"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

บ่อน้ำตื้น ภูมิปัญญาควรค่าอนุรักษ์


๒๖/๐๒/๒๕๕๗

**********

บ่อน้ำตื้น ภูมิปัญญาควรค่าอนุรักษ์

          กระแสของการขุดบ่อน้ำตื้นในช่วงนี้มาแรง เพราะน้ำประปาเริ่มมีปัญหาไหลบ้างไม่ไหลบ้าง เนื่องจากภาวะของภัยแล้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ชื่อว่าประสบกับภาวะของภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤติกว่าทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือ หมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่ก็ประสบกับภัยแล้งเช่นกัน และไม่ใช่แต่ปีแรกหรือครั้งแรกที่ประสบพบเจอ  เคยคุยกับคนบ้านใกล้ว่าเรามาลงขันขุดบ่อกันดีไหม ก็ได้รับความเห็นร่วมด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมาผู้เขียนเองไม่ค่อยจะมีเงินมากพอที่จะนำมาใช้ในการขุดบ่อ  เพราะการขุดบ่อต้องใช้เงินมากพอสมควร

        การขุดบ่อคงจะไม่ได้ใช้มันสมองมากสักเพียงใด สิ่งสำคัญคือความขยันหมั่นเพียรและความอดทนการที่จะใช้จอบและอีปิก ขุดดินให้ลึกลงไปในดินจนกระทั่งน้ำออกมาและแนวตั้งตรงด้วยนั้น ต้องใช้การสังเกตความทรหดอดทนอย่างสูงยิ่ง  ผู้เขียนมอบหมายให้หนุ่ม ๆ ในหมู่บ้านช่วยกันขุดโดยมีลำดับขั้นตอนที่น่าสนใจประกอบรูปภาพดังต่อไปนี้

       ๑.  เตรียมหาหลักหรือตัดหลักที่เป็นง่ามมาสองต้น  กำหนดเขตที่จะขุด หรือผู้เป็นเจ้าของทำพิธีแรกขุด หรือ “วันแฮกขุด” ขอขมาและขออนุญาตต่อแม่ธรณี เจ้าที่เจ้าปู่ผู้ดูแลสวนและบ้านเมือง ในที่นี้คือ พ่อปู่ปากพาน โดยการขุดในครั้งนี้ จะต้องไม่มีอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บใดๆ เกิดขึ้นกับผู้ที่มาทำงาน  เสร็จแล้วก็ให้ลงมือขุดได้  พอขุดไปสักพักก็ทำการขุดหลุมฝังหลักไม้ง่ามสองต้นที่เตรียมไว้ (ดังภาพ) เอาไว้เพื่อใช้ไม้พาดด้านบนแล้วแขวนรอกเอาไว้เพื่อใช้ดึงเอาดินขึ้นจากหลุมเมื่อขุดลึกลงไปมาก ๆ แล้ว

       ๒.  เมื่อขุดลึกลงไปมาก ๆ อย่างนี้จนส่งดินให้คนบนปากบ่อไม่ถึงแล้วก็ต้องใช้รอกดึงดินขึ้นมา ที่เห็นตามภาพนี้ผู้ขุดกำลังประสบกับดินปนหิน แถวบ้านเรียกว่า “หมะหินแฮ่” แข็งมากอยู่ประมาณวันที่ ๒ ตั้งแต่เริ่มขุดมา

       ๓.  ภาพที่เห็นนี้ประมาณวันที่ ๓ ของการขุดบ่อและ ผู้ขุดใช้ไม้ไผ่เพียงท่อนเดียว ที่มีความยาวประมาณ ๔ วา ใช้หย่อนลงไปในหลุม เพื่อใช้ปีนลงไปและปีนขึ้นมาจากบ่อในตอนที่พักหรือตอนที่เปลี่ยนกันลงไปขุด

 

       ๔.  ประมาณวันที่ ๔ ของการขุดเราก็จะเริ่มเห็นน้ำก้นบ่อที่เริ่มซึมออกมาจากใต้ดินบ้างแล้ว และเมื่อผู้ขุดปล่อยทิ้งไว้ในตอนกลางคืน วันรุ่งขึ้นไปมองดูก็เห็นว่าน้ำนั้นขึ้นมาประมาณ ๒ ท่อกว่า ๆ แล้ว(ท่อแนวตั้ง ๔๕ เซนติเมตร)   ก็ยังไม่หยุดขุด

 

      ๕.  ช่างขุดช่วยกันตักน้ำขึ้นมาเททิ้งและขุดเพิ่มกันต่อไปจนกว่าจะได้ที่ คือ น้ำออกมากจนตักหรือขุดไม่ทันกันแล้ว

 

       ๖.  เมื่อขุดได้ที่แล้วก็นำท่อที่วัดไว้ครั้งแรกคือ ความกว้างของวงท่อเท่ากับ ๑.๒๐ เมตร นำลงวางซ้อนๆ กันในบ่อ  โดยนำไม้ไผ่ที่ใช้เป็นบันไดใส่ตั้งไว้ในวงของท่อก่อนนำลงทุกครั้ง

       ๗.  นำท่อที่เตรียมไว้วางพาดไว้บนปากบ่อก่อนแล้วนำเชือกมาร้อยตรงที่มีรูฝั่งตรงข้ามกันใช้เชือกพันกับไม้ด้านบนที่แขวนรอกไว้ ๑ รอบ เพื่อลดแรงดึงและแรงปล่อยลงของท่อ อีกด้านที่ไม่ตรงกับไม้ด้านบนก็ใช้แรงคนดึงเชือกช่วยเพื่อไม่ให้ท่อแกว่งหรือเอียงข้าง อาจไปทำให้ท่อที่วางไว้ด้านล่างแล้วบิ่นหรือแตกได้  จากนั้นค่อยปล่อยเชือกลงพร้อม ๆ กัน  (แม้จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานก็ยังยิ้มได้อยู่นะ)

       ๘.  ทำความสะอาดท่อที่เป็นปุ่ม ขี้ปูน สะเก็ดหินที่ติดขอบวงท่อออกให้ดีก่อนนำลงไปในบ่อ หากไม่เรียบร้อยอาจทำให้การหมุนหรือปรับภายในยากหรือติดขัด ทำให้ช้าหรือมีปัญหาได้

       ๙.  ก่อนนำลงผูกเชือกให้เรียบร้อยแล้วช่วยกันยกขึ้น  คนที่ว่างก็ช่วยกันนำไม้ที่รองท่อออกให้พ้นจากปากบ่อ 

       ๑๐.  ไม่ลืมที่จะนำไม้ที่ใช้เป็นบันไดสอดเข้าไปในท่อก่อนปล่อยเชือกและวางท่อลงไปในบ่อ

       ๑๑.  หย่อนท่อลงไปซ้อนวงท่อที่อยู่ในบ่อช้า ๆ   เรียงลำดับขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็นชั้น ๆ ตามลำดับขึ้นมา

       

       ๑๒.   แม้จะมีคนลงไปงัดแต่งอยู่ในบ่อด้านล่างตรงที่ท่อซ้อนกันแล้วก็ตาม  ด้านบนก็ยังไม่ประมาท ต้องจับเชือกที่ผูกกับท่อไว้เสมอ  เผื่อมีปัญหาขึ้นมาแบบไม่คาดฝันได้

       ๑๓.   คนที่ลงไปในบ่อจะมีเครื่องมืออย่างหนึ่งคือ เสียม ที่ด้ามสั้น ๆ เอาไว้เพื่องัดวงท่อให้ขยับหรือหมุนไปตามที่ตนเองต้องการ หรือให้เข้าที่เข้าทาง และไม้ขนาดพอที่จะใส่รูท่อด้านล่างได้สั้น ๆ หนึ่งอัน เพื่อเอาไว้เหยียบทำงานนั่นเอง

       ๑๔.  เมื่อเข้าที่เรียบร้อยแล้วก็แกะเชือกที่ผูกท่อทั้งหมดออกแล้วก็ขึ้นบันไดไม้มาด้านบนเพื่อที่จะนำเอาท่อวงใหม่ลงไปใส่อีกครั้ง

       ๑๕.  เมื่อวางท่อจนถึงด้านบนเป็นที่เรียบร้อยได้ตามต้องการแล้ว  ก็โยกท่อให้ได้แนวดิ่งตามที่ตนต้องการ โดยหาหินก้อนใหญ่ ๆ มายัดด้านข้างเพื่อไม่ให้ท่อขยับหรือเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง  จากนั้นก็ช่วยกันนำหินแม่น้ำที่ก้อนโตพอสมควรมาโกยใส่รอบ ๆ ด้านข้างเพื่อให้หินลงไปที่ก้นบ่อตรงที่น้ำไหลออกมานั้น เพื่อที่น้ำจะได้ไหลเข้ามาในท่อได้สะดวกสูงขึ้นมาด้านบนก็ใช้ดินที่เราขุดขึ้นมานี่แหละใส่ลงไปด้านข้างให้เต็มจนขึ้นมาถึงด้านบนปากบ่อ  แล้วก็อัดหรือเหยียบให้แน่นพอสมควร

       ๑๖.  เมื่อด้านบนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำเอาปูนมาผสมทราย ยาแนวตามขอบด้านบนของวงท่อ ประมาณท่อที่ ๙ หรือ ๑๐ (นับจากล่างขึ้นมา) ขึ้นมาถึงด้านบนปากบ่อ กันดินซึมเข้าไปในบ่อเวลาใช้น้ำด้านบน และป้องกันปลวกที่จะเข้ามาสร้างรังภายในบ่อน้ำด้วย 

       ๑๗.  เสร็จเรียบร้อยก็ให้นำไดโว่มาดูดน้ำที่ก้นบ่อออกแล้วก็ รื้อเอาขี้โคลนขี้ปูนหรือดินต่าง ๆ ที่อยู่ก้นบ่อขึ้นมาอีกครั้ง พอปูนแห้งก็ปั๊มน้ำล้างท่อล้างขี้ปูนจากปากบ่อลงไปด้านล่างอีกครั้งหนึ่ง  เท่านี้ก็ถือว่าเสร็จขั้นตอนสำคัญของการขุดบ่อน้ำตื้นแล้ว

       ๑๘.  บ่อน้ำตื้นที่ผมจ้างช่างเขามาขุดนี้ถือว่า “หมู” สำหรับผู้ขุดมาก  เพราะดินอ่อนและไม่พบหินก้อนใหญ่ ๆ  หากพบหินดานด้านล่างแล้วหละก็ อ่อนใจหรือท้อใจได้เหมือนกันนะครับ 

 

         การจ้างช่างมาขุดบ่อในครั้งนี้  เขาคิดราคากันอย่างไร  หลายคนอาจกำลังอยากถามอยู่ในขณะนี้  ผู้เขียนจ้างเหมา ตามความลึกของท่อคือแนวตั้ง ขนาดท่อ ๔๕ เซนติเมตร กว้าง ๑๒๐ เซนติเมตร  จ้างเหมาท่อละ  ๗๐๐ บาท (ราคาใหม่ในปีนี้

ก่อนหน้านั้น ท่อละ ๕๐๐ บาท) บ่อที่เสร็จไปนี้ขุดลึกวางท่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว  (ตามภาพ) ทั้งหมด ๒๐ วง  คิดเงินค่าจ้างให้กับช่างขุด ๑๔,๐๐๐ บาท  ช่างขุด ๔ คน  ได้คนละ ๓ พันกว่าบาท ก็ไม่ได้มากมายอะไร

         ในส่วนของท่อนั้น เจ้าของบ่อซื้อเองจากผู้ผลิตวงท่อ ในราคาวงละ ๒๖๐ บาท  ก็ประมาณ ๕ พันกว่าบาท รวมค่าช่างค่าเลี้ยงอีกนิดหน่อยก็อยู่ที่ ๒ หมื่นนิด ๆ  ในสองหมื่นบาทนี้ ได้คุยกับเพื่อนบ้านบริเวณข้าง ๆ แล้วว่า “หารกันนะ”  ก็จะเสียค่าใช้จ่ายจริง อยู่ที่ประมาณหลังคาเรือนละ ๕ พันกว่านิดหน่อย ต่อไปก็คงจะมีค่าเครื่องปั๊มน้ำตามมาอีกของใครของท่าน

         ปัจจุบันที่หมู่บ้านของผู้เขียน เริ่มมีพัฒนาการขุดบ่อโดยใช้รถแบกโฮ (ชาวบ้านทั่วไปเรียกรถแม๊กโค) กันมาก  มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันตามที่ผู้เขียนเข้าใจดังนี้

 

๑.    ใช้คนขุดบ่อ

๑.๑ ข้อดี   คนในหมู่บ้านโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งที่ไม่ได้ทำนาปรังนี้ ได้มีทางเลือกในการทำงานภายในชุมชนหรือหมู่บ้าน  มีเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือน กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เกิดการพึ่งพาอาศัยกัน เอื้อเฟื้อกัน ไม่ฟุ้งซ่านหรือคิดมากจากการว่างงานหรือตกงาน

๑.๒ ข้อดี วงบ่อที่ได้ไม่มีปัญหาด้านการแตกร้าวจากการวางท่อ หน้าดินไม่กว้าง กระชับวงท่อ ไม่มีปัญหาเรื่องดินยุบตัวในวันข้างหน้า ประหยัดพื้นที่ ต้นไม้สิ่งของบริเวณใกล้เคียงไม่เสียหาย

๑.๓ ข้อเสีย  ไม่สามารถนำก้อนหินที่ใหญ่ ๆ หรือหินดานขึ้นมาด้านบนได้ เพราะน้ำหนักที่มากจนเกินที่น้ำหนักรอกและคานจะรับไหว

๑.๔  ข้อเสีย   ตอนรื้อบ่อเก่า  คนไม่สามารถลงไปรื้อได้ เพราะกลัวบ่อยุบทับคนที่ลงไปและลึกมากก็ขาดอากาศหายใจ มีข้อจำกัดด้านความคับแคบของวงท่อ ท่อเล็กทำลำบากหรือยากมาก

 

๒.    ใช้รถแบกโฮขุดบ่อ

๒.๑  ข้อดี  ช่วยให้ประหยัดเวลา  ไว  ทันใช้งาน ภายในหนึ่งวันก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

๒.๒  ข้อดี  สามารถขุดได้ลึกเกินกว่าที่คนจะสามารถขุดได้ อีกหลายเท่า เพราะรถสามารถขุดตัวเองลงไต่ระดับลงไปได้เรื่อย ๆ หากยังไม่พบน้ำ

๒.๓  ข้อดี  สามารถรื้อบ่อน้ำเก่า ๆ ที่ลึก ๆ และแคบ ๆ ได้ตามที่เจ้าของบ่อต้องการ

๒.๔  ข้อเสีย  เงินทองรั่วใหลไปเข้ากระเป๋าของคนเพียงคนเดียว  หรือสองคนกับผู้ผลิตวงท่อเท่านั้น  ชุมชนขาดการมีส่วนร่วม แทนที่เงินหนึ่งหมื่นกว่าบาทจะหมุนเวียนอยู่ในชุมชนกลับไปอยู่ในมือเจ้าของแบกโฮ แต่เพียงผู้เดียว
๒.๕  ข้อเสีย   วิถีชุมชนถูกกระทบ ขาดการสืบเนื่องหรือสืบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นไปอย่างน่าเสียดาย  ขาดการพึ่งพาอาศัยกันและกัน และโอกาสที่คนจะตกงานเพราะเครื่องจักรก็มีสูงขึ้น

๒.๖  ข้อเสีย  ท่อที่รถนำวางลงซ้อนกันในบ่อที่ขุดเสร็จแล้วเกิดการแตก หรือร้าว เท่าที่เห็นมาขุดใกล้ ๆ บ้าน ๒ บ่อ ก็แตกทั้งสองบ่อ  เจ้าของต้องเสียเงินไปจ้างคนมารื้อ ซื้อท่อวงเล็กกว่าเดิมใส่ซ้อนลงไปภายในอีกหลายสิบวง  ซื้อหินแม่น้ำมาใส่ด้านข้าง(ภายใน)เพิ่มอีก  ทำให้เสียเงินซ้ำซ้อน ค่าใช้จ่ายจึงมากกว่าการจ้างคนมาขุดอีกเกือบเท่าตัว

ภาพบ่อที่ขุดด้วยรถแบกโฮ และจ้างคนมาขุดรื้อและวางท่อเล็กภายในอีกครั้ง

 

ค่าใช้จ่ายที่สอบถามมาก็คือ  คิดวงท่อละ ๑ พันบาท  ๒๐ วงก็อยู่ที่  ๒ หมื่นบาท ค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกันกับคนขุด แต่มีปัญหาท่อแตกบ่อยนี่แหละ แย่หน่อย

๒.๗  ข้อเสีย  คือการทำลายสิ่งของบริเวณใกล้เคียงที่เราสร้างหรือปลูกเอาไว้มาก  เพราะรถแบกโฮกินพื้นที่ในการเข้าขุดและวางตัวลงในดิน พร้อมกับการตักดินมากองทับที่สูงใหญ่จนท่วมหัว ซึ่งน่ากลัวและกินพื้นที่มาก

     ทั้งหมดที่กล่าวมาก็พอมองเห็นแล้วว่า อนาคตเทคโนโลยีจะมาทำลายระบบชุมชน ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านไปจนหมด แม้แต่ภูมิปัญญาการขุดบ่อที่เมื่อก่อนนี้มีบ่อน้ำที่ก่อจาก “ก้อนหมะดินกี่” ด้วย(อิฐแดง) ก็เริ่มหายและหมดไปแล้วเช่นกัน  แนวความคิดของคนจึงสำคัญและน่ากลัวไปพร้อมๆ กัน

 

                  ขอบคุณความรู้ที่ได้รับ ขอบคุณผู้อ่าน ขอบคุณโกทูโนว์

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 562709เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2014 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2018 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

-สวัสดีครับพี่หนาน

-ตามมาอ่านและเรียนรู้วิธีขุดบ่อน้ำตื้น

-จำได้ว่าสมัยก่อนบ้านผม(อีป้อกะอีแม่)เปิ้นจ่วยกั๋นขุดบ่อน้ำตี้สวนหลังบ้านครับ

-ได้ใช้น้ำบ่อกั๋นหลายหลังคา..

-บ่ะเดียวนี้หันมาพึ่งพิงน้ำประปาหมู่บ้าน กลับบ้านคราวใดกะได้รับผลกระทบเรื่องน้ำบ่ไหลอยู่บ่อย ๆ

-ผมมานั่งกึ๊ดเล่น ๆว่า สมัยก่อนยังบ่ลำบากเรื่องน้ำเท่ากับสมัยนี้..อาจจะลำบากน่อยในการ"หาบน้ำ"มาใส่โอ่ง

-หรือว่าเฮามาพึ่งพิงปัจจัยภายนอกที่นำเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องมากเกินก่น่ะครับ

-ก๊อกน้ำมาถึงปากโอ่ง..สบาย..แต่เวลาน้ำบ่ไหลก็เดือดฮ้อน..

-หันบ้านพี่หนานขุดบ่น้ำแล้ว..ชอบใจ๋ขนาดครับ..

-น้ำท่าจะใสดีนะครับ?

-อาบน้ำบ่อกะเย็นดีนะครับ..ผมชอบอาบเหมือนกั๋น..

-บ่ได้อาบเมินแล้ว..กึ๊ดเติงหาสมัยก่อน...

-เขียนมานัก..กะเพราะว่ามีความหลังและความทรงจ๋ำนัก..น่ะครับ

-ขอบคุณพี่หนานที่นำเรื่องราวของบ่อน้ำตื้นมาฝากครับ..

สมัยนี้ แถวบ้านพี่ ไม่ค่อยมีกันแล้วค่ะ เพราะส่วนใหญ่เหตุจาก "ความเจริญ" เข้ามา ส่วนใหญ่ใช้ "น้ำประปา" กันค่ะ...ทำให้พี่นึกถึงตอนเป็นเด็ก ๆ ยังทันได้ใช้อยู่ค่ะ "สนุกดี"

....... ทำให้ ...เห็นการทำงานเป็นทีม ความเห็นอกเห็นใจ ความรักและความสามัคคี. ... "บ่อน้ำที่ไม่ให้แค่ให้น้ำ" นะคะ ...แต่ในปัจจุบัน.... ความเจริญเข้า ....มีประปาภูมิภาคเข้ามา .... ทุกๆอย่าง...ใช้แต่ "เงิน" ...นะคะ


นี่แหละครับคือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน..สมัยก่อนตอนเป็นเด็กเคยขุดครับ น้ำออกง่ายมาก สมัยนี้ต้องใช้เครื่องเจาะเพราะน้ำหนีลงไปลึกแล้ว..คงกลัวคนกินใช่มะพี่หนาน...

เป็นอาชีพครับ เคยขุดมานับสิบบ่อ ก่อนที่จะเลือกที่ขุด เป็นภูมิปัญญาที่ทำต่อๆกันมา คือ เอาใบบอนไปวางตามจุดที่จะขุดแต่ละแห่ง ในตอนกลางคืน

รุ่งเช้าไปเปิดใบบอนดู จุดใหนมีไอน้ำเกาะใบบอนมาก ก็จะทำการขุด บริเวณจุดนั้น

ก็ปฎิบัติมาอย่างนี้เป็นความเชื่อและกำลังใจ ขุดไปแล้วต้องเจอตาน้ำ

สมัยที่น้ำประปา ยังไม่เกิด จะมีบ่อน้ำแบบนี้ทั่วไป แม้แต่ในไร่ในสวนนะ

THere are some disadvantages with open 'wells': things including animals (amd humans) can fall into and foul up the water in the well; not all/everywhere ground water is good (enough). in some places water can be salty or brackish, full of some undesirable minerals, and some can weels dry up in summer time just when we need water most.

But if you have a good well, it is worth looking after it, make sure no children fall into it and protect it ;-)

ขอขอบคุณมาลัยน้ำใจจากคุณครู อาจารย์ กัลยาณมิตรจากหลายๆ ท่านที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมชม ให้ดอกไม้พร้อมกับแสดงความคิดเห็นจากทุกท่านเป็นอย่างสูงครับผม

ธวัชชัย
sr
วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--
เพชรน้ำหนึ่ง
ชยพร แอคะรัจน์
ยายธี
Dr. Ple
tuknarak
บุษยมาศ
คุณมะเดื่อ
ส.รตนภักดิ์
ครูหยิน
kanchana muangyai

ขอบคุณคุณ เพชรน้ำหนึ่ง ที่เข้ามาให้ความเห็นร่วม

- ตะก่อนน้ำมีแต่บ่อมีเครื่องปั๊มบะเดี่ยวมีทั้งบ่อมีทั้งเครื่องปั๊มอัตโนมัติ บ่ได้หาบเหมือนเก่าแล้วครับ

- อุตรดิตถ์ปี๋นี้น้ำแห้ง บ่อบาดาลแห้งหลายแห่งน้ำเบาะมีจะดูด ที่เคยเจาะและใจ๊อยู่น้ำมันดูดเบาะขึ้นแล้วครับ จ๋ำเป๋นต้องขุดบ่อน้ำตื้น

- เฮาเอาเทคโนโลยี่มาใจ๊กั๋นนักล้ำไป มันเกาะเลยทำลายระบบดีๆ ไปเหียหมด อีกอย่างป่าต้นน้ำก่อถูกทำลาย ห้วย หรือแม่น้ำใหญ่เปิ้นก่อปากั๋นเอาแบกโฮไปรื้อเอาต้นไม้(ฉำฉา)เอาก๋อไล่ก๋อไผ่ออกเหียหมด ขุดรอกกั๋นใหม่ แล้วมันก็เสียระบบนิเวศ แล้ง น้ำแห้ง ผลกระทบต๋ามมาหลายอย่างเลยครับ

- บ่ายสักพักมาตะกี้นี้ปี้หนานเกาะไปฮ่วมกับคณะกรรมก๋ารหมู่ ๑๕ ไปสำรวจป่าต้นน้ำตี้เกยเขียนในอนุทิน ก่อนหน้าสองวันก่อนมีประชุมเรื่องน้ำประป๋า ก็เลยไปเข้าร่วมในตี้ประชุมอู้จ๋ากับหมู่ผู้ใหญ่และคณะกรรมการ ผ่านในก๋ารประชุมมาแล้ว ได้ไปขอกับเจ้าของตี้เปิ้นตัดบุกเบิกเอาไว้ได้คืนมาเจ้าหนึ่งแล้ว และยังอยู่แถมสองเจ้า ถือเป๋นนิมิตหมายตี้ดี ตี้จะได้ป่าต้นน้ำคืนมา และตกลงกั๋นว่าจะปลูกฟื้นคืนในช่วงฤดูฝนตี้จะถึงหน้านี้ครับ

- เทคโนโลยีใจ๊ดีมันเกาะดี ใจ๊เบาะดีมันเกาะปากั๋นไปสู่ตี้ต๋ายนะครับ...พยายามเขียนแบบเมือง แต่ก้อบ่อก้อยถนัดเต้าใด กั๋วเปิ้นจะอ่านกั๋นเบาะออก ขอบคุณจั๊ดนักหนาครับ

ขอบคุณ อาจารย์ บุษยมาศ ที่ร่วมแสดงความเห็นมากครับ ถ้าแล้งมากๆ น้ำบาดาลก็ดูดไม่ขึ้นเหมือนกันนะครับอาจารย์ บ่อที่เคยใช้อยู่ในหมู่บ้านของผม เจาะแล้วไม่มีน้ำหลายบ่อ ซัมเมิสเสียไปหลายตัวแล้วครับ น้ำคลองก็ไม่มีอยู่ใกล้ๆ ให้ได้ดูดขึ้นมาทำประปาเหมือนในเมือง ก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือตัวเองกันแล้วครับ ไม่แน่ใจว่าที่บ้านอาจารย์ในน้ำจากบาดาลหรือน้ำคลองในการทำน้ำประปาครับ

ขอบคุณอาจารย์ Dr. Ple ที่แสดงความเห็นร่วมมากครับ...ผมก็มีแนวคิดเช่นนั้นครับ อยากให้คนมีงานทำมีเงินใช้ เอื้อเฟื้อ พึ่งพาอาศัยกัน เงินทองไม่รั่วไหลออกไปนอกชุมชน หมุนเวียนเป็นเศรษฐกิจชุมชน...สองวันก่อนไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการประปาหมู่๑๕ ที่ดูแลน้ำประปาอยู่ รายรับไม่พอกับรายจ่ายค่าไฟฟ้าแล้วครับ จึงต้องเพิ่มค่าหน่วยน้ำกันอีกแล้ว

ขอบคุณ อาจารย์ ส.รตนภักดิ์ มากครับ คงจะเป็นเช่นนั้นครับ ไม่เช่นนั้นน้ำประปาที่เคยใช้อยู่มันจะแห้งหรือหายไปหมดได้ยังไงครับ อยากให้ชาวบ้านใช้น้ำบ่อกันบ้าง เพื่อจะได้ช่วยให้เบาแรงหัวดูดน้ำประปาบ้าง ช่วยกันไป ไม่หวังรอแต่น้ำประปาอย่างเดียว เพราะน้ำประปาฤดูแล้ง น้ำไม่ค่อยพอใช้ คนร้อนก็ต้องอาบน้ำบ่อย ๆ ก็ต้องปั๊มหรือดูดกันบ่อย ๆ ค่าไฟก็เพิ่มขึ้นตามมา เจ้าหน้าที่ผู้ปิดเปิดน้ำไฟก็เหนื่อยมากขึ้น บางบ่อบางหมู่บ้านดูดไม่ขึ้นแล้วครับ

ขอขอบคุณ ท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei ที่เข้ามาอ่านและให้กำลังใจแสดงความเห็นเพิ่มความรู้ไว้ ณ ตรงนี้เป็นภูมิปัญญาเพิ่มเติมคือใช้ใบบอนสำรวจตาน้ำ...แถวบ้านผม ถ้าขุดลงไปแล้วจะเจอน้ำหรือไม่เขาจะลองขุดเปิดหน้าดินในบริเวณที่เหมาะสมที่เราคิดว่าจะขุดบ่อ ก็คล้ายกันครับ เพียงแต่เขาจะใช้กะลามะพร้าวไปครอบไว้ตรงนั้น ถ้าไอน้ำเกาะในตอนเช้าก็แสดงว่าใช้ได้ หากไม่มีไอน้ำก็จะย้ายที่ย้ายกะลามะพร้าวไปในที่ที่เกิดไอน้ำเช่นกันครับ...ขอบคุณผู้มีประสบการณ์(ชีวิต)มากนะครับผม

ขอบคุณ คุณครู คุณมะเดื่อ ครับ... "สมัยที่น้ำประปา ยังไม่เกิด จะมีบ่อน้ำแบบนี้ทั่วไป แม้แต่ในไร่ในสวนนะ"...ถูกต้องแล้วครับ แถวบ้านผมเมื่อก่อนนี้ จุดไหนที่มีน้ำไหลตลอดปีก็จะทำบ่อเป็นที่สาธารณะผู้คนสัญจรผ่านไปผ่านมาก็จะได้ลงไปตักกินกัน ปัจจุบันน่าจะเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและภาวะโลกแล้งด้วย น้ำจึงกลัวคนจนพากันหนีหายกันไปเกือบหมดนะครับครู

ขอขอบคุณอาจารย์ sr อีกท่านครับ ที่ให้กำลังใจและแสดงความเห็นร่วม แสดงความเป็นห่วงเป็นใย ผมก็ไม่ค่อยแตกฉานภาษาอังกฤษสักเท่าไหร่ แต่ก็พอคาดเดาได้ว่า อาจารย์เป็นห่วงเรื่องของความสกปรก เรื่องของพื้นที่ เป็นห่วงเรื่องของที่ตกจะร่วงลงไปทั้งคนและสัตว์ และแสดงความเห็นว่า บางแห่งนั้นน้ำใต้ดินไม่ค่อยมีคุณภาพเป็นน้ำกร่อยบ้าง น้ำเค็มบ้าง การขุดบ่อจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน...

ถูกต้องแล้วครับ ก่อนผมจะขุดผมก็ต้องคำนึงถึงว่าต้นบ่อมีสารพิษหรือเปล่า อยู่ใกล้ห้องน้ำห้องส้วมไหม จุดที่ขุดควรจะมีน้ำหรือไม่ องค์ประกอบหลักๆ ครับ...ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาเพิ่มเติมความรู้เติมเต็มให้ในท้ายบันทึกนี้เป็นอย่างสูงด้วยครับผม

-สวัสดีครับพี่หนาน

-ตวยมาแหมรอบ

-วันก่อนไปบ้านพี่สมเวส..เปิ้นขุดบ่น้ำไว้เหมือนกั๋น

-น้ำใสดีขนาดครับ

-ผมตักขึ้นมา...ดื่มแล้ว..เย็นชื่นใจ๋

-เปิ้นบ่ได้ใส่ท่อ...

-เก็บภาพมาฝากครับ..

เคยขุดตอนเด็กๆๆ

ลงไปลึกมากๆๆ

หายใจไม่ออกครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท