"บล๊อกเกอร์ในดวงใจ" ในความหมายของคนเป็นนาย


เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ในโลก การเลือก บล๊อกเกอร์ในดวงใจ สำหรับสมาชิก G2k แต่ละท่าน คงเป็นไปด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน

  • เป็นไปด้วยความเข้ากันได้ของเนื้อหาของบันทึกของผู้รับการเสนอชื่อ กับความรู้-ประสบการณ์ของบล๊อกเกอร์ที่เสนอชื่อ จึงติดตาม
  • เป็นไปด้วยมุทิตาจิต ที่อยากให้บล๊อกที่เราอ่านแล้วเห็นคุณค่า ได้รับการเผยแพร่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอื่นๆ
  • เป็นเครือข่ายสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบล๊อกเกอร์แต่ละท่านมีความสนใจหลากหลายในเรื่องราวต่างๆ รอบตัว โดยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่การงานในวิชาชีพเท่านั้น

บันทึกแต่ละบันทึกในทุกๆ บล๊อก มีค่าอยู่เสมอ ("งาน" ตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ จะมี "ความคุ้มค่า" เป็นแรงกระตุ้นหลัก; หากเขียนบันทึกแล้วไม่คุ้ม เช่นไม่ได้เพื่อน ไม่ได้ระบาย ไม่ได้ชื่อเสียง ไม่ได้สร้างคน/สร้างแนวร่วมทางความคิด ฯลฯ ก็จะไม่เขียน) ส่วนจะมาก จะน้อย จะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าสามารถเล่าเรื่องจนผู้อ่านหาความหมาย เก็บเกี่ยวประเด็นที่แต่ละบันทึกนำเสนอออกมาได้มากน้อยแค่ใด

สำหรับผมแล้ว มอง กิจกรรมบล๊อกเกอร์ในดวงใจ เป็นระบบป้อนกลับ (feedback) ที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าผู้อื่นมองเราอย่างไร มองงานของเราอย่างไร เพราะว่าภาพที่เรามองตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับภาพที่ผู้อื่นมองเรา; ช่วยให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ติดตามข้อเขียน-ความคิดของเรา นอกจากนั้น target group profiling ยังช่วยให้เข้าใจถึงพื้นฐานที่จำเป็นต้องเล่าในบันทึก เพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้อ่านอีกด้วย

ระบบป้อนกลับแบบนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนเป็นนาย เพราะว่าการบริหารงานที่ดี คงไม่ใช่ระบบที่มีการสื่อสารทางเดียวจากบนลงล่าง (สั่งลูกเดียว) เปรียบเหมือนเอาคนสายตาไม่ดีมาขับรถ

ในขณะที่เขียนบันทึกนี้ ผมเขียนบล๊อกอยู่สามบล๊อก แต่คาดว่าคงจะเป็น คนเป็นนาย นี้เองที่มีผู้อ่านมากที่สุด (อีกสองบล๊อกเป็นเรื่องเฉพาะทางมาก แต่จำเป็นต้องเขียนเพื่อรวบรวมเรื่องสำคัญไม่ให้กระจัดกระจาย)

เท่าที่สังเกตดูจากที่เขียน คนเป็นนาย ไปเพียง 17 บันทึก (ไม่นับบันทึกนี้) หากเขียนแล้วเกินสามวันทำงาน ก็จะมีผู้อ่านเกินร้อยครั้งเสมอในทุกบันทึก มีบล๊อกเกอร์รับ คนเป็นนาย ไปเข้าแพลนเน็ต 26 ท่าน

บางบันทึกมีข้อคิดเห็นมาก ส่วนบางบันทึกกลับไม่มีข้อคิดเห็น แต่เฉลี่ยอยู่ที่ 6.88 ข้อคิดเห็นต่อบันทึก (ผมคิดว่าสูงพอสมควรเมื่อคิดว่าตัวเองเป็นสมาชิกใหม่ไม่มีชื่อเสียง ที่เขียนแต่เรื่องหนักๆ และเจตนาเขียนบันทึกเป็น niche เรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการทั่วไปโดยไม่ได้พุ่งไปสู่เรื่อง KM อันเป็นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของ G2k)

ในส่วนคุณภาพของข้อคิดเห็นนั้น รู้สึกยินดีที่สุดที่ผู้อ่านไม่ยอมปล่อยให้ประเด็นดีๆ หลุดรอดไป และทำให้เห็นว่ายังมีอีกหลายอย่างที่สามารถจะปรับปรุงได้ เช่นมีบางเรื่อง-บางประเด็น ที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมในข้อคิดเห็น

เรื่อง บล๊อกเกอร์ในดวงใจนี้ ผมได้รับเกียรติเป็นอย่างมากจาก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ซึ่ง characterize ผมไว้ว่า บันทึกมีพลัง และ ตั้งใจตอบ (หากมีบล๊อกเกอร์ท่านอื่นคิดจะให้เกียรติอีก ก็ขอขอบคุณครับ แต่อยากเรียนว่าแบ่งๆ กันไปดีกว่า ถ้ากรุณาใส่ชื่อผมอีก ก็จะชี้มาที่บันทึกนี้โดยไม่เขียนใหม่แล้วครับ แฮ่ะ แฮ่ะ)

เรื่องบันทึกมีพลังนี้ ต้องให้ผู้อ่านประเมินผลเอาครับ แต่หลักการเขียนบันทึกนั้น ผมเลือกประเด็นที่จะเขียนก่อน ถ้าไม่มีประเด็น-ก็ไม่เขียน-ไม่ยอมอยู่ใต้ความกดดันใดๆ เขียนเฉพาะสิ่งที่รู้ มั่นใจว่าตอบคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนได้ มีข้อมูลอ้างอิงตามสมควร หลังจากนั้นจึงตั้งชื่อบันทึกตามประเด็นหลัก (มีคนบอกว่าอ่านยาก ทั้งยาวและมีลิงก์มากกว่าบันทึกส่วนมากใน G2k -- ผมเรียนว่าความยาวเป็นระดับปกติที่ใช้ในบล๊อกของบริษัท ส่วนจำนวนลิงก์นั้นน้อยกว่าระดับปกติแล้วครับ) เป็นเรื่องยากที่จะสื่อสารในประเด็นที่ต้องการจะสื่อ กับผู้อ่านที่มีพื้นฐานหลากหลาย ดังนั้นก็ต้องกลั่นเอาเฉพาะแก่นความคิดออกมาเพื่อให้ผู้อ่านนำไปประยุกต์กับสิ่งที่ตนสนใจอยู่ได้ง่ายขึ้น แต่พอเป็นเรื่องของแก่นความคิดแล้ว กลับอ่านยากมากขึ้นเสียอีก!!

ส่วนเรื่องตั้งใจตอบนี้ ยอมรับครับว่าตั้งใจจริงๆ ทันทีที่มีข้อคิดเห็นมา ผมจะรู้ตัว/ได้รับแจ้งบน instant messenger ทันที และสามารถจะตอบได้ทันทีเช่นกันถ้าไม่ติดงานอื่นอยู่ การตอบทันทีนี้ มีอานิสงส์อยู่สองอย่างคือ คำตอบไม่ต้องปรุงแต่งมากนัก และบางทีผู้ที่ให้ข้อคิดเห็นก็ยังอ่านอยู่เลย จะทำให้เกิดความคิดต่อเนื่อง; มีข้อคิดเห็นที่ผมตอบหลายอัน-รู้สึกว่ามีเนื้อหาและประเด็นเพียงพอที่จะเปิดเป็นบันทึกใหม่ แต่ผมก็เลือกเขียนเป็นข้อคิดเห็น-หากว่าอยู่ในประเด็นเดียวกันกับบันทึกต้นเรื่อง

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องตัวเองครับ เพียงแต่อยากจะบันทึกวิธีคิด วิธีเขียน เผื่อว่าท่านผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นดี จะได้นำไปปรับใช้ตามแต่จะเห็นสมควร

ตามพันธะ ก็ต้องเลือกบล๊อกเกอร์ในดวงใจต่อ แต่ผมจะเริ่มโกงเลยก็แล้วกันครับ หวังว่าท่านผู้อ่านคงไม่ถือสา

การอ่านแพลนเน็ต ก็อ่านตามสะดวกครับ ไม่ฝืนตัวเองเพราะหน้าที่การงาน ก็เจอกับข้อมูลข่าวสารที่ต้องย่อย-ต้องคิดมากมายอยู่แล้ว

ท่านผู้อ่านคงเห็นว่าผมไม่ได้เลือกบล๊อกของใครเลยครับ เดิมทีจะบอกว่า YOU ก็เหมือนเป็นการมักง่ายเกินไป คราวที่แล้วโดน Blog-Tag ก็ไม่ยอม tag ต่อมาครั้งหนึ่งแล้ว ด้วยความที่นิสัยเสีย คือเป็นคนที่ไม่ชอบให้ระบบมาจำกัดความคิด ก็เลยขอเอาข้างเข้าถูอย่างนี้ก็แล้วกันครับ ขอเสนอแพลนเน็ตที่ผมติดตามอ่านแทน

หมายเลขบันทึก: 87170เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2007 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 02:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

มาเยี่ยม...

เป็นบันทึกที่อ่านแล้ว...บ่งบอกความเป็นอิสระทางใจในการเลือก...ดีมากครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ ผมเชื่อว่าอิสระในการเลือกจะนำไปสู่ประสิทธิผลและความมั่นใจ/ความนับถือตัวเองที่ดีกว่าครับ

แต่เงื่อนไขที่จะสู่สิ่งนี้ได้ คือความเข้าใจในตัวเองอย่างถ่องแท้ กล้าที่จะแตกต่าง และกล้าที่จะยืนอยู่บนสิ่งที่คิดว่าถูกต้องครับ (ซึ่งไม่เหมือนกันการรั้น)

ชอบวิธีการตอบสนองกับปุจฉาที่ได้รับมากเลยค่ะ ได้ทราบทั้งเทคนิคประจำตัว และได้เห็นมุมมองของการเลือก เป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชมมากค่ะ ขอขอบคุณคุณ Conductor มากค่ะ

ยินดีที่ต้นตำรับแวะมาเยี่ยมครับ ผมสารภาพว่าไม่คิดว่าจะโดนเลย เผอิญโดน! ก็เลยต้องเขียนครับ

ส่วนเทคนิควิธีการนั้นก็เป็นความรู้ทั่วไป แต่บางที common sense ก็ไม่ common เพราะคนเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศต่างๆ กัน มีภาระ มีเรื่องในใจไม่เหมือนกัน

แต่ผมยังไม่เคยพบคนที่ยุ่งจนไม่มีเวลาจะคิดเลยครับ เพราะว่าเวลาที่จะคิดสามารถหาได้เสมอถ้าอยากจะคิด เรื่องที่ยากคือมองประเด็นกันไม่ค่อยออกเนื่องจากไม่คิดจะฝึกเสียมากกว่า

P

เข้ามาเยี่ยมเป็นปรกติ..

คุณโยมให้เกียรติเลือกแพลนเน็ตของอาตมา จึงต้องกลับไปเปิดดูอีกครั้ง ว่าเรื่องอะไรไว้บ้าง...

อันที่จริง อาตมาก็อ่านทั่วไป ตามที่ความรู้สึกจะพาไปในขณะนั้นๆ.. ถ้ารู้สึกคุ้นเคยหรือถูกใจก็อาจร่วมคุย หรือลงชื่อไว้บ้างตามธรรมดา...

แต่ บันทึกที่อาตมาอ่านแล้ว ก่อให้เกิดความรู้ขึ้นมาและใคร่จะรู้จะเห็นต่อไปจริงๆ มีเพียง ๓-๔ ท่านเท่านั้น และท่านหนึ่งก็คือ คุณโยมนี้เอง...

เจริญพร

 

 

 

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ

แนวคิดผมก็สำนักใหญ่สำนักเดียวกับท่านล่ะครับ เพียงแต่ประยุกต์ไปอีกแนวทางหนึ่ง เนื่องจากผมอยู่ในอีกสถานะหนึ่ง ที่มีภาระยังสลัดไม่หลุดครับ

ผมชอบปรัชญาที่หมายถึงความรู้และความจริงครับ ไม่ชอบปรัชญาที่ออกแนวเล่นคำ (แม้ว่าตัวผมจะออกอาการเหมือนเป็นคนชอบเล่นคำ -- ที่จริงแล้วเป็นลักษณะของ programmer ที่มองเห็นช่องเล็กช่องน้อย ซึ่งหากปล่อยผ่านไปแล้ว เป็น bug ครับ)

คุณ Conductor ครับ ขอบคุณและดีใจครับ ที่เลือก แพลนเน็ต:เรื่องนี้ทำให้มาโนชคิด  แต่ก็แปลกใจไปพร้อมๆ กันครับ เรื่องที่ผมเลือกลงในแพลนเน็ตนี้พยายามเลือกบล็อกที่เรื่องส่วนใหญ่อ่านแล้วโดนใจ ชวนให้คิด   แต่ถ้าจะเอาจริงแล้วคงมีอีกหลายๆ คนที่ผมจะต้องเพิ่มอีก เผอิญท่านเหล่านั้นผมรวมในแพลนเน็ตอื่นแล้วกันเลยไม่ได้ลงในแพลนเน็ตนี้ครับ 

ผมชอบคำว่า "ผมชอบปรัชญาที่หมายถึงความรู้และความจริงครับ ไม่ชอบปรัชญาที่ออกแนวเล่นคำ"  เพราะ เหมือนผมครับ แนวผมจะออกทาง Pragmatism ซะมากกว่า คือจะอะไรก็ตามมันต้องมีสายต่อให้ติดดินที่เรายืนอยู่ ไม่งั้นมันก็ล่องลอยไปเรื่อย ไม่เสถียร

ผมก็เลยชอบอ่านแพลนเน็ตของอาจารย์ไงครับ เหมือนอย่างที่อาจารย์มาลินีเคยพูดไว้ว่า "คอเดียวกัน"

ผมคิดว่าการรับบล๊อกเข้าแพลนเน็ต เป็นการให้เกียรติกันอย่างยิ่งนะครับ นั่นคือความเชื่อถือ คือความไว้ใจว่าสิ่งที่เจ้าของบล๊อกเขียน มีผู้ติดตามอ่าน นอกจากนั้นก็ยังเป็นการจัดความรู้-ประสบการณ์เป็นกลุ่มก้อน ตามความสนใจ ซึ่งในบางกรณี-กลับดีกว่าการไล่ตามคำหลักด้วยซ้ำไปครับ เพราะว่าเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะกำหนดคำหลักที่อธิบายหมวดหมู่ของความรู้-ประสบการณ์ในบันทึกได้ดี

อ่านแล้วได้ความรู้จังเลยค่ะ ชอบมากๆ ค่ะ เป็นงานวิเคราะห์ในอีกมุมมองที่ไม่ค่อยจะมีใครเขียนค่ะ

เกมส์ บล็อกเกอร์ในดวงใจ นี้ไม่ค่อยมีคนเล่นค่ะ เพราะเกรงใจเลือกลำบากค่ะ เพราะชอบหลายคน :)

กำลังเปลี่ยนไปเล่น บล็อกเกอร์หน้าใหม่ แทนแล้วค่ะ :)

 

ขอบคุณอาจารย์ที่ให้กำลังใจครับ

พูดถึงเรื่องการเขียนแนววิเคราะห์ ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านต่างก็ต้องมีความรู้และความสนใจในเรื่องที่กำลังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในมุมหนึ่งก็เป็นการต่อยอดความรู้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็กลับเป็นการเจาะจงลงไปในเรื่องเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านแคบลงนะครับ

ขอยกตัวอย่างบันทึก เราจะเขียนอะไรใน gotoknow กันไปทำไม ของอาจารย์มาโนชครับ ตั้งแต่ตัวบันทึกถึงข้อคิดเห็นสุดท้าย (ในขณะนี้) ยาวเดือนกว่า! ผมคิดว่าทั้งคุณภาพของบันทึกและคุณภาพของข้อคิดเห็น น่าจะขอให้บล๊อกเกอร์ที่มีแฟนประจำเป็นจำนวนมากๆ ได้พิจารณาดู และอย่างที่อาจารย์มัทนาเขียนไว้ในข้อคิดเห็นคือเป็นบันทึกที่ "ต้องอ่าน" ให้ได้จริงๆ ครับ 

เปลี่ยนเป็น เกมส์บล๊อกเกอร์หน้าใหม่ ก็ดีเหมือนกันครับ

"กล้าที่จะแตกต่าง และกล้าที่จะยืนอยู่บนสิ่งที่คิดว่าถูกต้องครับ (ซึ่งไม่เหมือนกันการรั้น)"

ผมมีคำถามอยู่ครับสำหรับประโยคนี้ แน่นอนว่าผมก็รู้สึกอย่างนั้น แต่ก็สดุดอยู่นิดเดียวว่า สิ่งที่ถูกต้องเราจะรู้เมื่อไหร่ว่าถูกต้อง และหากไม่มีใครรู้เหมือนเราว่าถูกต้อง มันจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ เพราะอาจจะเป็นธรรมชาติที่ว่า หากไม่ตรงกับเราแล้ว คือผิด(ซะงั้น)

"ผมชอบปรัชญาที่หมายถึงความรู้และความจริงครับ ไม่ชอบปรัชญาที่ออกแนวเล่นคำ"

ผมคงชอบประโยคนี้เป็นพิเศษ(อาจจะตรงกับสิ่งที่ผมอยากได้ยิน) ซึ่งผมไม่มีความรู้พอที่จะเล่นคำ แต่พอที่จะเข้าใจ

ขอบคุณครับ สำหรับการเลือกแพลนเน็ต(แรก ๆ งง ๆ เหมือนกันว่าของใครหว่า??) 

ขอบคุณคุณอุทัยและยินดีต้อนรับสู่คนเป็นนายครับ

อาจจะฟังดูบ้าไปหน่อยนะครับ ผมคิดว่าความถูกต้องไม่ได้มีสภาพสัมบูรณ์ แม้แต่สิ่งที่ร่ำเรียนมาครับ เช่น

  • ในสภาวะของสังคมการเกษตรในสมัยโบราณ พื้นที่และแรงงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเพาะปลูก การแผ่ขยายอาณาเขตจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อความอยู่รอด และถูกมองด้วยความชื่นชม;  ในปัจจุบันที่ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น การแผ่ขยายอาณาเขต กลับถูกมองว่าเป็นการรุกราน ใช้กำลังซึ่งไม่เข้ากับค่านิยมของสังคมในปัจจุบัน; เรื่องที่เคยถูกต้องกลับเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะกรอบความคิดเปลี่ยนแปลงไป
  • ยุโรปในยุคกลาง ใครต่อต้านความคิดของศาสนจักร ก็โดนฆ่าหรือลงโทษหนักในทางอื่นๆ; ต่อมาวิทยาศาสตร์ได้รับการยอมรับมากขึ้นเนื่องจากเริ่มตอบคำถามบางอย่างได้ Newton's law of motion (F=ma) กลายเป็นกฏทางฟิสิกส์; แต่เมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ก็กลับเปลี่ยนเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพ (E=mc2) ส่วนความรู้ของนิวตันซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กลายเป็นกรณีเฉพาะไป; แล้วดูตอนนี้ซิครับ ทั้งควันตัม ทั้งสตริง ซูเปอร์สตริง M-theory (จักรวาล 11 มิติ) ฯลฯ
  • ทางด้านเศรษฐกิจกระแสหลัก ก็มีสองขั้วคือคอมมิวนิสต์ในอุดมคติ และทุนนิยมในอุดมคติ ทั้งสองขั้วตั้งอยู่บนแนวคิดของเพลโต "Republic" และ เซอร์ทอมัส มัวร์ "Utopia"; พอมาเจอเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งตั้งอยู่บนความไม่โลภ ความไม่เบียดเบียนกัน และอิทธิบาท ๔ เข้า ก็งงกันไปหมด เพราะว่าแม้อุดมคติของเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่ได้ขัดกับอุดมคติของเศรษฐกิจกระแสหลัก แต่ขัดกับสิ่งที่เขายึดถือปฏิบัติกันมานาน (ซึ่งไม่ใช่ทั้งอุดมคติ และไม่ได้เป็นทางนำไปสู่อุดมคติ)

ก่อนจะตอบว่าอะไรถูกต้อง ก็ต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนว่าถูกต้องสำหรับอะไร ถูกต้องด้วยเงื่อนไขใด เมื่อมองจากมุมใด

สิ่งที่เราเรียนรู้มาไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้มีค่าต่อตัวเราหากไม่สามารถนำไปใช้ได้ ยิ่งกว่านั้นหากความรู้ที่ได้มา ไม่สามารถจะนำไปปรับใช้ได้ ก็อาจไม่ตรงกับความต้องการ เป็นความรู้แห้งๆ เหมือนอ่านนิยาย

แต่ความรู้ที่มีประโยชน์ (ในความเห็นผม) เมื่อได้มาแล้ว ยังต้องนำไปกลั่น คิดต่อยอดเพิ่มเติม จึงจะเป็นประโยชน์กับตัวเราครับ

หากเรายังกลัวว่าความรู้ที่เรามีและแน่ใจว่าถูกต้อง จะถูกปฏิเสธจากสังคม ก็จะไม่มีงานวิจัย และโลกนี้ก็จะไม่มีความก้าวหน้าครับ

เขียนมาอย่างยืดยาว สรุปความเห็นของผมอย่างนี้ครับ:

  • สิ่งที่ถูกต้องเราจะรู้เมื่อไหร่ว่าถูกต้อง: ตอบว่าความถูกต้อง ต้องให้คำจำกัดความเฉพาะครับ เพราะว่ามีหลายมุม คำว่า"ถูกต้อง" เป็นคำย่อครับ ย่อมาจากคำว่า "คิดว่าถูกต้อง"
  • หากไม่มีใครรู้เหมือนเราว่าถูกต้อง มันจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือไม่: ตอบว่า อันนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า ความรู้ที่เรามีอยู่ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่มากกว่าครับ; หากรู้แล้วทำประโยชน์ไม่ได้ ก็มีค่าเท่ากับไม่รู้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท