สถาบันการศึกษาพยาบาลและการสร้างเสริมสุขภาพ


ได้กรอบของวิสัยทัศน์

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. มีการประชุมผู้แทนจากสถาบันการศึกษาพยาบาลที่เป็นเครือข่ายการพัฒนาผู้นำสร้างเสริมสุขภาพ ณ โรงแรมอะมารี แอร์พอต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันวางแผนงานในระยะต่อไปซึ่งจะต้องเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สสส.ได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาพยาบาล ๑๕ แห่ง ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพ โดยประสานงานผ่านที่ประชุมคณบดีและหัวหน้าสถาบันการศึกษาพยาบาลของรัฐ การดำเนินงานระยะที่ ๑ ระหว่างเมษายน ๒๕๔๖ ถึงกันยายน ๒๕๕๐ มีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแกนกลางได้เสร็จสิ้นไปแล้ว เครือข่ายและ สสส.มีความเห็นที่จะดำเนินงานในระยะที่ ๒ ต่อไป โดยมีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแกนกลาง

งานในระยะที่ ๒ นี้จะมี รศ.ดร.นิตย์ ทัศนิยม เป็นผู้จัดการแผนงาน ทีมจัดการได้แก่ รศ.ดร.อัมพรพรรณ ธีรานุช ผศ.ดร.วาสนา รวยสูงเนิน และ รศ.บุญศรี ปราบ ณ ศักดิ์ ที่ปรึกษาคือ รศ.นพ.สมพนธ์ ทัศนิยม จากคณะแพทยศาสตร์ มข. รศ.ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ จากคณะเกษตรศาสตร์ มข.

ก่อนที่จะเข้าสู่การประชุม ทพ.พิชิต งามวรรณกุล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มาเล่าประสบการณ์แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข (ทพ.สส.) ให้ฟังว่าที่มาเป็นอย่างไร ปีที่ ๑, ๒, ๓ ทำอะไร เพราะเหตุใด และเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีเรื่องราวน่าสนใจที่ทำให้เราได้เรียนรู้ไปด้วย ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากบล็อกของอาจารย์พิชิต (ที่นี่)

อาจารย์นิตย์ได้นำเสนอต่อที่ประชุมสั้นๆ ถึงผลการทบทวนสถานการณ์แผนงาน เพื่อเป็น input ก่อนทำงานกันต่อไป หลังจากนั้น นพ.ทวีศักดิ์ นพเกษร อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำการประชุมกลุ่ม โดยให้ผู้เข้าประชุมเขียนความรู้สึกและความคิดเห็นของตนออกมาตามโจทย์ที่ตั้งให้ อาจารย์ทวีศักดิ์บอกว่าให้เริ่มจากการไม่มีกรอบอะไร เริ่มจากตนเองก่อนเสมอ

โจทย์ข้อ ๑ ให้ช่วยกันมองวิชาชีพการพยาบาลกับงานสร้างเสริมสุขภาพ (ทั้งในคลินิกและชุมชน)  ข้อ ๒ คณะพยาบาลฯ ดำเนินการอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต และ ข้อ ๓ เครือข่ายฯ ได้ใช้โอกาสอย่างไรจากโครงการของ สสส.

อาจารย์ทวีศักดิ์เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เข้าประชุมและเรียบเรียงเป็นคำตอบของโจทย์แต่ละข้อ ดิฉันพยายามคิดว่าจะใช่การทำวิสัยทัศน์ร่วมหรือไม่ แต่กิจกรรมค่อนข้างจะรวบรัดเกินไป รู้สึกว่าแต่ละคนยังมีความระมัดระวังตัวเอง ยังไม่เปิดใจเต็มที่ บรรยากาศก็ดูไม่เอื้อเท่าไหร่

ภาคบ่ายมีการแบ่งผู้เข้าประชุมเป็น ๒ กลุ่ม ให้ระดมสมองตอบโจทย์ “What it should be?” ได้ “ตุ๊กตา” วิสัยทัศน์ว่า “เป็นเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อการสร้างสุขภาวะภายในคณะในการสร้างคนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ”

“ตุ๊กตา” ยุทธศาสตร์ มีหลายด้าน อาทิ
- การจัดการเรียนการสอน
- กิจกรรมนักศึกษาที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะ
- สิ่งแวดล้อมของการเรียนรู้และการสร้างสุขภาวะ
- KM และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
- การพัฒนาอาจารย์และบุคลากรในคณะให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ร่วม

ในด้านการจัดการเครือข่าย มีคำถามว่าสำนักงานเครือข่ายฯ ควรจะดำเนินการอย่างไร คำตอบที่ได้ เช่น
- โครงสร้าง องค์ประกอบ และหน้าที่ มีการพูดถึงการทำหน้าที่เป็น facilitator และสนับสนุน การมี steering committee ที่อาจมีคนนอกมาช่วยเกลี่ยหรือเสริมแรง
- การสื่อสาร ควรมีการสื่อสารหลายระดับ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายและสหสถาบัน มีการประชาสัมพันธ์ให้ public และคนทั่วไปได้รับรู้
- การทำงานแบบเครือข่าย ควรกำหนดกรอบกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ

ตัวสำนักงานต้องไปกำหนดยุทธศาสตร์ให้ล้อไปกับยุทธศาสตร์ภาพรวม กำหนดวิธีการติดตาม ประเมินผล และเสริมแรง เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกเครือข่ายในทุกขั้นตอน ช่วยจัดอบรมเสริมในส่วนที่ขาด และควรมีกรรมการแผนงาน เป็นต้น

สำหรับกลไกนั้นอาจารย์สุจินต์เสนอว่าควรเป็นกลไกทางสัคมมากกว่ากลไกด้านบริหาร แต่กลไกไม่ว่ารูปแบบใดต้องไปสู่วิสัยทัศน์ร่วม การพิจารณาโครงการต่อไปอาจ cross สถาบัน ทำในรูปแบบการแลกเปลี่ยน ผลัดกันไปจะได้เรียนรู้จากกันได้

การประชุมในวันนี้พอจะสรุปได้ว่าได้กรอบของวิสัยทัศน์ ต่อไปทีมจัดการจะต้องทำแผนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ แล้วส่งแผนให้สมาชิกทาง e-mail หากจะต้องแก้ไขปรับปรุงจะประชุมอีกครั้งในวันเสาร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๐

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 147694เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท