เรียนรู้เรื่องทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) หรือ IC กับ Prof. Edvinnsson


สำหรับเมืองไทยเรื่องวัฒนธรรมนี้คือ IC ที่ยิ่งใหญ่ และไม่มีใครจะก๊อปปี้ได้ง่ายๆ . . . ผมได้แต่นึกในใจว่าถึงจะ copy ไม่ได้ แต่ก็อาจถูกทำลายได้ ภายในไม่กี่ Generation

        ในการสัมมนา KM ร่วมกับ World Bank เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์ จากปูนฯ ได้ให้ข้อมูลกับผมว่า Prof. Leif Edvinsson กูรู KM ทางด้าน IC (Intellectual Capital) จะมาเป็นองค์ปาฐกในงาน Knowledge & Innovation Bangkok International Conference 2007 ซึ่งจะจัดขึ้นที่โรงแรมเอราวัณ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค่าลงทะเบียนสำหรับงาน 1 วัน 18,000 บาท งานนี้จัดโดย KMPCA (Knowledge Management Professional Center Asia) ซึ่งก่อตั้งโดยคุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผมดูรายละเอียดในโปรแกรมแล้วก็สองจิตสองใจ ใจหนึ่งก็อยากจะฟัง Prof. Edvinsson เพราะเคยอ่านผลงานทางวิชาการของท่าน และท่านก็ถือว่าเป็น เจ้าพ่อ ทางด้าน IC แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกไม่ดี หากต้องใช้เงินจำนวนขนาดนั้นกับการเข้าร่วมงาน 1 วัน        

       แต่แล้วก็เหมือนเทวดามาโปรดครับ เพราะหลังจากทราบเรื่องนี้จากคุณทวีสินในตอนเช้าวันนั้น พอตกบ่ายก็ได้พบกับกัลยาณมิตร KM จาก ปตท. ถามผมว่าสนใจร่วมงานนี้ไหม เพราะ ปตท. ได้ร่วมเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ในงานนี้ด้วย ซึ่งผมก็รีบตกปากรับคำโดยทันที ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้มีอุปการคุณอีกครั้งครับ ทำให้ผมสามารถนำสิ่งดีๆ ที่ได้รับ (ในวันนี้) มาถ่ายทอดได้ในบันทึกนี้        

        เช้าวันนี้ Prof. Edvinsson เริ่มการบรรยายด้วยการตั้งคำถามว่า พวกเรารู้ไหมว่าอะไรคือ IC ของประเทศไทย?” พรัอมทั้งถามต่อไปว่า แล้ว IC ของเราแต่ละคนคืออะไร? ทำอย่างไรจึงจะ Leverage ไปยังส่วนอื่นได้?” ท่านชี้ให้เห็นถึงศาสตร์และศิลป์ของการตั้งคำถาม คำถามที่มีพลังจะเปิดโลกกว้างทางความคิด จะทำให้ไม่ติดกับความคิดแบบเดิมๆ (old thinking) เป็นการเสริม Brain Power นอกจากนั้นท่านยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Value Added หรือการเพิ่มคุณค่า (มูลค่า) ค่อนข้างมาก โดยแนะว่าจะต้องไม่มองข้ามบริบท (Context) และมิติทางวัฒนธรรม (Cultural Aspect) ด้วย        

        พูดเรื่องสมอง ท่านตั้งคำถามกับผู้ฟังว่ารู้ไหมสมองของเราหนักเท่าใด . . . มีใครรู้บ้าง? . . . (เงียบ) ท่านถามต่อว่า . . . ขนาดของรองเท้า . . . ท่านใส่รองเท้าเบอร์อะไร . . . มีใครรู้บ้าง? ตกลงเรารู้เรื่องเท้าของเรามากกว่าเรื่องสมองเสียอีก แล้วท่านก็วกกลับมาเรื่องวัฒนธรรม (Culture) บอกว่าสำหรับเมืองไทยเรื่องวัฒนธรรมนี้คือ IC ที่ยิ่งใหญ่ และไม่มีใครจะก๊อปปี้ได้ง่ายๆ . . . ผมได้แต่นึกในใจว่าถึงจะ copy ไม่ได้ แต่ก็อาจถูกทำลายได้ (ภายในไม่กี่ Generation) ดังจะเห็นได้จากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่แทรกซึมเข้าไปในทุกที่ ตกลงแทนที่เขาจะ copy เขาก็แค่ทำให้กลายเป็นเหมือนเขาไป หรือไม่เช่นนั้นก็ใช้เกณฑ์ต่างๆ ที่ เข้าทาง หรือสอดคล้องกับรูปแบบของพวกเขา เป็นตัวชี้วัดเป็นตัวจัดอันดับสิ่งต่างๆ อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ . .        

        Prof. Edvinsson ได้พูดถึงระบบบัญชีที่เราใช้กันอยู่นี้ว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ยิ่งใหญ่มากเมื่อ 500 ปีที่แล้ว แต่ที่น่าสงสารก็คือ 500 ปีผ่านไป เราก็ยังใช้วิธีเดิม (ภายใต้การคิดแบบเดิม) อยู่ การคิดแบบใหม่ หมายถึงการเปลี่ยน Unit of Measurement จากที่เคยวัดกันแต่สิ่งที่อยู่ในองค์กร ต้องหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่นอกองค์กร ต้องให้น้ำหนักกับความเป็นเครือข่าย (Network) ความเป็นชุมชน (Community). . . ยิ่งฟังผมก็ยิ่งมั่นใจว่า KM แบบที่ สคส.ส่งเสริมอยู่นี้ เป็นสิ่งเดียวกันกับที่ Prof. Edvinsson พูดถึง เพียงแต่ท่านกำลังแตะกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible) นี้ และพยายามที่จะให้มีการวัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอง IC ทั้งที่อยู่ในคน (Human Capital) ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (Relationship Capital) และในทางโครงสร้าง (Structure Capital) อีกด้วย        

       ประเด็นที่ผมสรุปมานี้ เป็นเฉพาะส่วนที่ Prof. Edvinsson กล่าวไว้ในช่วงแรก ในวันนี้ยังมีวิทยากรอีกหลายท่าน เรียงตามลำดับการบรรยายก็คือ ท่านอาจารย์ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ์ จากประเทศไทย Mr. Frederic Ho จากสิงคโปร์ Mr. Christopher Chan จากมาเลเซีย Mr. Niall Sinclair จากอเมริกา และคุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว จากประเทศไทย ถ้ามีโอกาสผมจะนำประเด็นที่ได้จากท่านอื่นๆ มาบันทึกให้อ่านต่อไปครับ 

คำสำคัญ (Tags): #culture#edvinsson#intellectual capital#kmpca
หมายเลขบันทึก: 80136เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ
  • จะมาติดตามเรื่อยๆครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาแลกเปลี่ยนครับ วันหลังนำมาเล่าให้ฟังอีกนะครับน่าสนใจมากครับ
  • เรื่องวัฒนธรรมเห็นด้วยกันอาจารย์เลยครับ ผมว่าเราต้องสร้างความหวงแหนในวัฒนธรรมไทยให้แก่เด็กรุ่นหลัง เริ่มต้นจากสื่อโทรทัศน์ก่อนเลยครับ

เห็นด้วยกับ Aj Kae ครับว่าสื่อมีอิทธิพลมากจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์ และอินเตอร์เนท และในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือสิ่งทั้งหลายที่สื่อเข้าถึงตัวผ่าน "มือถือ" ที่ทุกคนมีอยู่นี้นี่แหละครับ.....น่าเป็นห่วงครับ ...แต่สามารถทำได้ทันทีสองอย่างครับ หนึ่ง....สร้าง Content ดีๆ มาสู่กับของไม่ดี ....สอง....ต้องเร่งสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" ให้ผู้รับสื่อ...ก่อนที่จะสายเกินไป

ขอบคุณครับ
   ไม่ได้ไป  ไม่ต้องเสีย 18,000  แต่ได้ความรู้ แถมวิเคราะห์ให้ดู  จนเห็นชัดในสิ่งที่เล่า .. ได้ประโยชน์มากครับ
   แต่ที่น่าสงสารก็คือ 500 ปีผ่านไป เราก็ยังใช้วิธีเดิม (ภายใต้การคิดแบบเดิม)
    อันนี้น่าคิดมากครับ ภายใต้การคิดแบบเดิม นี่แหละคือ "ตัวร้าย" ที่ทำอะไรกันไม่ค่อยได้ เพราะเจ้าตัวนี้  มันฝังรากลึก  อยู่ในจิตสำนึกของผู้คนทั่วไป ที่มักทำเรื่องใหม่ๆ ด้วยใจเดิมๆ
 
   การรับเรื่องใดๆมาทำ มาใช้ตามกระแส  จึงมักมีผลหรือร่องรอยให้เห็นก็เพียงแต่ การได้ทำ เป็นส่วนมาก  พูดไปพูดมา  ก็ต้องลงที่ HR ตามความหมายของอาจารย์จนได้ครับ

ขอบคุรอาจารย์คะที่เล่าให้ทราบ จะเข้ามาคุยใหม่
ขอบคุณอาจารย์ค่ะ      เห็นด้วยมากๆว่าเวลาทำงานต้องอาศัย relationship capitalมากจริงๆค่ะ    จะติดตามต่อไปค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท