึงสุขภาพแข็งแรง พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ได้เข้าไปเรียนรู้จากญาติผู้ใหญ่ทั้งพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทำให้นักศึกษามีการค้นคว้าที่ลึกเพื่อเปรียบเทียบ และเรียนรู้จากความเป็นจริงของชีวิต ทราบว่า การเรียนการสอนประสบความสำเร็จมาก (ผมได้เรียนรู้จากเวทีของทีมผู้ประเมินภายใน โครงการของ สสส. / ผมคิดว่า อาจารย์อรทัย  อาจอ่ำ น่าจะมีบันทึกอยู่) ผมคิดว่า ระบบการเรียนการสอนวิธีก็สามารถอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้นศ.เข้าถึงความรู้ ความเป็นจริง มากกว่าการเข้าถึงตำราแค่ตัวหนังสือเท่านั้น

                                   สุพัฒน์  สมจิตรสกุล

การจัดการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง อาจารย์ควรเป็นผู้สนับสนุนและเอื้ออำนวยให้การปฏิบัตินั้นสร้างประสบการณ์ดีๆ และน่าประทับใจ จะทำให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของตนเองและคุณค่าของการปฏิบัติ ได้พัฒนาตนเอง เกิดความรักในวิชาชีพ

กรณีที่คุณสุพัฒน์เล่ามาน่าสนใจมากที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากคนใกล้ตัว นอกจากจะได้เรียนรู้แล้ว ยังจะช่วยให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันยิ่งขึ้น

การจัดการเรียนการสอนในแบบดังกล่าวจะเกิดผลสำเร็จได้ คงต้องมองทั้งหลักสูตร ไม่ใช่เพียงรายวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือเพียงบาง session เท่านั้น

อาจารย์คะ

ดิฉันเองเพิ่มจะได้มีโอกาส เข้ามาเรียนรู้ในวงการนี้  และได้เลือกอ่านจากที่อาจารย์เขียน ได้ความรู้ แนวคิดใหม่ขึ้นมามากมายที่น่าจะมาใช้กับนักศึกษาที่วลัยลักษณ์  อาจารย์ยังเก่งเหมือนเดิน แล้วจะเขียนไปปรึกษาอาจารย์บ้างจะได้ไหมคะ

   นัยนา

ยินดีเสมอสำหรับอาจารย์ ดร.นัยนา หนูนิล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท